เมนู

ในเวลาที่เราบำเพ็ญพุทธจริยา ผู้อื่นที่จะสามารถนำพาธุระแทนเรา แม้เมื่อเกิด
ในอเหตุกปฏิสนธิ ไม่เคยมีแล้ว. ก็เพื่อจะยังความข้อนี้ให้ชัดเจน ควรนำ
กัณหชาดก (มาแสดงประกอบ) ด้วยดังนี้
เมื่อใด มีงานหนัก เมื่อใด การเดิน
ทางลำบาก เมื่อนั้น เจ้าของก็จะเทียมโค
ชื่อกัณหะ โคกัณหะนั้น จะต้องนำธุระ
นั้นไปโดยแท้.


เรื่องโคกาฬกะ



เล่ากันมาว่า ในอดีตสมัย พ่อค้าเกวียนผู้หนึ่ง พำนักอยู่ในเรือนของ
หญิงแก่คนหนึ่ง. ครั้งนั้นแม่โคนมตัวหนึ่งของเขาได้ตกลูกในเวลากลางคืน.
มันตกลูกเป็นโคผู้ตัวหนึ่ง. จำเดิมแต่หญิงแก่เห็นลูกโคแล้ว เกิดความสิเนหา
อย่างลูก. ในวันรุ่งขึ้น บุตรของพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า ท่านจงรับค่าเช่าบ้าน
ของท่าน. หญิงแก่ พูดว่า เราไม่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนอย่างอื่น ท่านจงให้
ลูกวัวตัวนี้ แก่เราเถิด. บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า ท่านจงรับมันไว้เถิด แม่.
หญิงแก่รับลูกโคนั้นไว้แล้ว ให้ดื่มนม ให้ข้าวยาคู ภัตรและหญ้าเป็นต้น
เลี้ยงดูแล้ว. มันเจริญเติบโตขึ้น มีรูปร่างอ้วนพี สมบูรณ์ด้วยกำลังและความเพียร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระ มีชื่อว่า กาฬกะ. ครั้นต่อมาเมื่อพ่อค้าเกวียนคนหนึ่ง
เดินทางมาพร้อมด้วยเกวียน 500 เล่ม ล้อเกวียนติดหล่มอยู่ในที่น้ำเซาะ.
เขาพยายามเทียมวัว 10 ตัว บ้าง 20 ตัวบ้าง ก็ไม่สามารถจะฉุดเกวียนขึ้น
(จากหล่ม) ได้ จึงเข้าไปหาโคกาฬกะ กล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ เราจักให้
รางวัลแก่เจ้า ขอให้เจ้าช่วยยกเกวียนของเราขึ้นด้วยเถิด ก็ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
ก็พาโคกาฬกะนั้นไป คิดว่า โคอื่นจะสามารถลากแอกไป พร้อมกับเกวียนนี้

