เมนู

อรรถกถาชาครสูตร



พึงทราบวินิจฉัยสูตรที่ 6 ต่อไป :-
บทว่า ชาครตํแปลว่า ตื่นอยู่. บทว่า ปญฺจ ชาครตํ อธิบายว่า
ก็เมื่อว่าโดยคาถาที่วิสัชนา เมื่ออินทรีย์ 5 มีศรัทธาเป็นต้นตื่นอยู่ นิวรณ์ 5
ก็ชื่อว่า หลับ เพราะเหตุไร. เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยนิวรณ์ 5 นั้น
นั่งก็ดี ยืนก็ดี แม้นอนจนอรุณขึ้นก็ดี ในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า
หลับแล้ว เพราะความประมาท คือเพราะความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วย
อกุศล เมื่อนิวรณ์ 5 นี้หลับแล้วอย่างนี้ อินทรีย์ 5 จึงชื่อว่า ตื่นอยู่
เพราะเหตุไร. เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยอินทรีย์ 5 มีศรัทธา เป็นต้นนั้น
แม้นอนหลับในที่ใดที่หนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ เพราะความไม่ประมาท คือ
เพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกุศล. บุคคลย่อมถือเอา ย่อมถือ ย่อมถือมั่นซึ่งธุลี
คือกิเลสด้วยนิวรณ์ 5 นั่นแหละ.
พึงทราบเนื้อความนี้ว่า นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นที่เกิดก่อน
ย่อมเป็นปัจจัยแก่กามฉันทะเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง ดังนี้เป็นต้น จึงชื่อว่า
บุคคลย่อมบริสุทธิ์ ด้วยอินทรีย์ 5 ดังนี้. แม้ในที่นี้ ท่านกล่าวอินทรีย์ 5
ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ดังนี้แล.
จบอรรถกถาชาครสูตรที่ 6

7. อัปปฏิวิทิตสูตร



[15] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว
คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ธรรมทั้งหลายอันชนพวกใดยังไม่
แทงตลอดแล้ว ชนพวกนั้นย่อมถูกจูงไป
ในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้นชื่อว่า
ยังหลับไม่ตื่น (กาลนี้) เป็นกาลสมควร
เพื่อจะตื่นของชนพวกนั้น.

[16] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดแทง
ตลอดดีแล้ว ชนพวกนั้นย่อมไม่ถูกจูงไป
ในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดีทั้ง-
หลายรู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติ
เสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติไม่เสมอ.