เมนู

ทุติยวรรคที่ 2



1. อิจฉานังคลสูตร



ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ



[1363] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่อ
อิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่
สักสามเดือน ใคร ๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ใคร ๆ ไม่เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว.
[1364] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นโดยล่วง
สามเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก เธอทั้งหลาย
ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อน
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วย
อานาปานสติมาก.
[1365] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า
หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจ
เข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจ

ทั้งปวงหายใจออก . . . ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน
หายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า.
[1366] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ
พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่อง
อยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึง
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง
ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะ
อันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ.
[1367] ดูท่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุ
ประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญ
แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อ
สติสัมปชัญญะ.
[1368] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ
พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่อง
อยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึง
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง.
จบอิจฉานังคลสูตรที่ 1

ทุติยวรรควรรณนาที่ 2



อรรถกถาอิจฉานังคลสูตร



ทุติยวรรคที่ 2 อิจฉานังคลสูตรที่ 1.

ถามว่า ทำไมพระผู้มีพระ
ภาคเจ้า จึงตรัสบอกวิหารสมาบัติ (การเข้าถึงธรรมเครื่องอยู่) ของพระองค์ว่า
พวกเธอพึงตอบอย่างนี้เล่า. ตอบว่า เพื่อเปลื้องความติเตียน. จริงอยู่ ถ้าหาก
พวกภิกษุเหล่านั้นพึงกล่าวว่า พวกเราไม่ทราบ ทีนั้น พวกเดียรถีย์ก็จะพึงยกข้อ
ตำหนิขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านย่อมไม่ทราบว่า ศาสดาของพวกเรา
อยู่แล้วตลอดสามเดือน ด้วยสมาบัติชื่อโน้น แล้วก็ทำไม พวกท่านจึงยอม
รับใช้ท่านอยู่เล่า เพราะเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนั้น เพื่อปลดเปลื้อง.
ถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมในที่นี้จึงไม่ตรัสเหมือนที่ตรัส
วาอักษร ในที่อื่นว่า มีสติเทียว ย่อมหายใจออก หรือ เมื่อกำลังหายใจออกยาว
ด้วยเล่า. ตอบว่า เพราะความเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง. จริงอยู่ ลมหายใจออก
หรือลมหายใจเข้าเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่คนเหล่าอื่น สิ่งทั้งสองอย่างนี้ เป็นสิ่งที่
ปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะความที่ทรงมีพระสติที่ทรงเข้าไปตั้งไว้
เป็นนิจ เหตุนี้จึงไม่ตรัสไว้ เพราะความเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง. และเมื่อเป็น
อย่างนั้น ทำไมจึงไม่ตรัสว่า สกฺขามิ (เราย่อมศึกษา) ตรัสแต่เพียงว่า
อสฺสสามิ (เราย่อมหายใจออก) เท่านี้เล่า. เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องศึกษา.
จริงอยู่ พระเสกขะ 7 จำพวก ชื่อว่า เป็นผู้ศึกษา เพราะยังมีสิ่งที่จะต้อง
ศึกษา พระขีณาสพ ชื่อว่า อเสกขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษา) เพราะไม่มีสิ่งที่จะ
ต้องศึกษา. พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ต้องศึกษา จึงชื่อว่า อเสกขะ
กิจที่จะต้องศึกษาของพระอเสกขะเหล่านั้นไม่มี เหตุนี้ จึงไม่ตรัสไว้ เพราะไม่
มีกิจที่จะต้องศึกษา.
จบอรรถกถาอิจฉานังคลสูตรที่ 1