เมนู

สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย


อรรถกถาสังยุตตนิกายสวรรค



อารัมภกถา



ข้าพเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ ขอ
น้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระ-
สุคตเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากคติ ผู้มีพระทัย
เยือกเย็นสนิทด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ผู้
มีความมืดคือโมหะอันแสงสว่างแห่งปัญญา
ขจัดแล้ว ผู้เป็นครูของชาวโลกทั้งหลาย
พร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา.
พระพุทธเจ้าทรงทำให้แจ้งพระ-
สัพพัญญุตญาณ ทรงเข้าถึงพระธรรมใด
อันมีมลทินไปปราศแล้ว ข้าพเจ้าขอ
น้อมนมัสการพระธรรมอันเยี่ยมนั้นด้วย
เศียรเกล้า.
ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการด้วยเศียร-
เกล้า ซึ่งพระอริยสงฆ์เจ้าอยู่เป็นหมู่แห่ง
พระอริยบุคคลแม้ทั้งแปดพวก ผู้เป็นบุตร
อันเกิดแต่พระอุระของพระสุคตเจ้า ผู้ย่ำยี
เสียได้ซึ่งมารและเสนามาร.

บุญใด สำเร็จแล้วด้วยการกราบไหว้พระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีจิต
เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มี
อันตรายอันขจัดดีแล้ว อรรถกถาใด อันพระขีณาสพ 500 องค์ ผู้ชำนาญ
แตกฉานในปฏิสัมภิทาช่วยกันร้อยกรอง แล้วตั้งแต่ปฐมสังคายนา ต่อมามีการ
ร้อยกรองอีกสองครั้ง คือในทุติย-ตติยสังคายนา เพื่อประกาศเนื้อความของ
ปกรณ์สังยุตตนิกายอันประเสริฐ ซึ่งประดับด้วยวรรคแห่งสังยุตอันจำแนก
ญาณต่าง ๆ ที่พระพุทธะและสาวกของพระพุทธะพรรณนาไว้ดีแล้ว ก็อรรถกถา
นั้นแหละ อันพระมหินทเถระผู้ชำนาญจากประเทศอินเดียนำมายังเกาะสิงหล
(ประเทศศรีลังกา) ต่อมาได้ประดิษฐานไว้ด้วยภาษาสิงหล เพื่อประโยชน์
แก่หมู่ชนชาวเกาะ ข้าพเจ้านำอรรถกถาภาษาสิงหลออกแปลเป็นภาษามคธซึ่ง
เป็นภาษาที่น่ารื่นรมย์ ถูกต้องตามระเบียบพระบาลีไม่มีภาษาอื่นปะปน ไม่
ขัดแย้งทฤษฎีของพระเถระทั้งหลาย ผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้เป็นดังประทีปของ
เถระวงศ์ ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ละเอียดรอบคอบ จักตัดข้อความที่ซ้ำ ๆ ออกแล้ว
จักประกาศเนื้อความอรรถกถาสังยุตตนิกายนี้ เพื่อความชื่นชมยินดีของสาธุชน
และเพื่อดำรงอยู่สิ้นกาลนานแห่งพระธรรม.
การพรรณนาอันใด ที่กระทำไว้ในพระนครทั้งหลาย อันสืบเนื่อง
มาจากพระนครสาวัตถี ภายหลังได้ร้อยกรองอีกสองครั้งนั้น ได้ยินว่า เรื่อง
ทั้งหลาย และพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ในพระนครนั้นเป็นไปโดยพิสดาร ข้าพเจ้า
จักกล่าวอรรถกถานั้นในที่นี้จักไม่กล่าวให้พิสดารเกินไป ส่วนอรรถกถาแห่ง
พระสูตรเหล่าใดเว้นจากเรื่องย่อมไม่แจ่มแจ้ง เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งพระสูตร
นั้น ข้าพเจ้าก็จักแสดงเรื่องเหล่านั้น.
พุทธพจน์เหล่านั้น คือ สีลกถา ธุดงคธรรม พระกรรมฐานทั้งปวง
ความพิสดารของฌานและสมาบัติ ทั้งประกอบด้วยจริยะและวิธีการ อภิญญา

ทั้งหมด คำวินิจฉัยอันผนวกด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์
อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทเทศนาซึ่งไม่นอกแนวพระบาลีมีนัยอันละเอียด
รอบคอบ และวิปัสสนาภาวนา คำที่กล่าวมานี้ทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวไว้ใน
วิสุทธิมรรคแล้วอย่างบริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น ในที่นี้ จักไม่วิจารณ์เรื่องทั้งหมด
นั้นอีก ก็เพราะคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ข้าพเจ้ารจนาไว้ด้วยประการดังกล่าวมานี้
แหละ ดำรงอยู่ท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง 4 จักประกาศข้อความตามที่กล่าวไว้ใน
นิกายทั้ง 4 เหล่านั้น ฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น
กับอรรถกถานี้ แล้วจักทราบข้อความตามที่อิงอาศัยคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้นได้.
ในพระคัมภีร์เหล่านั้น คัมภีร์ชื่อว่า สังยุตตนิกาย มี 5 วรรค คือ
สคาถวรรค นิทานวรรค ขันธวรรค (บาลีเป็นขันธวารวรรค) สฬายตนวรรค
มหาวรรค เมื่อว่าโดยสูตรมี 7,762 สูตร นี้ชื่อว่า สังยุตตสังคหะ. เมื่อว่า
โดยภาณวารมี 100 ภาณวาร. ในวรรคแห่งสังยุตนั้นมีสาคาถวรรคเป็นเบื้องต้น.
ในสูตรทั้งหลาย มีโอฆตรณสูตร เป็นเบื้องต้น. คำพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ
เป็นต้น ที่ท่านพระอานนทเถระกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีตินั้น มีนิทาน
เป็นเบื้องต้น. ก็ปฐมมหาสังคีตินี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์ให้พิสดารไว้ใน
เบื้องต้น ของอรรถกถาทีฆนิกายสุมังคลวิลาสินี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบ
ปฐมมหาสังคีตินั้นโดยนัยอันพิสดารในที่นั้นเถิด.
จบอารัมภกถา

เทวตาสังยุตตวรรณนา


นฬวรรคที่ 1



อรรถกถาโอฆตรณสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในโอฆตรณสูตรที่ 1 แห่งนฬวรรค ดังนี้ :-
บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นนี้ เป็นนิทาน. ในบทเหล่านั้น คำว่า
เอวํ เป็นศัพท์นิบาต. บทว่า เม เป็นต้น เป็นบทนาม. คำว่า วิ ในบทว่า
สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้เป็นศัพท์อุปสรรค. บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต พึง
ทราบการจำแนกบทโดยนัยนี้ก่อน.

ว่าด้วย เอวํ ศัพท์



แต่เมื่อว่าโดยอรรถ เอวํ ศัพท์จำแนกเนื้อความได้หลายอย่างเป็นต้นว่า
คำเปรียบเทียบ คำแนะนำ คำยกย่อง คำติเตียน การรับคำ อาการะ คำชี้แจง
คำกำหนดแน่นอน จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นี้ที่มาในคำอุปมาในประโยคมี
เอวํ ศัพท์ เป็นเบื้องต้น ว่า เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
แปลว่า สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วพึงสร้างกุศลให้มาก
ฉันนั้น.
เอวํ ศัพท์ที่มาในคำแนะนำ เช่นในประโยคมีคำเป็นต้นว่า เอวนฺเต
อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ ปฏิกฺกมิตพฺพํ
แปลว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอย
กลับอย่างนี้.