เมนู

7. กัปปินสูตร



ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ



[1321] กรุงสาวัตถี. ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[1322] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัป-
ปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถาม
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหวหรือความ
เอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ.
[1323] ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด
ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับ
รูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียง
แห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย.
[1324] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียง
แห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะ
ได้เจริญได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก.
[1325] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่ง
กายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ
กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็นไฉน เพราะได้เจริญ ได้การทำให้มากซึ่งอานาปาน
สติสมาธิ.

[1326] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ
แล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี
ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความ
ให้พิสดารตลอดถึงย่อมสำเหนียกว่า เราเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหาย
ใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มาก
แล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือ
ความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.
จบกัปปินสูตรที่ 7

อรรถกถากัปปินสูตร



กัปปินสูตรที่ 7.

ท่านแสดงถึงความหวั่นไหวนั่นเอง แม้ด้วย
สองคำว่า ความไหวหรือความเอนเอียง.
จบอรรถกถากัปปินสูตรที่ 7