เมนู

อรรถกถาชานุสโสณีสูตร



พึงทราบวินิจฉัยใน ชานุสโสณีสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้:-
บทว่า ยสฺสสฺสุ เท่ากับ ยสฺส ภเวยฺยุํ (ของผู้ใดพึงมี). ในบทว่า
ยญฺโญ เป็นต้น มีอธิบายว่า ไทยธรรมชื่อว่ายัญ เพราะต้องบูชา. คำว่า
ยัญนี้เป็นชื่อของไทยธรรม. บทว่า สทฺธํ ได้แก่ภัตตาหารที่อุทิศเพื่อผู้ตาย.
บทว่า ถาลิปาโก ได้แก่ ภัตตาหารที่จะพึงให้แก่บริษัทอื่น. ขึ้นชื่อว่า
ไทยธรรมทุกอย่าง ที่เหลือจากที่กล่าวแล้ว ชื่อว่า ไทยธรรม.
บทว่า เตวิชฺเชสุ พฺราหฺมเณสุ ทานํ ทเทยฺย ความว่า
ทานทั้งหมดนี้ ควรให้ในผู้มีวิชชา 3. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าพราหมณ์
ผู้มีวิชชา 3 เท่านั้น ควรได้รับ (ทาน). บทที่เหลือในพระสูตรนี้ มีนัยดังกล่าว
แล้วในหนหลัง.
จบอรรถกถาชานุสโสณีสูตรที่ 9

10. สังคารวสูตร



ว่าด้วยบุญปฏิปทาที่มีผลมาก



[500] ครั้งนั้นแล สังคารวพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้
ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ชื่อว่าพราหมณ์ ย่อมบูชายัญเองบ้าง
ให้คนอื่นบูชาบ้าง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น ผู้ที่บูชา

ยัญเองและผู้ที่ใช้ให้คนอื่นบูชาทุกคน ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเหตุให้
เกิดบุญ อันมียัญเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก อนึ่ง ผู้ใดออกจาก
สกุลใด บวชเป็นบรรพชิตฝึกแต่คนเดียว ทำตนให้สงบแต่คนเดียว ทำตน
ให้ดับไปแต่คนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นั้นชื่อว่ามีปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญ
อันมีบรรพชาเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระอันเดียว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ถ้ากระนั้นเราจักขอถาม
ท่านในข้อนี้ ท่านจงเฉลยปัญหานั้นตามที่ท่านเห็นควร ดูก่อนพราหมณ์ ท่าน
จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายทรงเบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตอรหัตสัมมาสัมพุทธ-
เจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เราดำเนินไปแล้วตามมรรคนี้ ตามปฏิปทานี้
ทำธรรมอันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้ว สอนประชาชนให้รู้ตาม มาเถิด ถึงท่านทั้งหลายก็จงปฏิบัติตามอาการ
ที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติได้แล้ว ก็จักทำธรรมอันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหม-
จรรย์ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งของตนแล้ว เข้าถึงอยู่ พระศาสดาพระองค์นี้
ทรงแสดงธรรมไว้ดังนี้ ทั้งผู้อื่นต่างปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็ผู้แสดง
และผู้ปฏิบัตินั้น มีมากกว่าร้อย มีมากกว่าพัน มีมากกว่าแสน ดูก่อนพราหมณ์
ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ บุญปฏิปทา
ซึ่งมีบรรพชาเป็นเหตุนั้น ย่อมจะมีกำเนิดแต่สรีระเดียว หรือมีกำเนิดแต่สรีระ
เป็นอันมาก.
สัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นดังตรัสมาฉะนี้ บุญปฏิปทา
ที่มีบรรพชาเป็นเหตุนี้ ย่อมมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก.

เมื่อสังคารวพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถาม
สังคารวพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาปฏิปทา 2 อย่างนี้ ท่านชอบใจ
ปฏิปทาอย่างไหนซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผล
และอานิสงส์มากมาย เมื่อท่านพระอานนท์ถามอย่างนี้ สังคารวพราหมณ์ได้
กล่าวว่า ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง 2 นี้
เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ แม้ครั้งที่ 2 ท่านพระอานนท์ได้ถามว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เรามิได้ถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านควรบูชาใคร หรือว่าท่าน
ควรสรรเสริญใคร แต่เราถามท่านอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาปฏิปทา
2 อย่างนี้ ท่านชอบปฏิปทาอย่างไหน ซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความ
ริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย ถึงครั้งที่ 2 สังคารวพราหมณ์
ก็ได้กล่าวว่า ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง 2 นี้
เราควรบูชา เราควรสรรเสริญ แม้ครั้งที่ 3 ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เรามิได้ถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านควรบูชาใคร ท่านควร
สรรเสริญใคร แต่เราถามท่านอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาปฏิปทา 2
อย่างนี้ ท่านชอบปฏิปทาอย่างไหน ซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่ม
น้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย ถึงครั้งที่ 3 สังคารวพราหมณ์ก็ได้
กล่าวว่า ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง 2 นี้ เรา
ควรบูชา เราควรสรรเสริญ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดำริว่า สังคารวพราหมณ์
ถูกอานนท์ถามปัญหาที่ชอบแล้ว นิ่งเสีย ไม่เฉลยถึง 3 ครั้งแล ถ้ากระไร
เราควรจะช่วยเหลือ จึงได้ตรัสถามสังคารวพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ วันนี้
พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันขึ้นใน
ระหว่างว่าอย่างไร สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้

พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันขึ้นใน
ระหว่างว่า เขาว่าเมื่อก่อนภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้มีน้อยมาก และอุตริ-
มนุษยธรรมมีมากมาย ทุกวันนี้ ภิกษุที่แสดงปาฏิหาริย์ได้มีมากมาย และอุตริ-
มนุษยธรรมมีน้อยมาก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ทุกวันนี้ พวกที่มานั่งประชุม
กันในราชบริษัทในราชสำนักได้พูดสนทนากันขึ้นในระหว่างว่าดังนี้แล.

ว่าด้วยปาฏิหาริย์ 3 อย่าง



พ. ดูก่อนพราหมณ์ ปาฏิหาริย์ 3 อย่างนี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ
อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์1 อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์1
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์1 ดูก่อนพราหมณ์ ก็อิทธิปาฏิหาริย์
เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็น
อันมาก คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้
ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปใน
ที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก
เหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์
พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอด
พรหมโลกก็ได้ ดูก่อนพราหมณ์ นี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุ
บางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง
ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง จิตของท่านเป็นด้วยประการฉะนี้บ้าง ถึงหาก
เธอจะพูดดักใจกะคนเป็นอันมากก็ดี คำที่เธอพูดนั้นก็เป็นเช่นนั้น หาเป็น
อย่างอื่นไปไม่ ดูก่อนพราหมณ์ ก็ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดย
นิมิตไม่ได้เลย ก็แต่ว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว
ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นเช่นนี้บ้าง