เมนู

11. มหาโจรสูตร



ว่าด้วยองค์ของโจรและของภิกษุอลัชชี



[490] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรได้องค์ 3 ย่อมตัดช่องย่องเบา
บ้าง ปล้นสะดมบ้าง ทำการล้อมบ้านหลังเดียวแล้วปล้นบ้าง คอยดักชิงเอาที่
ทางเปลี่ยวบ้าง องค์ 3 คืออะไร คือ มหาโจรได้อาศัยที่อันขรุขระ 1 ได้อาศัย
ป่าชัฏ 1 ได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจ.
มหาโจรอาศัยที่อันขรุขระอย่างไร มหาโจรอาศัยแม่น้ำเขินหรือหุบเขา
อย่างนี้ มหาโจร ชื่อว่า อาศัยที่อันขรุขระ
มหาโจรอาศัยที่ป่าชัฏอย่างไร มหาโจรอาศัยพงหญ้าหรือดงไม้หรือตลิ่ง
หรือราวป่าใหญ่ อย่างนี้ มหาโจร ชื่อว่า อาศัยที่ป่าชัฏ
มหาโจรได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจอย่างไร มหาโจรได้พึ่งพิงท้าวพญา หรือ
ราชมหาอำมาตย์ มันมั่นใจอย่างนี้ว่า ถ้าใคร ๆ จักว่าอะไร ๆ มัน ท้าวพญา
หรือราชมหาอำมาตย์ก็จักช่วยกลบเกลื่อนคดีให้มัน ถ้าใคร ๆ ว่าอะไร ๆ มัน
ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้นก็ช่วยกลบเกลื่อนคดีให้มัน อย่างนี้ มหา-
โจร ชื่อว่า ได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรได้องค์ 3 นี้แล ย่อมตัดช่องย่องเบา
ปล้นสะดมและตีชิง
ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม 3
ชื่อว่าครองตนอันถูกก่น (ขุดรากคือความดี) ถูกประหาร (ตายจากคุณธรรม)
แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นบุญ
มากด้วย ธรรม 3 คืออะไร คือ ภิกษุชั่วอาศัยที่อันขรุขระ 1 อาศัยที่ป่าชัฏ 1
พึ่งพิงผู้มีอำนาจ 1.

ภิกษุชั่วอาศัยที่อันขรุขระเป็นอย่างไร ภิกษุชั่วประกอบด้วยกายกรรม...
วจีกรรม ... มโนกรรมอันไม่สมควร อย่างนี้แล ภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยที่อันขรุขระ
ภิกษุชั่วอาศัยที่ป่าชัฏเป็นอย่างไร ภิกษุชั่วเป็นผู้มีความเห็นผิดประกอบ
ด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นอันแล่นเข้าถึงที่สุด) อย่างนี้แล ภิกษุชั่ว
ชื่อว่าอาศัยที่ป่าชัฏ
ภิกษุชั่วพึ่งพิงผู้มีอำนาจอย่างไร ภิกษุชั่วได้พึ่งพิงท้าวพญา หรือราช-
มหาอำมาตย์ ภิกษุชั่วนั้นมั่นใจอย่างนี้ว่า ถ้าใคร ๆ จักว่าอะไร ๆ เรา
ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านี้ ก็จักช่วยกลบเกลื่อนความให้เรา ถ้า
ใคร ๆ ว่าอะไร ๆ ภิกษุชั่วนั้น ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้น ก็ช่วย
กลบเกลื่อนความให้ภิกษุชั่วนั้น อย่างนี้แล ภิกษุชั่วชื่อว่าพึ่งพิงผู้มีอำนาจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม 3 นี้แล ชื่อว่า
ครองตนอันถูกก่น (รากคือความดี) ถูกประหาร (ตายจากคุณธรรม) แล้ว
เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย.
จบมหาโจรสูตรที่ 11
จบจุฬวรรคที่ 5

อรรถกถามหาโจรสูตร



พึงทราบวินิจฉัย ในมหาโจรสูตรที่ 11 ดังต่อไปนี้:-
โจรที่มีกำลัง มีพวกมาก ชื่อว่า มหาโจร. บทว่า สนฺธึ ได้แก่
ที่ต่อแห่งเรือน. บทว่า นลฺโลปํ ได้แก่ปล้นแบบมหาวินาศ. บทว่า
เอกาคาริกํ ได้แก่ปิดล้อมปล้นเรือนหลังเดียวเท่านั้น. บทว่า ปริปนฺเถปิ
ติฏฺฐติ ได้แก่ดักจี้ตามทาง.