เมนู

อรรถกถาเชตวนสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในเชตวนสูตรที่ 8 ต่อไป:-
ในบทว่า อิทํ หิ ตํ เชตวนํ ความว่า อนาถบิณฑิกเทวบุตร
มากล่าวอย่างนี้ เพื่อชมเชยพระเชตวันและพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระ-
พุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า อิสิสํฆนิเสวิตํ ได้แก่ อันหมู่แห่งภิกษุอยู่อาศัยแล้ว
อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น ครั้นกล่าวชมเชยพระเชตวันด้วยคาถาที่หนึ่งอย่างนี้
แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวถึงอริยมรรค จึงกล่าวคำว่า กมฺมํ วิชฺชา เป็นต้น
แปลความว่า
กรรม 1 วิชชา 1 ธรรม 1 ศีล 1
ชีวิตอันอุดม 1 สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์
ด้วยคุณธรรม 5 นี้ หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร
หรือด้วยทรัพย์ไม่.
เหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาดเมื่อเห็น
ประโยชน์ของตนควรเลือกเฟ้นธรรมโดย
อุบายอันแยบคาย เลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อม
หมดจดในธรรมเหล่านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ ได้แก่ มรรคเจตนา. บทว่า
วิชฺชา ได้แก่ มรรคปัญญา. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันเป็น
ฝ่ายสมาธิ. บทว่า สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ อธิบายว่า เทวดานั้นย่อมแสดงชีวิต
อันสูงสุดของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่

สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
และสัมมาสมาธิ. บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ. บทว่า
ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้เป็นชีวิตสูงสุด. บทว่า เอเตน
มจฺจา สุชฺฌนฺติ
ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันประกอบ
ด้วยองค์แปดนี้.
บทว่า ตสฺมา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยมรรค เหตุใด
เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่บริสุทธิ์ได้ด้วยโคตร และด้วยทรัพย์.
บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ อธิบายว่า พึงวินิจฉัยธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิโดย
อุบาย. บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ เลือกธรรมนั้นอย่างนี้
ย่อมหมดจดได้ด้วยอริยมรรค. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ
ได้แก่ พึงวินิจฉัยธรรม 5 กองโดยอุบาย. บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ
ได้แก่ ย่อมบริสุทธิ์ในสัจจะ 4 เหล่านั้นได้อย่างไร.
บัดนี้ อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น เมื่อจะกล่าวชมเชยพระสารีบุตรเถระ
จึงกล่าวคำว่า สาริปุตฺโตว เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาริปุตฺโตว
นี้เป็นคำกล่าวถึงตำแหน่ง อธิบายว่า อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้นย่อมกล่าวว่า
พระสารีบุตรเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยธรรมเหล่านี้มีปัญญาเป็นต้น. บทว่า
อุปสเมน ได้แก่ ความสงบจากกิเลส. บทว่า ปารคโต แปลว่า ผู้ถึง
พระนิพพาน. อธิบายว่า เทวดานั้นย่อมกล่าวว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งบรรลุ
พระนิพพาน ภิกษุนั้นเป็นเยี่ยม คือว่า ชื่อว่า เยี่ยมกว่าพระสารีบุตรเถระย่อม
ไม่มี ดังนี้. คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาเชตวนสูตรที่ 8

9. มัจฉริสูตร



ว่าด้วยวิบากของคนตระหนี่



[148] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่
เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวาง
คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่. วิบากของคนพวกนั้น
จะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา
จะเป็นเช่นไร. ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนข้าพระองค์จึงจะ
รู้ความข้อนั้น.

[149] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่
เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวาง
คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่. คนเหล่านั้นย่อมเข้า
ถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก
ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุล
คนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความ
ร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก.
คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น
เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น สมความปรารถนา
นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็น
ทุคติอีกด้วย.