เมนู

8. ทุติยอนุรุทธสูตร



ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร



[570] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร
ครั้นเข้าไปถึงแล้วก็ชื่นชมกับท่านพระสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิด
ความชื่นบานต่อกันเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกล่าวกะ
ท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร ข้าพเจ้า (อยู่) ในที่นี้ตรวจดูสหัสสโลก
(1,000 โลก) ได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ อนึ่ง ความ
เพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับ
กระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่
สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า.
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส อนุรุทธะ ข้อที่ท่านว่า ข้าพเจ้าตรวจดู
สหัสสโลกได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ นี้เป็นเพราะมานะ
ข้อที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน
กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นี้เป็นเพราะอุทธัจจะ
ข้อที่ว่า เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลายเล่า นี้เป็นเพราะกุกกุจจะ ทางที่ดีนะ ท่านอนุรุทธะจงละธรรม
3 ประการนี้เสีย อย่าใส่ใจถึงธรรม 3 ประการนี้ แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ
(ธาตุไม่ตาย คือ พระนิพพาน) เถิด.
ภายหลัง ท่านอนุรุทธะ ก็ละธรรม 3 ประการนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม
3 ประการนี้ น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ อยู่มาท่านหลีกจากหมู่อยู่คนเดียว
ไม่ประมาท ทำความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ไม่ช้าเลย กุลบุตรทั้งหลายออก

จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ เพื่อประโยชน์อันใด ท่านก็ทำให้
แจ้งซึ่งประโยชน์อันนั้น ซึ่งเป็นคุณที่สุดแห่งพรหมจรรย์อย่างเยี่ยมยอด ด้วย
ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนั่น ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่น (ที่จะต้องทำ) เพื่อ
ความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งใน
พระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว.
จบทุติยอนุรุทธสูตรที่ 8

อรรถกถาทุติยอนุรุทธสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอนุรุทธสูตรที่ 8 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อิทนฺเต มานสฺมึ ความว่า นี้เป็นมานะอันเจริญแล้วโดย
ส่วน 9 ของท่าน. บทว่า อิทนฺเต อุทฺธจฺจสฺมึ ความว่า นี้เป็นความฟุ้งซ่าน
ของท่าน คือ ความที่จิตของท่านฟุ้งซ่าน. บทว่า อิทนฺเต กุกฺกุจฺจสฺมึ
ความว่า นี้เป็นความรำคาญของท่าน.
จบอรรถกถาทุติยอนุรุทธสูตรที่ 8