เมนู

บทว่า เอวํ ภทฺทนฺตวาติ โข ความว่า (สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า)
ได้พระเจ้าข้า ดังนี้แล. บทว่า ปมาทํ อาปาเทสิ แปลว่า ได้ทำความ
ประมาท. อธิบายว่า สุวีรเทวบุตรมีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม ลงสู่ถนนใหญ่
สำเร็จด้วยทองยาว 60 โยชน์ เที่ยวเล่นนักษัตรอยู่ในสวนนันทนวันเป็นต้น.
บทว่า อนุฏฺฐหํ แปลว่า ไม่ขยัน. บทว่า อวายามํ แปลว่า ไม่พยายาม.
บทว่า อลสฺวายํ ตัดบทว่า อลโส อยํ แปลว่า นี้ เกียจคร้าน. บทว่า
น จ กิจฺจานิ การเย แปลว่า ไม่กระทำกิจอะไร ๆ. บทว่า สพฺพกาม-
สมิทฺธสฺส
แปลว่า พึงเป็นผู้สำเร็จด้วยกามคุณทั้งปวง. บทว่า ตมฺเม สกฺก
วรํ ทิส
ความว่า สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ประเสริฐสุดของ
พวกเทวะ โปรดแจ้ง คือ บอกกล่าวซึ่งสิ่งประเสริฐ คือฐานะอันสูงสุด โอกาส
นั้นแก่ข้าพเจ้า. บทว่า นิพฺพานสฺส หิ โส มคฺโค ความว่า ทางแห่ง
นิพพาน ชื่อว่า ฐานะที่ไม่ทำกรรมเป็นอยู่.
จบอรรถกถาสุวีรสูตรที่ 1

2. สุสิมสูตร



การได้ความสุขเพราะความหมั่น



[855] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร
เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
[856] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคย
มีมาแล้ว พวกอสูรได้พากันมารบกับพวกเทวดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสเรียกสุสิมเทพบุตรมาบัญชาว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูร
เหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย สุสิมเทพบุตรรับบัญชาท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ แม้ครั้งที่ 3 ท้าวสักกะจอมเทวดาก็ได้ตรัสเรียกสุสิมเทพบุตร
มาบัญชาว่า พ่อสุสิมะ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไป
ป้องกันพวกอสูรไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในครั้งที่ 3 สุสิมเทพบุตร
รับบัญชาท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ดังนี้
แล้วมัวประมาทเสีย.
[857] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดา
ตรัสกะสุสิมเทพบุตรด้วยคาถาว่า
บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม แต่
ประสบความสุขได้ ณ ที่ใด ดูก่อนสุสิมะ
เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง
ณ ที่นั้นด้วยเถิด.

[858] สุสิมเทพบุตรทูลว่า
บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่น
และไม่ใช้ใคร ๆ ไห้กระทำกิจทั้งหลาย
อีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง

ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอก
ฐานะอันประเสริฐนั้นแก่ข้าพระองค์.

[859] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
ที่ใด บุคคลเกียจคร้าน ไม่หมั่น
ถึงความสุขล่วงส่วนได้ สุสิมะ เจ้าจงไป
ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้น
ด้วยเถิด.

[860] สุสิมเทพบุตรทูลว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้ประเสริฐกว่า
เทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะพึงได้
ความสุขใด โดยไม่ต้องทำการงาน ข้าแต่
ท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอก
ความสุขนั้นอันประเสริฐ ที่ไม่มีความ
แห้งใจ ไม่มีความคับแค้นแก่ข้าพระองค์
เถิด.

[861] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
หากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำ
การงาน ไม่ว่าในที่ไหน ๆ ใคร ๆ ย่อม
ยังชีพอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นทางแห่ง
นิพพาน สุสิมะ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และ
จงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้น ด้วยเถิด.

[862] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดาพระองค์นั้น
อาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความ
เป็นอิสระแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงพรรณนาคุณแห่งความเพียร คือ
ความหมั่น ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชแล้วในธรรมวินัยอันเรากล่าวชอบแล้ว
อย่างนี้ พึงหมั่นเพียร พยายาม เพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้
มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลอันตนยังมิได้ทำให้แจ้ง
ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้.

อรรถกถาสุสิมสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในสุสิมสูตร ที่ 2 ต่อไปนี้ :-
บทว่า สุสิมํ คือ บุตรองค์หนึ่งมีชื่ออย่างนี้ ในระหว่างบุตรพันองค์
ของท้าวสักกะ.
จบอรรถกถาสุสิมสูตรที่ 2

3. ธชัคคสูตร



อานุภาพแห่งการระลึกถึงพระรัตนตรัย



[863] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหาร
เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย.