เมนู

3. โลกสูตร



[402] สาวัตถีนิทาน.
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ธรรมเท่าไรหนอแลเมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิด
ขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สำราญ.
[403] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ธรรม 3 อย่าง
เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อ
ความอยู่ไม่สำราญ ธรรม 3 อย่างเป็นไฉน.
1. ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมคือโลภะความโลภ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สำราญ.
2. ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมคือโทสะความโกรธ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สำราญ.
3. ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมคือโมหะความหลง เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สำราญ.
ดูก่อนมหาบพิตร ธรรม 3 อย่างนี้แล เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิด
ขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สำราญ.
[404] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำ
ร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะ อันบังเกิด
แก่ตนย่อมทำลายบุรุษ ผู้มีใจบาป ดุจ
ขุยไผ่ทำลายต้นไฝ่ ฉะนั้น.


อรรถกถาโลกสูตร



ในโลกสูตรที่ 3 คำทั้งหมดมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

4. อิสสัตถสูตร



[405] สาวัตถีนิทาน.
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทาน บุคคลควรให้ในที่ไหนหนอ.
พ. ดูก่อนมหาบพิตร ควรให้ในที่ที่จิตเลื่อมใส.
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก.
[406] พ. ดูก่อนมหาบพิตร ทานควรให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง
และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร
ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่
ดูก่อนมหาบพิตร ด้วยเหตุนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหาบพิตรในปัญหาข้อ
นั้นบ้าง. มหาบพิตรพอพระทัยอย่างใด พึงพยากรณ์อย่างนั้น
[407] มหาบพิตรจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้การยุทธ์
พึงปรากฏเฉพาะหน้าแด่พระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้าว่าเจ้าหนุ่ม ๆ ผู้ไม่
ได้ศึกษา ไม่ได้หัดมือ ไม่มีความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคน
ขี้ขลาด หวาดสะดุ้ง มักวิ่งหนี พึงมาอาสาไซร้ พระองค์พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษ
นั้นหรือ และพระองค์ยังจะทรงต้องการบุรุษเช่นนั้นหรือ.
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่พึงชุบเลี้ยงบุรุษเช่นนั้น
และหม่อมฉันไม่ต้องการบุรุษเช่นนั้นเลย.
พ. ถ้าว่า พราหมณ์หนุ่ม ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯ
ถ้าว่าแพศย์หนุ่ม ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ ฯลฯ ถ้าว่าศูทรหนุ่ม
ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ พึงมาอาสาไซร้ พระองค์พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ
และพระองค์ยังจะทรงต้องการบุรุษเช่นนั้นหรือ.