เมนู

ทิฏฐิสัมปทาเป็นอย่างไร ? คนลางคนในโลกนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นไม่วิปริตว่า (1) ทานมีผล (2) การบูชามีผล (3) การบวงสรวง
มีผล (4) ผลวิบากของกรรมดีและชั่วมี (5) โลกนี้มี (6) โลกอื่นมี (7)
มารดามี (8) บิดามี (9) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี (10) สมณพราหมณ์
ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบ ที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
แล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้มีอยู่ในโลก นี่เรียกว่าทิฏฐิสัมปทา
สัตว์ทั้งหลายเพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหตุ-
สีลสัมปทาบ้าง เหตุจิตตสัมปทาบ้าง เหตุทิฏฐิสัมปทาบ้าง
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา 3.
จบอยสูตรที่ 5

อรรถกถาอยสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในอยสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สีลวิปตฺติ ได้แก่ อาการที่ศีลวิบัติ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัย
นี้แหละ. ด้วยบทว่า นตฺถิ ทินฺนํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความที่
ทานที่ให้แล้วไม่มีผล. การบูชาใหญ่ เรียกว่า ยิฏฐะ. ลาภสักการะที่เพียงพอ
ทรงประสงค์เอาว่า หุตะ. มิจฉาทิฏฐิบุคคล ห้ามยิฏฐะ และหุตะ ทั้งสอง
นั้น ว่าไม่มีผลเลย. บทว่า สุกฏทุกฺกฏานํ ได้แก่ กรรมที่ทำดีและทำชั่ว
อธิบายว่า ได้แก่กุศลกรรม และอกุศลกรรม. ด้วยบทว่า ผลํ วิปาโก
มิจฉาทิฏฐิบุคคลกล่าวสิ่งที่เรียกว่า ผล หรือ วิบาก ว่าไม่มี.

บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก ความว่า โลกนี้ไม่มีสำหรับผู้ที่ตั้งอยู่
ในโลกหน้า. บทว่า นตฺถิ ปโร โลโก ความว่า โลกหน้าไม่มีแม้สำหรับ
ผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้. มิจฉาทิฏฐิบุคคล แสดงว่า สัตว์ทั้งหมด (ตายแล้ว) ย่อม
ขาดสูญ ในโลกนั้น ๆ นั่นเอง. ด้วยบทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา
มิจฉาทิฏฐิบุคคล กล่าวโดยสามารถแห่งการปฏิบัติชอบ และการปฏิบัติผิดใน
มารดา บิดา เหล่านั้นว่าไม่มีผล. บทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา
ความว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ ที่จะจุติแล้วเกิดไม่มี. ความบริบูรณ์ ชื่อว่า สมฺปทา
ความที่ศีลบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ชื่อว่า สีลสัมปทา. แม้ในบททั้งสองที่เหลือ
ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อตฺถิ ทินฺนํ เป็นต้น นักศึกษาพึงถือเอาโดย
นัยที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
จบอรรถกถาอยสูตรที่ 5

6. อปัณณกสูตร



ว่าด้วยวิบัติ 3 และสัมปทา 3



[558] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิบัติ 3 นี้ วิบัติ 3 คืออะไร คือ
สีลวิบัติ จิตตวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ
สีลวิบัติเป็นอย่างไร ? คนลางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำปาณาติบาต
ฯลฯ สัมผัปปลาป นี้เรียกว่า สีลวิบัติ
จิตตวิบัติเป็นอย่างไร ? คนลางคนในโลกนี้เป็นผู้มีอภิชฌา มีใจ
พยาบาท นี่เรียกว่า จิตตวิบัติ