เมนู

ดาบสนั้นในหลุมนั้นนั่นแหละ ดังนั้น ร่างกระดูกของดาบสเหล่านั้น จึงไม่
หลงเหลืออยู่เลย. พระราชา ทรงปลงชีวิตดาบส 500 รูป ผู้สมบูรณ์ด้วย
ตบะลงด้วยเวลาวันเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้. ครั้งนั้น เหล่าเทวดา
บันดาลฝน 9 ชนิด ให้ตกลงมาอีกในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นโดย
นัยก่อนนั้นแล แคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ถูกกลบด้วยกองทรายสูงถึง
60 โยชน์ เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า
โย สญฺญเต ปพฺพชิโต อวญฺจยิ1
ธมฺมํ ภณนฺเต สมเณ อทูสเก
ตนฺนาฬิกีรํ สฺนขา ปรตฺถ
สงฺคมฺม ขาทนฺติ วิผนฺทมานํ.
พระเจ้านาฬิกีระพระองค์ใด ทรง
ลวงเหล่านักบวชผู้สำรวม ผู้กล่าวธรรม ผู้
สงบ ไม่เบียดเบียนใคร ฝูงสุนัขย่อมรุมกัน
กัดกินพระเจ้านาฬิกีระพระองค์นั้น ผู้ซึ่ง
กลัวตัวสั่นอยู่ในโลกอื่น.

พึงทราบว่า ป่ากาลิงคะ เป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้.

เรื่องป่ามาตังคะ


ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี เศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติ 40 โกฏิ มี
ธิดาคนหนึ่งชื่อ ทิฏฐมังคลิกา สะสวยน่ารักน่าชม นางเป็นที่ปรารถนาของ
คนเป็นอันมาก เพราะนางเพียบพร้อม ด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติ และกุล

1. บาลีสรภังคชาดกว่า อเหฐยิ.

สมบัติ ชายใดส่งคนไปสู่ขอนาง นางเห็นชายนั้นแล้ว ก็จะยกเรื่องชาติ
มิฉะนั้น ก็เรื่องมือ เท้า เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นข้อตำหนิ กล่าวว่า
ผู้นั้นเป็นใคร เกิดไม่ดี ทรวดทรงไม่ดี ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็สั่งให้เชิญเขา
กลับไปเสีย แล้วพูดสั่งว่า ถ้าข้าได้เห็นคนเช่นนี้ พวกเจ้าจงเอาน้ำมา ข้าจัก
ล้างตา แล้วก็ล้างตา. เพราะเหตุที่นางมีอาการผิดปกติที่เขาเห็น ๆ กัน สั่งให้
เชิญชายไปเสีย ฉะนั้น จึงเกิดเรียกชื่อนางว่า ทิฏฐมังคลิกา ชื่อเดิมหายไป.
วันหนึ่ง นางตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงสั่งให้จัดตกแต่งท่าน้ำ บรร-
ทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้น
ไปขึ้นยานปิดมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากคฤหาสน์ไป. สมัยนั้น พระ-
มหาบุรุษเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล อาศัยอยู่ในเรือนที่มุงหนังนอกพระนคร
เขาชื่อว่า มาตังคะ เขาอายุ 16 ปี ต้องการจะเข้าไปในพระนคร ด้วยกิจ
บางอย่าง จึงนุ่งผ้าเก่า สีเขียวผืนหนึ่ง ผูกข้อมือผืนหนึ่ง มือข้างหนึ่งถือ
กระเช้า ข้างหนึ่งถือกระดิ่ง ห้ามคนนั้น ๆ เพื่อให้เขารู้ว่า นายเจ้าข้า โปรด
ระลึกไว้ว่า ข้าเป็นจัณฑาล เจียมเนื้อเจียมตัว นบนอบคนทั้งหลายที่เขา
พบ เข้าไปยังพระนครเดินถนนใหญ่.
นางทิฏฐมังคลิกา ได้ยินเสียงกระดิ่ง ก็มองทางช่องม่าน เห็นนาย
มาตังคะเดินมาแต่ไกล ถามว่านั่นอะไร. คนของนางตอบว่า นายมาตังคะจ๊ะ
นาย. นางพูดว่า ข้าทำอะไรไม่ดีไว้หนอ นี้เป็นผลของกรรมอะไร ความ
ย่อยยับจึงปรากฏแก่ข้าหนอ ข้ากำลังไปด้วยกิจที่เป็นมงคล กลับได้พบคน
จัณฑาล รังเกียจจนตัวสั่น ถ่มน้ำลายแล้วบอกพี่เลี้ยง ให้รีบนำน้ำมา ข้าจักล้าง
ลูกตาที่เห็นคนจัณฑาล บ้วนปากที่เอ่ยชื่อ แล้วก็ล้างตาและปาก ให้กลับรถ
ส่งสิ่งของที่เตรียมไว้ไปยังคฤหาสน์ ตัวเองก็ขึ้นไปสู่ปราสาท. พวกนักเลงสุรา

เป็นต้น และเหล่าคนที่บำรุงนางถามกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาไปไหน จึงไม่
มาในเวลานี้ ฟังเรื่องราวแล้วก็เดียดแค้นว่า อาศัยเจ้าจัณฑาล พวกเราจึงไม่
ได้รับรางวัลใหญ่ เช่นสุรา เนื้อ ของหอม ดอกไม้เป็นต้น จงจับเจ้าจัณฑาล
กันเถอะ แล้วเสาะหาจนพบสถานที่โปตะคอกขู่มาตังคะบัณฑิตผู้ไม่ผิดว่า เฮ้ย
เจ้ามาตังคะ เพราะอาศัยเจ้า พวกข้าจงไม่ได้รางวัลอันนี้ ๆ ว่าแล้ว ก็จับผม
กระชากล้มลงที่พื้น กระแทกด้วยข้อศอก และก้อนหินเป็นต้น สำคัญว่าตาย
จึงพากันจับลากไปทิ้งไว้ที่กองขยะ.
ฝ่ายมหาบุรุษรู้สึกตัว คลำมือเท้าดูคิดว่า ทุกข์อันนี้ อาศัยใครหนอ
จึงเกิด ขึ้นได้ ไม่ใช่อาศัยใครอื่น ต้องอาศัยนางทิฏฐมังคลิกาแน่จึงเกิดขึ้น เรา
เป็นลูกผู้ชายจักต้องให้นางซบลงแทบเท้าให้ได้ โกรธตัวสั่นอยู่ ไปยังประตูบ้าน
ตระกูลของนางทิฏฐมังคลิกา นอนที่ลานบ้านด้วยตั้งใจว่า เราได้นางทิฏฐ -
มังคลิกาจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี้นี่แหละ. สมัยนั้น ชมพูทวีป มี
ประเพณีว่า คนจัณฑาลโกรธนอนตายใกล้ประตูห้องของผู้ใด คนที่อยู่ในห้อง
ของผู้นั้นทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายกลางเรือน คนที่อยู่
ในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือน
ระหว่างสองข้าง ต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือน
ทั้ง 14 หลัง ข้างโน้น 7 ข้างนี้ 7 ทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล แต่พระโพธิสัตว์
นอนที่ลานบ้าน คนทั้งหลายจึงบอกแก่เศรษฐีว่า นายขอรับ นายมาตังคะนอน
ที่ลานบ้านของนาย. เศรษฐีพูดว่า ไปซีพนาย เพราะเหตุอะไรกัน พวกเจ้า
จงให้ทรัพย์มันมาสกหนึ่ง ให้มันลุกไป. คนเหล่านั้นออกไปบอกว่า ลุกขึ้นรับ
มาสกนี้ ลุกขึ้นไปเสีย. นายมาตังคะบอกว่า ข้าไม่ได้นอนเพื่อต้องการมาสก
แต่ข้านอนเพื่อต้องการนางทิฏฐมังคลิกา. คนทั้งหลายถาม นางทิฏฐมังคลิกา

มีโทษอะไรหรือ. เขาตอบว่า พวกท่านมองไม่เห็นโทษอะไร ๆ ของนางดอก
ข้าไม่มีความผิด พวกคนของนางทำข้าย่อยยับ ข้าได้นางจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็ไม่
ลุก. คนเหล่านั้น จึงพากันไปบอกเศรษฐี เศรษฐีรู้โทษของธิดา จึงส่งคนไป
พร้อมกับบอกว่า พวกเจ้าจงไปให้มันกหาปณะหนึ่ง. นายมาตังคะนั้นก็บอกว่า
ข้าไม่ปรารถนากหาปณะ แต่ปรารถนานางคนเดียว. เศรษฐีและภริยาได้ฟังก็
ได้แต่สังเวชว่า ธิดาที่เป็นที่รักของเรามีคนเดียว ก็มาทำลายประเพณีเสีย แม้
เด็กอื่นก็ไม่มี จึงบอกคนทั้งหลายว่า ไปซี พ่อคุณ เดี๋ยวใคร ๆ จะปลิดชีวิต
มันเสียหรอก เมื่อมันตาย เราทุกคนก็จะฉิบหายกัน พวกเจ้าจงอารักขามันไว้
แล้วก็ห้อมล้อมจัดแจงอารักขา ส่งข้าวต้มข้าวสวยทรัพย์ไปให้ ถึงอย่างนั้นนาย
มาตังกะนั้นก็ปฏิเสธทุกอย่าง เวลาก็ล่วงไปวันหนึ่ง สอง- สาม- สี่-ห้าวัน คน
ที่อยู่เรือนแห่งละ 7 ต่อจากเรือนนั้น ๆ ก็ลุกขึ้นพูดว่า พวกเราไม่อาจจะกลาย
เป็นจัณฑาล เพราะพวกท่านได้ พวกท่านอย่าทำให้เราฉิบหายกันเลย จงให้
ทิฏฐมังคลิกา แล้วให้นายมาตังคะลุกขึ้น. เศรษฐีและภริยานั้นก็ส่งทรัพย์ไปให้
เขาร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง แสนหนึ่งบ้าง นายมาตังคะนั้นก็ปฏิเสธอย่าง
เดียว หกวันก็ล่วงไปอย่างนี้ ถึงวันที่เจ็ด คนที่อยู่ในเรือนทั้ง 14 สองข้าง
ก็ประชุมกันอีกว่า เราไม่อาจกลายเป็นจัณฑาลทั้งที่พวกท่านก็ไม่ต้องการ เรา
จักให้ทิฏฐมังคลิกาแก่นายมาตังคะนั้นละ. มารดาบิดาของนางเพียบด้วยความ
โศกศัลย์ ถึงกับแน่นิ่งล้มลงบนที่นอน.
คนที่อยู่ในเรือนทั้ง 14 หลัง สองข้าง ก็พากันขึ้นปราสาท เปลื้อง
เครื่องประดับทุกอย่างของนาง ประหนึ่งเก็บกิ่งทองกวาวที่ดอกบานแล้ว เอา
เล็บทำแสกแล้วผูกผมไว้ ให้นุ่งผ้าเขียวเก่า ๆ ผูกชิ้นผ้าเขียวเก่า ๆ ไว้ที่มือ
ให้ประดับตุ้มหูดีบุกไว้ที่หูสองข้าง มอบกระเช้าใบตาล ให้ลงจากปราสาท จับ

