เมนู

อรรถกถามารตัชชนียสูตร



มารตัชชนียสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-
ในบทเหล่านั้นบทว่า "เข้าไปตามลำไส้" ความว่า เข้าท้องไปแล้ว
เข้าไปตามลำตับภายในลำไส้ใหญ่แล้วนั่งที่กระเพาะอาหาร.
บทว่า "เหมือนหนักกว่า" ความว่า กระด้างเหมือนหนักนัก เช่นกับ
ก้อนแผ่นหิน. อธิบายว่า อาหารที่ทำด้วยถั่ว เห็นจะเหมือนถั่วที่ชุ่ม (ด้วยน้ำ
มัน) ดุจท้องของคนที่กินข้าวแล้ว ดุจกระสอบที่เต็มด้วยถั่ว และดุจถั่วที่ชุ่ม
แล้ว.
บทว่า "เข้าไปวิหาร" ความว่า ถ้านี้เป็นความหนักเพราะโทษของ
อาหาร การจงกรมในที่แจ้งก็จะไม่เป็นความสบาย. ฉะนั้น พระเถระจึงลง
จากที่จงกรมเข้าไปบรรณศาลา นั่งบนอาสนะที่ปูไว้ตามปกติ.
บทว่า "ใส่ใจโดยแยบคายเฉพาะตน" ความว่า เมื่อรำพึงว่า นี่
อะไรหนอแล พระเถระจึงได้ใส่ใจด้วยอุบายของตนทีเดียว. ก็ถ้าพระเถระระลึก
ถึงศีล เอามือลูบท้องรำพึงอยู่ว่า อาหารที่เราบริโภควันวาน วันซืน หรือก่อน
วันซืนนั้นไม่สุก หรือว่า โทษที่เกิดจากอาหารที่ไม่ถูกส่วนกันอย่างอื่น
ไรๆ มีอยู่ อาหารนั้นทั้งหมดจงย่อยไป จงผาสุกเถิด. มารผู้มีบาปก็จะได้
ละอายหายไป. พระเถระหาได้ทำอย่างนั้นไม่จึงได้แต่ใส่ใจโดยแยบคาย.
บทว่า "ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย" ความว่า เหมือนอย่าง
ว่า เมื่อลูกๆถูกเบียดเบียนมารดาและบิดาก็เป็นอันถูกเบียดเบียนด้วย เมื่อสัทธิ-
วิหาริกและอันเตวาสิถูกเบียดเบียน อุปัชฌาย์และอาจารย์ก็เป็นอันถูกเบียด
เบียนด้วย เมื่อชาวชนบทถูกเบียดเบียน พระราชาก็เป็นอันถูกเบียดเบียน
ด้วย ฉันใด เมื่อสาวกของพระตถาคตเจ้าถูกเบียดเบียน พระตถาคตเจ้าก็เป็น

อันถูกเบียดเบียนด้วยทีเดียวฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น พระมหาโมคคัลลานะเถระ
จึงกล่าวว่า ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย.
บทว่า "ได้ยืนที่บานหน้าต่าง" ได้แก่ยืนที่บานประตู บานประตูท่าน
เรียกว่า "อัคคฬะ" มารได้ลอยออกไปทางปากไปจากบรรณศาลาแล้ว
ยืนอิงประตูบรรณศาลาอยู่.
เพราะเหตุไร พระเถระจึงปรารภเทศนานี้ว่า "มารผู้มีบาป เรื่องเคย
มีมาแล้ว "
นัยว่า พระเถระคิดว่า "กลิ่นของพวกมนุษย์ย่อมเบียดเบียนพวก
อากาศเทวดาตั้งร้อยโยชน์ก่อน."
ก็คำนั้น พระเถระกล่าวว่า "เจ้านคร กลิ่นพวกมนุษย์ ย่อมเบียด-
เบียนพวกเทวดาตั้งร้อยโยชน์ ก็เพราะเหตุนั้น มารผู้เป็นชาวเมือง มี
บริวารรักษา ถึงพร้อมด้วยอานุภาพเป็นราชาของพวกเทพเข้าไปในท้องของ
เรานั่งอยู่ในกระเพาะอาหารภายในลำไส้ ดุร้ายเหลือเกิน. ก็เมื่อพระเถระ
กล่าวว่า หน้าที่อื่นไรจักมีแก่ผู้ที่อาจเข้าโอกาสที่น่ารังเกียจน่าขยะแขยงเห็น
ปานนี้ ไม่ละอายสิ่งอื่นไร ท่านมิใช่ญาติของเรา. มารจึงคิดว่า ขึ้นชื่อว่า
"ผู้ที่ไม่ถึงความอ่อนโยนย่อมไม่มี เอาเถิดจักแทงข้างหลังญาติของพระเถระ
นั้นแล้วปล่อยเธอด้วยอุบายที่สุภาพทีเดียว จึงปรารภการแสดงนี้.