ไม่มี จึงผูกเชือกเข้าที่แอกเกวียน แล้วเทียมโคกาฬกะนั้นแต่เพียงตัวเดียว
โคกาฬกะลากเกวียนนั้นขึ้นไปจอดไว้บนบก. นำเกวียนทั้ง 500 เล่มขึ้นไปได้
โดยทำนองนี้แหละ. มันนำเกวียนเล่มสุดท้ายขึ้นได้แล้ว (พอเขาปลดออกจาก
แอก) ก็ยกศีรษะขึ้นแสดงอาการเมื่อยล้า. พ่อค้าเกวียนคิดว่า โคกาฬกะนี้
เมื่อฉุดเกวียนมีประมาณเท่านี้ ขึ้นได้ไม่เคยทำอย่างนี้ ชะรอยมันจะทวงค่าจ้าง
ดังนี้แล้ว จึงหยิบกหาปณะเท่าจำนวนเกวียน ผูกห่อเงิน 500 กหาปณะไว้
ที่คอของมัน. มันไม่ยอมให้ผู้อื่นเข้าใกล้ตัวมัน เดินตรงไปยังบ้านทีเดียว.
หญิงแก่เห็นแล้ว ก็แก้ออก รู้ว่าเป็นกหาปณะ จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย เหตุไฉน
เจ้าจึงทำอย่างนี้ เจ้าอย่าเข้าใจว่า แม่นี้จักดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยทรัพย์ที่เราทำงาน
แล้วนำมามอบให้ ดังนี้แล้ว ให้โคอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น ชโลมตัวด้วยน้ำมัน
แล้วกล่าวสอนว่า ต่อนี้ไป เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีก. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระดำริว่า เพราะว่า ในเวลาที่เราบำเพ็ญพุทธจริยา ผู้อื่นชื่อว่าสามารถ
นำธุระแทนเราแม้ผู้บังเกิดแล้ว ในอเหตุกปฏิสนธิ ไม่เคยมีแล้วดังนี้ ทรง
หมายถึงเรื่องที่เล่ามานี้แหละ จึงเสด็จไปตามลำพังพระองค์เดียว.
เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถโข ภควา
สายณฺหสมยํ ปฏิสลฺลนา วุฏฺฐิโต
(ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จหลีกออกจากที่เร้น ในเวลาเย็นแล้ว) ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
ปฏิสลฺลานา ความว่า ทรงสำรวมจิตจากอารมณ์หยาบทั้งหลาย อธิบายว่า
ออกจากผลสมาบัติ. บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า เมื่อปริพาชกทั้งหลาย
ทำประกาศนียกรรม ทั่วพระนคร แล้วออกจากพระนครไปประชุมกันที่อาราม
ของปริพาชก นั่งสนทนากันถึงสีหนาทกถาอย่างนี้ว่า ปริพาชกทั้งหลายถามว่า
ท่านสรภะ ถ้าพระสมณโคดมจักเสด็จมาแล้วไซร้ ท่านจักทำอย่างไร สรภ-

ปริพาชกตอบว่า ( ข้าพเจ้าจะทำอย่างนี้คือ) เมื่อพระสมณโคดม บันลือ
สีหนาทอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าจักบันลือ 2 อย่าง เมื่อพระสมณโคดม บันลือ
2 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 4 อย่าง เมื่อพระสมณโคดม บันลือ 4 อย่าง
ข้าพเจ้าจักบันลือ 5 อย่าง เมื่อพระสมณโคดม บันลือ 5 อย่าง ข้าพเจ้า
จักบันลือ 10 อย่าง เมื่อพระสมณโคดม บันลือ 10 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ
20 อย่าง เมื่อพระสมณโคดม บันลือ 20 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 30 อย่าง
เมื่อพระสมณโคดม บันลือ 30 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 40 อย่าง เมื่อ
พระสมณโคดม บันลือ 40 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 50 อย่าง เมื่อพระ-
สมณโคดม บันลือ 50 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 100 อย่าง เมื่อพระสมณ-
โคดม บันลือ 100 อย่าง ข้าพเจ้าจักบันลือ 1,000 อย่างดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จเข้าไปแล้ว.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จเข้าไป ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่เขาย้อม
ดีแล้ว ทรงห่มสุคตมหาจีวร ได้เสด็จเข้าไปลำพังพระองค์เดียวโดยท่ามกลาง
พระนคร เหมือนพระราชาผู้ปราศจากพลนิกร เพราะทางไปอารามของปริ-
พาชก อยู่กลางพระนคร มิจฉาทิฏฐิกบุคคลทั้งหลาย เห็นแล้ว พากันตามไป
ด้วยคิดว่า ปริพาชกทั้งหลาย กระทำประกาศนียกรรม ระบุโทษของพระสมณ-
โคดม ชะรอยพระองค์จะเสด็จไป เพื่อให้ปริพาชกเหล่านั้น ยินยอมคล้อยตาม.
ฝ่ายพวกสัมมาทิฏฐิกบุคคล ก็พากันติดตามไปด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงถือเอาบาตร และจีวรเสด็จไปลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น (ชะรอย) วันนี้
จักมี มหาธรรมสงความ กับสรภปริพาชก แม้พวกเราทั้งหลาย ก็จักร่วมกัน
เป็นพยาน ในสมาคมนั้น. เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่นั่นแหละ พระบรมศาสดา
เสด็จเข้าไปสู่อาราม ของปริพาชกแล้ว.
ปริพาชกทั้งหลาย เห็นพระฉัพพรรณรังสีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นช่อ พวยพุ่งผ่านลำต้น คาคบ และกิ่งของต้นไม้ทั้งหลาย จึงพากัน