แขนทั้งสองข้างไว้ ไปมอบให้มหาบุรุษพร้อมกับกล่าวว่า จงพาสามีของเจ้าไป
ทิฏฐมังคลิกาเป็นเด็กหญิงสุขุมาลชาติ ไม่เคยยกของหนักที่ว่าแม้แต่ดอกบัวขาบ
ก็หนักเสียเหลือเกิน ก็พูดว่า ลุกขึ้นซินาย ไปกันเถอะ. พระโพธิสัตว์ก็นอน
เฉยพูดว่าเราไม่ลุก. นางย้อนถามว่า จะให้พูดว่าอะไรเล่า. นายมาตังคะก็สอนว่า
เจ้าจงพูดกะเราว่า ท่านมาตังคะจงลุกขึ้นซิ เจ้านาย. นางก็พูดอย่างนั้น. นาย
มาตังคะบอกว่า พวกคนของเจ้าใช่ไหม ทำให้เราไม่สามารถลุกขึ้น เจ้าจับแขน
เราฉุดให้ลุกขึ้นซิ. นางก็กระทำตาม พระโพธิสัตว์ทำที่ว่าลุก แต่ก็กลิ้งล้มลง
ไปที่พื้น ร้องลั่นว่า แม่มหาจำเริญทิฏฐมังคลิกา ใช้ผู้คนทุบจนยับเยินก่อน
แล้ว บัดนี้ตัวเองยังจะทุบอีก. นางพูดว่า ข้าจะทำอย่างไรเล่าเจ้านาย. จงจับ
สองมือฉุดให้ลุกขึ้น. นางฉุดให้ลุกขึ้นได้แล้ว พูดว่าเราไปกันเถอะนาย. พระ-
โพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาว่า สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ในป่า นี่เราเป็นมนุษย์ ข้าถูก
คนของเจ้าทุบบอบช้ำ ไม่สามารถเดินไปด้วยเท้าได้ เจ้าจงเอาหลังแบกข้าไป.
นางก็น้อมตัวลงก้มหลังให้ พระโพธิสัตว์ก็ขึ้นหลัง นางพาไปยังประตูเมืองด้าน
ตะวันออก แล้วถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือ. เขาตอบว่า ที่ประตูเมือง
ด้านตะวันออก พวกลูกจัณฑาลอยู่ไม่ได้ดอก. เขาไม่บอกที่อยู่ของตน ให้
นางแบกไปยังทุกประตู. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เขาคิดว่า เรา
จะทำมานะนางที่ขึ้นถึงยอดภพให้ลดลงให้ลดลงให้จงได้. มหาชนกระทำการแซ่ซ้องกึก-
ก้องว่า นอกจากคนเช่นท่าน ไม่มีคนอื่นที่จะทำลายมานะของนางได้. ถึง
ประตูเมืองด้านตะวันตก นางถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือนาย. เขากลับ
ย้อนถามว่า นั่นที่ไหน. นางตอบว่า ประตูเมืองด้านตะวันตกนาย. เขา
บอกว่า ออกทางประตูเมืองด้านตะวันตกแล้ว มองเห็นเรือนมุงหนัง ก็ไป
เถอะ. นางเดินไปถึงแล้วก็ถามว่า เรือนมุงหนังหลังนี้เป็นที่อยู่ของนายหรือ.
เขาตอบว่า จ้ะ แล้วก็ลงจากหลังนางเดินเข้าไปยังเรือนมุงหนัง. พระโพธิสัตว์

ผู้เป็นปราชญ์แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณอยู่ในเรือนหลังนั้น 7-8 วัน มิได้
ทำการระคนด้วยชาติ (สมสู่) ไม่วันเหล่านั้น. เขาคิดแล้วคิดอีกว่าถ้าธิดาของ
สกุลใหญ่อาศัยเราจะไม่ประสบยศ (เกียรติ, อิสริยะ บริวาร) ยิ่งใหญ่ เราอยู่
ในสำนักพระพุทธเจ้าถึง 24 พระองค์ ก็ยังไม่สามารถทำกิจคืออภิเษกพระราชา
ทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชำระเท้าของนางได้ ต่อแต่นั้นก็ดำริว่า เรา
อยู่ท่ามกลางเรือน (เป็นคฤหัสถ์) คงไม่สามารถ แต่บวชแล้วจึงจักสามารถ
แล้วก็เรียกนางสั่งว่า เจ้าทิฏฐมังคลิกา แต่ก่อน ข้าอยู่คนเดียว ทำงานบ้าง
ก็พอเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ข้ามีภริยา ไม่ทำงาน ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
เจ้าอย่ากระสันไปเลยจนกว่าข้าจะกลับมา พระโพธิสัตว์เข้าไปป่า เก็บเอาผ้า
เปื้อน ๆ ที่ป่าช้าเป็นต้น มาทำผ้านุ่งผ้าห่ม บวชเป็นสมณะเที่ยวไปคนเดียว
ได้ความสงัดกาย บริกรรมกสิณ ทำสมาบัติ 8 และอภิญญา 5 ให้เกิดแล้ว
ดำริว่า บัดนี้ เราอาจเป็นที่พึ่งอาศัยของนางทิฏฐมังคลิกาได้ จึงเดินมุ่งหน้า
ไปยังกรุงพาราณสี ห่มจีวรเที่ยวภิกขาจาร เดินตรงไปยังเรือนของนางทิฏฐ-
มังคลิกา.
นางเห็นพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ใกล้ประตู จำไม่ได้ก็บอกว่า โปรดไปข้าง
หน้าเถิดเจ้าข้า นี้ที่อยู่ของพวกคนจัณฑาล พระโพธิสัตว์ก็ยืนอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ
นางดูแล้วดูอีก ก็จำได้ เอามือทุกอก ร้องลั่นล้มลงใกล้ ๆ เท้า กล่าวว่า นาย
ถ้านายยังมีจิตใจอยู่เช่นนี้ เหตุไรนายจึงทำข้าให้เสื่อมจากยศใหญ่ ทำข้าให้ขาด
ที่พึ่ง แล้วก็คร่ำครวญไปต่าง ๆ เช็ดตาสองข้างลุกขึ้น รับภาชนะอาหารนิมนต์ให้
เข้าไปนั่งภายในเรือนถวายอาหาร. พระมหาบุรุษฉันแล้วก็กล่าวว่า ทิฏฐมังคลิกา
เจ้าอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ำครวญไปเลย เราสามารถทำให้กิจคือ การอภิเษก
พระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชำระเท้าของเจ้า แต่เจ้าต้องทำตาม
คำของเราอย่างหนึ่ง เจ้าจงเข้าไปยังพระนคร ป่าวประกาศไปให้ทั่วพระนครว่า

สามีของข้าไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่าง
นั้นแล้วนางทิฏฐมังคลิกาก็พูดว่า นาย แม้โดยปกติ ข้าก็ถึงความย่อยยับ เพราะ
โทษแห่งปากจึงไม่อาจจะพูดได้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ก็เมื่อเรายังอยู่ในเรือน
เจ้าเคยได้ยินคำพูดเหลวไหลหรือ เราไม่พูดเหลวไหลแม้ในครั้งนั้น บัดนี้เรา
บวชแล้ว จะพูดเหลวไหลได้อย่างไร เราชื่อว่าเป็นบุรุษ พูดแต่คำจริง แล้ว
กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวัน 8 ค่ำแห่งปักษ์ เจ้าจงป่าวประกาศว่า ในวันอุโบสถ
ล่วงไป 7 วัน นับแต่วันนี้ ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จักทำลายวงพระจันทร์
แล้วมายังสำนักของข้า ครั้นกล่าวแล้วก็หลีกไป. นางเชื่อ ร่าเริงยินดี กล้าหาญ
เข้าไปยังพระนคร ในเวลาเช้าเย็นป่าวประกาศอย่างนั้น คนทั้งหลายก็ปรบมือ
หัวเราะ เย้ยหยันว่า ดูเอาเถิด นางทิฏฐมังคลิกาของพวกเรา ทำลูกจัณฑาลให้
เป็นท้าวมหาพรหม. แม้วันรุ่งขึ้น นางก็เข้าไปเช้าเย็น ป่าวประกาศอย่างนั้น
นั่นแหละว่า บัดนี้ ล่วงไป 1 วัน 2 วัน 3 วัน วัน 5 วัน 6 วัน บัดนี้
ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จักทำลายวงพระจันทร์ มายังสำนักของข้า. พราหมณ์
ทั้งหลายคิดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกานี้กล้าหาญเกินตัวพูดออกไป บางคราว
น่าจะมีจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ มาเถิดเราจักจัดแจงที่อยู่ของนางทิฏฐมังคลิกา แล้ว
ช่วยกันแผ้วถางไปรอบ ๆ ภายนอกเรือนมุงหนัง โรยทรายไว้ แม้นางก็เข้าไป
ยังพระนครแต่เช้าในวันอุโบสถ ป่าวประกาศว่า ได้ยินว่าวันนี้ สามีของข้าจักมา.
พราหมณ์ทั้งหลายก็ติดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาผู้นี้อ้างไม่ไกลเลย ได้ยินว่าวันนี้
ท้าวมหาพรหมจักมา พวกเราช่วยจัดแจงที่อยู่กันเถอะ แล้วก็ปัดกวาดเรือนมุง
หนังให้สะอาด ทำพื้นที่ให้เขียวชะอุ่ม แวดล้อมด้วยผ้าใหม่ ๆ ลาดบัลลังก์ที่
สมควรขนาดใหญ่ ระบายเพดานผ้าไว้ข้างบน ห้อยของหอมและพวงดอกไม้
เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกำลังจัดแจงอยู่ ดวงอาทิตย์ก็ตก.

พอดวงจันทร์ขึ้นพระมหาบุรุษก็เข้าปาทกฌานและอภิญญา ออกจาก
อภิญญาแล้วก็บริกรรม ด้วยจิตฝ่ายกามาวจร เนรมิตอัตภาพพรหมประมาณ
12 โยชน์ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยฤทธิ์ เหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปภายในจันทร-
วิมาน ทำลายวงพระจันทร์ ซึ่งกำลังลอยขึ้นจากชายป่า ละจันทรวิมาน
แล้ว ก็อยู่ข้างหน้า อธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเรา มหาชนเห็นแล้ว
ก็กล่าวว่า ผู้เจริญทั้งหลาย คำของนางทิฏฐมังคลิกาเป็นจริง ท้าวมหา-
พรหมเสด็จมา พวกเราจักบูชาท่าน แล้วถือเอาของหอมและพวงดอกไม้ยืน
ล้อมเรือนของนางทิฎฐมังคลิกาไว้. พระมหาบุรุษเหาะเวียนไปรอบ ๆ กรุง
พาราณสี 7 ครั้งเหนือศีรษะ รู้ว่ามหาชนเห็นแล้วละอัตภาพประมาณ 12 โยชน์
เสีย แล้วเนรมิตอัตภาพเท่าคนธรรมดา เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่ ก็เข้ายังเรือน
มุงหนัง. มหาชนเห็นแล้วก็พูดว่า ท้าวมหาพรหมของพวกเราเสด็จมาแล้ว
พวกเจ้าจงนำม่านมา วงนิเวศน์ไว้ด้วยม่านขนาดใหญ่ยืนล้อมไว้ แม้พระมหา-
บุรุษก็นั่งกลางที่นอนอันมีสิริ นางทิฏฐมังคลิกาก็ยืนอยู่ใกล้ ๆ. ครั้งนั้น พระ-
มหาบุรุษก็ถามนางว่า ดูก่อน ทิฏฐมังคลิกา เจ้ามีระดูหรือ. นางตอบว่า จ้ะ
นาย. พระมหาบุรุษกล่าวว่า เจ้าจงรับบุตรที่เราให้ไว้ แล้วเอาปลายนิ้วมือ
แตะบริเวณท้อง. ด้วยการแตะท้องเท่านั้น นางก็ตั้งครรภ์. พระมหาบุรุษ
กล่าวว่า ดูก่อนทิฏฐมังคลิกา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ น้ำชำระเท้าของเจ้า จัก
เป็นน้ำอภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป เจ้าจงยืนขึ้น ดังนี้แล้วเนรมิต
อัตภาพพรหม เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่ก็ออกจากเรือนเหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปยัง
วงพระจันทร์นั่นแล. ตั้งแต่ก่อนที่ นางได้ชื่อว่า พรหมปชาบดี ชื่อว่าผู้ที่
จะได้น้ำสำหรับล้างเท้าไม่มี. พวกพราหมณ์ปรึกษากันว่าพวกเราจักเชิญพรหม-
ปชาบดีให้เข้าไปอยู่ภายในพระนคร หามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่มีชาติ

