เมนู

3. ภวเนตติสูตร



ว่าด้วยกิเลสที่นำไปสู่ภพ



[368] กรุงสาวัตถี. ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า กิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ
กิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ ดังนี้ กิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพเป็นไฉน ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนราธะ ความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น
อันเป็นที่ตั้ง เป็นที่ยึดมั่น เป็นอนุสัยแห่งจิต ในรูป นี้เราตถาคตกล่าวว่า
กิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น
เราตถาคตกล่าวว่า เป็นธรรมเป็นที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำสัตว์
ไปสู่ภพ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความทะยานอยาก
ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้ง เป็นที่ยึดมั่น เป็นอนุสัยแห่งจิต
ในเวทนา... ในสัญญา... ในสังขาร... ในวิญญาณ นี้เราตถาคตกล่าวว่า
กิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น
เราตถาคตกล่าวว่า เป็นธรรมเป็นที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ.
จบ ภวเนตติสูตร

อรรถกถาภวเนตติสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ภวเนตฺติ ได้แก่ ตัณหาเพียงดังเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ.
จบ อรรถกถาภวเนตติสูตร

4. ปริญเญยยสูตร



ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้



[369] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระราธะ
ว่า ดูก่อนราธะ เราตถาคตจักแสดงปริญเญยยธรรม ธรรมอันบุคคลควร
กำหนดรู้ ปริญญา ความกำหนดรู้ และปริญญาตาวีบุคคล บุคคล
ผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระราธะรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน ? ดูก่อนราธะ รูปแลเป็น
ปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม
สังขาร
เป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม. ดูก่อนราธะ
ธรรมเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า ปริญเญยยธรรม ดูก่อนราธะ ปริญญา
เป็นไฉน ? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรา
ตถาคตกล่าวว่า ปริญญา. ดูก่อนราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน ?
ผู้ที่เราพึงเรียกกันว่า พระอรหันต์คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้.
ดูก่อนราธะ ผู้นี้เราตถาคตกล่าวว่า ปริญญาตาวีบุคคล.
จบ ปริญเญยยสูตร

อรรถกถาปริญเญยยสูตรที่ 4



สูตรที่ 4

ง่ายทั้งนั้น.
จบ อรรถกถาปริญเญยยสูตร