เมนู

4. ปริญเญยยสูตร



ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้



[369] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระราธะ
ว่า ดูก่อนราธะ เราตถาคตจักแสดงปริญเญยยธรรม ธรรมอันบุคคลควร
กำหนดรู้ ปริญญา ความกำหนดรู้ และปริญญาตาวีบุคคล บุคคล
ผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระราธะรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน ? ดูก่อนราธะ รูปแลเป็น
ปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม
สังขาร
เป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม. ดูก่อนราธะ
ธรรมเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า ปริญเญยยธรรม ดูก่อนราธะ ปริญญา
เป็นไฉน ? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรา
ตถาคตกล่าวว่า ปริญญา. ดูก่อนราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน ?
ผู้ที่เราพึงเรียกกันว่า พระอรหันต์คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้.
ดูก่อนราธะ ผู้นี้เราตถาคตกล่าวว่า ปริญญาตาวีบุคคล.
จบ ปริญเญยยสูตร

อรรถกถาปริญเญยยสูตรที่ 4



สูตรที่ 4

ง่ายทั้งนั้น.
จบ อรรถกถาปริญเญยยสูตร

5. ปฐมสมณพราหมณสูตร



ว่าด้วยผู้ควรยกย่อง และไม่ควรยกย่องว่าเป็นสมณพราหมณ์



[370] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระราธะ
ว่า ดูก่อนราธะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน ?
ได้แก่ อุปาทานขันธ์ คือ รูป 1 อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา 1
อุปาทานขันธ์
คือ สัญญา 1 อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร 1 อุปาทานขันธ์
คือ วิญญาณ 1 ดูก่อนราธะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ไม่รู้ชัด ซึ่ง คุณ โทษ และธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์
5 ประการนี้ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อม
ไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่ได้รับยกย่องว่า
เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้นจะทำให้แจ้งซึ่ง
ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ (อรหัตตผล) หรือประโยชน์แห่ง
ความเป็นพราหมณ์ (อรหัตตผล) ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึง
อยู่ไม่ได้เลย.
[371] ดูก่อนราธะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
รู้ชัดซึ่งคุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ 5
ประการ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล ย่อมได้
รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และได้รับยกย่องว่าเป็นพราหมณ์
ในหมู่พราหมณ์ อนึ่งท่านเหล่านั้น ย่อมทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่ง
ความเป็นสมณะ (อรหัตตผล) และประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์
(อรหัตตผล) ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ด้วย.
จบ ปฐมสมณพราหมณสูตร