เมนู

อรรถกถาสูตรที่ 9



ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้.
คำว่า ปุณณมันตานีบุตร คือพระเถระชื่อว่า ปุณณะ โดยชื่อ
แต่ท่านเป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณี (จึงชื่อว่า ปุณณมันตานี-
บุตร) ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้
ได้ยินว่า ก่อนที่พระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติ
ท่านปุณณะบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล กรุงหงสวดี ใน
วันขนานนามท่าน พวกญาติขนานนามว่า โคตมะ ท่านเจริญวัย
แล้วเรียนไตรเพท เป็นผู้ฉลาดในศิลปศาสตร์ทั้งปวง มีมาณพ 500
เป็นบริวาร เที่ยวไป จึงพิจารณาไตรเพทดูก็ไม่เห็นโมกขธรรม
เครื่องพ้น คิดว่า ธรรมดาไตรเพทนี้เหมือนต้นกล้วย ข้างนอกเกลี้ยงเกลา
ข้างในหาสาระมิได้ การถือไตรเพทนี้เที่ยวไป ก็เหมือนบริโภคแกลบ
เราจะต้องการอะไรด้วยศิลปะนี้ จึงออกบวชเป็นฤาษีทำพรหมวิหาร
ให้บังเกิด เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมก็จักเข้าถึงพรหมโลก ดังนี้ จึงพร้อม
กับมาณพ 500 ไปยังเชิงเขาบวชเป็นฤาษีแล้ว ท่านมีชฏิล 18,000
เป็นบริวาร ท่านทำอภิญญา 5 สมาบัติ 8 ให้บังเกิดแล้ว บอก
กสิณบริกรรมแก่ชฏิลเหล่านั้นด้วย ชฏิลเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาท
ของท่าน บำเพ็ญจนได้อภิญญา 5 สมาบัติ 8 ทุกรูป.
เมื่อกาลเป็นเวลานานไกลล่วงไป ในเวลาที่โคตมดาบส
นั้นเป็นคนแก่ พระปทุมุตตระทศพลก็ทรงบรรลุปรมาภิสัมโพธิญาณ

ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร
ทรงอาศัยกรุงหงสวดีประทับอยู่ วันหนึ่งพระทศพลนั้นทรงตรวจ
ดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอรหัตตูปนิสัยของบริษัทโคตม-
ดาบส และความปรารถนาของโคตมดาบส (ที่ปรารถนาว่า ขอเรา
พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก ในศาสนาของพระ-
พุทธเจ้าผู้จะทรงบังเกิดในกาลภายหน้าเถิด) จึงชำระสรีระแต่
เช้าตรู่ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จไปโดยเพศที่ใคร ๆ
ไม่รู้จัก ในเมื่ออันเตวาสิกของโคตมดาบสไปเพื่อแสวงหาผลหมาก
รากไม้ในป่า ไปประทับยืนที่ประตูบรรณศาลาของโคตมดาบส
ฝ่ายโคตมดาบสแม้ไม่ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว เห็น
พระทศพลมาแต่ไกลเทียวก็ทราบได้ว่า บุรุษผู้นี้ปรากฏ น่าจะ
เป็นคนพ้นโลกแล้ว เหมือนความสำเร็จแห่งสรีระของพระองค์
ซึ่งประกอบด้วยจักกลักษณะ หากครองเรือนก็จักเป็นพระเจ้า-
จักรพรรดิ์ หากออกบวชก็จักเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้มีกิเลส
ดุจหลังคาเปิดแล้ว ดังนี้ จึงถวายอภิวาทพระทศพล โดยการพบ
ครั้งแรกเท่านั้น ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดมาประทับ
ทางนี้ ปูนลาดอาสนะถวายแล้ว พระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรม
แก่โคตมดาบส ขณะนั้นพวกชฏิลเหล่านั้นมาด้วยหมายว่า จักให้
ผลหมากรากไม้ในป่าที่ประณีต ๆ แก่อาจารย์ ส่วนที่เหลือจัก
บริโภคเอง ดังนี้ เห็นพระทศพลประทับนั่งบนอาสนะสูง แต่อาจารย์
นั่งบนอาสนะต่ำ ต่างสนทนากันว่า พวกเราคิดกันว่า ในโลกนี้
ไม่มีใครที่ยิ่งกว่าอาจารย์ของเรา แต่บัดนี้ปรากฏว่า บุรุษนี้ผู้เดียว
ให้อาจารย์ของเรานั่งบนอาสนะต่ำ ตนเองนั่งบนอาสนะสูง มนุษย์