บทว่า "ท่านนั้นเป็นหลานของเรา" ความว่า ท่านนั้นเป็นหลานของ
เราในเวลานั้น. พระเถระกล่าวคำนี้ด้วยอำนาจธรรมเนียม. ก็ชื่อว่าเหล่ากอ
ของบิดามารซึ่งเป็นเชื้อสายของปู่ครองราชย์ไม่มีในเทวโลก. บิดาของมาร
นั้นเกิดเป็นราชาแห่งเทวดาในเทวโลกด้วยอำนาจของบุญ ดำรงอยู่ชั่วอายุ
แล้วจุติ เทวดาอื่นอีกตนหนึ่งซึ่งเกิดเป็นใหญ่ในที่นั้นด้วยกรรมที่ตนทำ

แล้ว. ถึงมารนั้นก็พึงทราบว่า "เวลานั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้น ทำกุศล
อีก เกิดในตำแหน่งอธิบดีเวลานี้ ดังนี้แล.
บทว่า "มีธุระไปปราศแล้ว" คือ ปราศจากธุระ อธิบายว่า ไม่
เหมือนคนพวกอื่นๆ.
คำว่า "มีทุกข์น้อย" คือ ลำบากน้อย.
คำว่า "คนเลี้ยงสัตว์" คือ คนเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ.
คำว่า "ผู้เดินทาง" คือ ผู้ดำเนินไปตามทาง.
บทว่า "ค้นหาที่กาย" ความว่า ผูกเชิงตะกอนรอบๆ.

บทว่า "จุดไฟแล้วก็หลีกไป" ความว่า "ชาวนาทั้งหลายกำหนด
ขนาดของเชิงตะกอนว่า "เชิงตะกอนเท่านี้ร่างกายก็จักถือเอารอบ (ไหม้ทั่ว
ถึง) แล้วจุดไฟขึ้นทั้ง 4 ทิศ หลีกไปแล้ว. เชิงตะกอนก็ได้ลุกโพลงเหมือน
เปลวประทีป (และ) ได้เป็นเหมือนเวลาที่พระเถระเข้าถ้ำมีน้ำแล้วนั่งลง."
บทว่า "สลัดจีวร" ความว่า "พระเถระเมื่อออกจากสมาบัติแล้วย่ำถ่าน
เพลิงที่ไม่มีควันมีสีเหมือนดอกทองกวาวได้สลัดจีวรแล้ว ก็แม้เพียงไออุ่นก็มิ
ได้มีในร่างกายของท่าน. แม้เพียงไออุ่นก็ยังไม่ไหม้จีวร. นี้ชื่อว่าเป็นผลของ
สมาบัติ.
บทว่า "จงด่า" ความว่า พวกท่านจงด่าด้วยวัตถุสำหรับด่า 10
ข้อ.
บทว่า "บริภาษ" ได้แก่ กล่าวด้วยวาจา.
บทว่า "จงด่าประชด" ได้แก่ จงกระทบกระเทียบ.
บทว่า "จงเบียดเบียน" ได้แก่ ให้ถึงทุกข์. คำทั่งหมดนี้เป็นชื่อของ
การกระทบกระเทียบทางวาจา.