แหงนดูด้วยคิดว่า ในวันอื่น1 ๆ ไม่เคยมีโอภาสเช่นนี้เลย นี่อะไรกันหนอ.
สรภปริพาชกฟังดังนั้นแล้ว ก็นั่งก้มหน้า ซบหัวลงระหว่างเข่า. ในสมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเสด็จเข้าไปยังอารามนั้นอย่างนี้แล้ว เสด็จประทับนั่ง
บนอาสนะที่เขาปูแล้ว. แท้จริง พระตถาคตทรงเป็นผู้ควรแก่อาสนะ เพราะ
เสด็จอุบัติในตระกูลอันเลิศ บนพื้นชมพูทวีป. ในที่ทั่ว ๆ ไป เขาจะจัดอาสนะ
ไว้สำหรับพระองค์โดยเฉพาะ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธาอาสน์
มีค่ามาก ที่เขาปูลาดแล้ว2 อย่างนี้.
บทว่า เต ปริพฺพาชกา สรภํ ปริพฺพาชกํ เอตทโวจุํ ความว่า
ได้ยินว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสคำเพียงเท่านี้ กับสรภปริพาชก
อยู่นั่นแหละ ภิกษุสงฆ์ผู้ตามพระยุคลบาทของพระศาสดา ก็มาถึงอารามของ
ปริพาชก บริษัทแม้ทั้ง 4 ประชุมกันแล้วในปริพาชการามนั่นแล. ลำดับนั้น
ปริพาชกเหล่านั้นคิดว่า น่าอัศจรรย์ที่พระสมณโคดม ได้เสด็จมายังสำนัก
ของพวกเรา ผู้เที่ยวไปแพร่โทษ ทำประกาศนียกรรม ตลอดทั่วทั้งพระนคร
มาแล้ว ผู้เป็นคู่เวร เป็นศัตรู เป็นข้าศึก ไม่ตรัสคำที่ก่อให้เกิดการทะเลาะ
วิวาทแม้น้อยหนึ่ง แต่กลับตรัสมธุรกถา ประหนึ่งว่า ชโลมด้วยน้ำมันที่
หุงสุกแล้วตั้ง 100 ครั้ง ประหนึ่งให้ดื่มน้ำอมฤต จำเดิมแต่เวลาที่ได้เสด็จ
มาแล้ว ดังนี้แล้ว ทุกคนจึงได้ทูลคำนี้ คล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
บทว่า อาเจยฺยาสิ ความว่า ท่านพึงขอ คือ พึงปรารถนา ได้แก่
ต้องการ. บทว่า ตุณฺหีภูโต ได้แก่ ถึงความเป็นผู้ดุษณีภาพ. บทว่า
มงฺกุภูโต ได้แก่ ถึงความสิ้นเดช. บทว่า ปตฺตกฺขนฺโธ ได้แก่ มีคอ
โน้มลง. บทว่า อโธมุโข ได้แก่ (นั่ง) ก้มหน้า.
1. ปาฐะว่า อญฺโญ ฉบับพม่าเป็น อญฺญทา.
2. ปาฐะว่า ปญฺญตฺเต อาสเน ฉบับพม่าเป็น ปญฺญตฺเต มหารเห พุทฺธาสเน.