นี้ทีจะเป็นใหญ่หนอ ดังนี้ ต่างถือตะกร้าพากันมา โคตมดาบส
เกรงว่า ชฏิลเหล่านี้จะพึงไหว้เราในสำนักพระทศพล จึงกล่าวว่า
พ่อทั้งหลายอย่าไหว้เรา บุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลกเป็นผู้
ควรที่ท่านทุกคนพึงไหว้ได้ ท่านทั้งหลายจงไหว้บุรุษผู้นี้ ดาบส
ทั้งหลายคิดว่า อาจารย์ไม่รู้คงไม่พูด จึงถวายบังคมพระบาทแห่ง
พระตถาคตเจ้าหมดทุกองค์ โคตมดาบสกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย เรา
ไม่มีโภชนะอย่างอื่นที่สมควรถวายแด่พระทศพล เราจักถวาย
ผลหมากรากไม้ในป่านี้ จึงเลือกผลาผลที่ประณีต ๆ บรรจงวางไว้
ในบาตรของพระพุทธเจ้า ถวายแล้ว พระศาสดาเสวยผลหมาก-
รากไม้ในป่าแล้ว ต่อจากนั้น แม้ดาบสเองกับอันเตวาสิกจึงฉัน
พระศาสดาเสวยเสร็จแล้วทรงพระดำริว่า พระอัครสาวกทั้ง 2
จงพาภิกษุแสนรูปมา ในขณะนั้น พระมหาวิมลเถระอัครสาวกรำลึกว่า
พระศาสดาเสด็จไปที่ไหนหนอ ก็ทราบว่า พระศาสดาทรงประสงค์
ให้เราไปจึงพาภิกษุแสนรูปไปเฝ้าถวายบังคมอยู่ พระดาบสกล่าวกะ
อันเตวาสิกว่า พ่อทั้งหลาย พวกเราไม่มีสักการะอื่น (ทั้ง) ภิกษุสงฆ์
ก็ยืนอยู่ลำบาก เราจักปูลาดบุปผาสนะถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธ-
องค์เจ้าเป็นประธาน ท่านทั้งหลายจงไปนำเอาดอกไม้ที่เกิดทั้งบนบก
ทั้งในน้ำมาเถิด ในทันใดนั้นเอง ดาบสเหล่านั้น จึงนำเอาดอกไม้
อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาจากเชิงเขาด้วยอิทธิฤทธิ์ ปูลาด
อาสนะทั้งหลายโดยนัยที่กล่าวไว้ในเรื่องของพระสารีบุตรเถระ
นั่นแล การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี การกั้นฉัตรก็ดี ทุกเรื่อง พึงทราบ
โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

ในวันที่ 7 พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติ ทรง
เห็นดาบสทั้งหลายยืนล้อมอยู่ จึงตรัสเรียกพระสาวกผู้บรรลุ
เอตทัคคะในความเป็นพระธรรมกถึกตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หมู่
ฤาษีนี้ ได้กระทำสักการะใหญ่ เธอจงกระทำอนุโมทนาบุปผาสนะ
แก่หมู่ฤาษีเหล่านี้ ภิกษุนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้วพิจารณา
พระไตรปิฎกกระทำอนุโมทนา เวลาจบเทศนาของภิกษุนั้น
พระศาสดาทรงเปล่งพระสุระเสียงดุจเสียงพรหมแสดงธรรม
ด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเทศนา (เว้น) โคตมดาบสเสีย ชฏิล
18,000 รูปที่เหลือได้บรรลุพระอรหัต ส่วนโคตมดาบสไม่อาจ
ทำการแทงตลอดโดยอัตภาพนั้น จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุผู้ที่แสดงธรรมก่อนนี้ ชื่อว่า
อย่างไร ในศาสนาของพระองค์ พ.ตรัสว่า โคตมดาบส ภิกษุ
นี้เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกในศาสนาของเรา
โคตมดาบสหมอบแทบบาทมูล กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งบุญกุศลที่ข้าพระองค์ทำมา 7
วันนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนดัง
ภิกษุรูปนี้ พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาล ก็ทรงทราบว่า
ความปรารถนาของโคดมดาบสนั้นสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้
แล้วทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคตกาลพระ-
พุทธเจ้าพระนามว่า โคตม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอด
ของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกในศาสนาของพระองค์แล้วตรัส
กะดาบสผู้บรรลุพระอรหัตว่า เอถ ภิกฺขโว จงเป็นภิกษุมาเถิด

