เมนู

7. วิสาขสูตร



ว่าด้วยเรื่องพระวิสาขปัญจาลบุตร



[706] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน กรุงเวสาลี. สมัยนั้นแล ท่านพระวิสาขปัญจาลบุตร ยังภิกษุ
ทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา
ประกอบด้วยวาจาไพเราะ สละสลวยปราศจากโทษ นับเนื่องเข้าในวาจา
ที่ให้เข้าใจเนื้อความ ไม่อิงอาศัยวัฏฏะ ในอุปัฏฐานศาลา.
[707] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
ออกจากที่เร้น เสด็จไปทางอุปัฏฐานศาลา ครั้นเสด็จถึงแล้วประทับบน
อาสนะที่แต่งตั้งไว้ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ใครหนอแลยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา ประกอบด้วยวาจาไพเราะ สละสลวยปราศจากโทษ นับ
เนื่องเข้าในวาจาที่ให้เข้าใจเนื้อความ ไม่อิงอาศัยวัฏฏะ ในอุปัฏฐาน-
ศาลา.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระวิสาข-
ปัญจาลบุตร ฯลฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านวิสาขปัญจาลบุตรว่า
ดีแล้ว ดีแล้ว วิสาขะ เธอยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง... ด้วยธรรมีกถา
ฯลฯ ดีนักแล.
[708] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยา-

กรณภาษิตแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปนี้
ชนทั้งหลายย่อมไม่รู้จักคนที่ไม่พูด ว่าเจือด้วยพาล
หรือเป็นบัณฑิต แต่ย่อมรู้จักคนที่พูด ผู้แสดงทาง
อมฤตอยู่ บุคคลพึงกล่าวธรรม พึงส่องธรรม พึง
ประคองธงชัยของฤาษี ฤาษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง
ธรรมนั่นเองเป็นธงชัยของพวกฤาษี ดังนี้.

จบวิสาขสูตรที่ 7

อรรถกถาวิสาขสูตรที่ 7



ในวิสาขสูตรที่ 7 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า โปริยา วาจาย ได้แก่ ด้วยวาจาที่ไพเราะ มีอักขระและบท
ไม่เสียหาย เสมือนวาจาของชาวเมือง คือมนุษย์ในเมือง. บทว่า
วิสฺสฏฺฐาย ได้แก่ ไม่ฉงน ไม่ยุ่งเหยิง ไม่พัวพัน อธิบายว่า อันดีและ
เสมหะไม่ทำลาย. บทว่า อเนลคฬาย ความว่า ไม่พูดด้วยวาจาที่เหมือน
วาจาของคนโง่ ๆ ใช้ปากที่กำลังกลืนเขฬะพูดกัน โดยที่แท้ พูดด้วย
วาจาปราศจากโทษ คือวาจาสละสลวย. บทว่า ปริยาปนฺนาย ได้แก่
วาจาที่นับเนื่องในสัจจะ 4 คือวาจาที่พูดไม่พ้นสัจจะ 4. บทว่า อนิสฺสิตาย
ได้แก่ วาจาที่ไม่กล่าวอิงวัฏฏะ. บทว่า ธมฺโม หิ อิสินํ ธโช ความว่า
โลกุตรธรรม 9 อย่าง ชื่อว่าธงของฤาษีทั้งหลาย.
จบอรรถกถาวิสาขสูตรที่ 7