เมนู

บทว่า มาเรตา วา ความว่า หรือสัตว์ผู้ถูกฆ่าตาย (พึงมี).
บทว่า โย วา ปน มิยฺยติ ความว่า ก็หรือว่า ผู้ใดตาย.
บทว่า นิพฺพิทตฺถํ ได้แก่ เพื่อนิพพิทาญาณ.
บทว่า นิพฺพานตฺถา ความว่า ชื่อว่าผลวิมุตตินี้มีอนุปาทานิพพาน
เป็นผล อธิบายว่า เพื่ออนุปาทานิพพาน.
บทว่า อจฺจสา ความว่า เธอล่วงเลย (ปัญหา) ไปแล้ว.
บทว่า นิพฺพาโนคธํ ความว่า ตั้งอยู่ในนิพพาน อธิบายว่า ชื่อว่า
มรรคพรหมจรรย์ย่อมเข้าไปภายในนิพพาน หาล่วงเลยนิพพานไปได้ไม่.
บทว่า นิพฺพานปริโยสานํ ความว่า นิพพานเป็นที่สุด คือ เป็นผล
สำเร็จ ได้แก่ เป็นที่จบลงของมรรคพรหมจรรย์นั้น.
จบ อรรถกถามารสูตร

2. สัตตสูตร



ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าสัตว์



[367] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร
เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล
ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่าสัตว์ ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนราธะ เพราะเหตุที่มี
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปแล
เป็นผู้ข้องในรูป เป็นผู้เกี่ยวข้องในรูปนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ เพราะ
เหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
ในเวทนา... ในสัญญา... ในสังขาร... ในวิญญาณ เป็นผู้ข้องในวิญญาณ
เป็นผู้เกี่ยวข้องในวิญญาณนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์ ดูก่อนราธะ
เด็กชายหรือเด็กหญิงเล่นอยู่ตามเรือนฝุ่นทั้งหลาย เป็นผู้ยังไม่ปราศจาก
ความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก
ไม่ปราศจากความระหาย ไม่ปราศจากความกระวนกระวาย
ไม่ปราศจากความทะยานอยากในการเล่นขายของเหล่านั้น อยู่เพียงใด
ย่อมอาลัย ย่อมอยากเล่น ย่อมหวงแหน ย่อมยึดถือเรือนฝุ่นทั้งหลายอยู่
เพียงนั้น ดูก่อนราธะ แต่ว่าในกาลใด เด็กชายหรือเด็กหญิง เป็น
ผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก
ปราศจากความกระหาย ปราศจากความกระวนกระวาย ปราศจาก
ความทะยานอยากในการเล่นขายของเหล่านั้นแล้ว ในกาลนั้นแล
เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น ย่อมรื้อ ย่อมทำลาย ย่อมกำจัด ย่อมทำ
เรือนฝุ่นเหล่านั้นให้เล่นไม่ได้ ด้วยมือและเท้า ฉันใด ดูก่อนราธะ
แม้เธอทั้งหลายก็จงรื้อ จงทำลาย จงกำจัด จงทำรูป ให้เป็นของเล่น
ไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงทำลาย จงกำจัด
จงทำเวทนา ให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
จงรื้อ จงทำลาย จงกำจัด จงทำสัญญาให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติ
เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงทำลาย จงกำจัด จงทำสังขารให้
เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงทำลาย
จงกำจัด จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไป

แห่งตัณหา ฉันนั้น นั่นเทียวแล ดูก่อนราธะ เพราะว่า ความสิ้นไปแห่ง
ตัณหาเป็นนิพพาน.
จบ สัตตสูตร

อรรถกถาสัตตสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในสัตตสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สตฺโต เป็นคำถามถึงบุคคล.
บทว่า ตตฺร สตฺโต ตตฺร วิสตฺโต ความว่า ผู้ติด คือ ผู้ข้องอยู่ใน
อุปาทานขันธ์นั้น.
บทว่า ปํสฺวาคารเกหิ แปลว่า เรือนที่ทำด้วยฝุ่น. (เรือนเล่นขายของ)
บทว่า กีฬายนฺติ แปลว่า เล่น.
บทว่า ธนายนฺติ แปลว่า สำคัญเรือนที่ทำด้วยฝุ่นว่าเหมือนทรัพย์.
บทว่า มมายนฺติ ได้แก่ ทำการยึดถือว่า นี้ของเรา นี้ของเรา คือ
ไม่ยอมแม้แต่จะให้คนอื่นแตะต้อง.
บทว่า วิกีฬนิกํ กโรนฺติ ความว่า เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น
คิดว่า การเล่นเลิกแล้ว จึงทำลายทำให้ใช้เล่นไม่ได้.
จบ อรรถกถาสัตตสูตร