เมนู

9. มัจฉริสูตร



ว่าด้วยวิบากของคนตระหนี่



[148] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่
เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวาง
คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่. วิบากของคนพวกนั้น
จะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา
จะเป็นเช่นไร. ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนข้าพระองค์จึงจะ
รู้ความข้อนั้น.

[149] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่
เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวาง
คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่. คนเหล่านั้นย่อมเข้า
ถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก
ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุล
คนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความ
ร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก.
คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น
เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น สมความปรารถนา
นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็น
ทุคติอีกด้วย.

[150] เทวดาทูลถามว่า
ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้
(แต่) จะทูลถามข้ออื่นกะพระโคดม ชน
เหล่าใดในโลกมิได้ความเป็นมนุษย์แล้วรู้
ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใส
ในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบากของ
ชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพ
ของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อ
ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนข้าพระ-
องค์จึงจะรู้ความข้อนั้น.

[151] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็น
มนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความ
ตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระ-
ธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพ
แรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์
อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์
ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความ
ร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึง
มีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหา
สะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากใน
ภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ.

อรรถกถามัจฉริสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในมัจฉริสูตรที่ 9 ต่อไป :-
บทว่า มจฺฉริโน แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความตระหนี่. จริงอยู่
คนบางคนไม่ยอมเหยียดมือออกไหว้แม้ภิกษุทั้งหลายในที่เป็นที่อยู่ของตน คือว่า
อุบาสกคนหนึ่งไปในที่อื่นเข้าไปสู่วิหารไหว้โดยเคารพแล้ว ทำการทักทาย
ปราศรัย กับภิกษุด้วยถ้อยคำอันไพเราะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลาย
ย่อมไม่มาสู่ที่เป็นที่อยู่ของพวกกระผม ที่นั้น เป็นประเทศอันสมบูรณ์ พวก
กระผมสามารถเพื่อทำการบำรุงพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายด้วยาคูและภัตเป็นต้น.
ภิกษุคิคว่าอุบาสกนี้มีศรัทธาจะสงเคราะห์พวกเราด้วยข้าวยาคูเป็นต้น . ลำดับนั้น
พระเถระรูปหนึ่งเข้าไปบ้านนั้น เพื่อเที่ยวไปบิณฑบาต. ฝ่ายอุบาสกนั้นเห็น
พระเถระนั้นแล้ว ย่อมเลี่ยงไปทางอื่น หรือเข้าไปสู่เรือน คิดว่า ถ้าพระเถระ
มาประจัญหน้า เราก็ต้องยกมือไหว้ แล้วก็ต้องถวายภิกษาแก่พระผู้เป็นเจ้า
อย่ากระนั้นเลย เราจะไปด้วยการงานอะไรสักอย่างหนึ่ง ดังนี้แล้วหลบหลีกไป
พระเถระเที่ยวไปสู่บ้านทั้งสิ้น เป็นผู้มีบาตรเปล่าเทียวออกมาแล้ว. ข้อนี้
ชื่อว่า ความตระหนี่อย่างอ่อน (มุทุมัจฉริยะ).
บุคคลแม้มิใช่ทายก ย่อมทำราวกะว่าเป็นทายก คือเป็นผู้ประกอบ
ด้วยเหตุอันใดนั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอาบุคคลผู้มีความตระหนี่จัด (ถัทธ-
มัจฉริยะ) คือว่า อุบาสกนั้นประกอบด้วยมัจฉริยะอันใด เมื่อมีผู้กล่าวว่า
ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเพื่อบิณฑบาต พระเถระทั้งหลายยืนอยู่แล้ว ดังนี้
ก็จะพูดว่า เท้าของเราเจ็บมิใช่หรือ จะเป็นผู้กระด้างยืนอยู่ ดุจเสาหิน หรือ
ดุจตอไม้ ย่อมไม่กระทำแม้สามีจิกรรม.