บทว่า "เหมือนมารชื่อว่า ทูสี...ช่องนั้น" ความว่า เหมือนมารชื่อ
ว่าทูสี (ได้ช่อง) ของพวกพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น.
บทว่า "จงได้ช่อง" ความว่า พวกท่านจงได้รู้ คือพึงได้อารมณ์ที่
เป็นปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของกิเลส.
ในบทเป็นต้นว่า "โล้น" ดังนี้ พวกพราหมณ์และคฤหบดีกล่าวว่า
"มารพึงสมควรกล่าวกะผู้มีศีรษะโล้นว่า "โล้น" และกับพวกสมณะว่า
"สมณะ" ก็พวกสมณะโล้นเหล่านี้ดูหมิ่นอยู่.
คำว่า "มั่งคั่ง" ได้แก่ เจ้าเรือน
คำว่า "ดำ" ได้แก่ มืด.
พรหม ท่านประสงค์เอาว่า "ญาติ" ในบทนี้ว่า "เหล่ากอของ
ท้าวมหาพรหม." พวกพราหมณ์ย่อมร้องเรียกพรหมแม้นั้นว่า "ปู่." อธิบาย
ว่า เหล่ากอของพวกที่เกิดจากเท้าทั้งหลาย ชื่อว่า เหล่ากอของพวกที่เกิดจาก
เท้า. คือพวกที่เกิดจากหลังเท้าของพระพรหม.
ได้ยินว่า พวกพราหมณ์นั้นได้มีลัทธิอย่างนี้ว่า พวกพราหมณ์เกิด
จากปากพระพรหม กษัตริย์เกิดจากอก. พวกพ่อค้าเกิดจากสะดือ. พวกศูทร
เกิดจากแข้ง. พวกสมณะเกิดจากหลังพระบาท.
บทว่า "เราเป็นผู้เพ่ง เป็นผู้จ้อง" ความว่า พวกเราเป็นผู้เพ่ง พวก
เราเป็นผู้เล็ง.
บทว่า "เกิดความอร่อย" ได้แก่ เกิดความเกียจคร้าน.
บทว่า "เพ่ง" ได้แก่ คิด.
บทว่า "เพ่งทั่ว" เป็นต้น ท่านขยายด้วยอำนาจอุปสัค.

บทว่า "หาหนูอยู่" ความว่า เสาะหาหนูบนกิ่งไม้ ตัวที่ออกจากต้น
ไม้ที่มีโพรง เพื่อหาอาหารเวลาเย็น.
นัยว่า นกฮูกนั้นยืนนิ่งเหมือนสงบเสงี่ยมแล้ว จะจับหนูอย่างรวดเร็วใน
เวลาที่พบกัน.
บทว่า "หมาป่า" ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก. อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า
เหยี่ยวบ้าง.
บทว่า "ที่ต่อเรือน บ่อน้ำครำ และกองหยากเยื่อ" ความว่า ที่
ฝาเรือนด้วยบ่อน้ำครำด้วย กองหยากเยื่อด้วย. ในที่เหล่านั้น ที่ต่อเรือน ชื่อว่าที่
ต่อแห่งเรือน บ่อน้ำครำเป็นที่ฝังคูถ ชื่อว่าบ่อน้ำครำ ที่เป็นที่ทิ้งหยาก
เยื่อ ชื่อ กองหยากเยื่อ.
บทว่า "มีโคคอขาดแล้ว" ความว่า เมื่อออกจากที่กันดาร มีโคคอ
ขาดแล้ว.
บทว่า "ที่ต่อเรือน บ่อน้ำครำ และกองหยากเยื่อ" ได้แก่ ที่ต่อ
เรือน บ่อน้ำครำ หรือกองหยากเยื่อ. ก็ลาแม้นั้น ถ้าเผาก็ไม่ไหวติง ดุจ
แข็งกระด้าง
บทว่า "เข้าถึงนรก" ความว่า. ถ้ามารเข้าสิงในร่างของพวก
มนุษย์ พวกมนุษย์ไม่พึงมีอกุศลกรรม จะพึงมีแก่มารเท่านั้น แต่มารไม่ได้สิง
ในร่างกายแล้วแสดงวัตถุที่ไม่ถูกส่วนกัน และอารมณ์ที่ให้เกิดความเดือด
ร้อน.
ทราบว่า ครั้งนั้น มารนั้น แสดงภิกษุทั้งหลายทำให้เป็นเหมือนผู้จะ
จับปลาก็จับโดยเร็ว 1 ให้เป็นเหมือนผู้ถือข่ายแล้วดักปลา 1 ให้เป็นเหมือนผู้
ดักแร้วแล้วผูกนกไว้ 1 ผู้เที่ยวต้อนเนื้อในป่ากับสุนัข 1 ผู้พาหญิงมานั่งในนี้