ไม่บริสุทธิ์ 7 ชั่วคนหามวอ. พราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์ 16 คน หามไป. คน
ที่เหลือบูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พระนคร ปรึกษากัน
ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย พรหมปชาบดี ไม่อาจอยู่ในเรือนที่ตนเคยอยู่มาได้แล้ว
พวกเราจักหาที่ดินสร้างเรือนแก่นาง นางจงอยู่ที่มณฑป ที่พวกเรากำลังสร้าง
อยู่ ดังนี้ แล้วจัดให้นางอยู่ที่มณฑป. ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายได้แต่ยืนอยู่
พอเห็นนาง ผู้ต้องการไหว้ก็ต้องให้กหาปณะหนึ่งจึงจะไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้
ในที่รอบ ๆ พอได้ยินเสียง ต้องให้ร้อยกหปณะ จึงไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้
ในที่ใกล้ ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดตามปกติ ต้องให้ห้าร้อยกหาปณะ จึง
ไหว้ได้ ผู้ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ ต้องให้หนึ่งพันกหาปณะ, ผู้
ปรารถนาน้ำชำระเท้า ต้องให้หมื่นกหาปณะ จึงได้. นางมาแต่ ภายนอก
พระนครจนถึงมณฑปภายในพระนคร ได้ทรัพย์ประมาณร้อยโกฏิ. สกล
ชมพูทวีปก็เลื่องลือกัน. พระราชาทั้งปวงคิดว่า เราจักทำการอภิเษกด้วย
น้ำชำระเท้าของพรหมปชาบดี ทรงส่งทรัพย์ไปแสนกหาปณะจึงได้น้ำมา.
นางกำลังอยู่ในมณฑปนั้นแล ก็คลอดบุตรออกมา กุมารที่อาศัยพระมหาบุรุษ
ได้มาก็ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยลักษณะ. สกลชมพูทวีป ก็โกลาหลเป็นอันเดียว
กันว่า บุตรของท้าวมหาพรหมเกิดแล้ว ทรัพย์ที่ได้มาแต่คนนั้น ๆ ก็ประมาณ
พันโกฏิ ด้วยประสงค์ว่าจะเป็นค่า ขีรมณี (คือค่าน้ำนม) ของกุมาร แม้
นิเวศน์ (ที่อยู่) ก็สำเร็จด้วยทรัพย์มีประมาณเพียงเท่านั้น. คนทั้งหลาย
ปรึกษากันว่า พวกเราจักขนานนามของกุมาร แล้วตกแต่งนิเวศน์ให้กุมารสรง
สนานด้วยน้ำหอม ประดับประดาแล้ว ก็ขนานนามว่า มัณฑพยะ เพราะ
เกิดในมณฑป กุมารจำเริญมาด้วยความสุข ก็ถึงวัยเล่าเรียนศิลปะ ปราชญ์ผู้
รู้ศิลป์ในสกลชมพูทวีปก็มายังสำนักของกุมาร ให้กุมารศึกษาศิลป กุมารเฉลียว

ฉลาดมีปัญญา ก็เล่าเรียนศิลปะที่สดับ ๆ มาแล้วได้เหมือนร้อยแก้วมุกดาฉะนั้น
ศิลปะที่เล่าเรียน ๆ ไว้แล้ว ก็ทรงจำไว้ประหนึ่งน้ำมันที่ใส่ในหม้อทองฉะนั้น
ตราบจนปริยัติคล่องปาก เพราะเหตุนั้น ปริยัติที่ชื่อว่าไม่เล่าเรียนไม่มี.
พราหมณ์ทั้งหลายก็ห้อมล้อมกุมารนั้น เที่ยวไป แม้กุมารนั้นก็เป็นผู้ที่พราหมณ์
เลี้ยงดูแล้ว. พราหมณ์แปดหมื่นคน รับนิตยภัตในเรือน แม้เรือนข้องกุมารนั้น
ก็ใหญ่โต มีซุ้มประตูถึง 7 ซุ้ม. ทรัพย์ที่ชาวชมพูทวีปส่งให้ในวันมงคลใน
เรือนก็ตกประมาณแสนโกฏิ.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ระบุว่า กุมารประมาทหรือไม่ประมาทหนอ ก็ทราบ
เรื่องราวของกุมารนั้นตลอด ดำริว่า กุมารที่เกิดแล้ว พราหมณ์เลี้ยงไว้ ทาน
ที่ให้ในเขตใดมีผลมาก เขายังไม่รู้ถึงเขตนั้น เราจะไปทรมานเขา แล้วก็ห่ม
จีวรถือภาชนะใส่อาหาร คิดว่าซุ้มประตูทั้งหลายคับแคบนัก เราไม่อาจเข้าไป
ทางซุ้มประตูได้ จึงมาทางอากาศ ลง ณ น่านอากาศ ในที่ ๆ พวกพราหมณ์
80,000 คน บริโภคอาหาร แม้มัณฑพยกุมารก็ให้คนจับทัพพีทองอังคาสตน
โดยสั่งว่าพวกเจ้าจงให้กับข้าวตรงนี้ ให้ข้าวตรงนี้ ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ก็โกรธ
ประหนึ่งงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้ จึงกล่าวคาถานี้ว่า.
กุโต นุ อาคจฺฉสิ ทุมฺมวาสี
โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว
สงฺการโจลํ ปฏิมุญฺจ กณฺเฐ
โก เร ตุวํ โหสิ อทกฺขิเณยฺโย.
เจ้านุ่งห่มผ้าเก่า ๆ เข็ญใจ รูปร่างดัง
ปิศาจคลุกฝุ่น คล้องผ้าที่ได้มาในกองขยะ
ไว้ที่คอ เฮ้ย. . . เจ้าเป็นใคร เจ้าไม่ใช่ทักขิ
ไณยบุคคลนี่.

พระโพธิสัตว์ไม่โกรธ จึงกล่าวสอนเขาว่า
อนฺนํ ตวยิทํ ปกตํ ยสสฺสิ
ตํ ขชฺชเร ภุญฺชเร ปิยฺยเร จ
ชานาสิ มํ ตฺวํ ปรทตฺตูปชีวึ
อุตฺติฏฺฐปิณฺฑํ ลภตํ สปาโก.
ข้าวที่ท่านจัดไว้สำหรับพวกมียศ พวก
มียศย่อมเคี้ยวย่อมกินข้าวนั้นและดื่มน้ำนั้น.
ท่านย่อมรู้จักเรา ผู้ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยทานที่
คนอื่นให้ คนจัณฑาล ควรจะได้อาหารที่
คนลุกขึ้นยืนยื่นให้.

มัณฑพยกุมารนั้น เมื่อแสดงว่า ข้าวนี้ไม่ได้จัดไว้ สำหรับคนเช่นท่าน
จึงกล่าวว่า
อนฺนํ มมยิทํ ปกตํ พฺราหฺณานํ
อตฺตตฺถิยา สทฺทหโต มมยิทํ
อเปหิ เอตฺโต กิมิธกฺฐิโตสิ
น มาทิสา ตุยฺห ททนฺติ ชมฺม.
ข้าวนี้เราจัดไว้สำหรับพราหมณ์ทั้งหลาย
ข้าวนี้เราผู้มีศรัทธา จัดไว้ เพื่อประโยชน์
ของตนเอง จงออกไปเสียจากที่นี้ ยังคง
ยืนอยู่ในที่นี่ทำไมเล่า คนอย่างเราไม่ให้ทาน
แก่เจ้าดอก คนถ่อย.

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ เพื่อแสดงว่า ธรรมดาว่าทานควรให้แก่ผู้ใด
ผู้หนึ่ง ทั้งที่มีคุณธรรมทั้งที่ไม่มีคุณธรรม เหมือนอย่างว่า พืชที่เขาปลูกลง
ในที่ลุ่มก็ดี ที่ดอนก็ดี อาศัยรสดินและรสน้ำ ย่อมงอกออกผล ฉันใด ทาน
ที่ชื่อว่า ไร้ผลย่อมไม่มีฉันนั้น ทานที่ให้แก่ผู้มีคุณธรรม ย่อมมีผลมากเหมือน
พืชที่หว่านลงในเนื้อที่นาดีฉะนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ถเล จ นินฺเน จ วปนฺติ พีชํ
อนูปเขตฺเต ผลมาสมานา
เอตาย สทฺธาย ททาหิ ทานํ
อปฺเปว อาราธเย ทกฺขิเณยฺเย.
คนทั้งหลายผู้หวังผล ย่อมหว่านพืช
ลงในเนื้อที่นาดอน นาลุ่ม และนาไม่ลุ่ม
ไม่ดอนฉันใด ท่านจงให้ทานด้วยศรัทธา
นั้น ฉันนั้น ทำไฉน จะพึงได้ผู้ที่ควร
รับทาน.

ครั้งนั้น กุมารโกรธจัด ตะคอกคนรักษาประตูเป็นต้นว่า ใครให้
เจ้าคนหัวโล้นนี้เข้ามา แล้วกล่าวคาถาว่า
เขตฺตานิ มยฺหํ วิทิตานิ โลเก
เยสฺวาหํ พีชานิ ปติฏฺฐเปมิ
เย พฺราหฺมณา ชาติมนฺตูปปนฺนา
ตานีธ เขตฺตานิ สุเปสลานิ.

เนื้อนาที่จะปลูกพืชในโลก เรารู้แล้ว
พราหมณ์เหล่าใดสมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์
พราหมณ์เหล่านั้นคือเนื้อนาในที่นี้ มีศีล
เป็นที่รักทั้งนั้น
ดังนี้.
แล้วสั่งว่า พวกเจ้าจงโบยเจ้าคนถ่อยผู้นี้ด้วยไม้ ลากเขาที่คอให้ออกไปข้างนอกให้
พ้นซุ้มประตู ทั้ง 7 ซุ้ม. ครั้งนั้น พระมหาบุรุษจึงกล่าวกะมัณฑพยกุมารนั้นว่า
คิรึ นเขน ขนสิ อโย ทนฺเตภิ ขาทสิ
ชาตเวทํ ปทหสิ โย อิสึ ปริภาสสิ.
เจ้าผู้ใดบริภาษฤษี เจ้าผู้นั้นก็เหมือน
ขุดขุนเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟัน กลืน
ไฟลงไปในลำคอฉะนั้น.

ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้ากุมารนี้จะพึงให้เราจับที่มือที่เท้า ก็
จะทำทุกข์ให้เกิดขึ้น จะพึงประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก แล้วก็เหาะขึ้นสู่
เวหาส เพราะความเอ็นดูสัตว์ ไปลงที่ระหว่างถนน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อจะทรงประกาศ
ความข้อนั้นจึงตรัสคาถานี้ว่า
อิทํ วตฺวา มาตงฺโค อิสึ สจฺจปรกฺกโม
อนฺตลิกฺขสฺมึ ปกฺกามิ พฺราหฺมณานํ อุทิกฺขตํ.
มาตังคฤษี ผู้มีสัจจะเป็นเบื้องหน้า ครั้น
กล่าวคำนี้แล้ว ก็หลีกไปในอากาศ ต่อหน้า
พราหมณ์ผู้มองดูอยู่ ดังนี้.

ทันใดนั้นนั่นเอง ท้าวเทวราชผู้เป็นหัวหน้าแห่งเหล่าเทวดาผู้รักษา
พระนคร ก็บิดคอมัณฑพยกุมาร. หน้าของเขาก็หันไปอยู่ข้างหลัง ตาก็กลับ
น้ำลายไหลยืดทางปากตัวก็แข็ง ดังถูกหลาวเสียบฉะนั้น เหล่ายักษ์ที่เป็นข้า
จำนวน 80,000 คน ก็กระทำแก่พราหมณ์ 80,000 คนอย่างนั้นเหมือนกัน
คนทั้งหลาย ก็รีบไปบอกแก่พรหมปชาบดี นางรีบรุดมาเห็นอาการอันแปลก
นั้นแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า
อาเวฐิตํ ปิฏฺฐิโต อุตฺตมงฺค์
พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ
เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส
โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.
หัวถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขน
ไปทำอะไรก็ไม่ได้ ลูกตาก็ขาวเหมือนคน
ตาย ใครทำแก่บุตรนี้ของเราอย่างนี้.

คนทั้งหลายก็บอกแก่นางว่า
อิธาคมา สมโณ ทุมฺมวาสี
โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว
สงฺการโจลํ ปริมุญฺจ กณฺเฐ
โส เต อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.
สมณะนุ่งผ้าเก่าเข็ญใจ รูปร่างดังปีศาจ
คลุกฝุ่น คล้องผ้าที่เก็บมาแต่กองขยะไว้ที่
คอ มาที่นี้ สมณะนั้น ทำแก่บุตรของท่าน
อย่างนี้.

นางได้ฟังแล้วก็รู้ชัดว่า เจ้านายผู้ให้ยศแก่เรารู้ว่า บุตรประมาท คง
จักมาเพื่ออนุเคราะห์ต่อบุตรนั้น จึงถามคนบำรุงเลี้ยงว่า
กตมํ ทิสํ อคมา ภูริปญฺโญ
อกฺขาถ เม มาณวา เอตมตฺถํ
คนฺตฺวาน ตํ ปฏิกเรมุ อจฺจยํ
อปฺเปว นํ ปุตฺต ลเภมุ ชีวีตํ.
ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ไปทางทิศ
ไหน มาณพทั้งหลาย พวกเจ้าจงบอกความ
นี้แก่เรา เราจะไปขอขมาโทษท่าน ทำไฉน
บุตรของเราจะพึงได้ชีวิต.

คนเหล่านั้น ก็บอกว่า
เวหาสยํ อคมา ภูริปญฺโญ
ปถทฺธุโน ปณฺณรเสว จนฺโท
อถาปิ โส ปุริมํ ทิสํ อคญฺฉิ
สจฺจปฺปฏิญฺโญ อิสิ สาธุรูโป.
ท่านผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน เหาะไป
ในเวหาส ไปได้ตลอด เหมือนดวงจันทร์
วันเพ็ญ ทั้งท่านก็ไปทางทิศตะวันออก
ท่านเป็นฤษี ปฏิญญาในสัจจะ เป็นคนดี.

แม้พระมหาบุรุษก็อธิษฐานว่า ตั้งแต่สถานที่ลงระหว่างถนน รอยเท้า
ของเราอย่าหายไปด้วยอำนาจของช้างม้าเป็นต้นเลย ทิฏฐมังคลิกาคนเดียว
จงเห็นเรา คนอื่นอย่าเห็น แล้วออกเที่ยวขออาหาร รับข้าวสุกคลุกพอประทัง

ชีวิต นั่งบริโภคที่ศาลาพักคนเดินทาง วางอาหารที่เหลือบริโภคหน่อยหนึ่งไว้
ในภาชนะใส่อาหารนั้นแล. แม้นางทิฏฐมังคลิกา ลงจากปราสาทเดินไปตาม
ระหว่างถนน พบรอยเท้าก็รู้ว่า นี้รอยเท้าของเจ้านาย ที่ให้ยศเรา ก็เดินไป
ตามรอยเท้า (พบแล้ว) ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ขอท่านโปรดยกโทษ
ผิด ที่ทาสของเจ้านายทำไว้ให้ข้าด้วยเถิด ก็ท่านชื่อว่า ไม่อยู่ในอำนาจของ
ความโกรธ โปรดให้ชีวิตแก่บุตรของข้าด้วยเถิด แล้วก็กล่าวเป็นคาถาว่า
อาเวฐิตํ ปิฏฺฐิโต อุตฺตมงฺคํ
พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ
เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส
โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.
หัวก็ถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขน
ไปทำอะไรก็ไม่ได้ ลูกตาทั้งสองก็ขาว
เหมือนคนตาย ใครทำแก่บุตรนี้ของข้า
อย่างนี้.

พระมหาบุรุษกล่าวว่า เราไม่ทำอย่างนั้นดอก แต่เมื่อเหล่าภูตยักษ์
และเทวดาผู้เคารพในนักบวช เห็นผู้เบียดเบียนนักบวช จักทำก็ได้กระมัง.
นางกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ท่านคงไม่มีใจคิดประทุษร้ายสิ้นเชิง คงเป็นพวก
เทวดาทำแน่ พวกเทวดาขอขมาง่ายไหม ข้าจะปฏิบัติอย่างไรเล่า ท่านเจ้าขา.
พระมหาบุรุษกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะบอกยาแก่เจ้า อาหารที่เหลือเรากิน
ยังมีอยู่ในภาชนะใส่อาหารของเรา เจ้าจงเทน้ำหน่อยหนึ่งลงในภาชนะนั้น
แล้วถือเอาหน่อยหนึ่งใส่ปากบุตรของเจ้า ส่วนที่เหลือเอาลงคนในภาชนะน้ำแล้ว
เอาใส่ปากพวกพราหมณ์แปดหมื่นคน. นางก็รับคำว่า จะทำตาม ถืออาหารไหว้

พระมหาบุรุษแล้ว ก็ไปทำตามที่สั่ง พออาหารถูกใส่ลงในปาก ท้าวเทวราช
ผู้เป็นหัวหน้ารู้ว่า เมื่อเจ้านายทำยาเสียเอง พวกเราก็ไม่อาจทำอะไรได้ แล้ว
ก็ปล่อยกุมาร กุมารนั้นกลืนอาหารแล้ว ก็มีอาการเป็นปกติเสมือนไม่เคยทุกข์
อะไร ๆ เลย. ครั้งนั้น มารดาก็กล่าวกะกุมารนั้นว่า พ่อเอ๋ย เจ้าจงดูอาการ
อันแปลกของพวกพราหมณ์ประจำตระกูลของเจ้า ที่ปราศจากหิริโอตตัปปะนี่สิ
เป็นสมณะไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย เจ้าให้พวกสมณะฉันเสียสิ พ่อ. ต่อนั้นนาง
ก็ให้คนอาหารส่วนที่เหลือลงในภาชนะน้ำให้ใส่ลงในปากพราหมณ์ทั้งหลาย
เหล่ายักษ์ก็ปล่อยทันที แล้วหนีไป พวกพราหมณ์กลืนอาหารแล้ว ก็ลุกขึ้น
ถามว่า เอาอะไรใส่ปากพวกเรา. นางตอบว่า อาหารเดนของมาตังคฤษี.
พราหมณ์เหล่านั้น ไม่แสดงความเสมอภาคว่า พวกเราถูกบังคับให้กินอาหาร
เดนของคนจัณฑาล ไม่เป็นพราหมณ์แล้ว บัดนี้ พราหมณ์เหล่านี้ ไม่ใช่
พราหมณ์บริสุทธิ์ แต่นั้น จึงพากันหนีออกจากที่นั้น ไปยังแคว้นเมชฌะ
รำพึงว่า พวกเราชื่อว่า พราหมณ์ผู้ต้องหวาดสะดุ้ง (หลังหวะ) ในนครของ
พระเจ้าเมชฌะ. ดังนี้แล้ว ก็บริโภคอยู่แต่ในกรุงราชคฤห์.
สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ เที่ยวกระทำการข่มคนชั่ว ทรมานคนถือ
มานะอยู่. ครั้งนั้นดาบสรูปหนึ่งชื่อ ชาติมันตะ เข้าใจตนเองว่า ไม่มีใคร
เสมอเรา ไม่ยอมแม้แต่จะเข้าใจคนอื่น ๆ พระโพธิสัตว์พบดาบสนั้น อาศัย
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ก็เดินไปในที่นั้น ด้วยหมายจะข่มมานะของดาบสนั้น .
ชาติมันตดาบสจึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ เป็นชาติอะไร. พระโพธิสัตว์ตอบ
ว่า ข้าเป็นชาติจัณฑาล ท่านอาจารย์. ดาบสก็ตะเพิดว่า ไป ไป เจ้าจัณฑาล
จงอยู่เสียทางใต้แม่น้ำคงคา อย่าทำน้ำทางเหนือแม่น้ำคงคาให้เป็นเดนเลย.

พระโพธิสัตว์ก็ตอบรับว่า ดีละ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ท่านบอก แล้วก็
ไปอยู่ทางใต้แม่น้ำคงคา อธิษฐานว่า น้ำของแม่น้ำคงคาจงไหลทวนกระแส.
เช้าตรู่ ชาติมันตดาบสก็ลงไปยังแม่น้ำคงคา บ้วนปากล้างหน้า ชำระชฎา
(ผมที่มวยไว้) พระโพธิสัตว์นั้นเคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มเขฬะเป็นก้อน ๆ ลงในแม่น้ำ
ไม้สีฟันและเขฬะที่ถ่มก็ลอยไปที่ดาบสนั้น พระโพธิสัตว์อธิษฐานว่า ไม้สีฟัน
และเขฬะนั้น อย่าติดในที่อื่น ให้ติดอยู่ที่ชฎาของดาบสนั้นผู้เดียว ทั้งเขฬะ
ทั้งไม้สีฟันก็ติดอยู่ที่ชฎาของดาบสนั้นเท่านั้น. ดาบสก็เดือดร้อนรำคาญใจว่า
การกระทำนี่ ต้องเป็นของเจ้าจัณฑาลแน่ จึงเดินไปถามว่า พ่อมหาจำเริญ
จัณฑาล น้ำของแม่น้ำคงคานี้ เจ้าทำให้มันไหลทวนกระแสหรือ. ขอรับ
ท่านอาจารย์. ถ้าอย่างนั้น เจ้าอย่าอยู่ทางใต้แม่คงคาเลย จงอยู่เสียทางเหนือ
แม่น้ำคงคาเถอะ. พระโพธิสัตว์ก็รับคำว่า ขอรับ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ตาม
ที่ท่านบอก แล้วก็อยู่ ณ ที่นั้น คลายฤทธิ์เสีย น้ำก็ไหลตามปกติ ดาบสก็
ประสบความย่อยยับนั้นอีก จึงไปถามพระโพธิสัตว์ว่า พ่อมหาจำเริญจัณฑาล
น้ำของแม่คงคานี้ เจ้าทำให้มันไหลทวนกระแส บางครั้งก็ทำให้มันไหลตาม
กระแสหรือ. ขอรับ ท่านอาจารย์. ดาบสจึงสาปว่า เจ้าไม่ให้นักบวชผู้อยู่เป็น
ปกติสุข อยู่โดยสะดวกเลย ศีรษะของเจ้าจักแตกออก 7 เสี่ยง ในวันที่ครบ
7 นับแต่วันนี้ไป. ดีละ ท่านอาจารย์ ส่วนข้าก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้น. ครั้งนั้น
มหาสัตว์คิดว่า คำสาปแช่ง จักตกลงเบื้องบนของดาบสนั้นเท่านั้น เราจำต้อง
รักษาดาบสนั้นไว้. วันรุ่งขึ้น ก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นด้วยฤทธิ์ เพราะเอ็นดูสัตว์
ธรรมดาอิทธิวิสัยของผู้มีฤทธิ์เป็นอจินไตย (ไม่ควรคิด) ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่
ปรากฏว่า ดวงอาทิตย์ขึ้น ก็กำหนดกลางคืนกลางวันกันไม่ได้ ไม่มีผู้ประกอบ
การงาน เช่น ทำนา ค้าขายเป็นต้น คนทั้งหลายก็ประสบอันตราย ด้วยไม่

รู้ว่า นี้ยักษ์บันดาล หรือภูตผี เทวดา นาค ครุฑ บันดาล คิดกันว่า จะ
ควรทำอย่างไรกันหนอ ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่า ราชสกุลมีปัญญามาก จะ
ไม่อาจคิดถึงประโยชน์ของโลกหรือ มาพวกเราไปราชสกุลกันเถิด แล้วก็พา
กันไปยังราชสกุลร้องทุกข์.
พระราชา สดับแล้วแม้จะทรงกลัว ก็ทำเป็นไม่กลัว ตรัสว่า อย่า
กลัวกันไปเลย พ่อเอ๋ย ดาบสชื่อชาติมันตะอยู่ริมฝั่งแม่คงคา คงจักรู้เหตุอัน
นั้น เราจักไปถามท่านให้หายสงสัย พอ 2 - 3 วัน ก็เสด็จพร้อมด้วยพวกคน
ผู้บำเพ็ญประโยชน์เข้าไปหาดาบส ได้รับปฏิสันถารแล้ว ก็ตรัสถามเรื่องนั้น.
ดาบสก็ทูลว่า ถวายพระพร มหาบพิตร มีจัณฑาลอยู่คนหนึ่ง เขาทำน้ำของ
แม่น้ำคงคานี้บางครั้งก็ให้ไหลตามกระแส บางครั้งก็ให้ไหลทวนกระแส คำ
อะไร ๆ ที่อาตมากล่าวเพื่อประโยชน์นั้น ก็มีอยู่ ขอได้โปรดตรัสถามจัณฑาล
คนนั้น เขาคงจะรู้. พระราชาเสด็จไปยังสำนักของมาตังคฤษี ตรัสถามว่า
ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ. ถวายพระพร มหาบพิตร.
เพราะเหตุไรเล่า เจ้าข้า. เพราะชาติมันตดาบสสาปแช่งอาตมาภาพผู้ไม่ผิด
อาตมาภาพจักให้ดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ต่อเมื่อชาติมันตดาบสนั้น มาไหว้อาตมาภาพ
ขอขมาแล้ว ถวายพระพร. พระราชาก็เสด็จไปตรัสชวนว่า มาเถิดท่านอาจารย์
ขอขมาดาบสเสีย. ทูลว่า มหาบพิตร อาตมาไม่ไหว้จัณฑาลดอก. ตรัสว่า
อย่าทำอย่างนี้ซิ ท่านอาจารย์ โปรดเห็นแก่หน้าชาวแคว้นเถิด. ชาติมันตดาบส
นั้น ก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก. พระราชาก็เสด็จเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ตรัสว่า ท่าน
อาจารย์ ท่านชาติมันตดาบสไม่ปรารถนาขอขมานี่. พระโพธิสัตว์ทูลว่า เมื่อ
ชาติมันตดาบสไม่ขอขมา อาตมาภาพก็ไม่ปล่อยดวงอาทิตย์. พระราชาทรง
ดำริว่า ชาติมันตดาบสผู้นี้ไม่ยอมขอขมามาตังคฤษีนี้ เมื่อชาติมันตดาบสไม่

ขอขมาก็ไม่ยอมปล่อยดวงอาทิตย์ ประโยชน์อะไรแก่พวกเรา ด้วยดาบสนั้น เรา
จักเห็นแก่ชาวโลก แล้วตรัสสั่งคนทั้งหลายว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านจงไป
จับมือเท้าชาติมันตดาบสนั้น มายังสำนักของดาบส (มาตังคฤษี) ให้นำชาติ-
มันตดาบสนั้นมาแล้ว ให้หมอบแทบเท้าของมาตังคฤษี ตรัสว่า โปรดเอ็นดูชาว
แว่นแคว้นขอขมามาตังคฤษีนั้นเสีย. พระโพธิสัตว์ทูลว่า อาตมาภาพงดโทษ
กะผู้ขอขมา ก็แต่ว่าคำสาปของชาติมันตดาบสนั้น ก็จักตกบนศีรษะของชาติ-
มันตดาบสนั้นนั่นเอง เมื่ออาตมาปล่อยดวงอาทิตย์แล้ว แสงของดวงอาทิตย์
จักตกบนศีรษะของชาติมันตดาบสนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีรษะของดาบสนั้น
จักแตกออก 7 เสี่ยง ขอดาบสนั้นอย่าประสบความย่อยยับนั้นเสีย มาเถิดท่าน
จักลงน้ำประมาณเพียงคอ จงวางก้อนดินเหนียวขนาดใหญ่ไว้บนศีรษะ เราจัก
ปล่อยดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์ตกต้องที่ก้อนดินเหนียว จักทำลายก้อนดิน
เหนียวนั้นแตกเป็น 7 เสี่ยง. เมื่อดาบสนั้นทิ้งก้อนดินเหนียวเสีย แล้วดำน้ำไป
โผล่ขึ้นทางท่าอื่น ท่านทั้งหลายจงบอกดาบสนั้นดังนี้ ดาบสนั้นจักมีความสวัสดี
ปลอดภัย. คนทั้งหลายก็รับคำว่า จักทำอย่างนั้น แล้วก็ทำตามสั่งทุกประการ.
ความสวัสดีก็มีแก่ดาบสนั้นนั่นเอง เหมือนอย่างนั้น. ตั้งแต่นั้นมา ชาติมันต-
ดาบสนั้นก็ได้คิดว่า ขึ้นชื่อว่าชาติไม่เป็นเหตุ คุณภายใจของเหล่านักบวชต่าง
หากเป็นเหตุ ก็ละมานะความถือชาติและโคตร ไม่มัวเมาอีกเลย. ดังนั้น เมื่อ
ชาติมันตดาบสถูกทรมานแล้ว มหาชนก็ได้รู้ถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ เกิด
โกลาหลเอิกเกริกเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสวอนขอให้พระโพธิสัตว์ไปยัง
พระนครของพระองค์. พระโพธิสัตว์ก็ถวายปฏิญญารับคำขอ ดำริว่า จัก
ทรมานพราหมณ์แปดหมื่นคนนั้น และจักเปลื้องปฏิญญา แล้วไปยังพระนคร
ของพระเจ้าเมชฌะ.

พราหมณ์ทั้งหลาย เห็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ก็ปรึกษากันว่า ท่าน
ผู้เจริญ นี้มหาโจรผู้นั้นแหละมาแล้ว บัดนี้จักทำพวกเราให้ปรากฏ (เปิดโปง)
ว่า พวกเราทั้งหมดนี้กินเดนไม่เป็นพราหมณ์แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็
จักอยู่แม้ในที่นี้ไม่ได้ จักฆ่ามันก่อนละ แล้วพากันไปเฝ้าพระราชาทูลว่า ขอ
ถวายพระพร ขอมหาบพิตรโปรดอย่าทรงสำคัญนักบวชจัณฑาลผู้นี้ว่าเป็นคนดี
เลย นักบวชจัณฑาลผู้นี้รู้มนต์หนัก จับแผ่นดินทำให้เป็นอากาศก็ได้ จับ
อากาศทำให้เป็นแผ่นดินก็ได้ จับที่ไกลทำให้ใกล้ก็ได้ จับที่ใกล้ทำให้ไกลก็ได้
กลับแม่คงคาทำให้ไหลขึ้นก็ได้ เมื่อปรารถนาอาจพลิกแผ่นดินก็ได้ ทำอันตราย
พระชนม์ชีพก็ได้ หรือว่าขึ้นชื่อว่า จิตของคนอื่นไม่อาจยึดไว้ได้ทุกเวลา
นักบวชจัณฑาลผู้นี้ เมื่อได้ที่พึ่งในนครนี้ ก็จะพึงทำแม้ราชสมบัติของมหา-
บพิตรให้พินาศก็ได้ ทำอันตรายพระชนมชีพก็ได้ ตัดขาดพระราชวงศ์ก็ได้
ขอมหาบพิตรโปรดเชื่อคำของพวกอาตมาเถิด จะฆ่าเขาเสียได้ในวันนี้ก็ควร
ขอถวายพระพร. ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีปรปักษ์ ดังนั้น ท้าวเธอ
จึงตกลงพระทัย ด้วยอำนาจถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น. ฝ่ายพระโพธิสัตว์
เที่ยวขออาหารไปในพระนคร เดินไปยังพระราชอุทยาน ปราศจากความสงสัย
เพราะเป็นผู้ไม่มีความผิด นั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล. สติระลึกไม่ได้เลย
ในเวลาเพียงครู่เดียว เพราะญาณที่สามารถระลึกได้ 80 กัป คือ อดีต 40 กัป
อนาคต 40 กัป ระลึกไม่ได้. พระราชาไม่ให้คนอื่นล่วงรู้เสด็จไปด้วยพระองค์
เอง ทรงเอาพระแสงดาบฟันพระมหาบุรุษ ซึ่งนั่งเผลอตัว เพราะระลึกไม่ได้
ขาด 2 ท่อน. ฝนคือพืชโลหะที่ 8 ฝนคือโคลนตมที่ 9 ก็ตกลงในแว่นแคว้น
ของพระราชาพระองค์นั้น ฝน 9 ชนิดตกลงในแว่นแคว้นของพระราชาแม้
พระองค์นี้ด้วยประการฉะนี้. พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริษัท ก็บังเกิด
ในมหานรก.

ด้วยเหตุนั้น สังกิจจบัณฑิต จึงกล่าวว่า
อุปหจฺจ มนํ เมชฺโฌ มาตงฺคสฺมึ ยสฺสสิเน
สปาริสชฺโช อุจฺฉินฺโน เมชฺฌารญฺญํ ตทา อหุ.
พระเจ้าเมชฌะพร้อมทั้งบริษัททรงขาด
คุณธรรม ทรงกระทบพระทัย ในเพราะ
มาตังคะฤษีผู้มีเกียรติยศ ป่าชื่อว่าเมชณะ
จึงได้มีมาแต่ครั้งนั้น.

พึงทราบว่าป่าเมชฌะกลายเป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้. แต่ป่าเมชฌะ
นั้น ท่านเรียกว่า ป่ามาตังคะ เพราะอำนาจของฤษีชื่อมาตังคะ.
บทว่า ปญฺทาปฏิภาณานิ คือปัญหาพยากรณ์. บทว่า ปจฺจนีกาตพฺพํ
ความว่า สำคัญว่า ควรทำให้เป็นข้าศึก คือเป็นเสมือนว่าถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม.
บทว่า อนุวิจฺจการํ ท่านอธิบายว่า จงกระทำให้เป็นข้อที่พึงพิจารณา คือ
ใคร่ครวญแล้วจึงทำ. คำว่า สาธุ โหติ แปลว่า เป็นการดี. พระผู้มีพระภาค-
เจ้าทรงแสดงว่า ก็เมื่อคนเช่นท่านพบเรา ถึงเราว่าเป็นสรณะ ครั้นพบนิครนถ์
แล้วก็ถึงนิครนถ์เป็นสรณะ คำครหาก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ว่า อุบาลีผู้นี้ถึงทุกคนที่
ตนพบเห็นนั่นแลเป็นสรณะหรือ เพราะฉะนั้น การใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ
จึงเป็นการดีสำหรับคนเช่นท่าน. คำว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า เขาว่า
พวกนิครนถ์เหล่านั้น ได้สาวกเห็นปานนั้นแล้ว ก็ยกธง (โอ้อวด) เที่ยวป่าว
ประกาศว่า พระราชา อำมาตย์ของพระราชา หรือ เศรษฐีชื่อโน้น ๆ เป็น
สาวก ถึงเราเป็นสรณะ.
ถามว่า เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะว่า ความที่พวกเราเป็นใหญ่ จักปรากฏชัดแจ้ง ด้วย
วิธีการอย่างนี้ และเพราะว่า ถ้าเขาจะพึงเกิดวิปปฏิสารเดือดร้อนสำคัญว่า เรา
ถึงสรณะด้วยเหตุอะไร หรือเขาก็จะบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญแม้อันนั้นว่า
คนเหล่านั้นทั้งหมดส่วนมาก รู้ถึงความที่ตนมีการถึงสรณะแล้ว มาบัดนี้ ไม่
กลับเป็นทุกข์ ในการที่จะถอนคนกลับไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงตรัสว่า ปฏากํ ปริหเรยยฺยุํ ดังนี้.
คำว่า โอปานภูตํ แปลว่า ทั้งอยู่เหนือบ่อน้ำที่จัดไว้. คำว่า กุลํ
คือ นิเวศน์ของท่าน. คำว่า ทาตพฺพํ มญฺเญยฺยาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงโอวาทว่า เห็นคน 10 คนบ้าง 20 คนบ้าง 60 คนบ้าง ผู้มาแล้ว อย่างพูด
ว่าไม่มี ให้เถิด อย่าตัดไทยธรรมสำหรับนิครนถ์เหล่านี้ ด้วยเพียงเหตุที่ถึง
เราเป็นสรณะ ณ บัดนี้ แท้จริง ควรให้แก่พวกเขาที่มาถึงแล้ว โดยแท้. คำว่า
สุตเมตํ ภนฺเต ความว่า อุบาลีคฤหบดีทูลถามว่า ทรงได้ยินมาจากไหน
พระเจ้าข้า. ตรัสตอบว่า จากสำนักของนิครนถ์ทั้งหลาย เขาว่านิครนถ์เหล่า
นั้น ประกาศในเรือนของสกุลทั้งหลายอย่างนี้ว่า พวกเรากล่าวว่า ควรให้แก่
คนใดคนหนึ่งที่มาถึงแล้ว ส่วนพระสมณโคดมกล่าวว่า ควรให้ทานแก่เราเท่า
นั้น ฯ ล ฯ ทานที่ให้แก่สาวกพวกอื่นไม่มีผลมากเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
หมายเอาคำนั้น จึงตรัสว่า อยํ คหปติ สุตเมตํ ดังนี้.
คำว่า อนุปุพฺพกถํ คือกถาที่กล่าวตามลำดับอย่างนี้คือ ศีลลำดับจาก
ทาน สวรรค์ลำดับจากศีลโทษของกามทั้งหลายลำดับจากสวรรค์.ในอนุบุพพิกถา
นั้น คำว่า ทานกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณ คือ ทาน เป็นต้นอย่างนี้ว่า
ธรรมดาว่า ชื่อว่าทานนี้ เป็นเหตุแห่งสุขทั้งหลาย, เป็นมูลรากของสมบัติทั้งหลาย
เป็นที่ตั้งแห่งโภคสมบัติทั้งหลาย, เป็นที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าของ

คนที่เดินทางไม่เรียบ ที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป
ที่ไปเบื้องหน้า เช่นกับทาน ไม่มีในโลกนี้และโลกอื่น. ด้วยว่า ทานนี้เป็น
เช่นกับสิงหาสน์ (ที่นั่งรูปสิงห์) ทำด้วยรัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่พึ่งพา.
เป็นเช่นกับแผ่นดินผืนใหญ่ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. เป็นเช่นเดียวกับเชือกโยง
เพราะอรรถว่า เป็นที่หน่วงเหนี่ยว. แท้จริง ทานนี้ เป็นประดุจนาวา เพราะ
อรรถว่า ข้ามทุกข์ได้. เป็นประดุจผู้องอาจในสงคราม เพราะอรรถว่า โล่งใจ
เป็นประดุจพระนครที่ปรับปรุงดีแล้ว เพราะอรรถว่า ป้องกันภัยได้. เป็นประ
ดุจปทุม เพราะอรรถว่า อันมลทินคือความตะหนี่เป็นต้นไม่ซึมเข้าไป. เป็น
ประดุจอัคคี เพราะอรรถว่า เผามลทินเหล่านั้น. เป็นประดุจงูพิษ เพราะอรรถ
ว่า ต้องนั่งไกล ๆ. เป็นประดุจราชสีห์ เพราะอรรถว่า ไม่หวาดกลัว. เป็น
ประดุจช้าง เพราะอรรถว่ามีกำลัง. เป็นประดุจพญาโคเผือก เพราะอรรถว่า
สมมติกันว่าเป็นมิ่งมงคลยิ่ง. เป็นประดุจพญาม้าที่ชื่อวลาหก เพราะอรรถว่า.
ให้ไปถึงแผ่นดินอันเกษม (ปลอดภัย). ธรรมดาว่า ทานนั้นเป็นทางที่เราดำ
เนินแล้ว เป็นวงศ์ของเราเท่านั้น เป็นมหายัญของเวลามพราหมณ์ เป็นมหายัญ
ของมหาโควินทศาสดา เป็นมหายัญของพระเจ้ามหาสุทัศนจอมจักรพรรดิ เป็น
มหายัญของพระเวสสันดร เป็นมหายัญเป็นอเนก ที่เราผู้บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ
บำเพ็ญมาพรั่งพร้อมแล้ว เป็นทานที่เรา สมัยที่เป็นกระต่าย ยอมทอดตัว
ลงในกองเพลิงที่ลุกโชน ยึดจิตใจของพวกยาจกที่มาถึงแล้วได้ แท้จริง ทาน
ย่อมให้สัคคสมบัติในโลก ให้มารสมบัติ ให้พรหมสมบัติ ให้จักรพรรดิสมบัติ
ให้สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ ก็บุคคลเมื่อให้ทาน ย่อม
อาจสมาทานศีลได้ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสศีลกถาไว้ในลำดับ
จากทานนั้น. คำว่า สีลกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือศีล เป็นต้น อย่าง

นี้ว่า ธรรมดาว่าศีลนี้ เป็นที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น
ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า ธรรมดาว่า ศีลนี้เป็นวงศ์ของเรา เราบำเพ็ญศีลบริบูรณ์
ในอัตภาพทั้งหลายไม่มีที่สุด คือ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ สังขปาละ ครั้งเป็น
พญานาคชื่อ ภูริทัตตะ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ จัมเปยยะ ครั้งเป็นพญานาค
ชื่อ สีลวะ ครั้งเป็นพญาช้างผู้เลี้ยงมารดา ครั้งเป็นพญาช้างชื่อ ฉัททันตะ
แท้จริงที่พึ่งอาศัยแห่งสมบัติทั้งหลายในโลกนี้และโลกอื่น เช่นกับศีล ที่ตั้ง ที่
หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าเช่นกับศีลไม่มี เครื่อง
ประดับเช่นกับเครื่องประดับคือศีลไม่มี ดอกไม้เช่นกับดอกไม้คือศีลไม่มี กลิ่น
เช่นกับกลิ่นคือศีลไม่มี โลกแม้ทั้งเทวโลกมองดูผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือ
ศีล ผู้มีดอกไม้คือศีลเป็นเครื่องประดับ ผู้อันกลิ่นคือศีลซึมซาบแล้ว ย่อมไม่
รู้สึกอิ่ม เพื่อจะทรงแสดงว่า ก็บุคคลอาศัยศีลนี้ ย่อมได้สวรรค์นี้ดังนี้ จึง
ตรัสสัคคกถาลำดับจากศีลนั้น. คำว่า สคฺคกถํ ได้แก่ กถาที่ประกอบด้วยคุณ
คือสวรรค์เป็นต้น อย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า สวรรค์นี้ น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ในสวรรค์นั้น มีการเล่นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็นนิตย์
เทวดาชั้นจาตุมหาราชเสวยทิพยสุขทิพยสมบัติ 9 โกฏิปี ชั้นดาวดึงส์ 3 โกฏิปี
และ6 โกฏิปี. พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้กำลังตรัสถึงสวรรค์สมบัติ
ก็ไม่มีเพียงพอ สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงกล่าวสัคคกถาด้วยปริยายเป็นอเนก ดังนี้. พระผู้มี-
พระภาคเจ้า เมื่อทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว เป็นประดุจทรง
ประดับช้างแล้ว ตัดงวงของช้างนั้นเสียอีก ทรงแสดงว่าสวรรค์แม้นี้ ไม่เที่ยง
ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสวรรค์นั้น จึงตรัส
โทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมอง ของกามทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า

กามทั้งหลาย มีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกาม
เหล่านั้นมียิ่งขึ้น. ในคำเหล่านั้น คำว่า อาทีนโว แปลว่า โทษ. คำว่า
โอกาโร แปลว่า ต่ำ ทราม. คำว่า สงฺกิเลโส คือ ความเศร้าหมองใน
สังสารวัฏของสัตว์ทั้งหลาย เพราะกามเหล่านั้น เหมือนที่ตรัสว่า ผู้เจริญ สัตว์
ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงขู่ด้วยโทษของกาม
อย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ การหลีกออกจากกาม. คำว่า
กลฺลจิตฺตํ คือจิตไม่เสีย. คำว่า สามุกฺกํสิกา คือ ที่ทรงยกขึ้นเอง คือที่
ทรงยกขึ้น ถือเอาด้วยพระองค์เอง อธิบายว่า ที่ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ
ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น. ถามว่า นั่นคืออะไร. ตอบว่า คืออริยสัจเทศนา. ด้วย
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. คำว่า วิรชํ วีตมลํ
ความว่า ที่ชื่อว่า ปราศจากธุลี เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าปราศ-
จากมลทิน เพราะปราศจากมลทินคือราคะเป็นต้น . คำว่า ธมฺมจกฺขุํ นี้เป็นชื่อ
ของมรรค 3 ในพรหมายุสูตร ข้างหน้าและอาสวักขยญาณในจุลลราหุโลวาท
สูตร. ส่วนในที่นี้ ทรงประสงค์เอาโสดาปัตติมรรค. เพื่อทรงแสดงอาการเกิด
ขึ้นของธรรมจักษุนั้น จึงตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา. ก็ธรรมจักษุนั้น ทำนิโรธ ให้เป็น
อารมณ์แล้ว แทงตลอดสังขตธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจกิจนั่นแลเกิดขึ้น.
อริยสัจธรรมอันผู้นั้นเห็นแล้ว เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว. แม้
ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ความสงสัยอันผู้นั้นข้ามเสียแล้ว เหตุนั้น ผู้
นั้นชื่อว่า มีความสงสัยอันข้ามเสียแล้ว. คำกล่าวว่า อย่างไร ของผู้นั้น ไป
ปราศแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่ามีคำกล่าวว่าอย่างไรไปปราศแล้ว. ผู้นั้นถึงแล้ว
ซึ่งความแกล้วกล้า เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่าถึงความแกล้วกล้า. ผู้นั้นไม่มีผู้อื่นเป็น

ปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา คือ ไม่เป็นไปในคำสอนของพระศาสดานั้น
ด้วยการเชื่อผู้อื่น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย. อุบาลี
คฤหบดีรับเอาด้วยจิต เพลิดเพลินแล้ว สรรเสริญด้วยวาจา บันเทิงใจแล้ว.
คำว่า อาวรามิ แปลว่า กั้น ปิด. คำว่า อนาวฏํ ได้แก่ ไม่ห้าม คือ
เปิดประตูแล้ว.
คำว่า อสฺโสสิ โข ฑีฆตปสฺสี ความว่า ได้ยินว่า ฑีฆตปัสสี
นิครนถ์นั้น ตั้งแต่อุบาลีคฤหบดีนั้นไปแล้ว ก็เที่ยวเงี่ยหูฟังว่า คฤหบดีผู้
บัณฑิต กับพระสมณโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะมีถ้อยคำนำสัตว์ออกจากทุกข์
จักเลื่อมใส แม้เพราะเหตุอุบาลีบัณฑิตนั้น จักเลื่อมใสเพราะธรรมกถา ครั้น
เลื่อมใสได้แล้ว จักถึงสรณะเพราะเหตุนั้น หรือ ไม่ถึงสมณะเพราะเหตุนั้น
ก่อนหนอ. เพราะฉะนั้น ฑีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังเป็นครั้งแรกทีเดียว. คำว่า
เตนหิ สมฺม ความว่า ฑีฆตปัสสีนิครนถ์ ถูกความเศร้าใจอย่างแรงครอบงำ
แม้ได้ยินคำว่า จงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแล แต่กำหนดใจความไม่ได้ จึงเจรจา
กับคนเฝ้าประตูอยู่นั่นแหละ คำว่า มชฺฌิมายํ ทฺวารสาลายํ ความว่า
เรือนหลังใดมี 7 ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ 4 ของเรือนหลังนั้น นับแต่ซุ้มประตู
ในทั้งหมด ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง เรือนหลังใดมี 5 ซุ้มประตู ซุ้ม
ประตูที่ 3 ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง เรือนหลังใดมี 3 ซุ้ม
ประตู ซุ้มประตูที่ 2 ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง ส่วนเรือน
ที่มีซุ้มประตูเดียว ซุ้มที่อาศัยเสามงคลทรงกลาง ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง
แต่เรือนของอุบาลีคฤหบดีนั้น มีซุ้มประตู 7 ซุ้ม. ท่านกล่าวว่า 5 ซุ้มก็มี.
คำทั้งหมด มีคำว่า อคฺคํ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกัน.
ในคำว่า ยํ สุทํ นี้ คำว่า ยํ หมายถึงนาฏบุตรใด. คำว่า สุทํ เป็นเพียง

นิบาต. คำว่า ปริคฺคเหตฺวา ความว่า เอาผ้าห่มผืนนั้นนั่นแหละคลุมท้องไว้.
คำว่า นิสีทาเปติ ความว่า เชิญให้นั่งว่า ค่อย ๆ อาจารย์ ค่อย ๆ อาจารย์.
ประหนึ่งวางหม้อน้ำมันขนาดใหญ่ ฉะนั้น คำว่า ทตฺโตสิ ความว่า
ท่านเกิดโง่ไปแล้วหรือ. คำว่า ปฏิมุกฺโก ความว่า ใส่ที่ศีรษะไว้
(สวม). คำว่า อณฺฑหารโก เป็นต้น แม้เป็นคำหยาบ ฑีฆปัสสีนิครนถ์
ก็กำหนดไม่ได้ว่า พูดคำนี้หยาบ ก็พูดออกไป เพราะเกิดความเศร้าใจอย่างแรง
เพราะเหตุอุบาลีกลายเป็นอื่น. คำว่า ภทฺทิกา ภนฺเต อาวฏฺฏนี ความว่า
นิครนถ์พูดหมายถึงมายานั่นแล อุบาลีบรรลุโสดาปัตติมรรค แทงตลอดด้วย
ตนเอง. คำว่า เตนหิ นี้เป็นเพียงศัพท์นิบาต ความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า
จักทำคำเปรียบเทียบแก่ท่าน. อีกอย่างหนึ่ง เป็นคำบอกเหตุ. ท่านอธิบายว่า
คำสั่งสอนของพวกท่าน มิใช่ธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ ด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้า
จักทำคำเปรียบเทียบแก่ท่าน ด้วยเหตุนั้น. คำว่า อุปวิชญฺญา แปลว่า ใกล้
เวลาคลอด. คำว่า มกฺกฏจฺฉาปกํ แปลว่า ลูกลิง. คำว่า วิกิณิตฺวา
อาเนหิ ความว่า จงให้มูลค่านำมา (ซื้อมา). แท้จริง ในท้องตลาด พ่อค้า
แม่ค้า ย่อมขายของเล่นสำหรับลิง ทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณ ภริยา
สาวของพราหมณ์แก่นั้น พูดหมายถึงของเล่นนั้น . คำว่า รชิตํ ความว่า เรา
ต้องการของนี้ที่เขาเอาสีย้อม ย้อมไล้ด้วยสีเหลืองหนาๆ ให้. คำว่า อาโกฏฺฏิต-
ปุจจาโกฏฺฏิตํ
ความว่า ที่เขาทุบกลับไปกลับมาบ่อย ๆ. คำว่า อุภโต ภาค-
วิมฏฺฐํ
ความว่า ที่มีผิวอันเขาขัดเกลี้ยงเกลาดีทั้งสองข้างแล้วด้วยไม้ไผ่, มณี
และหิน. คำว่า รงฺคกฺขโม หิ โข ความว่า ของเล่นทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มี
วิญญาณ ย่อมดูดสีย้อม เพราะฉะนั้นจึงกล่าวอย่างนี้. คำว่า โน อาโกฏฺฏนกฺขโม
ความว่า เมื่อของเล่นมีวิญญาณ เขาเอาวางลงที่แผ่นกระดานสำหรับทุบ ทุบ

ที่ท้องก่อน ท้องก็แตก ขี้ก็ไหลออก ทุบที่หัว หัวก็แตก มันสมองก็ไหล
ออก ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณ ก็แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะฉะนั้น จึง
กล่าวอย่างนี้. คำว่า วิมชฺชนกฺขโม ความว่า ของเล่นที่มีวิญญาณ ที่เขา
ขัดด้วยมณีและหิน ก็ไร้ขนไร้ผิว ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณ ก็แตกละเอียด
จึงกล่าวอย่างนี้. คำว่า รงฺคกฺขโม หิ โข พาลานํ ความว่า ผู้ควรแก่
การย้อม ย่อมให้เกิดเพียงราคะ เป็นที่รักของเหล่าคนเขลา มีความรู้ทราม
ส่วนวาทะของนิครนถ์ก็ดี กถามรรคอื่น ๆ ที่ไร้ประโยชน์เช่นเรื่องภารตยุทธ
และรามายนะเป็นต้นก็ดี ไม่เป็นที่รักของเหล่าบัณฑิตเลย. คำว่า โน อนุโย-
คกฺขโม โน วิมชฺชนกฺขโม
ความว่า ไม่ทนการประกอบตาม หรือการ
พิจารณาย่อมว่างเปล่า เหมือนฝัดแกลบหาข้าวสาร และเหมือนหาแก่นไม้ใน
ต้นกล้วย. คำว่า รงฺคกฺขโม เจว ปณฺฑิตานํ ความว่า แท้จริง กถาที่
ว่าด้วยอริยสัจ 4 ย่อมเป็นที่รักของเหล่าบัณฑิต ฟังอยู่ถึงร้อยปี ก็ไม่รู้สึกอิ่ม.
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้. ก็พุทธวจนะ ย่อมลึกซึ้งอย่างเดียวเหมือนมหา-
สมุทร โดยประการที่หยั่งลงได้ เพราะเหตุนั้นอุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า
อนุโยคกฺขโม จ วิมชฺชนฺขโม จ. คำว่า สุณาหิ ความว่า อุบาลีคฤหบดี
เริ่มกล่าวพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดา
พระองค์ใด โปรดจงฟังพระคุณทั้งหลาย ของพระศาสดาพระองค์นั้น.
บัณฑิตเรียกว่า ธีระ ในบทว่า ธีรสฺส. พึงทราบความสัมพันธ์ใน
บททั้งปวงอย่างนี้ว่า ปัญญา ความรอบรู้ ฯลฯ ความเห็นชอบอันใด ข้าพเจ้า
เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยปัญญาอันนั้น ผู้ทรงเป็นบัณฑิต
ฉลาดในธาตุอายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ฐานะและอฐานะ พระพุทธเจ้าพระองค์
นั้น ทรงเป็นพระศาสดาของข้าพเจ้า. คำว่า ปภินฺนขีลสฺส แปลว่า ผู้มี