บทว่า สมฺมาสมฺพุทธฺสฺส เต ปฏิชานโต ความว่า ท่านปฏิญาณ
อย่างนี้ว่า เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมทั้งปวง เราตถาคตตรัสรู้แล้ว.
บทว่า อนภิสมฺพุทฺธา ความว่า ชื่อว่า ธรรมเหล่านี้ อันท่านไม่ได้
ตรัสรู้แล้ว. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เหล่านั้น
อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว.
บทว่า อญฺเญฺน วา อญฺญํ ปฏิจริสฺสติ ความว่า หรือจัก
กลบเกลื่อนด้วยคำอย่างหนึ่ง ด้วยถ้อยคำอีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ถูกถาม
อย่างหนึ่ง จักตอบอีกอย่างหนึ่ง. บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมสฺสติ
ความว่า นำถ้อยคำนอกประเด็นอย่างอื่น มากลบเกลื่อนด้วยคำเดิม. บทว่า
อปฺปจฺจยํ ได้แก่ความไม่ยินดียิ่งคืออาการที่ไม่พอใจ. บทว่า ปาตุกริสฺสติ
ได้แก่ จักกระทำให้ปรากฏ. ก็ในบรรดาฐานะ 3 อย่างนั้น ตรัสโทมนัส
ด้วยอปัจจยศัพท์ ตรัสความโกรธนั่นแหละ แยกประเภทเป็นความโกรธ
อย่างอ่อน และความโกรธอย่างแรง ด้วยบททั้งสองข้างต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบันลือสีหนาท ด้วยเวสารัชกรณธรรม
ข้อแรกอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงบันลือสีหนาทด้วยเวสารัชกรณธรรมข้อ 2
เป็นต้นต่อไปอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า โย โข มํ ปริพฺพาชก ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส โข ปน เต อตฺถาย ธมฺโม
เทสิโต
ความว่า จตุราริยสัจธรรม. อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว เพื่อประ-
โยชน์แก่มรรคหรือผลใด. บทว่า โส น นิยฺยาติ ความว่า ธรรมนั้นไม่
นำไป คือไม่เข้าถึง (ความสุข) ท่านกล่าวอธิบายว่า ไม่ยังประโยชน์ให้
สำเร็จ. บทว่า ตกฺกรสฺส มีอธิบายว่า แห่งบุคคลผู้ทำตาม คือผู้บำเพ็ญ

ข้อปฏิบัติ. บทว่า สมฺมา ทุกฺขกฺขยาย ความว่า เพื่อความสิ้นไปแห่ง
วัฏทุกข์ทั้งสิ้น โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยสฺส
โข ปน เต อตฺถาย ธมฺโม เทสิโต
ความว่า ธรรมอันพระองค์ทรง
แสดงเพื่อประโยชน์ใด คือ
อสุภกัมมัฏฐาน เพื่อประโยชน์แก่การบำบัดราคะ
เมตตาภาวนา เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโทษะ
สัจธรรม คือ มรณะ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโมหะ
อานาปานสติ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดวิตก
ในบทว่า โส น นิยฺยาติ ตกฺกรสฺส สมฺมา ทุกฺขกฺขยาย
มีอธิบายดังนี้ ธรรมนั้นไม่นำไป คือไม่เข้าถึง ได้แก่ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
เพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏทุกข์ โดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ
แก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ตามที่ทรงแสดงไว้. บทว่า เสยฺยถาปิ สรโภ
ปริพฺพาชโก
ความว่า เขาจักนั่งเหมือนสรภปริพาชก ผู้นั่งซบเซา หมด
ปฏิภาณฉะนั้น.
เมื่อพระตถาคตเจ้า ทรงบันลือสีหนาทด้วยบททั้ง 3 อย่างนี้แล้ว ทรง
วกกลับแสดงธรรม บริษัทประมาณ 84,000 ที่ประชุมกัน ณ สถานที่นั้นได้ดื่ม
น้ำอมฤต. พระศาสดาทรงทราบว่า บริษัทดื่มน้ำอมฤตแล้ว จึงเหาะขึ้นสู่เวหาส
เสด็จหลีกไป. เพื่อแสดงเนื้อความนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถโข ภควา
ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีหนาทํ ได้แก่ การบันลืออย่างประเสริฐ
คือการบันลืออย่างไม่เกรงขาม ได้แก่ การบันลืออย่างหาผู้เปรียบมิได้ บทว่า
เวหาสํ ปกฺกามิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเข้าจตุตถฌาน มี

