เมนู

ภิกขุนีสังยุต



1. อาฬวิกาสูตร



ว่าด้วยมารรบกวนภิกษุณี



[522] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้น เวลาเช้า อาฬวิกาภิกษุณีนุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไป.
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต
กลับจากบิณฑบาต มีความต้องการด้วยวิเวก จึงเข้าไปในป่าอันธวัน .
[523] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อาฬวิกาภิกษุณีบังเกิดความ
กลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึง
เข้าไปหาอาฬวิกาภิกษุณีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอาฬวิกาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ในโลก ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้
ท่านจักทำอะไรด้วยวิเวก จงเสวยความ
ยินดีในกามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อน
ในภายหลังเลย.

[524] ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอ
กล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์.

ทันใดนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่
จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้
เคลื่อนจากวิเวก จึงกล่าวคาถา.
ครั้นอาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
ในโลกนี้มีทางออกไปจากทุกข์ได้
เรารู้ชัดดีแล้วด้วยปัญญา ดูก่อนมารผู้มี
บาปซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ท่าน
ไม่รู้จักทางนั้น กามทั้งหลายเปรียบด้วย
หอกและหลาว กองกามทั้งหลายนั้น
ประหนึ่งว่าฝีร้าย เราไม่ไยดีถึงความยินดี
ในกามที่ท่านกล่าวถึงนั้น.

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเรา
ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

ภิกขุนีสังยุต



อรรถกถาอาฬวิกาสูตร



ในภิกขุนีสังยุตอาฬวิกาสูตรที่ 1 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อาฬวิกา ความว่า ผู้เกิดในเมืองอาฬวี และออกบวชจากเมือง
อาฬวีนั่นแล. บทว่า อนฺธวนํ ความว่า ป่าที่นับว่าอันธวัน ตั้งแต่เวลาที่
พวกโจร 500 คน ควักนัยน์ตาทั้งสองของพระอริยบุคคล (อนาคามี) ผู้กล่าว
ธรรม นามว่ายโสธร ผู้รวบรวมทรัพย์มาเพื่อสร้างพระเจดีย์พระสัมมาสัม-
พุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป ตนเองก็ตาแตกอยู่ในที่นั้นนั่นเอง. เขาว่าป่านั้น
เป็นป่าสงวนในเนื้อที่ประมาณคาวุตหนึ่ง ทางด้านทิศทักษิณกรุงสาวัตถี ผู้ที่
ต้องการวิเวกและภิกษุณีทั้งหลายก็พากันไปในป่านั้น. เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุณี
อาฬวิกานี้ ก็มีความต้องการวิเวก จึงเข้าไปทางป่านั้น. บทว่า นิสฺสรณํ
ได้แก่ พระนิพพาน. บทว่า ปญฺญาย ได้แก่ด้วยปัจจเวกขณญาณ. บทว่า
น ตฺวํ ชานาสิ ตํ ปทํ ความว่า ท่านไม่รู้ทางพระนิพพาน หรือทางสวรรค์
อันไปสู่พระนิพพาน. บทว่า สตฺติสูลูปมา ได้แก่ เสมือนกับหอกและหลาว
เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องทิ่มแทง. บทว่า ขนฺธาสํ อธิกุฏฺฐานา ความว่า
กองกามเหล่านั้นเป็นเหมือนฝีร้าย.
จบอรรถกถาอาฬวิกาสูตรที่ 1