เมนู

บทว่า ทุกฺขญฺเจว ปญฺญเปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ ความว่า เรา
ตถาคตบัญญัติวัฏฏทุกข์และความดับไปแห่งวัฏฏทุกข์ คือพระนิพพาน.
อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำว่า ทุกฺขํ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงหมายถึงทุกขสัจ เมื่อทรงหมายถึงทุกขสัจนั้นแล้วก็เป็นอันหมายถึง
สมุทัยสัจด้วย เพราะสมุทัยสัจเป็นมูลเหตุแห่งทุกขสัจนั้น.
ด้วยคำว่า นิโรธํ เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึง
นิโรธสัจ เมื่อทรงหมายถึงนิโรธสัจนั้นแล้วก็เป็นอันทรงหมายถึง
มรรคสัจด้วย เพราะมรรคสัจเป็นอุบาย (ให้บรรลุ) นิโรธสัจนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงว่า ดูก่อนอนุราธะ
ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้เราตถาคตบัญญัติสัจจะไว้ 4 เท่านั้น ด้วยประการ
ดังกล่าวมานี้.
ด้วยเหตุผลดังว่ามานี้ในสูตรนี้ เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสเฉพาะ (เรื่อง) วัฏฏะไว้.
จบ อรรถกถาอนุราธสูตรที่ 4

5. วักกลิสูตร



ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า



[215] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร-
เวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิ
อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของ
นายช่างหม้อ ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลาย
มาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี-

พระภาคเจ้าถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า
ตามคำของเรา แล้วทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วย
เศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่าน
ขอประทานพระวโรกาสขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย
ความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด. ภิกษุเหล่านั้น
รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. ฯลฯ
ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วย
เศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทาน
พระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์
เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์
ด้วยดุษณีภาพ.
[216] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้าแล้ว
ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่. ท่าน
พระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล. ครั้นเห็นแล้ว
ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่าน
พระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้
ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจักนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ
นั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า
ดูก่อนวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ
ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ ? ท่านพระวักกลิ
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ
ยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่

กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.
ภ. ดูก่อนวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไร
บ้างหรือ ?
ว. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย
มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.
ภ. ดูก่อนวักกลิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
ภ. ดูก่อนวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร ?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์
จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์
ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้.
ภ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมี
ประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิ เป็นความจริง บุคคล
เห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรม วักกลิ เธอจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตน
ของเรา ?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตน
ของเรา ?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อม
ทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วย
พระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปทางภูเขาคิชฌกูฏ.
[217] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า
มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียง แล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลา
ข้างภูเขาอิสิคิลิ
ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่าจะพึงสำคัญว่าตน
พึงทำกาละ ในละแวกบ้านเล่า ? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำท่าน
พระวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา
ข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขา

คิชฌกูฏ ตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วง
ไปแล้ว เทวดา 2 องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไป
ทั้งหมด แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่
ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้น
ดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้นได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว
ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วก็หายไป
ณ ที่นั้นเอง.
[218] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหา
วักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิภิกษุอย่างนี้ว่า อาวุโส
วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา
2 องค์ อาวุโส ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา 2 องค์
ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืน
อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว
จักหลุดพ้นได้แน่แท้ อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่าน
อย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอัน
ไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ ภิกษุเหล่านั้น
รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิ
ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟัง
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และคำของเทวดา 2 องค์.

[219] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลาย
มาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง
เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่าตน
ควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอย่างไรเล่า. ภิกษุเหล่านั้น
รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียง
แล้วกล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา 2 องค์ ฯลฯ
ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ก็
วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ อาวุโส วักกลิ แต่ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ
อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยา
ไม่เลวทรามแก่เธอ. พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วย
ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า
ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์
ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่
ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา... สัญญา... สังขาร...
วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี
ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป. ครั้งนั้น เมื่อภิกษุ
เหล่านั้นหลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา (เตรียมจะ
ฆ่าตัวตาย).
[220] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี-
พระภาคเจ้า
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มี-
พระภาคเจ้า
ด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน
เป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น
มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา... สัญญา...
สังขาร... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่
ข้าพระองค์ ดังนี้.
[221] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหาร
กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาสตรามา.
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วย
ภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่
บนเตียงแต่ไกลเทียว. ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควันกลุ่มหมอก

ลอยไปทางทิศบูรพา ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ. ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอย
ไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่ ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
เห็น พระเจ้าข้า.
ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า. ค้นหา
วิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร
ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณ
ไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.
จบ วักกลิสูตรที่ 5

อรรถกถาวักกลิสูตรที่ 5



พึงทราบวินิจฉัยในวักกลิสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้.
บทว่า กุมฺภการนิเวสเน แปลว่า ในโรงช่างหม้อ เล่ากันมาว่า
พระเถระออกพรรษาปวารณาแล้วได้เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคเจ้า
ท่านเกิดอาพาธหนัก (ขณะที่เดินทางมาถึง) กลางพระนคร
(ราชคฤห์) เท้า (ทั้งสองข้าง) ก้าวไม่ออก. ที่นั้น พวกชาวเมืองใช้วอมี
ลักษณะเป็นเตียงน้อยหามท่านไปไว้ในโรงช่างหม้อ. และโรงนั้นก็เป็น
โรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น (แต่) มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน
พระสังคีติกาจารย์หมายเอาโรงนั้นจึงกล่าวว่า กุมฺภการนิเวสเน วิหรติ
(พระวักกลิเถระอยู่ในเรือนของช่างหม้อ).
บทว่า พาฬฺหคิลาโน คือ เป็นไข้เกินขนาด (ไข้หนัก).