เมนู

ภิกษุมีเชาว์ เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้ทั่วถึงตาม
จริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้ เรียกว่า ภิกษุมีเชาว์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ 3 นี้แล จึงเป็นผู้ควร
ของคำนับ ฯลฯ ไม่มีนาบุญอันยิ่งกว่า.
จบปฐมอาชานียสูตรที่ 5

อรรถกถาปฐมอาชานียสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาชานียสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้;-
บทว่า องฺเคหิ คือ ด้วยองค์คุณทั้งหลาย. บทว่า ราชารโห
คือ (ม้าอาชาไนย) สมควร คือ เหมาะสมแก่พระราชา. บทว่า ราชโภคฺโค
คือ เป็นม้าต้นของพระราชา. บทว่า รญฺโญ องฺคํ ได้แก่ ถึงการนับว่า
เป็นอังคาพยพของพระราชา เพราะมีเท้าหน้าและเท้าหลังเป็นต้น สมส่วน.
บทว่า วณฺณสมปนฺโน ได้แก่ถึงพร้อมด้วยสีร่างกาย. บทว่า พลสมฺปนฺโน
ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ เพียบพร้อม
ด้วยพลังความเร็ว.
บทว่า อาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรรับบิณฑบาต กล่าวคือ
ของที่เขานำมาบูชา. บทว่า ปาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควร (ที่จะรับ)
ภัตรที่จัดไว้ต้อนรับแขก. บทว่า ทกฺขิเณยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่
ทักษิณา กล่าวคือของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ด้วยอำนาจสละทานวัตถุ 10 อย่าง.
บทว่า อญฺชลิกรณีโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่การประคองอัญชลี. บทว่า
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ได้แก่ เป็นสถานที่งอกงามแห่งบุญของ
ชาวโลกทั้งหมด ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน.

บทว่า วณฺณสมฺปนฺโน ได้แก่ถึงพร้อมด้วยวรรณะคือคุณ. บทว่า
พลสมฺปนฺโน ได้แก่สมบูรณ์ด้วยพลังวิริยะ. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่
เพียบพร้อมด้วยกำลังญาณ. บทว่า ถามวา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยกำลัง
แห่งญาณ. บทว่า ทฬฺหปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นมั่นคง. บทว่า
อนิกฺขิตฺตธุโร ได้แก่ ไม่วางธุระ คือ ปฏิบัติไปด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราไม่
บรรลุอรหัตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศแล้ว จักไม่ทอดทิ้งธุระ คือ ความเพียร.
ในสูตรนี้ โสดาปัตติมรรคพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจสัจจะ
4 และความเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความเร็วแห่งญาณ ตรัสไว้แล้วด้วยโสดา-
ปัตติมรรคแล.
จบอรรถกถาปฐมอาชานียสูตรที่ 5

6. ทุติยอาชานียสูตร



ว่าด้วยองค์ 3 ของม้าต้นและของภิกษุ



[537] (เหมือนสูตรก่อน ต่างกันแต่ตอนแก้ ภิกษุมีเชาว์ สูตรก่อน
แก้เป็นภิกษุรู้อริยสัจ ซึ่งท่านว่าเป็นพระโสดาบัน สูตรนี้แก้เป็นพระอนาคามี
ดังนี้ ) ฯลฯ
ภิกษุมีเชาว์เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้น
โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) 5 เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานใน
โลกที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุมีเชาว์.
จบทุติยอาชานียสูตรที่ 6