เมนู

และพระเถระเหล่านั้นรับมาดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อ
ที่ 3 เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง
อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูต ชำนาญในนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้น... ข้าพเจ้า
ได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี
ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้น
ให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัยถ้าเมื่อเทียบเคียง
ในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันได้
ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็น
คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่แท้ และพระ-
เถระรูปนั้นรับมาดีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ 4 เธอ
ทั้งหลายพึงทรงจำไว้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาประเทศ 4 นี้แล.
จบมหาปเทสสูตรที่ 10
จบสัญเจตนิยวรรคที่ 3

อรรถกถามหาปเทสสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในมหาปเทสสูตรที่ 10 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โภคนคเร วิหรติ ได้แก่ ในปรินิพพานสมัย พระผู้มี
พระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปนครนั้นแล้ว ประทับอยู่. บทว่า อานนฺทเจติเย

ได้แก่ ในวิหารอันตั้งอยู่ตรงสถานที่เป็นภพของอานันทยักษ์. บทว่า มหาป-
เทเส
แปลว่า โอกาสใหญ่หรือข้ออ้างใหญ่ อธิบายว่า เหตุใหญ่ ที่กล่าวอ้าง
คนใหญ่ ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น . บทว่า เนว อภินนฺทิตพฺพํ ความว่า
ภาษิตนั้น อันเธอทั้งหลายผู้ร่าเริงยินดี ให้สาธุการแล้วไม่พึงฟังก่อนอย่าเพิ่ง
เชื่อ เพราะเมื่อมีผู้กระทำอย่างนี้ ภิกษุนั้นแม้จะถูกต่อว่าในภายหลังว่า คำนี้
ไม่สม ก็ยังกล่าวว่า เมื่อก่อนนี้เป็นธรรม บัดนี้ ไม่ใช่ธรรมเสียแล้วหรือ ดังนี้
แล้วไม่ย่อมสละลัทธิ. บทว่า นปฺปฏิกฺโกสิตพฺพํ ได้แก่ไม่พึงกล่าวก่อนว่า
คนโง่นี้พูดอะไร. เพราะเมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นจักไม่กล่าวถึงแม้ข้อที่
ถูกและไม่ถูก. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนภินนฺทิตฺวา
อปฺปฏิกฺโกสิตฺวา
ดังนี้.
บทว่า ปทพฺยญฺชนานิ ได้แก่ พยัญชนะกล่าวคือบท. บทว่า
สาธุกํ อุคฺคเหตฺวา ได้แก่ เรียนด้วยดีว่า ท่านกล่าวบาลีไว้ในที่นี้ กล่าว
ความไว้ในที่นี้ กล่าวอนุสนธิไว้ในที่นี้ กล่าวคำต้นคำปลายไว้ในที่นี้ ดังนี้.
บทว่า สุตฺเต โอตาเรตพฺพานิ ได้แก่ พึงเทียบเคียงกันใน
พระสูตร. บทว่า วินเย สนฺทสฺเสตพฺพานิ ได้แก่พึงสอบสวนในพระวินัย.
ในที่นี้ท่านกล่าววินัยว่าเป็นสูตร ดังที่ท่านกล่าวไว้ในสุตตวิภังค์ว่า คัดค้านไว้
ในที่ไหน คัดค้านไว้ในกรุงสาวัตถี. ขันธกะท่านเรียกว่าวินัย ดังที่ท่านกล่าว
ไว้ว่า โกสมฺพิยํ วินยาติสาเร ดังนี้. ไม่ยึดถือเอาแม้วินัยปิฎกอย่างนี้ แต่
ถือเอาวินัยปิฎกอย่างนี้ว่า อุภโตวิภังค์เป็นพระสูตร ขันธกะแลปริวารเป็น
พระวินัยดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ถือเอาปิฎกสองอย่างนี้คือ สุตตันตปิฎกเป็น
พระสูตร วินัยปิฎกเป็นพระวินัย. หรือว่าไม่ถือเอาปิฎกสามอย่างนี้ก่อน คือ
สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎกเป็นพระสูตร วินัยปิฎกเป็นพระวินัย จริงอยู่

ชื่อว่า พุทธพจน์ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรมีอยู่ คือ ชาดก ปฏิสัมภิทา นิเทศ
สุตตนิบาต ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา
เถรีคาถา อปทาน แต่พระสุทินนเถระคัดค้านพุทธพจน์นั้นทั้งหมดว่า
พุทธพจน์ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรนั้นไม่มีดังนี้ แล้วกล่าวว่าปิฎก 3 เป็นพระสูตร
แต่วินัยเป็นการณะ. เมื่อจะแสดงถึงการณะต่อจากนั้น จึงกล่าวสูตรนี้ว่า
ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประกอบ
ด้วยราคะ ไม่เป็นไปเพื่ออปราศจากราคะ ย่อมเป็นไปเพื่อสังโยชน์ ไม่เป็นไป
เพื่อปราศจากสังโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อความยึดมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความไม่
ยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ ย่อมเป็นไป
เพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ย่อมเป็นไปเพื่อความ
คลุกคลี ไม่เป็นไปเพื่อความวิเวก ย่อมเป็นไปเพื่อความสะสม ไม่เป็นไป
เพื่อความไม่สะสม ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นี้ไม่ใช่ธรรม
นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา ดังนี้ ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้
ธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความปราศจากราคะ ไม่เป็นไป
เพื่อความมีราคะ ย่อมเป็นไปเพื่อปราศจากสังโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อสังโยชน์
ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก ย่อมเป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร ไม่เป็น
ไปเพื่อความเกียจคร้าน ย่อมเป็นไปเพื่อวิเวก ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลี
ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อความสะสม ดูก่อนโคตมี ท่าน
พึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา.
เพราะฉะนั้น ความในข้อนี้จึงมีดังนี้ว่า บทว่า สุตฺเต ได้แก่ พึงเทียบเคียง

ในพุทธพจน์คือปิฎก 3. บทว่า วินเย นี้ ได้แก่ พึงสอบสวนในเหตุแห่งการ
กำจัดกิเลส มีราคะเป็นต้น อย่างหนึ่ง.
บทว่า น เจว สุตฺเต โอตรนฺติ ความว่า บทพยัญชนะทั้งหลาย
ไม่มาในที่ไหน ๆ ตามลำดับ ในพระสูตร ยกเปลือกขึ้นแล้ว ปรากฏชัดว่ามา
จากคัมภีร์ คุฬหเวสสันตระ คุฬหอุมมัคคะ คุฬหวินัยและเวทัลลปิฎกอย่างใด
อย่างหนึ่ง (เป็นคัมภีร์ปายมหายาน). ก็บทพยัญชนะที่มาแล้วอย่างนี้ และไม่
ปรากฏในการนำกิเลสมีราคะเป็นต้นออกไป ก็พึงทิ้งเสีย. ด้วยเหตุนั้น พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า อิติ หิทํ ภิกฺขเว ฉฑฺเฑยฺยาถ ดังนี้. พึงทราบ
ความในบททุกบท โดยอุบายนี้. บทว่า อิทํ ภิกฺขเว จตุตฺถํ มหาปเทสํ
ธาเรยฺยาถ
ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ซึ่ง
โอกาสเป็นที่ประดิษฐานธรรมข้อที่ 4 นี้ไว้.
จบอรรถกถามหาปเทสสูตรที่ 10
จบสัญเจตนิยวรรควรรณนาที่ 3

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. เจตนาสูตร 2. วิภัตติสูตร 3. โกฏฐิตสูตร 4. อานนทสูตร
5. อุปวานสูตร 6. อายจนสูตร 7. ราหุลสูตร 8. ชัมพาลีสูตร 9.
นิพพานสูตร 10. มหาปเทสสูตร และอรรถกถา.