เมนู

7. สมยสูตร



ว่าด้วยเทพชุมนุมกัน



[115] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน กรุงกบิล-
พัสดุ์แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป ล้วนเป็น
พระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้ว ประชุมกันมาก เพื่อจะเห็น
พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์.
[116] ในครั้งนั้นแล เทวดา 4 องค์ที่เกิดในหมู่พรหมชั้นสุทธาวาส
ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แล ประทับ อยู่ ณ ป่ามหาวัน
กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป
ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบประชุมกันมาก เพื่อจะเห็น
พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอ แม้เราทั้งหลายควรเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงกล่าวคาถาองค์ละคาถา ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้า.
[117] ในครั้งนั้นแล พวกเทวดาทั้ง 4 นั้นจึงหายจากหมู่พรหมชั้น
สุทธาวาส มาปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษผู้มี
กำลัง เหยียดแขนที่คู้ออกหรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น.
[118] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ มีพวก
เทวดามาประชุมกันแล้ว พวกข้าพเจ้ามาสู่

ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ เพื่อจะเยี่ยมหมู่
พระผู้ที่ใคร ๆ ให้แพ้ไม่ได้.

[119] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นตั้งจิต
มั่นแล้ว ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว ภิกษุ
ทั้งปวงนั้นเป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์
ทั้งหลาย ดุจดังว่านายสารถีถือบังเหียน
ฉะนั้น.

[120] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ภิกษุทั้งหลายนั้นตัดกิเลสดังตะปู
เสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่มสลักเสียแล้ว
ถอนกิเลสดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มี
ความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจดปราศจาก
มลทิน อันพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุทรงฝึก
ดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มประพฤติอยู่.

[121] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงแล้วซึ่งพระ-
พุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่ไปสู่
อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์
แล้วจักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์.

อรรถกถาสมยสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในสมยสูตรที่ 7 ต่อไป :-
บทว่า สกฺเกสุ แปลว่า ในแคว้นสักกะนี้ ได้แก่ ชนบทแม้หนึ่ง
ที่เป็นที่อยู่ของราชกุมารทั้งหลาย ซึ่งมีชื่ออันได้แล้วว่า สักกะ เพราะอาศัย
คำอุทานว่า สกฺยา วต โภ กุมารา แปลว่า กุมารีผู้เจริญเหล่านี้อาจหนอ
(หรือ สามารถหนอ) ดังนี้ ท่านจึงเรียกชนบทนั้นว่า สักกะ ตามรุฬหิ
สัททศาสตร์. ในที่นี้ได้แก่ ในชนบทชื่อว่าสักกะนั้น. บทว่า มหาวเน
แปลว่า ในป่าใหญ่ คือได้แก่ ในป่าใหญ่ที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน กับหิมวันต์
อันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติมิได้มีใครมาปลูกไว้. บทว่า สพฺเพเทว อรหนฺเตหิ
แปลว่า ล้วนเป็นพระอรหันต์ คือได้แก่ พระอรหันต์ที่บรรลุแล้วในวันที่
พระองค์ตรัสสมยสูตรนี้นั่นแหละ. ในสูตรนั้น มีอนุปุพพิกถา คือวาจา
เป็นเครื่องกล่าวโดยลำดับ ดังต่อไปนี้.

เจ้าศากยะและโกลิยะ วิวาทกันเรื่องไขน้ำเข้านา


ได้ยินว่า เจ้าศากยะและโกลิยะ ได้ให้สร้างทำนบกั้นน้ำอันหนึ่งใน
แม่น้ำชื่อ โรหิณี ซึ่งมีอยู่ระหว่างนครกบิลพัสดุ์ กับโกลิยนคร แล้วให้ทำ
ข้าวกล้าทั้งหลาย. ในครั้งนั้น เป็นเวลาต้นเดือน 7 (พฤษภาคม-มิถุนายน
บาลีใช้คำว่า เชฏฺฐมูลมาเส) เมื่อข้าวกล้าทั้งหลาย กำลังเหี่ยวแห้ง กรรมกร
ทั้งสองพระนครจึงประชุมกัน. ในบรรดากรรมกรทั้งสองนั้น กรรมกรผู้อยู่
ในโกลิยนครกล่าวว่า น้ำนี้นำมาใช้เพื่อข้าวกล้าแห่งพวกเราทั้งสองพระนคร
จักไม่เพียงพอ ก็ข้าวกล้าของพวกเราจักสำเร็จด้วยน้ำที่มาทางเดียวเท่านั้น ขอ
พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเรา ดังนี้. กรรมกรผู้อยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์