อภิญญาเป็นบาท ออกจากฌานแล้ว ทรงอธิฏฐานแล้วทะยานขึ้นสู่อากาศ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ก็แลครั้นเสด็จไปอย่างนี้แล้ว ทันใดนั้น ก็ได้เสด็จ
ประทับอยู่ที่คิชฌกูฏมหาวิหาร.
บทว่า วาจาย สนฺนิโตทเกน ได้แก่ทิ่มแทงด้วยวาจา. บทว่า
สญฺชมฺภรึ อกํสุ ความว่า ปริพาชกทั้งหลายได้ทำการถากถาง คือ
พูดกระทบไม่หยุดหย่อน อธิบายว่า (พูด) ทิ่มแทงหนักขึ้น. บทว่า
พฺรหารญฺเญ แปลว่า ในป่าใหญ่. บทว่า สีหนาท นทิสฺสามิ ความว่า
สุนัขจิ้งจอกแก่เห็นอาการของราชสีห์ บันลือสีหนาท ก็คิดว่า ราชสีห์นี้ก็เป็น
สัตว์เดียรัจฉาน แม้เราก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ราชสีห์มี 4 เท้า ถึงเราก็มี
4 เท้า แม้เราก็จักบันลือสีหนาทได้เหมือนกัน. มันไม่อาจบันลือสีหนาท
ต่อหน้าราชสีห์ได้ พอราชสีห์หลีกออกไปหาอาหาร มันตัวเดียว ก็เริ่มบันลือ
สีหนาท. คราวนั้น มันก็เปล่งเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นเองออกไป. ด้วยเหตุนั้น
ปริพาชกจึงกล่าวว่า ก็ร้องออกมาเป็นเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นแหละ. บทว่า
เภรณฺฑกํ เป็นไวพจน์ของบทว่า สิงคาลกะ นั่นเอง อีกอย่างหนึ่ง ท่าน
อธิบายว่า ร้องเสียงแตก ได้แก่ร้องออกมาเป็นเสียงไม่น่าพอใจ. ด้วยข้ออุปมา
นี้ว่า เอวเมว โข ตฺวํ ปริพาชกทั้งหลาย เปรียบพระตถาคตเจ้าเหมือน
ราชสีห์ เปรียบสรภปริพาชกเหมือนสุนัขจิ้งจอก.
บทว่า อมฺพกมทฺทรี ได้แก่ลูกไก่ตัวเมีย ๆ. บทว่า ปุริสกรวิกํ
รวิสฺสามิ
ความว่า มันเห็นไก่ใหญ่ขัน ก็คิดว่า แม้ไก่ตัวนี้ ก็มีสองขา สองปีก
ถึงเราก็สีเหมือนกัน แม้เราก็จักขันอย่างนั้นบ้าง ดังนี้ (แต่) มันไม่กล้าขัน
ต่อหน้าไก่ใหญ่ เมื่อไก่ใหญ่นั้นหลีกไปแล้ว จึงขัน (แต่) ก็ขันเป็นเสียงไก่
ตัวเมียนั่นเอง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อมฺพกมทฺทริรวิกํเยว รวติ
ดังนี้.

บทว่า อุสโภ ได้แก่โคผู้. บทว่า สุญฺญาย ความว่า ว่าง คือ
เว้นจากโคผู้ ตัวเจริญที่สุด. บทว่า คมฺภึรํ นทิตพฺพํ มญฺญติ ความว่า
ย่อมสำคัญเสียงร้องของตัวว่าลึก เหมือนเสียงร้องของโคผู้ ตัวประเสริฐที่สุด.
บทที่เหลือในบททั้งปวง ง่ายทั้งนั้นฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสรภสูตรที่ 4

5. กาลามสูตร

*

ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ 10 อย่าง



พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงแปล

[505] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า (ผู้มีคุณควรคบ หรือมี
คุณควรนับถือ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท
(เมืองขึ้นในแว่นแควนโกศล) บรรลุถึงเกสปุตตนิคม (เมืองชื่อเกสปุตตะ)
ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนกาลามโคตร (วงศ์กาลาม) ชาวเกสปุตตนิคมได้
ทราบว่า พระสมณโคดมสักยบุตร (โอรสของกษัตริย์ชาติสักย) เสด็จออกผนวช
จากสักยสกุล เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมแล้ว จึงดำริว่า กิตติศัพท์อันงามของ
พระสมณโคดม ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็น
ผู้ไกลกิเลส (สิ่งที่เกิดขึ้นในใจแล้วทำใจให้เศร้าหมอง มีโลภเป็นต้น ) แลเป็น
ผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้รู้ชอบเอง เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชา และข้อปฏิบัติ
เครื่องดำเนินถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วดี เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควร
ฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้
* บาลีเป็น เกสปุตตสูตร