เมนู

10. วชิราสูตร



ว่าด้วยมารรบกวนวชิราภิกษุณี



[552] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต
กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน
แล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.
[553] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้วชิราภิกษุณีบังเกิดความกลัว
ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้า
ไปหาวชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า
สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่
ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไป
ในที่ไหน.

[554] ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว
คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมมุษย์.
ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู่มีบาปใคร่จะให้
เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้
เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา.
ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาป แล้วจึงได้กล่าวกะมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความ
เห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ใน
กองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่า สัตว์
เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า
เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด.
เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติ
ว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ความจริง ทุกข์
เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์เท่านั้นย่อมตั้งอยู่และ
เสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ.

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา
ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง
จบวชิราสูตร
จบภิกขุนีสังยุต

อรรถกถาวชิราสูตร



ในวชิราสูตรที่ 10 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า นยิธ สตฺตุปลพฺภติ ความว่า ในกองสังขารล้วนนี้ ว่าโดย
ปรมัตถ์ จะได้แก่สัตว์ก็หาไม่. บทว่า ขนฺเธสุ สนฺเตสุ ความว่า เมื่อ
ขันธ์ 5 ยังมีอยู่ ท่านกำหนดเอาด้วยอาการนั้น ๆ. บท สมฺมติ คือเป็นเพียง
สมัญญาว่าสัตว์เท่านั้น. บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์คือ ขันธ์ 5. บทว่า
นาญฺญตฺร ทุกฺขา ความว่า นอกจากทุกข์ สภาวะอย่างอื่นไม่มีเกิดไม่มีดับ.
จบอรรถกถาวชิราสูตรที่ 10
จบภิกขุนีสังยุตเพียงเท่านี้


รวมพระสูตรในภิกขุนีสังยุตนี้มี 10 สูตร คือ



1. อาฬวิกาสูตร 2. โสมาสูตร 3. โคตมีสูตร 4. วิชยาสูตร
5. อุบลวรรณาสูตร 6. จาลาสูตร 7. อุปจาลาสูตร 8. สีสุปจาลาสูตร
9. เสลาสูตร 10. วชิราสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา