เมนู

พึงเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา มีใจไม่พยา
บาท มีสติ มีจิตแน่วแน่ มั่นอยู่ในภายใน.

จบธัมมปทสูตรที่ 9

อรรถกถาธัมมปทสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในธรรมปทสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ธมฺมปทานิ คือส่วนแห่งธรรม. ในบทว่า อนภิชฺฌา
เป็นต้น พึงทราบอนภิชฌา โดยเป็นข้าศึกของอภิชฌา. อัพยาบาทโดยเป็น
ข้าศึกของพยาบาท สัมมาสติโดยเป็นข้าศึกของมิจฉาสติ พึงทราบสัมมาสมาธิ
โดยเป็นข้าศึกของมิจฉาสมาธิ.
บทว่า อนภิชฺฌาลุ คือไม่มีตัณหา. บทว่า อพฺยาปนฺเนน เจตสา
ความว่า มีจิตไม่ละปกติภาพตลอดกาลทั้งปวง. บทว่า สโต เอกคฺคจิตฺตสฺส
ความว่า ผู้ประกอบด้วยสติมีจิตแน่วแน่ในอารมณ์เดียว. บทว่า อชฺฌตฺตํ
สุสมาหิโต
ความว่า ผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในภายในแน่นอน. ตรัสวัฏฏะ
และวิวัฏฏะไว้ทั้งในพระสูตร ทั้งในคาถา.
จบอรรถกถาธัมมปทสูตรที่ 9

10. ปริพาชกสูตร


ว่าด้วยตรัสธรรม 4 แก่ปริพาชก


[30] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ
กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงปรากฏหลายคนอยู่ที่อารามปริพาชก
แทบฝั่งแม่น้ำสัปปินี คือปริพาชกชื่ออันนภาระ ชื่อวธระ ชื่อสกุลุทายิและ
ปริพาชกมีชื่อเสียงปรากฏอื่นอีก ครั้งนั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
ออกจากที่เร้นแล้วเสด็จไปอารามปริพาชกนั้น ครั้นเสด็จถึงแล้วประทับนั่ง ณ
อาสนะที่เขาจัดไว้แล้ว จึงตรัสกะปริพาชกทั้งหลายว่า
ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท 4 ข้อนี้ ปรากฏว่าเป็นข้อธรรมอันเลิศ
ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว ธรรมบท 4 ข้อคือ
อะไรบ้าง คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้แล
ธรรมบท 4 ข้อที่ปรากฏว่าเป็นข้อธรรมอันเลิศ ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว.
ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักเลิกถอนธรรมบท
คืออนภิชฌาเสียแล้ว บัญญัติ (แต่งตั้ง ยกย่อง) สมณะหรือพราหมณ์ผู้มี
อภิชฌาผู้กำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย (ว่าเป็นคนดี) ดังนี้ ในชื่อนี้เราจะว่า
กะผู้นั้นว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจะคอยดูอานุภาพ ปริพาชกทั้งหลาย
ข้อที่ผู้นั้นนะ จักเลิกถอนธรรมบทคืออนภิชฌาเสียแล้ว บัญญัติสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้มีอภิชฌาผู้มีความกำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย (ว่าเป็นคนดี นั่น
เป็นไปไม่ได้.