เมนู

อรรถกถาปฐมเสขสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในปฐมเสขสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อุชุมคฺคานุสาริโน ความว่า อริยมรรคเรียกว่า ทางตรง
เสขบุคคลผู้ระลึกถึง คือดำเนินไปสู่ทางตรงนั้น. บทว่า ขยสฺมึ ปฐมํ ญาณํ
ความว่า มรรคญาณนั้นแลเกิดขึ้นก่อน. จริงอยู่ มรรคชื่อว่า ขยะ
(ความสิ้นไป) แห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะปลอดภัยจากกิเลส ญาณที่สัมปยุต
ด้วยมรรคนั้น ชื่อว่า ขยญาณ. บทว่า ตโต อญฺญา อนนฺตรา ความว่า
ปัญญาเครื่องรู้ทั่วย่อมเกิดขึ้นต่อจากมรรคญาณที่ 4 นั้น อธิบายว่า อรหัตผล
ย่อมเกิดขึ้น. บทว่า อญฺญาวิมุตฺตสฺส ได้แก่ หลุดพ้นแล้วด้วยวิมุตติ คือ
อรหัตผล. บทว่า ญาณํ เว โหติ ได้แก่ มีปัจจเวกขณญาณแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเสขบุคคล 7 จำพวก ไว้ทั้งในพระสูตรทั้งใน
คาถาทั้งหลาย แต่ทรงแสดงพระขีณาสพไว้ในตอนสุดท้ายแล.
จบอรรถกถาปฐมเสขสูตรที่ 5

6. ทุติยเสขสูตร



ว่าด้วยเสขบุคคล



[526] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาบทที่สำคัญ 150 นี้ ย่อมมาสู่
อุทเทสทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ ศึกษากันอยู่
ภิกษุทั้งหลาย สิกขา 3 นี้ ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่ สิกขา 3 คือ

อะไรบ้าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี้แล สิกขา 3
ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
ทำพอประมาณในสมาธิ ...ในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง
ย่อมออกจากอาบัติ (คือแสดงอาบัติ) บ้าง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร
เหตุว่าไม่มีใครกล่าวความอภัพ (คือไม่อาจบรรลุโลกุตรธรรม) เพราะการล่วง
สิกขาบทเล็กน้อย และการออกจากอาบัตินี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง
ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้น เพราะ
สิ้นสังโยชน์ 3 เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้แน่
ที่จะได้ตรัสรู้ในข้างหน้า
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นเพราะสิ้นสังโยชน์ 3 ราคะ โทสะเบาบาง
เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้หนเดียวเท่านั้น ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์
ในศีล...ในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อย
บ้าง ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้น เพราะสิ้นสังโยชน์
เบื้องต่ำ 5 เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลก (ที่เกิด) นั้น มีอันไม่กลับ
จากโลกนั้นเป็นธรรมดา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์
ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ ทั้งในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้น ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ

ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้
อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทำได้เพียงเอกเทศ ย่อมได้ดี
เพียงเอกเทศ ผู้ทำได้บริบูรณ์ย่อมทำได้ดีบริบูรณ์ เราจึงกล่าวว่าสิกขาบท
ทั้งหลายหาเป็นหมันไม่.
จบทุติยเสขสูตรที่ 6

อรรถกถาทุติยเสขสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในทุติยเสขสูตรที่ 6 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อตฺตกามา ได้แก่ กุลบุตรทั้งหลายผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล
แก่ตน. บทว่า ยตฺเถตํ สพฺพํ สโมธานํ คจฺฉติ ความว่า สิกขาบท 150
ทั้งหมดนี้ถึงการสงเคราะห์เข้าในสิกขาแม้เหล่าใด. บทว่า ปริปูริการี โหติ
ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์. บทว่า มตฺตโสการี ความว่า
เป็นผู้มีปกติทำพอประมาณ อธิบายว่า ไม่สามารถจะทำได้ทั้งหมด. บทว่า
ขุทฺทานุขุทฺทกานิ ได้แก่ สิกขาบทที่เหลือเว้นปาราชิก 4. อนึ่ง ในบทว่า
ขุทฺทานุขุทฺทกานิ นั้น มีอธิบายว่า สังฆาทิเสส ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท
ถุลลัจจัย ชื่อว่า อนุขุททกสิกขาบท อนึ่ง ถุลลัจจัย ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท
ปาจิตตีย์ ชื่อว่า อนุขุททกสิกขาบท.อนึ่งปาจิตตีย์ ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท
ปาฏิเทสนียะทุกกฏและทุพภาสิต ชื่อว่า อนุขุททุกสิกขาบท. แต่อาจารย์
ผู้ใช้อังคุตตรมหานิกายนี้กล่าวว่า สิกขาบทที่เหลือทั้งหมดยกเว้นปาราชิก 4
ชื่อว่า ขุททานุขุททกสิกขาบท.