ดังนี้ ดาบสทุกรูปมีผมและหนวดอันตรธานไป ทรงบาตรและ
จีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเช่นกับพระเถระ 100 พรรษา
พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จกลับพระวิหาร ฝ่ายโคตม-
ดาบสก็บำรุงพระตถาคตจนตลอดชีวิต บำเพ็ญแต่กัลยาณกรรม
ตามกำลัง เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแสนกัป
ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จึงมาเกิดในตระกูลพราหมณ์
มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุไม่ไกลกรุงกบิลพัสดุ์
ในวันขนานนามของท่าน พวกญาติขนานนามท่านว่า ปุณณมาณพ

ครั้งเมื่อพระศาสดาทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ ทรงประกาศ
ธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จดำเนินมาโดยลำดับ เข้าอาศัยอยู่
ยังกรุงราชคฤห์ พระอัญญาโกณฑัญญเถระ มายังกรุงกบิลพัสดุ์
ให้ปุณณมาณพหลานชายของตนบวชแล้ว รุ่งขึ้นจึงมาเฝ้าพระทศพล
ถวายบังคมแล้วก็ทูลลาไปยังฉัททันตสระ เพื่อพักผ่อนกลางวัน
ฝ่ายพระปุณณมันตานีบุตรมาเฝ้าพระทศพลพร้อมกับพระอัญญา-
โกณฑัญญเถระผู้ลุง คิดว่า เราจักทำกิจแห่งบรรพชิตของเรา
ให้ถึงที่สุดแล้ว จึงจักไปเฝ้าพระทศพล ดังนี้ จึงถูกละไว้ในกรุง-
กบิลพัสดุ์นั่นเอง กระทำโยนิโสมนสิการกรรมฐาน ไม่นานนัก
ก็บรรลุพระอรหัต มีกุลบุตรออกบวชในสำนักของท่านถึง 500 รูป
พระเถระเองได้กถาวัตถุ 10 จึงสอนแม้แก่บรรพชิตเหล่านั้นด้วย
กถาวัตถุ 10 บรรพชิตเหล่านั้นดำรงอยู่ในโอวาทของท่านก็ได้
บรรลุพระอรหัตทุกรูปเทียว ภิกษุเหล่านั้นรู้ว่า กิจแห่งบรรพชิต
ของตนถึงที่สุดแล้ว จึงเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ

กิจของพวกกระผมและผู้ได้มหากถาวัตถุ 10 ถึงที่สุดแล้ว เป็น
สมัยที่พวกกระผมจะเฝ้าพระทศพล พระเถระฟังถ้อยคำของภิกษุ
เหล่านั้นแล้วจึงคิดว่า พระศาสดาทรงทราบว่า เราได้กถาวัตถุ 10
เมื่อเราแสดงธรรมก็แสดงไม่พ้นกถาวัตถุ 10 เมื่อเราไปภิกษุ
ทั้งหมดนี้ก็จะแวดล้อมไป ก็การไปด้วยคลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนี้
เข้าเฝ้าพระทศพลของเราก็ไม่ควร ภิกษุ เหล่านี้จงไปเฝ้าก่อน ดังนี้
จึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า อาวุโส ท่านทั้งหลายจงเดินล่วงหน้า
ไปเฝ้าพระตถาคต และจงกราบพระบาทของพระองค์ตามคำของเรา
แม้เราก็จักไปตามทางที่ท่านไปแล้ว ดังนี้ ภิกษุเหล่านั้นทุกรูป
ล้วนอยู่ในรัฐที่เป็นชาติภูมิเดียวกับพระทศพล ทั้งหมดเป็นพระ-
ขีณาสพ ได้กถาวัตถุ 10 หมดทุกรูป ยินดียิ่งซึ่งโอวาทของอุปัชฌาย์
ของตน ไหว้พระเถระแล้วเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ล่วงหนทางถึง
60 โยชน์จนถึงพระเชตวันมหาวิหารในกรุงราชคฤห์ ถวายบังคม
พระบาทของพระทศพลแล้วพากันนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง

ก็นี่เป็นอาจิณณวัตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายที่จะ
ทรงชื่นชอบตอบกับอาคันตุกะภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าจึงทรงกระทำปฏิสันถารด้วยมธุรวาจากับภิกษุเหล่านั้น
โดยนัยมีอาทิว่า กจฺจิ ภิกฺขเว ขมนียํ พอทนได้หรือภิกษุทั้งหลาย
แล้วตรัสถามว่า พวกเธอมาแต่ไหน เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า
จากชาติภูมิแล้ว จึงตรัสถามภิกษุผู้ได้กถาวัตถุ 10 ว่าดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย พวกภิกษุผู้เป็นเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิกันได้
สรรเสริญใครหนอแลอย่างนี้ว่า ตนเองก็ปรารถนาน้อยด้วย สอน

ภิกษุทั้งหลายเรื่องปรารถนาน้อยด้วย ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
ว่า พระเจ้าข้า ท่านชื่อว่า ท่านปุณณมันตานีบุตร พระเจ้าข้า ท่าน
พระสารีบุตรได้ฟังถ้อยคำนั้น จึงเป็นผู้ใคร่เพื่อจะพบพระเถระ
ครั้งนั้น พระศาสดาได้เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ไปสู่กรุงสาวัตถี
พระปุณณเถระได้ยินว่า พระทศพลเสด็จมากรุงสาวัตถี จึงคิดว่า
เราจักเฝ้าพระศาสดา จึงออกเดินไปจนทันเฝ้าพระตถาคต ที่ภายใน
พระคันธกุฎีทีเดียว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ท่าน พระเถระ
สดับธรรมแล้ว ถวายบังคมพระทศพลแล้วไปยังป่าอันธวันเพื่อ
หลีกเร้นจึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง แม้พระสารีบุตรเถระ
ทราบว่าท่านมา มองหาทิศทางแล้วเดินไปกำหนดโอกาสเข้าไป
ยังโคนไม้นั้นแล้วสนทนากับพระเถระ ถามถึงลำดับแห่งวิสุทธิ 7
แม้พระเถระก็พยากรณ์ที่ท่านถามแล้วถามเล่าถวายท่าน พระเถระ
ทั้งสองนั้น ต่างอนุโมทนาสุภาษิตของกันและกัน ต่อมาภายหลัง
พระศาสดาทรงประทับนั่งท่ามกลางภิกษุสงฆ์ทรงสถาปนาพระ-
เถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุเป็นธรรมกถึกแล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ 9

อรรถกถาสูตรที่ 10



ประวัติพระมหากัจจายนเถระ



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 10 ดังต่อไปนี้.
บทว่า สงฺขิตฺเตน ภาสิตสฺส ความว่า ของธรรมที่ตรัสไว้
โดยย่อ. บทว่า วิตฺถาเรน อตฺถํ วิภชนฺตานํ ความว่า จำแนกอรรถ
ออกทำเทศนานั้นให้พิสดาร. นัยว่าพวกภิกษุเหล่าอื่นไม่อาจทำ
พระดำรัสโดยย่อของพระตถาคตให้บริบูรณ์ ทั้งโดยอรรถทั้งโดย
พยัญชนะได้ แต่พระเถระนี้อาจทำให้บริบูรณ์ได้แม้โดยทั้ง 2 อย่าง
เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นยอด. ก็แม้ความปรารถนาแต่ปาง
ก่อนของพระเถระนั้น ก็เป็นอย่างนี้. อนึ่ง ในปัญหากรรมของ
พระเถระนั้น มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-

ได้ยินว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ
พระเถระนั้นบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล เจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง
ไปวิหารตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็น
ภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอด
ของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่พระองค์ตรัสโดยย่อ
ให้พิสดาร จึงคิดว่า ภิกษุซึ่งพระศาสดาทรงชมเชยอย่างนี้เป็นใหญ่
หนอ แม้ในอนาคตกาล เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของ
พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งดังนี้. จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทาน