เมนู

อรรถกถาสูตรที่ 4



ประวัติพระสุภูติเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้.
บทว่า ทกฺขิเณยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรแก่ทักษิณา พระขีณาสพ
ทั้งหลายเหล่าอื่นก็ชื่อว่า พระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ในบทว่า
ทกฺขิเณยฺยานํ นั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น พระเถระกำลังบิณฑบาต
ก็เข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ ออกจากสมาบัติแล้ว จึงรับภิกษา
ในเรือนทุกหลัง ด้วยทายกผู้ถวายภิกษาจักมีผลมาก เพราะฉะนั้น
ท่านจึงเรียกว่า ผู้ควรแก่ทักขิณา อัตภาพของท่านงามดี รุ่งเรื่อง
อย่างยิ่งดุจซุ้มประตูที่เขาประดับแล้วและเหมือนแผ่นผ้าวิจิตร
ฉะนั้นจึงเรียกว่า สุภูติ ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าว
ตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
เล่ากันว่า ท่านสุภูตินี้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า
ปทุมุตตระ ยังไม่ทรงอุบัติขึ้น ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล
ในกงหงสวดี ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า นันทมาณพ ท่าน
เจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท ไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น พร้อมด้วย
บริวารของตนมีมาณพประมาณ 44,000 คนออกบวชเป็นฤาษี
อยู่ ณ เชิงบรรพต ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้บังเกิดแล้ว
ได้กระทำแม้อันเตวาสิกทั้งหลายให้ได้ฌานแล้ว. ในสมัยนั้น พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระทรงบังเกิดในโลก ทรงอาศัย
กรุงหงสวดีประทับอยู่ วันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตวโลก

ทรงเห็นอรหัตตุปนิสัยของเหล่าชฏิลอันเตวาสิก ของนันทดาบส และ
ความปรารถนาตำแหน่งสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ 2 ของนันทดาบส
จึงทรงปฏิบัติพระสรีระแต่เช้า ทรงถือบาตรและจีวรในเวลาเช้า
เสด็จไปยังอาศรมของนันทดาบสโดยนัยที่ได้กล่าวแล้วในเรื่องของ
พระสารีบุตรเถระ ในที่นั้น พึงทราบการถวายผลไม้น้อยใหญ่
ก็ดีการตกแต่งปุปผาสนะก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี โดยนัยที่
กล่าวแล้ว.
ก็พระศาสดา ออกจากนิโรธสมาบัติ ทรงส่งพระสาวก
องค์หนึ่งผู้ประกอบด้วยองค์ 2 คือ อรณวิหารองค์ 1 ทักขิไณย
องค์ 1 ว่า เธอจงการทำอนุโมทนาปุปผาสนะแก่คณะฤาษี ดังนี้
พระเถระนั้น อยู่ในวิสัยของตนพิจารณาพระไตรปิฎกกระทำอนุ-
โมทนา เมื่อจบเทศนาของท่านแล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดง (ธรรม)
ด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเทศนา ดาบสทั้ง 44,000 ได้บรรลุ
พระอรหัตทุกรูป ส่วนนันทดาบส ถือเอานิมิตแห่งภิกษุผู้อนุโมทนา
ไม่อาจส่งญาณไปตามแนวแห่งเทศนาของพระศาสดาได้ พระศาสดา
ทรงเหยียดพระหัตถ์ไปยังภิกษุที่เหลือว่า เอถ ภิกฺขโว (จงเป็นภิกษุ
มาเถิด) ภิกษุทั้งหมดมีผมและหนวดอันตรธานแล้ว ครองบริขาร
อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ปรากฏดุจพระเถระ 100 พรรษา
นันทดาบสถวายบังคมพระตถาคตแล้วยืนเฉพาะพระพักตร์
กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุผู้กระทำอนุโมทนาปุปผาสนะแก่
คณะฤาษีมีนามว่าอะไรในศาสนาของพระองค์ ตรัสว่า ภิกษุนี้
เป็นเอตทัคคะด้วยองค์คือความมีปกติอยู่โดยไม่มีกิเลส 1 ด้วยองค์

ของภิกษุผู้ควรทักษิณา 1 นันทดาบสได้ตั้งความปรารถนาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกรรมคือกุศลอันยิ่งที่ได้ทำมา 7 วันนี้
ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ข้าพระองค์พึงเป็นผู้ประกอบ
ด้วยองค์ 2 เหมือนอย่างพระเถระนี้ในศาสนาของพระทศพลองค์หนึ่ง
ในอนาคต. พระศาสดา ทรงเห็นความไม่มีอันตรายจึงทรงพยากรณ์
แล้วเสด็จกลับไป. ฝ่ายนันทดาบสฟังธรรมในสำนักพระทศพล
ตามสมควรแก่กาล ไม่เสื่อมจากฌานแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก.
อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์มิได้กล่าวถึงกัลยาณกรรมของดาบสนี้
ในระหว่างไว้. ล่วงไปแสนกัปท่านมาบังเกิดในเรือนแห่งสุมน
เศรษฐีในกรุงสาวัตถี พวกญาติได้ขนานนามท่านว่า สุภูติ
ต่อมา พระศาสดาของพวกเราทรงบังเกิดในโลกอาศัย
กรุงราชคฤห์ประทับอยู่ ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีนำสินค้า
ที่ผลิตในกรุงสาวัตถีไปยังเรือนของราชคฤห์เศรษฐีสหายของตน
ทราบว่าพระศาสดาทรงอุบัติแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับ
อยู่ ณ สีตวัน ด้วยการเฝ้าครั้งแรกนั่นเอง ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จมายังกรุงสาวัตถี ให้สร้าง
วิหารด้วยการบริจาคทรัพย์แสนหนึ่ง ๆ ทุก ๆ โยชน์ตลอดทาง
45 โยชน์ซื้อที่อุทยานของพระราชกุมารนามว่าเชต ประมาณ 18
กรีสด้วยเครื่องนับของหลวงในกรุงสาวัตถี โดยเรียงทรัพย์โกฏิหนึ่ง
สร้างวิหารในที่ที่ซื้อนั้น ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ในวัน
ฉลองวิหาร สุภูติกุฏุมพีก็ได้ไปฟังธรรมกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ได้ศรัทธาจึงบวชท่านอุปสมบทแล้วกระทำมาติกา 2 บทให้แคล่ว-

คล่อง ให้บอกกัมมัฏฐานให้ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าเจริญวิปัสสนา
กระทำเมตตาฌานให้เป็นบาท บรรลุอรหัตแล้ว เมื่อแสดงธรรมก็
กล่าวธรรมโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล เมื่อเที่ยวบิณฑบาต ออกจาก
เมตตาฌานแล้วจึงรับภิกษาโดยนัยที่กล่าวแล้วเช่นกัน ครั้งนั้น
พระศาสดาทรงอาศัยเหตุ 2 อย่างนี้ จึงสถาปนาท่านไว้ในภิกษุ
ผู้ควรแก่ทักษิณา แลตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุ
ผู้มีปกติอยู่โดยไม่มีกิเลส.

จบ อรรถกถาสูตรที่ 4

อรรถกถาสูตรที่ 5



ประวัติพระเรวตเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้.
บทว่า อารญฺญกานํ ได้แก่ ผู้มีปกติอยู่ป่าเป็นวัตร บทว่า
เรวโต ขทิรวนิโย ได้แก่ น้องชายคนเล็กของพระธรรมเสนาบดีเถระ
ท่านมิได้อยู่เหมือนอย่างพระเถระเหล่าอื่น เมื่อจะอยู่ในป่าก็ต้อง
เลือกป่า น้ำ และที่ภิกขาจารที่ถูกใจจึงอยู่ในป่า แต่ท่านไม่ยึดถือ
ของที่ถูกใจเหล่านี้ อาศัยอยู่ในป่าตะเคียนที่ขระขระด้วยก้อนกรวด
และก้อนหินบนที่ดอน ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุ
ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ
ดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า ในอดีตกาลครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า พระเรวตะ
นี้บังเกิดในหงสวดี อาศัยกระทำการงานทางเรือ ที่ท่าปยาคประดิษ-
ฐานในแม่น้ำคงคา สมัยนั้น พระศาสดามีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวาร
เสด็จจาริกไปจนถึงท่าปยาคประดิษฐาน เขาเห็นพระทศพลแล้ว
คิดว่า เราไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว ขณะนี้เป็นขณะที่
เราจะได้ขวนขวายกัลยาณกรรมไว้ จึงให้ผูกเรือขนานต่อกัน ดาด
เพดานผ้าข้างบน ห้อยพวงมาลาของหอมเป็นต้น ลาดเครื่องลาดอัน
วิจิตรประกอบด้วยผ้าเปลือกไม้ นิมนต์พระศาสดาพร้อมทั้งบริวาร
เสด็จข้ามฟาก ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุผู้อยู่ป่า
เป็นวัตรองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ นายเรือนั้นเห็นภิกษุนั้น