เมนู

อรรถกถาทุติยอวิชชาสูตรที่ 7


ในทุติยอวิชชาสูตรที่ 7 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า สพฺเพ ธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 ทั้งหมด.
บทว่า นาลํ อภินิเวสาย ความว่า ไม่ควรถือมั่น คือ ไม่ควรเพื่อจะยึดถือ
โดยลูบคลำ. บทว่า สพฺพนิมิตฺตานิ ได้แก่ สังขารนิมิตทั้งหมด. บทว่า
อญฺญโต ปสฺสติ ได้แก่ ชนที่มีความยึดมั่นอันมิได้กำหนดรู้ ย่อมเห็น
โดยประการใด ย่อมเห็นโดยประการอื่นจากประการนั้น. จริงอยู่ชนผู้มี
ความยึดมั่นอันมิได้กำหนดรู้ ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวง โดยเป็นอัตตา ส่วน
ผู้ยึดมั่นอันได้กำหนดรู้แล้ว ย่อมเห็นโดยเป็นอนัตตา ไม่เห็นโดยเป็นอัตตา.
ในพระสูตรนี้ ตรัสเฉพาะอนัตตลักขณะเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ 7

8. ภิกขุสูตร


ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้ทุกข์


[97] ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นในโลกนี้แล ย่อมถามข้าพระ-
องค์อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อ
อะไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ จึงพยากรณ์
แก่ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้ว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ใน

พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้า-
พระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พยากรณ์แล้วอย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าว
ตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การกล่าวและ
กล่าวตามที่ชอบแก่เหตุ แม้น้อยหนึ่ง จะไม่ควรติเตียนละหรือ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
ถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามคำที่
เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่
ธรรม ทั้งการกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง ย่อมไม่ควร
ติเตียน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา
ก็เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ทุกข์ซึ่งพวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระ-
สมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้ พึง
พยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส จักษุแลเป็น
ทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้จักษุ
เป็นทุกข์นั้น รูป ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น ฯลฯ ใจก็เป็นทุกข์ ฯลฯ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้น ๆ อาวุโส ข้อนี้นั้นแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติ

พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้น ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แล.
จบ ภิกขุสูตรที่ 8

อรรถกถาภิกขุสูตรที่ 8


ในภิกขุสูตรที่ 8 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
โน อักษร ในคำว่า อิธ โน นี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น. คำที่
เหลือ ง่ายทั้งนั้น. ทุกขลักขณะ พึงทราบว่า ตรัสไว้ในที่นี้อย่างเดียว.
จบ อรรถกถาภิกขุสูตรที่ 8

9. โลกสูตร


ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลก


[ 98 ] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงเรียกว่า โลก
พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ที่เรียกว่าโลก เพราะจะ
ต้องแตกสลาย อะไรเล่าแตกสลาย ดูก่อนภิกษุ จักษุแลแตกสลาย รูป
แตกสลาย จักษุวิญญาณแตกสลาย จักษุสัมผัสแตกสลาย สุขเวทนา
ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
แตกสลาย ฯลฯ ใจแตกสลาย ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส