เมนู

ส่วนโมหะชื่อว่า มีโทษมาก เพราะเหตุ 2 สถานเหมือนกัน ข้อนี้
อย่างไร. คือ คนที่หลงแล้วเพราะโมหะ จะประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ใน
พระเจดีย์บ้าง ในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตบ้าง แล้วได้รับการติเตียนใน
ที่ ๆ ตนไปแล้ว ๆ. โมหะชื่อว่ามีโทษมากด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ
อย่างนี้ก่อน. แต่เขาจะต้องเสวยผลในนรกตลอดกัลป์ เพราะอนันตริยกรรม
ที่เขาทำไว้ด้วยอำนาจโมหะ. โมหะชื่อว่ามีโทษมาก แม้ด้วยสามารถแห่งโทษ
ที่เป็นวิปากวัชชะ ดังพรรณนามานี้แล.
บทว่า ทนฺธวิราคี แปลว่า ค่อย ๆ คลายไป อธิบายว่า กรรมที่
ผู้หลงเพราะโมหะทำไว้ จะค่อย ๆ พ้นไป. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า หนังหมีที่
เขาฟอกอยู่ถึง 7 ครั้ง ก็ไม่ขาวฉันใด กรรมที่ผู้หลงแล้วเพราะโมหะทำแล้ว
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไม่พ้นไปเร็ว คือจะค่อย ๆ พ้นไปฉะนี้แล. คำที่เหลือ
ในพระสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาติตถิยสูตรที่ 8

9. มูลสูตร



ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล



[509] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล (รากเง่าของอกุศล) 3 นี้.
3 คืออะไร คือโลภะ โทสะ โมหะ
ภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวโลภะ โทสะ โมหะเอง ก็เป็นอกุศล
แม้กรรมที่บุคคลผู้เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้วสร้างขึ้นด้วยกาย ด้วย

วาจา ด้วยใจ ก็เป็นอกุศล บุคคลเกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว อัน
โลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันโลภะ โทสะ โมหะ จับเสีย
รอบแล้ว หาเรื่องก่อทุกข์อันใดให้ผู้อื่น โดยฆ่าเสียบ้าง จองจำเสียบ้าง
ทำให้เสียทรัพย์บ้าง ตำหนิโทษบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้า ฯ เป็นคน
มีกำลังอำนาจบ้าง ข้า ฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง แม้อันนั้น ก็เป็นอกุศลธรรม
ทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลมิใช่น้อย ซึ่งเกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ
โทสะ โมหะเป็นต้นเหตุ เป็นแดนเกิด เป็นปัจจัยเหล่านี้ ย่อมเกิด
พร้อมด้วยประการอย่างนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้นี่ เรียกว่า อกาลวาที (พูดใน
เวลาไม่ควร หรือไม่พูดในเวลาที่ควร) บ้าง อภูตวาที (พูดสิ่งที่ไม่จริง
หรือไม่พูดสิ่งที่จริง) บ้าง อนัตถวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่
พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์) บ้าง อธรรมวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่
พูดสิ่งที่เป็นธรรม) บ้าง อวินัยวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นวินัย หรือไม่พูดสิ่ง
ที่เป็นวินัย) บ้าง เพราะเหตุอะไร บุคคลเช่นนี้ จึงเรียกว่า อกาลวาทีบ้าง
ฯลฯ อวินัยวาทีบ้าง เพราะว่า บุคคลนี้หาเรื่องก่อทุกข์ให้ผู้อื่น โดยฆ่า
เสียบ้าง ฯลฯ ด้วยถือว่า ข้า ฯ เป็นคนมีกำลังอำนาจบ้าง ข้า ฯ อยู่ใน
พรรคพวกบ้าง แต่เมื่อผู้อื่นว่าโดยความจริงก็ปัดเสีย ไม่ยอมรับ เมื่อเขา
ว่าโดยความไม่จริง ก็ไม่เพียรที่จะแก้ความไม่จริงนั้น ว่าสิ่งนี้ไม่จริง สิ่งนั้น
ไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า อกาลวาทีบ้าง ฯลฯ
อวินัยวาทีบ้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้ อันอกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะ
โลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นจับ
เสียรอบแล้ว ในปัจจุบันนี้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ประกอบไปด้วยความคับแค้น

เร่าร้อน เพราะกายแตกตายไป ทุคติเป็นหวังได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนต้นรัง หรือต้นตะแบก หรือต้นตะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย
3 เถาขึ้นปกคลุมรึงรัดแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อม
ถึงทั้งความไม่เจริญทั้งความพินาศฉันใด บุคคลเช่นนี้ก็ฉันนั้นนั่นแล อัน
อกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอัน
อกุศลบาปธรรมเหล่านั้นจับเสียรอบแล้ว ในปัจจุบันนี่ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ประกอบไปด้วยความคับแค้นเร่าร้อน เพราะกายแตกตายไป ทุคติเป็นหวังได้
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล 3
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล (รากเง่าของกุศล) 3 นี้ 3 คืออะไร
คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวอโลภะ อโทสะ อโมหะเองก็เป็นกุศล แม้
กรรมที่บุคคลผู้ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อันโลภะ โทสะ โมหะ
ไม่ครอบงำแล้ว มีจิตอันโลภะ โทสะ โมหะไม่จับรอบแล้ว ไม่หาเรื่อง
ก่อทุกข์อันใดให้ผู้อื่น โดยฆ่าเสียบ้าง ฯลฯ ข้า ฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง
แม้อันนั้นก็เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลมิใช่น้อย ซึ่งเกิดเพราะ
อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นต้นเหตุ เป็นแดนเกิด
เป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดพร้อมด้วยประการอย่างนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้นี่ เรียกว่า กาลวาที (พูดใน
เวลาที่ควร) บ้าง ภูตวาที (พูดสิ่งที่จริง) บ้าง อัตถวาที (พูดสิ่งที่เป็น
ประโยชน์) บ้าง ธรรมวาที (พูดสิ่งที่เป็นธรรม) บ้าง วินัยวาที (พูด
สิ่งที่เป็นวินัย) บ้าง เพราะเหตุอะไร บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า กาลวาที
บ้าง ฯลฯ วินัยวาทีบ้าง เพราะว่าบุคคลนี้ไม่หาเรื่องก่อทุกข์ให้ผู้อื่น โดย

ฆ่าเสียบ้าง ฯลฯ ข้า ฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง เมื่อผู้อื่นว่าโดยความจริง
ก็ยอมรับ ไม่ปัดเสีย เมื่อเขาว่าโดยความไม่จริง ก็เพียรแก้ความไม่จริงนั้น
ว่าสิ่งนี้ไม่จริง สิ่งนั้นไม่เป็นด้วยเหตุนี้ ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้ จึง
เรียกว่า กาลวาทีบ้าง ฯ ล ฯ วินัยวาทีบ้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดเพราะโลภะ
โทสะ โมหะ ของบุคคลเช่นนี้ อันเขาละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำ
ให้เหมือนตอตาลแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
เป็นธรรมดา บุคคลเช่นนี้ ย่อมอยู่เป็นสุขไม่มีความคับแค้น เร่าร้อนใน
ปัจจุบันนี้ ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้แหละ เปรียบเหมือนต้นรังหรือต้น
ตะแบกหรือต้นตะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย 3 เถา ขึ้นปกคลุมรึงรัดแล้ว มี
บุรุษผู้หนึ่งถือจอบเสียมและตะกร้ามา ตัดโคนเถาย่านทรายแล้วขุดคุ้ยเอาราก
ขึ้น ที่สุดแม้เท่าก้านแฝก (ก็ไม่ให้เหลือ) แล้วสับผ่าให้เป็นชิ้นละเอียด
ผึ่งแดดและลมจนแห้ง แล้วเผาด้วยไฟจนเป็นผุยผง แล้วโปรยเสียในลมแรง
หรือสาดเสียในกระแสอันเชี่ยวในแม่น้ำ เมื่อเช่นนี้ เถาย่านทรายนั้นก็เป็นอัน
รากขาดแล้ว. ถูกทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ถูกทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอัน
ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย
อกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ของบุคคลเช่นนี้ อัน
เขาละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ฯลฯ ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้แหละ
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล 3.
จบมูลสูตรที่ 9

อรรถกถามูลสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในมูลสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้ :-
ธรรมที่เป็นมูลแห่งอกุศล ชื่อว่า อกุศลมูล. อีกอย่างหนึ่ง ธรรม
นั้นด้วยเป็นมูลด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อกุศลมูล. บทว่า ยทปิ ภิกฺขเว
โลโภ
เท่ากับ โยปิ ภิกฺขเว โลโภ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความโลภ
แม้ใด. บทว่า ตทปิ อกุสลมูลํ ความว่า แม้ความโลภนั้น เป็นรากเง่าแห่ง
อกุศล หรือเป็น (ตัว) อกุศลก็ได้ อธิบายว่า ในที่นี้แม้อกุศลนั้นหมายถึง
อกุศลมูลนั้นก็ควรเหมือนกัน. ในบททั้งปวง พึงนำนัยนี้ (ไป) โดยอุบายนี้.
บทว่า อภิสงฺขโรติ ความว่า ย่อมประมวล คือรวบรวมมาได้แก่
ทำให้เป็นกอง. บทว่า อสตา ทุกฺขํ อุปทหติ ความว่า ก่อทุกข์โดย
กล่าวโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่เป็นจริงแก่เขา ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง คือ
ไม่มีอยู่. บทว่า วเธน วา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อทรง
แสดงอาการ ที่เขาก่อทุกข์ขึ้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานิยา ได้แก่ความเสื่อมทรัพย์. บทว่า
ปพฺพาชนาย ความว่า ได้แก่การขับออกจากบ้าน ออกจากป่า หรือจากรัฐ.
บทว่า พลวมฺหิ ความว่า เราเป็นผู้มีกำลัง. บทว่า พลตฺโถ อิติปิ ความว่า
พูดว่า เราต้องการกำลังบ้าง เราอยู่ในกำลังบ้าง.
บทว่า อกาลวาที ความว่า ไม่พูดในเวลาที่ควรพูด ชื่อว่าพูดใน
เวลาอันไม่ควร. ว่า อภูตวาที ความว่า ไม่พูดเรื่องจริง ชื่อว่าพูดเรื่อง
ไม่จริง. บทว่า อนตฺวาที ความว่า ไม่พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ ชื่อว่า
พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์. บทว่า อธมฺมวาที ความว่า ไม่พูดสิ่งที่เป็นธรรม