กิเลสดุจตะปูตรึงใจอันทำลายได้แล้ว . สภาวะเหล่าใด ชนะแล้ว ชนะอยู่ จัก
ชนะซึ่งปุถุชนทั้งปวง เหตุนั้น สภาวะเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ชนะ. ถามว่า สภาวะ
เหล่านั้นคืออะไร ตอบว่า คือ มัจจุมาร กิเลสมาร และเทวปุตตมาร มาร
ผู้ชนะเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงชนะแล้ว เพราะเหตุนั้น พระ-
พุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงชื่อว่า ผู้มีมารอันทรงชนะแล้ว คือพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้มีมารผู้ชนะอันทรงชนะแล้วพระองค์นั้น. คำว่า อนีฆสฺส แปลว่า ผู้ไม่มี
ทุกข์ ทั้งทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ทั้งทุกข์ที่เป็นวิบาก. คำว่า สุสมจิตฺตสฺส คือ
ผู้มีจิตสม่ำเสมอด้วยดีในพระเทวทัต ช้างชื่อ ธนปาลกะ พระองคุลิมาล และ
พระราหุลเถระเป็นต้น. คำว่า พุทฺธสีลสฺส แปลว่า ผู้มีอาจาระ ความ
ประพฤติอันเจริญแล้ว. คำว่า สาธุปญฺญสฺส แปลว่า ผู้มีปัญญาดี. คำว่า
วิสมนฺตรสฺส แปลว่า ผู้ข้ามที่อันไม่สม่ำเสมอมีราคะเป็นต้น ยืนหยัดอยู่
แล้ว. คำว่า วิมลสฺส แปลว่า ผู้มีมลทิน มีราคะเป็นต้น ไปปราศจาก
แล้ว. คำว่า ตุสิตสฺส แปลว่า ผู้มีจิตยินดีแล้ว. คำว่า วนฺตโลกามิสสฺส
คือผู้มีกามคุณอันคายเสียแล้ว. คำว่า มุทิตสฺส คือ ผู้พลอยยินดีแล้ว ด้วย
อำนาจวิหารธรรม คือ มุทิตา. อีกอย่างหนึ่ง คำนี้ อุบาลีคฤหบดี กล่าวซ้ำ
นั่นเอง. เป็นความจริง อุบาลีคฤหบดีกล่าวพระคุณแม้อย่างเดียวอยู่บ่อย ๆ
โดยความเสื่อมใสนั่นแล. คำว่า กตสมณสฺส แปลว่า ผู้มีคุณเครื่องเป็น
สมณะอันทรงกระทำแล้ว อธิบายว่า ทรงบรรลุที่สุดของสมณธรรม. คำว่า
มนฺชสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์ผู้หนึ่ง ด้วยอำนาจโวหารโลก. อุบาลีคฤหบดี
กล่าวซ้ำอีกว่า ผู้เป็นนระ (คน) เมื่อเขากล่าวโดยประการอื่น พระคุณ 10
ประการ กล่าวด้วยคาถาหนึ่ง ๆ ย่อมไม่พอ. คำว่า เวนยิกสฺส แปลว่า ผู้
นำของสัตว์ทั้งหลาย. คำว่า รุจิรธมฺมสฺส แปลว่า ผู้มีธรรมสะอาด. คำว่า

ปภาสกสฺส แปลว่า ผู้กระทำแสงสว่าง. คำว่า วีรสฺส คือ ถึงพร้อมด้วย
ความเพียร. คำว่า นิสภสฺส คือบรรดาโค ชั้นอุสภะ ชั้นวสภะเป็นโคชั้น
นิสภะ ด้วยอรรถว่า ไม่มีผู้เทียบได้ในที่ทั้งปวง. คำว่า คมฺภีรสฺส แปลว่า
ทรงมีพระคุณลึกซึ้งหรือผู้ทรงลึกซึ้งด้วยพระคุณทั้งหลาย. คำว่า โมนปตฺตสฺส
คือผู้บรรลุญาณ. ญาณํ ความรู้ ชื่อว่า เวท ในคำว่า เวทสฺล. ผู้ทรงเพียบ
พร้อมด้วยความรู้ที่เรียกว่าเวทนั้น. คำว่า ธมฺมฏฺฐสฺส แปลว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
คำว่า สํวุตตฺสฺส ผู้มีตนสำรวมแล้ว คือ ผู้มีตนอันปิดแล้ว. คำว่า นาคสฺส
แปลว่า ผู้ประเสริฐ ด้วยเหตุ 4 ประการ. คำว่า ปนฺตเสนสฺส แปลว่า
ผู้มีที่นอนและที่นั่งอันสงัด. คำว่า ปฏิมนฺตกสฺส แปลว่ ผู้เพียบพร้อมด้วย
ปัญญา ตอบโต้พระเวท. ความรู้เรียกว่า โมนะ ในคำว่า โมนสฺส ทรง
เพียบพร้อมด้วยความรู้นั้น หรือผู้มีกิเลสอันขจัดได้แล้ว. คำว่า ทนฺตสฺส คือ
ผู้หมดพยศ. คำว่า อิสิสตฺตมสฺส คือ ทรงเป็นฤษีองค์ที่ 7 นับต่อจากฤษี
6 พระองค์ มีวิปัสสีฤษีเป็นต้น. คำว่า พฺรหฺมสตฺตสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์
ประเสริฐ. คำว่า นหาตกสฺส แปลว่า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว. คำว่า ปทกรณสฺส1
คือผู้ฉลาดในการรวบรวมอักษรทั้งหลายแล้วเอามาทำบทคาถา (ร้อยกรอง).
คำว่า วิทิตเวทสฺส แปลว่า ผู้มีญาณอันรู้แจ้ง. คำว่า ปุรินฺททสฺส แปลว่า
ผู้ประทานธรรมทานก่อนผู้อื่นทั้งหมด. คำว่า สกฺกสฺส แปลว่า ผู้สามารถ.
คำว่า ปตฺติปตฺตสฺส แปลว่า ผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุ. คำว่า เวยฺยากรณสฺส
แปลว่า ผู้แสดงเนื้อความได้กว้างขวาง. ความจริง บทว่า พฺยากตนฺนาเมตํ
ไม่มี. ความของบททั้งปวงพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว . คำว่า วิปสฺสิสฺส
แปลว่า ผู้ทรงเห็นแจ้ง. คำว่า อนกิณตสฺส แปลว่า มิใช่ผู้สาธยายมนต์. คำว่า

1. บาลี อุปาลิวาทสูตร เป็น ปทกสฺส.

โน อปณตสฺส หมายถึงผู้ไม่ยืนตาม ไม่เดินตาม คือมีจิตไม่ไปตามกิเลส
ทั้งหลาย. คำว่า อสตฺตสฺส คือไม่ข้อง. แผ่นดินเรียกว่า ภูริ ในคำว่า
ภูริปญฺญสฺส อธิบายว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญาอันไพบูลย์ ใหญ่ กว้าง เสมอ
แผ่นดินนั้น. คำว่า มหาปญฺญสฺส คือเพียบพร้อมด้วยปัญญาอันใหญ่. คำว่า
อนูปลิตฺตสฺส คือผู้อันเครื่องฉาบทา คือ ตัณหาและทิฏฐิ ไม่ฉาบทาแล้ว.
คำว่า อาหุเนยฺยสฺส คือผู้ควรรับของบูชา. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระ
นามว่า ยักขะ ในคำว่า ยกฺขสฺส ก็เพราะอรรถว่า ทรงแสดงอานุภาพได้
หรือเพราะอรรถว่า อันใคร ๆ มองไม่เห็น (ไม่ปรากฏพระองค์). เพราะเหตุ
นั้นอุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า ยกฺขสฺส. คำว่า มหโต แปลว่า ใหญ่ คำว่า
ตสฺส สาวโกมฺหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดา ผู้มี
พระคุณมีประการดังนั้น พระองค์นั้น ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานของอุบาสก
มาถึงด้วยโสดาปัตติมรรคนั่นแล.
ดังนั้น อุบาลีคฤหบดี ดำรงอยู่ในวิสัยแห่งปัญญาแตกฉานแล้ว เมื่อ
จะกล่าวพระคุณของพระทศพลในการละกิเลสร้อยบท จึงวิสัชนาความของปัญหา
ที่ว่า ท่านคฤหบดี พวกเรา (พวกนิครนถ์นาฎบุตร) จะทรงจำตัวท่านว่าเป็น
สาวกของใคร. คำว่า กทา สญฺญุฬฺหา แปลว่า รวบรวมไว้เมื่อไร ได้ยินว่า
นิครนถ์นาฏบุตรนั้น คิดอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีนี้ไปสำนักพระสมณโคดมมา
เดี๋ยวนี้นี่เอง เขารวบรวมคุณเหล่านั้นไว้ตั้งแต่เมื่อไรกัน เพราะฉะนั้น นิครนถ์
นาฏบุตรจึงกล่าวอย่างนี้. คำว่า วิจิตฺตมาลํ คนฺเถยฺย ความว่า นายช่าง
ทำดอกไม้ หรือลูกมือนายช่างทำดอกไม้ พึงร้อยระเบียบดอกไม้อันวิจิตร ต่าง
โดยเป็นระเบียบดอกไม้ มีขั้วเดียวกันเป็นต้น ด้วยความเป็นคนขยันเองบ้าง
ด้วยความที่ดอกไม้ทั้งหลายมีสีต่าง ๆ กันบ้าง. ในคำว่า เอวเมว โย ภนฺเต

นี้ พึงเห็นการรวบรวมการพรรณนาพระคุณมีประการต่าง ๆ ของพระผู้มี
พระภาคเจ้าเท่าขุนเขาสิเนรุ เหมือนกองดอกไม้กองใหญ่ ในบรรดาดอกไม้
ทั้งหลายนานาชนิด. อุบาลีคฤหบดีเปรียบเหมือนนายช่างทำดอกไม้ผู้ฉลาด
การร้อยกรองพระคุณอันวิจิตรของพระตถาคตเจ้าของคฤหบดี เปรียบเหมือน
การร้อยกรองระเบียบดอกไม้อันวิจิตรของนายช่างทำดอกไม้.
คำว่า อุณฺหํ โลหิตํ มุขโต อุคฺคญฺฉิ ความว่า นิครนถ์นาฏบุตร
นั้น ทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ ก็คิดมากกว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้ เรา
ก็พาคณะ 50-60 คน เข้าไปบ้านเขา บริโภคอาหารไม่ได้ หม้อข้าวของเรา
แตกเสียแล้ว. ครั้งนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้น ก็เกิดความโศกอย่างแรง เพราะ
การแปรเปลี่ยนของผู้ทำนุบำรุง. ความจริงสัตว์เหล่านี้ คิดเพื่อตนอย่างเดียว.
เมื่อความโศกนั้น เกิดแก่นิครนถ์นาฏบุตรนั้นแล้ว ความร้อนภายในก็มี โลหิต
ก็ละลาย. โลหิตนั้นถูกกองลมใหญ่พัดดันขึ้นก็พลุ่งออกจากปาก ประมาณบาตร
หนึ่ง เหมือนน้ำย้อมที่ใส่ลงในหม้อ. ก็สัตว์จำนวนน้อย สำรอกโลหิตที่คั่งออก
แล้ว ยังอาจมีชีวิตอยู่ได้. นิครนถ์คุกเข่า (เข่าอ่อน) ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง.
พนักงานคานหาม ก็นำนิครนถ์นาฏบุตรนั้นออกนอกพระนครพาไปด้วยคันหาม
5 คน พลันมาถึงนครปาวา. ต่อมาไม่นานนัก นิครนถ์นาฏบุตรก็ทำกาละ
(ตาย) ณ นครปาวา. พระธรรมเทศนาในพระสูตรนี้ ก็สำเร็จลงด้วยอำนาจ
บุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญญูแล

จบอรรถกถาอุปาลิวาทสูตรที่ 6

7. กุกกุโรวาทสูตร


ว่าด้วยปุณณโกลิยบุตรและเสนิยอเจละ


[84] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพุระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในโกลิยชนบท ทรงทำ
นิคมของชาวโกลิยะ ชื่อว่าหลิททวสนะให้เป็นโคจรคาม ครั้งนั้นปุณณโก-
ลิยบุตร
ผู้ประพฤติวัตรดังโค และเสนิยอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข เข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดัง
โค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายเสนิย-
อเจละผู้พระพฤติวัตรดังสุนัข ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการ
ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ก็คุ้ยเขี่ยดุจสุนัขแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง
หนึ่ง ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยอเจละนี้ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่น
จะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่าง
บริบูรณ์ สิ้นกาลนาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะ จงงดข้อนี้เสียเถิด
อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้-
มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งที่ 2 ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยอเจละ ประพฤติ
วัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน
เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์สิ้นกาลนานคติของเขาจะเป็นอย่างไร
ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะ
จงงดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตร