เมนู

3. พรหมเทวสูตร



ว่าด้วยพระพรหมเทวะโปรดมารดา



[563] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
แห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ก็สมัยนั้นแล บุตรแห่งนางพราหมณีคนหนึ่ง ชื่อพรหมเทวะ ออก
บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะเป็นผู้
เดียว หลีกออกแล้ว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่ ไม่
นานเท่าไร ก็ได้กระทำให้แจ้งประโยชน์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์อันนั้น อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหม-
จรรย์ เพราะรู้แจ้งชัดเองในปรัตยุบันนี้แหละเข้าถึงอยู่ ท่านได้ทราบว่า ชาติ
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ก็แหละท่านพรหมเทวะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ในบรรดาพระอรหันต์แล้ว.
[564] ครั้งนั้นแล ท่านพระพรหมเทวะ ในเวลารุ่งเช้านุ่งห่มแล้ว
ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ท่านเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี
ตามลำดับตรอก เข้าไปยังนิเวศน์แห่งมารดาของตนแล้ว .
ก็สมัยนั้นแล นางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะถือการ
บูชาบิณฑะแก่พรหมเป็นนิตย์.
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมคิดว่า นางพราหมณีผู้มารดาของท่าน
พระพรหมเทวะนี้แล ถือการบูชาบิณฑะแก่พรหมเป็นนิตย์ ไฉนหนอ เรา
พึงเข้าไปหานางแล้วทำให้สลดใจ.

[565] ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมหายไปในพรหมโลกปรากฏ
แล้วในนิเวศน์ของมารดาแห่งท่านพระพรหมเทวะ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง
พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้เข้าแล้ว หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น .
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะนาง
พราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ดูก่อนนางพราหมณี ท่านถือการ
บูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมใด มั่นคงเป็น
นิตย์ พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจาก
ที่นี้ ดูก่อนนางพราหมณี ภักษาของพรหม
ไม่ใช่เช่นนี้ ท่านไม่รู้จักทางของพรหม
ทำไมจึงบ่นถึงพรหม.
ดูก่อนนางพราหมณ์ ก็ท่านพระ-
พรหมเทวะของท่านนั้น เป็นผู้หมดอุปธิ
กิเลส ถึงความเป็นอติเทพ ไม่มีกิเลสเป็น
เครื่องกังวล มีปกติขอ ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น
ท่านพระพรหมเทวะที่เข้าสู่เรือนของท่าน
เพื่อบิณฑบาต เป็นผู้สมควรแก่บิณฑะที่
บุคคลพึงนำมาบูชา ถึงเวท มีตนอบรม
แล้ว สมควรแก่ทักษิณาทานของมนุษย์
และเทวดาทั้งหลาย ลอยบาปเสียแล้ว อัน
ตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาแล้ว เป็นผู้
เยือกเย็นกำลังเที่ยวแสวงหาอาหารอยู่.

อดีตอนาคตไม่มีแก่ท่านพระพรหม
เทวะนั้น ท่านพระพรทมเทวะเป็นผู้สงบ
ระงับ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มี
ความหวัง วางอาชญาในปุลุชนผู้ยังมีความ
หวาดหวั่นและในพระขีณาสพผู้มั่นคงแล้ว
ขอท่านพระพรหมเทวะนั้นจงบริโภค
บิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชาพรหมของ
ท่าน.
ท่านพระพรหมเทวะซึ่งเป็นผู้มีเสนา
มารไปปราศแล้ว มีจิตสงบระงับ ฝึกตน
แล้ว เที่ยวไปเหมือนช้างตัวประเสริฐ ไม่
หวั่นไหว เป็นภิกษุมีศีลดี มีจิตพ้นวิเศษ
แล้ว ขอท่านพระพรหมเทวะนั้น จง
บริโภคบิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชา
พรหมของท่าน.
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระ-
พรหมเทวะนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้ง
ทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล
ดูก่อนนางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะ
อันข้ามแล้วจงทำบุญ อันจะนำความสุข
ต่อไปมาให้.
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระ
พรหมเทวะนั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้ง

ทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล
ดูก่อนนางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะ
อันข้ามแล้ว ได้ทำบุณอันจะนำความสุข
ต่อไปมาให้แล้ว.


อรรถกถาพรหมเทวสูตร



ในพรหมเทวสูตรที่ 3 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เอโก ความว่า เป็นผู้ผู้เดียว คืออยู่คนเดียวในอิริยาบถทั้งหลาย
มียืนเป็นต้น. บทว่า วูปกฏฺโฐ ได้แก่ปลีกตัวไป คือปราศจากการคลุกคลีด้วย
กาย. บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ อยู่ในความเป็นผู้ไม่ปราศจากสติ. บทว่า
อาตาปี ได้แก่ ประกอบด้วยความเพียรเครื่องเผากิเลส. บทว่า ปหิตตฺโต
ได้แก่ มีตนส่งไปแล้ว. บทว่า กุลปุตฺตา ได้แก่ กุลบุตรผู้มีมารยาท. บทว่า
สมฺมเทว ความว่า ไม่ใช่บวชเพราะเป็นหนี ไม่ใช่บวชเพราะมีภัย ไม่ใช่บวช
เลี้ยงชีพ. แม้ผู้ที่บวชไม่ว่าด้วยกรีใด ๆ บำเพ็ญปฏิปทาที่สมควร ก็ชื่อว่า
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบทั้งนั้น. บทว่า พฺรหฺมจริยปริโยสานํ
ได้แก่อริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์. บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ได้แก่
ในอัตภาพนี้เอง. บทว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ได้แก่ รู้ด้วยตนเอง
คือทำให้ประจักษ์. บทว่า อุปสมฺปชฺช ได้แก่ได้เฉพาะคือสำเร็จผลอยู่แล้ว.
ก็ท่านพระพรหมเทวะอยู่ด้วยประการฉะนี้ ได้รู้ชัดแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระ
ภาคเจ้าจึงทรงแสดงปัจจเวกขณภูมิของท่าน ด้วยบทนี้.