ดื่ม 1 ผู้ฟ้อนอยู่ 1 ผู้ขับอยู่ 1 ให้เป็นเหมือนพวกมนุษย์ที่ไม่ถูกกันนั่งและยืน
ในที่พักกลางคืนและกลางวันของภิกษุทั้งหลาย 1.
คนทั้งหลายไปป่าบ้าง ไปดงบ้าง ไปวัดบ้าง เห็นอารมณ์ที่ทำให้เร่า
ร่อน แล้วมากล่าวแก่คนพวกอื่นว่า พวกสมณะทำกิจที่ไม่เหมาะแก่สมณะ
ไม่สมควรเห็นปานนี้ เมื่อพวกเราได้ถวายทานแก่สมณะพวกนั้น ที่ไหนจะได้
บุญกุศล พวกท่านอย่าได้ถวายอะไรๆ แก่สมณะพวกนั้น. คนเหล่านั้น
ด่าภิกษุผู้มีศีลทั้งหลายในที่ที่ตนเห็นแล้วๆ ได้ประสบบาป เป็นผู้ที่ยังอบายให้
เต็ม เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า พวกมนุษย์ได้เข้าถึงนรก.
บทว่า "อันมารให้หมุนไปตาม" ได้แก่ ถูกมารให้หมุนไปทั่ว.
บทว่า "แผ่ไปแล้วอยู่" ได้แก่ แผ่ไปแล้วอยู่อย่างเดียวหามิได้. ก็คนผู้
ดำรงอยู่ในโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ให้
พรหมวิหารธรรม 4 เหล่านี้ เกิดแล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌาณเป็นที่รองรับ ได้
ดำรงอยู่ในพระอรหัต.
คำว่า "ที่มา หรือ ที่ไป" ความว่า เราไม่รู้ที่เป็นที่มาด้วยอำนาจ
ปฏิสนธิ หรือที่เป็นที่ไปด้วยอำนาจคติ.
บทว่า "จิตจะพึงมีความเป็นโดยประการอื่น" ความว่า พึงมีความ
เป็นไปโดยประการอื่นด้วยอำนาจความพอใจ.
แม้ในบทนี้ว่า " เข้าถึงโลกสวรรค์ " ก็พึงทราบเนื้อความตามนัยก่อน
นั่นเทียว. เหมือนอย่างว่า มารย่อมแสดงอารมณ์ที่ทำให้เดือดร้อนในกาลก่อน
ฉันใด ในบัดนี้ก็ฉันนั้น แสดงอารมณ์ทำให้ผ่องใสได้.
ทราบว่า ครั้งนั้น มารนั้นได้แสดงภิกษุทั้งหลายไว้ในที่ที่ปรากฏ
แก่คนทั้งหลาย ทำให้เป็นดุจไปในอากาศ ยืนในอากาศ. นั่งคู้บัลลังก์ ดุจเย็บ

ผ้าในอากาศ ดุจบอกคัมภีร์ในอากาศ ดุจคลี่จีวรให้กายรับฤดูในอากาศ
ดุจบรรพชิตแก่เที่ยวไปในอากาศ ดุจสามเณรหนุ่มยืนเก็บดอกไม้ใน
อากาศ. พวกมนุษย์ไปป่าบ้าง ไปดงบ้าง ไปวัดบ้าง เห็นการปฏิบัตินั้นของ
พวกบรรพชิต ย่อมมาบอกแก่พวกคนเหล่าอื่นว่า ในพวกภิกษุโดยที่สุดแม้
สามเณรก็มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ ท่านที่ถวายทานเหล่านี้ชื่อว่า
มีผลมาก พวกท่านจงถวายจงทำสักการะ พวกท่านเหล่านี้เถิด. ลำดับ
นั้น พวกมนุษย์ได้สักการะภิกษุสงฆ์ ด้วยปัจจัย 4 ทำบุญไว้มากเป็นผู้ที่ยัง
หนทางสวรรค์ให้เต็ม เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า "ย่อมเข้าถึงโลก
สวรรค์."

คำว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมาพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่
งามอยู่ในกายนี้
" ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเที่ยวไปตลอดชมพู
ทวีปทั้งสิ้น โดยที่สุดก็ยังได้เสด็จไปที่อยู่ของภิกษุ 2 รูปบ้าง 3 รูปบ้าง
ทรงแสดงอานิสงส์อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมด้วยความ
สำคัญในของที่ไม่งามมากอยู่ จิตย่อมหดหู่ ครอบงำ ถอยกลับ ไม่
เหยียดออก ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่พร้อม จาก
ความถึงพร้อมด้วยเมถุนธรรม. ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมด้วย
ความสำคัญในของที่ไม่งามมากอยู่ จิตย่อมหดหู่ ครอบงำ ถอยกลับ ไม่
เหยียดออก ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่พร้อมจากความ
อยากในรส ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้มีใจที่อบรมแล้วด้วยความสำคัญว่าไม่
น่ายินดียิ่งในโลกทั้งปวงมากอยู่ จิตย่อมสลดหดหู่ ถอยกลับ ไม่เหยียด
ออก ความวางเฉย หรือความเป็นของปฏิกูล ย่อมตั้งอยู่พร้อมในจิตที่ประ
กอบด้วยความโลภ. ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยความสำคัญ
ว่าไม่เที่ยงมากอยู่ จิตย่อมสลดหดหู่ ถอยกลับไม่เหยียดออก ความวาง

เฉย หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่พร้อมในความโลภในลาภและสักการะ
แล้วตรัสกัมมัฏฐาน 4 เหล่านี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ จงมาพิจารณา
เห็นเป็นของไม่งาม เป็นผู้มีความสำคัญในความปฏิกูลในอาหาร เป็นผู้
มีความสำคัญในความไม่ยินดียิ่งในโลกทั้งปวง เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นว่าไม่
เที่ยงในสังขารทั้งปวงในกายอยู่.
ภิกษุแม้เหล่านั้น ทำกรรมในกัมมัฏฐานทั้ง 4 เหล่านี้. ให้อาสวะทั้ง
หมดสิ้นไป ดำรงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์. กัมมัฏฐาน 4 เหล่านี้ ให้
ราคะ โทสะ และ โมหะสงบ กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ ได้แน่นอนแล.
บทว่า "ถือก้อนกรวด" ความว่า ถือเอาก้อนหินประมาณเท่ากำมือ.

ก็มารนี้ได้ให้พวกพราหมณ์เละคฤหบดีด่าภิกษุบ้าง บันดาลให้ภิกษุ
สงฆ์เกิดลาภและสักการะด้วยอำนาจพราหมณ์ และคฤหบดีบ้าง เมื่อไม่ได้
ช่อง บัดนี้ ได้มีความประสงค์เพื่อจะพยายามด้วยมือของตนจึงสิงในร่างของ
เด็กคนใดคนหนึ่ง แล้วได้ถือเอาก้อนหินขนาดนั้น. พระเถระหมายเอาเด็ก
นั้น จึงกล่าวว่า "จับก้อนหินแล้ว."
บทว่า "ต่อยศีรษะของท่าน" ความว่า ทำลายศีรษะของท่าน
ความว่า ทำลายศีรษะ. เนื้อฉีกไปถึงหนังใหญ่เป็น 2 ส่วน. ก็ก้อนกรวดไม่
ทำลายกระโหลกศีรษะจดกระดูกแล้วหยุดนั่นเอง.
บทว่า "ได้ทรงแลดูแล้วโดยดูอย่างช้าง" ได้แก่ ได้ยินเสียงดัง.

ช้างตัวประเสริฐ เมื่อประสงค์จะหลีกไปข้างนี้หรือข้างโน้น จะไม่
เอี้ยวคอแต่จะถอยร่างทั้งสิ้นกลับแลดูอยู่นั่นเทียว ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่ากกุสันธะก็ฉันนั้น ได้ทรงกลับสรีระทั้งสิ้นแลดูแล้ว กระดูก
ทั้งหลายของมหาชนปลายจดกันตั้งอยู่ ของพระปัจเจกพุทธเจ้าตรงปลายเป็น

ขอ. แต่ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นฉันนั้นหามิได้ เป็นพืดเดียวกันตั้ง
อยู่ ดุจปลอกเหล็ก เพราะฉะนั้น เวลาทรงแลดูข้างหลัง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จึงไม่อาจเอี้ยวพระศอไปได้ ก็ช้างตัวประเสริฐ. เมื่อประสงค์จะแลดูส่วนข้าง
หลังจึงหมุนร่างกายทั้งสิ้นนั่นเทียว พระพุทธเจ้าก็พึงหมุนไปเช่นนั้น. เพราะ
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถอยกลับพระสรีระทั้งสิ้นเทียวชำเลืองดู
ดุจพระพุทธรูปทองคำที่หมุนไปด้วยเครื่องยนต์ ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ประทับยืนชำเลืองดูตรัสว่า " หรือว่า มารชื่อทูสีนี้ไม่ได้รู้ประมาณ."
คำนั้น มีเนื้อความว่า มารทูสีนี้กระทำบาป ไม่ได้รู้ประมาณนั่น
เอง ได้ทำการก้าวล่วงประมาณแล้ว.
บทว่า "ทรงชำเลืองพร้อมกัน" ความว่า ขณะนั้นนั่นเอง พร้อมกับ
การแลดูของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ.
บทว่า "เคลื่อนจากที่นั้นด้วย" ความว่า เคลื่อนจากที่ในเทวโลก
นั้น เข้าถึงมหานรกแล้วด้วย.

ก็มารเมื่อจะเคลื่อนจึงยืนที่ใดที่หนึ่งเคลื่อน เพราะฉะนั้น มารนั้นจึงไม่
มาเทวโลกชั้นวสวัตดีเคลื่อนแล้ว. มารนั้นไม่พึงทราบว่า เคลื่อนแล้ว เพราะ
พระผู้มีพระภาคเจ้า. มารนั้นมิได้อำลาแล้ว เพราะคำว่า ด้วยการแลดูร่วม
กัน.

ก็คำนี้ เป็นเพียงการแสดงเวลาจุติเท่านั้น. ก็อายุของมารนั้นพึงทราบ
ว่าขาดไปแล้วในเทวโลกชั้นวสวัตดีนั้นเอง เหมือนการประหารด้วย
ขวาน เพราะผิดในพระมหาสาวกผู้ใหญ่.

บทว่า "มีชื่อ 3 ชื่อ" ได้แก่ มี 3 นาม

บทว่า "ชื่อว่า มีผัสสายตนะ 6 (นรกชื่อว่า ผัสสายตนิกะ)" ความ
ว่า ในผัสสายตนะ 6 เวทนาเฉพาะอย่างย่อมมีปัจจัย.
บทว่า "ชื่อว่า นำไปพร้อมด้วยขอ (นรกชื่อว่า สังกุสมาหตะ)" ความ
ว่า อันเขานำไปพร้อมด้วยขอเหล็ก.
บทว่า "เสวยอารมณ์เฉพาะตน (นรกชื่อว่า ปัจจัตตเวทนิยะ)" ได้
แก่ ตนเองนั่นแหละให้เกิดเวทนา.
บทว่า "ขอกับขอพึงมารวมกันที่หทัย" ความว่า ขอเหล็กกับขอ
เหล็กมารวมกันที่ท่ามกลางหัวใจ.
ได้ยินว่า เมื่อคนเหล่านั้นเกิดในนรกนั้นมีอัตตภาพ 3 คาวุต แม้ของ
มารก็เป็นเช่นนั้นนั่นแหละ ครั้งนั้นพวกนายนิรยบาลถือหลาวเหล็กประมาณ
เท่าต้นตาลที่ไฟติดลุกโพลงโชติช่วงเอง กล่าวว่า " ก็เจ้านี่ คิดแล้วจึงทำความ
ชั่วไว้โดยที่นี้" แล้วทุบกลางหัวใจ เหมือนคนทุบขนมในรางทำขนม. ทำ
คน 50 คนให้มีหน้าที่เท้า 50 คนให้มีหน้าที่บนศีรษะไป เมื่อหลาวเหล็กไป
อยู่อย่างนี้ 500 ปี ถึงข้างทั้งสองกลับมาอีก 500 ปี ถึงกลางหัวใจ. พระ
เถระหมายเอาหลาวเหล็กนั้น จึงกล่าวคำนี้ไว้.

บทว่า "เวทนาที่ตั้งขึ้น" ความว่า เวทนาที่ตั้งขึ้นจากวิบาก.ได้ยินว่า
การเสวยอารมณ์นั้นมีทุกข์มากกว่าการเสวยผลในมหานรก.อาจารย์ทั้ง
หลายกล่าวว่า เหมือนอย่างว่า การรักษาตลอด 7 วัน ลำบากกว่าการดื่ม
ความเยื่อใยตลอด 7 วัน ฉันใดการเสวยอารมณ์ที่ตั้งขึ้นแห่งวิบาก ในตัณหา
ซึ่งฟูขึ้นมีทุกข์มากกว่าทุกข์ในมหานรก.
บทว่า ".....ของปลาแม้ฉันใด" ความว่า ศีรษะของคนกลม เมื่อบุคคล
ประหารด้วยหลาว การประหารย่อมไม่ตรงที่ ย่อมคลาดเคลื่อนไป

ศีรษะของปลายาวหนา การประหารย่อมตรงที่ การประหารย่อมเป็น
อันกระทำไว้ดี เพราะทำกรรมไม่ผิด. ฉะนั้น ศีรษะจึงมีรูปนี้.
บทว่า "จรดพระสาวกชื่อว่า วิธุระ" ความว่า กระทบพระสาวกชื่อ
ว่า วิธุระ.
บทว่า "การเสวยอารมณ์เฉพาะตน" ความว่า ให้เกิดการเสวย
อารมณ์อย่างหนึ่งเฉพาะตนเอง.
บทว่า "นรกเป็นเช่นนี้" ความว่า พึงแสดงนรกด้วยเทวทูตสูตรในที่
นี้.
บทว่า "ท่านถึงทุกข์ที่เกิดจากบาป" คือ ประสบทุกข์ที่เกิดจากมาร
ตายแล้ว.
บทว่า "กลางสระ" ได้แก่ ได้ยินว่า วิมานที่ทำให้น้ำเป็นที่รองรับ
แล้วเกิดในท่ามกลางมหาสมุทร ตั้งอยู่ตลอดกัป. วิมานเหล่านั้น มีสีเหมือน
แก้วไพฑูรย์ มีเปลวไฟลุกโพลงอยู่ เหมือนกองไฟที่ไหม้ไม้อ้อลุกโพลงบนยอด
เขา มีรัศมีซ่านไป. สมบูรณ์ด้วยรัศมีในวิมานเหล่านั้น มีนางฟ้าสีสรร
ต่างๆ กันฟ้อนรำอยู่.
บทว่า "ผู้ใดรู้เฉพาะเรื่องนี้" ความว่า ผู้ใดรู้เรื่องวิมานวัตถุนี้
ในเรื่องนี้ ก็ควรแสดงเนื้อความด้วยเรื่องวิมานวัตถุและเปตวัตถุ
เหมือนกัน.
คำนี้ว่า "ให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า" ควรแสดงด้วยปาสาทกัมปนสูตร
นี้.
คำนี้ว่า "ผู้ใด (ให้) ไพชยนต์ไหวแล้ว" ควรแสดงด้วยจุลลตัณหา
สังขยสูตรและวิมุตติสูตร.

คำนี้ว่า "พระเถระนั้นสอบถามท้าวสักกะอยู่" ก็ควรแสดงด้วยจุลล-
ตัณหาสังขยสูตรและวิมุตติสูตรนั้นเหมือนกัน.
บทว่า "ที่ประชุมใกล้สุธรรมสภา" ความว่า ใกล้ที่ประชุมชื่อ
ว่า สุธรรมา. ก็สุธรรมสภานี้อยู่ในพรหมโลก ไม่ใช่ในชั้นดาวดึงส์ ขึ้นชื่อ
ว่าเทวโลกที่เว้นจากสุธรรมสภาไม่มี.
บทว่า "รัศมีที่ซ่านไปในพรหมโลก" ความว่า แสงสว่าง ของพระผู้
มีพระภาคเจ้า ผู้เสด็จไปกับเหล่าสาวก มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ
และพระมหากัสสปะ. เป็นต้นในพรหมโลก แล้วนั่งเข้าเตโชธาตุอยู่แล้ว.
ด้วยว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบจิตของหมู่พรหม ผู้นั่งประ
ชุมในสุธรรมเทวสภาในพรหมโลก คิดอยู่ว่า " มีอยู่หรือหนอแลที่สมณะหรือ
พราหมณ์ไรๆ ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้อาจมาในที่นี้" จึงเสด็จไปที่นั้นประทับนั่งที่
สุดคณะของพรหม ทรงเข้าเตโชธาตุได้ทรงดำริถึงการมาของพระมหาโมค-
คัลลานะเป็นต้น.
พระสาวกแม้เหล่านั้น ได้ไปถวายบังคมพระศาสดาแล้วจึงนั่งเข้า
เตโชธาตุในทิศละ 1 องค์ พรหมโลกทั้งสิ้นจึงได้มีแสงอย่างเดียวกัน.
พระศาสดาได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศสัจจะ 4. เวลาจบเทศนา
พรหมหลายพันดำรงอยู่ในมรรคและผล. พระเถระหมายเอาธรรมนี้
จึงกล่าวคาถานี้. ก็เนื้อความนั้นควรแสดงด้วยพกพรหมสูตร.
บทว่า "ได้ถูกต้องด้วยความหลุดพ้น" ได้แก่ ถูกต้องด้วยความหลุด
พ้นคือฌานนั่นเอง.
บทว่า "ดง" ได้แก่ ชมพูทวีป.
บทว่า "ปุพพวิเทหทวีป" ได้แก่ ทวีปที่ชื่อว่า ปุพพวิเทหะด้วย.

คำว่า "เหล่านระผู้นอนบนพื้นดินใด" ความว่า ชาวอมรโคยานทวีป
และชาวอุตตรกุรุทวีป ชื่อว่าเหล่านระผู้นอนบนแผ่นดิน มีคำอธิบายว่า
ถูกต้องนระเหล่านั้นทั้งหมด.
ก็ความนี้ ควรแสดงด้วยการทรมานนันโทปนันทนาคราช เรื่องนี้ท่าน
ให้พิสดารแล้วด้วยกถาว่าฤทธิ์ ในปกรณ์วิเศษชื่อว่าวิสุทธิมรรค.
บทว่า "ประสบสิ่งที่มิใช่บุญ" ได้แก่ ได้เฉพาะสิ่งที่มิใช่บุญ.
บทว่า "อย่าได้ทำความหวังในภิกษุทั้งหลาย" ความว่า อย่าได้ทำ
ความหวังนี้ว่า เราจะให้ภิกษุนี้พินาศ เราจะเบียดเบียนภิกษุ . คำที่เหลือ
ในบททั้งปวงตื้นนั่นเทียวแล.

จบอรรถกถามารตัชชนียสูตร ที่ 10

จบจุลลยมกวรรคที่ 5


การขยายความพระสูตรมูลปัณณาสก์ แห่งอรรถกถามัชฌิม
นิกายชื่อปปัญจสูทนี แล้วด้วยประการฉะนี้
และอรรถกถาที่รวมพระสูตรในคัมภีร์ปัณณาสก์ ที่ประดับ
ด้วย 5 วรรค จบแล้ว.