เมนู

อรรถกถาวัมมิกสูตร


วัมมิกสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-
พึงทราบวินิจฉัยในวัมมิกสูตรนั้น คำว่า อายสฺมา นี้เป็นคำกล่าว
แสดงถึงความน่ารัก. คำว่า กุมารกสฺสโป เป็นชื่อของท่าน. แต่เพราะท่าน
บวชในเวลายังเด็ก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงเรียกกัสสปมา จงให้
ผลไม้ หรือของเคี้ยวนี้แก่กัสสป เพราะภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า กัสสป องค์ไหน
จึงขนานนามท่านอย่างนี้ว่า กุมารกัสสป ตั้งแต่นั้นมา ในเวลาที่ท่านแก่เฒ่า
ก็ยังเรียกว่า กุมารกัสสปอยู่นั้นเอง. อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายจำหมายท่านว่า
กุมารกัสสป เพราะเป็นบุตรเลี้ยงของพระราชา. จะกล่าวให้แจ่มแจ้งตั้งแต่
บุพพประโยคของท่าน ดังต่อไปนี้.
ดังได้สดับมา พระเถระเป็นบุตรเศรษฐี ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า
ปทุมุตตระ. ต่อมาวันหนึ่ง พระเถระเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาสาวก
ของพระองค์รูปหนึ่ง ผู้กล่าวธรรมได้วิจิตรไว้ในฐานันดร ถวายทาน 7 วัน
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทำความปรารถนาว่า ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ข้า-
พระองค์ ก็พึงเป็นสาวกผู้กล่าวธรรมได้วิจิตรเหมือนพระเถระรูปนี้ ของ
พระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ดังนี้แล้ว กระทำบุญทั้งหลาย
บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนานว่ากัสสป ไม่อาจทำคุณวิเศษ
ให้บังเกิดได้. ได้ยินว่า ครั้งนั้นเมื่อพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
ปรินิพพานแล้วเสื่อมลง ภิกษุ 5 รูปผูกบันไดขึ้นภูเขา กระทำสมณธรรม.
พระสังฆเถระบรรลุพระอรหัตต์วันที่ 3. พระอนุเถระเป็นพระอนาคามี
วันที่ 4. ฝ่ายพระเถระอีก 3 รูปไม่อาจทำคุณวิเศษให้บังเกิด ก็ไปบังเกิด
ในเทวโลก. เมื่อเทพเหล่านั้นเสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ตลอดพุทธันดร

หนึ่ง องค์หนึ่งก็ไปเกิดในราชตระกูล กรุงตักกสิลา เป็นพระราชา
พระนามว่า ปุกกุสาติ บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า มาสู่กรุงราชคฤห์ ฟัง
พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่โรงช่างหม้อ บรรลุอนาคามิผล.
องค์หนึ่ง บังเกิดในเรือนสกุลใกล้ท่าเรือแห่งสุปารกะแห่งหนึ่ง ขึ้นเรือ เรือ
อัปปาง นุ่งท่อนไม้แทนผ้า ถึงลาภสมบัติเกิดความคิดขึ้นว่า ข้าเป็นพระอรหันต์
ถูกเทวดาผู้หวังดีตักเตือนว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก ไปทูลถามปัญหากะ
พระศาสดาเถิด ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น บรรลุอรหัตตผล. องค์หนึ่งเกิดในท้อง
ของหญิงผู้มีสกุลคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์. นางได้อ้อนวอนมารดาบิดา เมื่อ
ไม่ได้บรรพชาก็แต่งงาน ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อ้อนวอนสามี สามีอนุญาตก็บวช
ในสำนักภิกษุณี. ภิกษุณีทั้งหลายเห็นนางตั้งครรภ์จึงถามพระเทวทัต. พระ-
เทวทัตตอบว่า นางไม่เป็นสมณะแล้ว. เหล่าภิกษุณีจึงไปทูลถามพระทศพล.
พระศาสดาโปรดให้พระอุบาลีรับเรื่องไว้พิจารณา พระเถระให้เชิญสกุลชาว
พระนครสาวัตถีและนางวิสาขาอุบาสิกา ให้ช่วยกันชำระ (ได้ข้อเท็จจริงแล้ว)
จึงกล่ววว่า นางมีครรภ์มาก่อน บรรพชาจึงไม่เสีย. พระศาสดาประทานสาธุการ
แก่พระเถระว่า อุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ชอบแล้ว. ภิกษุณีนั้นคลอดบุตรมีประพิม
ประพายดังเเท่งทอง. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับเด็กนั้นมาชุบเลี้ยง. ประทาน
นามเด็กนั้นว่า กัสสป ต่อมาทรงเลี้ยงเจริญวัยแล้ว นำไปยังสำนักพระศาสดา
ให้บรรพชา. ดังนั้น คนทั้งหลายจึงหมายชื่อเด็กนั้นว่า กุมารกัสสป เพราะ
เป็นบุตรเลี้ยงของพระราชา แล.
บทว่า อนฺธวเน ได้แก่ ป่ามีชื่ออย่างนี้. เขาว่า ป่านั้น มีชื่อ
อย่างนี้ในครั้งพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ ปรากฏชื่อว่า อันธวัน นั่นแล. ในป่า
อันธวันนั้นจะกระทำเรื่องราวให้แจ่มแจ้งดังต่อไปนี้.

จริงอยู่ สรีรธาตุของพระพุทธเจ้าผู้มีชนมายุน้อย ไม่เป็นแท่งเดียวกัน
ย่อมกระจัดกระจายไปด้วยอานุภาพแห่งการอธิษฐาน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอธิษฐานว่า เราดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน เหล่า
สัตว์เป็นจำนวนน้อยเห็นเรา ที่ไม่เห็นเราจำนวนมากกว่า สัตว์เหล่านั้นถือเอา
ธาตุของเราบูชาอยู่ในที่นั้น จักมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น คราว
ปรินิพพาน ขอสรีรธาตุของเราจงกระจัดกระจายไป. ส่วนพระพุทธเจ้าผู้มีพระ-
ชนมายุยืน พระสรีรธาตุตั้งอยู่เป็นแห่งเดียวกัน เหมือนแท่งทองคำ. พระสรีร-
ธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระนามว่ากัสสปะ ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน.
แต่นั้น มหาชนก็ประชุมปรึกษากันว่า เราไม่อาจจะแยกพระธาตุที่เป็นแท่งเดียว
กันได้ พวกเราจะทำอย่างไร จึงตกลงกันว่า เราจักทำพระธาตุแท่งเดียวนั้นแล
ให้เป็นพระเจดีย์ จะมีขนาดเท่าไหร่. พวกหนึ่งบอกว่า เอา 7 โยชน์ แต่ตกลง
กันว่า นั่นใหญ่เกินไป ใคร ๆไม่อาจจะบำรุงได้ในอนาคตกาล เอา 6 โยชน์ 5
โยชน์ 4 โยชน์ 3 โยชน์ 2 โยชน์ 1 โยชน์ ปรึกษากันว่า จะใช้อิฐเช่นไร ตก
ลงกันว่า ภายนอกเป็นอิฐแท่งเดียวทำด้วยทองสีแดงมีค่า 100000, ภายใน มีค่า
50,000 ฉาบด้วยหรดาล และมโนสิลาแทนดิน ชะโลมด้วยน้ำมันแทนน้ำ แยก
มุขทั้ง 4 ออกด้านละ 4. พระราชาทรงรับมุขหนึ่ง ปฐวินธรกุมานราชบุตรรับ
มุขหนึ่ง เสนาบดีหัวหน้าอำมาตย์รับมุขหนึ่ง เศรษฐีหัวหน้าชาวชนบทรับมุข
หนึ่ง. บรรดาชนเหล่านั้น เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ แม้พระราชาให้ขน
ทองมา ทรงเริ่มงานที่มุขที่พระองค์รับไว้ ทั้งอุปราชทั้งเสนาบดีก็เหมือนกัน.
ส่วนงานที่มุขที่เศรษฐีรับไว้หย่อนไป. ครั้นนั้นอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อยโสธร เป็น
อริยสาวกชั้นอนาคามีทรงพระไตรปิฏก รู้ว่า เศรษฐีนั้นทำงานหย่อนไป จึง
ให้เทียมเกวียน 500 เล่มไปในชนบทชักชวนคนทั้งหลายว่า พระกัสสปสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ทรงพระชนม์ 20,000 ปี ปรินิพพานนานแล้ว พวกเราจักทำ

รัตนเจดีย์โยชน์หนึ่งของพระองค์ ผู้ใดจะสามารถจะให้สิ่งใด จะเป็นทองหรือ
เงิน แก้ว 7 ประการ หรดาล หรือมโนสิลา ก็ตามที ผู้นั้นจงให้สิ่งนั้น. ชน
ทั้งหลายได้ให้เงินและทองเป็นต้น ตามกำลังของตน ๆ เมื่อไม่สามารถจะให้
ก็ให้น้ำมันและข้าวสารเป็นต้นเท่านั้น. อุบาสกส่งน้ำมันและข้าวสารเป็นต้น
เพื่อเป็นอาหารประจำวัน แก่กรรมกรทั้งหลาย ที่เหลือจงใจจะให้ทองส่งไป
ได้ป่าวร้องไปทั่วชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้. งานที่พระเจดีย์เสร็จแล้ว เพราะ
ฉะนั้น พวกเขาส่งหนังสือไปจากเจดีย์สถานว่า การงานเสร็จแล้ว ขออาจารย์
จงมาไหว้พระเจดีย์. แม้อาจารย์ก็ส่งหนังสือไปว่า เราชักชวนชมพูทวีปทั่วแล้ว
สิ่งใดที่มีอยู่ จงถือเอาสิ่งนั้นทำการงานให้สำเร็จ. หนังสือ 2 ฉบับมาประจวบกัน
ระหว่างทาง แต่หนังสือจากเจดีย์สถานมาถึงมือของอาจารย์ก่อนหนังสือของ
อาจารย์. อาจารย์นั้นอ่านหนังสือแล้วก็คิดว่า จักไหว้พระเจดีย์ ก็ออกไปตาม
ลำพัง. ระหว่างทางโจร 500 ก็ปรากฏขึ้นที่ดง. บรรดาโจรเหล่านั้นบางพวก
เห็นอาจารย์นั้น คิดว่า คนผู้นี้รวบรวมเงินและทองจากชมพูทวีปทั้งสิ้น คน
ทั้งหลาย ผู้รักษาขุมทรัพย์คงมากันแล้ว จึงบอกแก่โจรที่เหลือแล้ว จับอาจารย์
นั้น. อาจารย์ถามว่า พ่อเอ๋ย เหตุไรพวกเจ้าจึงจับเรา. พวกโจรตอบว่า ท่าน
รวบรวมเงินและทองทั้งหมดจากชมพูทวีป ท่านจงให้ทรัพย์เล็ก ๆ น้อย ๆ แก่
พวกเราเถอะ. อาจารย์ถามว่า พวกเจ้าไม่รู้หรอกหรือว่า พระพุทธเจ้าพระนาม
ว่ากัสสป ปรินิพพานแล้ว พวกเรากำลังสร้างพระรัตนเจดีย์โยชน์หนึ่งสำหรับ
พระองค์ ก็ข้าชักชวนเขาเพื่อประโยชน์นั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ ของตน ฉะนั้น
จำส่งของที่เก็บไว้ๆ แล้วไปในที่นั้นแหละ ส่วนผ้านอกจากที่นุ่งมา ก็ไม่มีอะไร
อย่างอื่นแม้แต่กากณึกหนึ่ง. โจรพวกหนึ่งกล่าวว่า ข้อนั้นจริงอย่างนั้น ก็จง
ปล่อยอาจารย์ไปเสีย. โจรพวกหนึ่งกล่าวว่า อาจารย์ผู้นี้ พระราชาก็บูชา
อำมาตย์ก็บูชา เห็นบางคนในพวกเราที่ถนนพระนคร พึงบอกพระราชา

และมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น จะทำให้พวกเราถึงความย่อยยับได้.
อุบาสกกล่าวว่า พ่อเอ๋ย ข้าจักไม่ทำอย่างนั้นแน่ ก็ข้อนั้นแล มีด้วยความกรุณา
ในโจรเหล่านั้น ไม่ใช่มีด้วยความรักในชีวิตของตน. เมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดา
โจรเหล่านั้นซึ่งกำลังทุ่มเถียงกันว่า ควรจับไว้ ควรปล่อยไป พวกโจรเหล่าที่มี
ความเห็นว่าควรจับ มีจำนวนมากกว่า ก็ฆ่าอาจารย์นั้นเสีย. ดวงตาของโจร
เหล่านั้น ก็อันตรธานไปเหมือนประทีปด้ามที่ดับ เพราะผิดในพระอริยสาวกผู้มี
พลังคุณ. โจรเหล่านั้นรำพันว่า ดวงตาอยู่ไหน ดวงตาอยู่ไหน บางพวกญาติ
ก็นำกลับบ้าน บางพวกไม่มีญาติ ก็กลายเป็นเป็นคนอนาถา เพราะฉะนั้นจึง
อาศัยอยู่ที่บรรณศาลาที่โคนไม้ในดงนั้นเอง. เหล่ามนุษย์ที่มาในดง ก็ให้ข้าว
สารบ้าง ห่อข้าวบ้าง เสบียงบ้าง แก่โจรเหล่านั้นด้วยความความกรุณา.
เหล่ามนุษย์ที่ไปแสวงหาไม้และใบไม้เป็นต้นกลับมากันแล้ว เมื่อถูกถามว่า
พวกท่านไปไหนกัน ตอบว่าพวกเราไปป่าคนตาบอด. ป่านั้นปรากฏชื่อว่า
อันธวัน ครั้งพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ด้วยประการฉะนี้.
ก็ป่านั้นครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป ได้กลายเป็นดง ใน
ชนบทที่ร้างไป. แต่ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ได้กลายเป็นเรือนสำหรับ
ทำความเพียร เป็นสถานที่อยู่ของเหล่ากุลบุตรผู้ต้องการความสงัด อยู่หลัง
พระเชตวันไม่ไกลกรุงสาวัตถี. สมัยนั้นท่านกุมารกัสสปก็บำเพ็ญเสกขปฎิปทา
อยู่ที่อันธวันนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจงกล่าวว่า อนฺธวเน วิหรติ.
บทว่า อญฺญตรา เทวตา ความว่า เทวดาองค์หนึ่งไม่ปรากฏนาม
และโคตร. แม้ท้าวสักกเทวราชที่รู้กันชัดแจ้ง ท่านก็ยังเรียกว่า อญฺญตโร
ในบาลีนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบหรือไม่ว่า
พระองค์ได้ตรัส ตัณหาสังขยวิมุตติ โดยสังเขปแก่ยักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่องค์หนึ่ง.
แม้คำว่า เทวตา นี้เป็นคำเรียกทั่วไป แม้สำหรับเทวดาทั้งหลาย. แต่ในที่

นี้ท่านประสงค์เอาเทพในคำว่า เทวตา นั้น. อภิกกันตศัพท์ ในคำว่า
อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ปรากฏในอรรถทั้งหลายมี สิ้นไป งาม สวย และความ
ยินดียิ่งยวดเป็นต้น. ในอรรถเหล่านั้น อภิกกันตศัพท์ปรากฎในอรรถว่าสิ้นไป
ได้ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่ง
คอยนานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงปาฎิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย
เถิด พระเจ้าข้า. ปรากฏในอรรถว่า งาม ได้ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้นี้งาม
กว่า ประณีตกว่า บุคคล 4 จำพวกเหล่านี้. ปรากฏในอรรถว่า สวย ได้ในคำ
เป็นต้นอย่างนี้ว่า
ใครรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ยศ มีวรรณ
สวยงาม ทำทิศทั้งปวงให้สว่างมาไหว้เท้า
ทั้ง 2 ของเรา.

ปรากฏในอรรถว่า ยินดีอย่างยิ่งยวด ได้ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ
น่ายินดีจริงๆ. แต่ในที่นี้อภิกกันตศัพท์ปรากฎในอรรถว่า สิ้นไป. เพราะเหตุ
นั้น บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ท่านจึงอธิบายว่า เมื่อราตรีสิ้นไปเเล้ว.
ในข้อนั้นพึงทราบว่า เทพบุตรนี้มาในระหว่างมัชฌิมยาน.
อภิกกันตศัพท์ ในบทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา นี้ปรากฎในอรรถว่า สวย
ส่วนวัณณศัพท์ปรากฏในอรรถมีอาทิว่า ผิว น่าชมเชย พวกตระกูล เหตุ ทรวด
ทรง ประมาณและรูปายตนะ. ในอรรถเหล่านั้น อภิกกัตนศัพท์ปรากฎในอรรถ
ว่า ผิว ได้ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีวรรณ
ดังทองคำ. ปรากฏในอรรถว่า น่าชมเชย ได้ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อน
คฤหบดี ในกาลไหนวรรณะของพระสมณโคดมอันท่านควรชมเชย. ปรากฏใน
อรรถว่า พวกตระกูล ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ตระกูล 4
เหล่านี้. ปรากฏในอรรถว่า เหตุ ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้
เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านจึงกล่าวว่าขะโมยกลิ่น. ปรากฎในอรรถว่า ทรวด
ทรง ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า นิรมิตทรวดทรงพญาช้างใหญ่. ปรากฏในอรรถ

ว่าประมาณ ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า บาตร 3 ขนาด. ปรากฏในรูปายตนะ ได้
ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า รูปายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ.
อภิกกันตศัพท์นั้น พึงเห็นว่า ลงในอรรถว่า ผิวในที่นี้. ด้วยเหตุนั้น บทว่า
อภิกฺกนฺตวณฺณา ท่านอธิบายไว้ว่า มีผิวสวย มีผิวน่าปรารถนาน่าชอบใจ.
จริงอยู่ เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่มนุษยโลกละผิวอย่างปกติฤทธิ์ปกติ ทำ
อัตภาพให้หยาบ เนรมิตผิวเกินปกติ ฤทธิ์เกินปกติ มาด้วยกายที่ปรุงแต่ง
แล้ว เหมือนมนุษย์ไปสู่ที่ชุมนุมฟ้อนรำเป็นต้น. เทพบุตรแม้นี้ ก็มาโดย
อาการอย่างนั่นนั้นแล. เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา.
เกวลศัพท์ ในคำว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่นไม่มี
ส่วนเหลือ โดยมาก ไม่ผสม ไม่เกิน แน่นหนา ไม่ประกอบเป็นต้น. จริงอย่างนั้น
เกวลศัพท์นั้น มีอรรถว่าไม่เหลือ ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์บริสุทธิ์
บริบูรณ์ โดยไม่เหลือ. มีอรรถว่า โดยมาก ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า โดย
มาก ชาวอังคะ และมคธ ถือของเคี้ยว ของกินเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้า.
มีอรรถว่าไม่ผสม ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า กองทุกข์ล้วน ๆ ย่อมเกิดขึ้น. มี
อรรถว่าไม่เกิน ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มีศรัทธาเพียงอย่างเดียวแน่แท้ ท่าน
ผู้นี้. มีอรรถว่า แน่นหนา ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สัทธิวิหาริกของท่านพระ
อนุรุทธ ชื่อว่า พาหิกะ ตั้งอยู่ในสังฆเภทตลอดวันแน่แท้. มีอรรถว่า ไม่
ประกอบ ได้ในคำมีอาทิว่า ผู้อยู่ อยู่จบพรหมจรรย์เสร็จแล้ว ท่านเรียกว่า
บุรุษสูงสุด. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาว่า มีอรรถว่า ไม่เหลือ. ส่วน กัปปะ
ศัพท์นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่น เชื่ออย่างยิ่ง-โวหาร-กาล-บัญญัติ-ตัด-วิ-
กัปป์-เลสโดยรอบ. จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์นั้น มีอรรถว่าน่าเชื่ออย่างยิ่ง
ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า คำนี้ของท่านพระโคดมผู้เป็นเสมือนพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธ น่าเชื่อจริง. มีอรรถว่า โวหาร ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ

ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ โดยสมณโวหาร 5 อย่าง. มีอรรถว่า กาละ
ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ด้วยเหตุที่เราอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ. มีอรรถว่า
บัญญัติได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านบัญญัติดังนี้. มีอรรถว่า ตัดได้ในคำมี
อาทิอย่างนี้ แต่งตัว ตัดผม และหนวด. มีอรรถว่า วิกัปป์ ได้ในคำมีอาทิ
อย่างนี้ว่า วิกัปป์ 2 องคุลีควร. มีอรรถเลิศ ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มีเลิศ
เพึ่อจะนอน. มีอรรถว่า โดยรอบ ได้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ทำให้สว่างโดย
รอบพระเชตวัน. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอากัปปศัพท์นั้นว่า มีอรรถะว่า
โดยรอบ. เพราะฉะนั้น ในคําว่า เกวลกปฺปํ อนฺธวนํ นี้ พึงเห็นเนื้อความ
อย่างนี้ว่า โดยรอบอันธวัน ไม่มีส่วนเหลือ. บทว่า โอภาเสตฺวา ความว่า
แผ่ไปด้วยรัศมีที่เกิดขึ้นจากสรีระอันประดับด้วยผ้าทำให้มีโอภาสเป็นอันเดียวกัน
เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์. บทว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ ได้แก่ ยืน
ณ ส่วนข้างหนึ่ง คือในโอกาสหนึ่ง. บทว่า เอตทโวจ ได้แก่ ตรัสกะภิกษุ
นั่นว่า ภิกษุ ภิกษุ ดังนี้เป็นต้น.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร เทวดานี้ไม่ไหว้ กล่าวโดยสมณโวหารอย่างเดียว.
ตอบว่า โดยการร้องเรียกด้วยสมณสัญญา. ได้ยินว่า เทพบุตร ได้มีความคิด
อย่างนี้ว่า ผู้นี้ อยู่ในระหว่างกามาวจรภูมิ ส่วนเราเป็นพรหมจารี ตั้งแต่
กาลนั้นในเวลานั้น. แม้สมณสัญญาของเทพบุตรนั้น ยังปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น
เทพบุตรนั้นจึงไม่ไหว้ กล่าวโดยสมณโวหารอย่างเดียว. ถามว่า ได้ยินว่า
เทพบุตรนั้น เป็นบุรพสหายของพระเถระ ตั้งแต่ครั้งไหน. ตอบว่า ตั้งแต่
กาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ. จริงอยู่ บรรดาสหายทั้ง 5 ที่
มาในครั้งก่อน สหายนั้นใด ที่ท่านกล่าวว่า พระอนุเถระ ได้เป็นพระอนาคา
มี ในวันที่ 4 สหายนั้นก็คือ ผู้นี้. ได้ยินว่า ครั้งนั้นบรรดาพระเถระเหล่านั้น
อภิญญา กับพระอรหัตต์นั้นแลมาถึงแก่สังฆเถระ. พระสังฆเถระนั้นคิดว่า

กิจของเราถึงที่สุดแล้ว จึงเหาะสู่นภากาศ บ้วนปากที่สระอโนดาด รับบิณฑ-
บาตจากอุตตรกุรุทวีป กลับมาแล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุ จงฉันบิณฑบาตนี้
อย่าประมาท กระทำสมณธรรม. เหล่าภิกษุนอกนี้กล่าวว่า ผู้มีอายุ พวกเราไม่มี
กติกาอย่างนี้ว่า ผู้ใดบังเกิดคุณวิเศษก่อนก็นำบิณฑบาตมา พวกที่เหลือ ฉัน-
บิณฑบาตที่ผู้นั้นนำมากระทำสมณธรรม พวกท่านบรรลุที่สุดกิจด้วยอุปนิสสัย
ของตน ถ้าว่าพวกเราจักมีอุปนิสสัยก็จักบรรลุที่สุดกิจ นั่นเป็นความชักช้าของ
พวกเราเอง พวกท่านจงไปเถิด. สังฆเถระนั้นไปตามความผาสุก ปรินิพพาน
เมื่อสิ้นอายุ. วันรุ่งขึ้น พระอนุเถระกระทำให้แจ้งพระอนาคามิผล อภิญญา
ทั้งหลายก็มาถึงท่าน. แม้ท่านก็นำบิณฑบาตมาเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน
ถูกภิกษุเหล่านั้นปฏิเสธ ก็ไปตามความผาสุก เมื่อสิ้นอายุก็บังเกิดในชั้นสุทธาวาส.
พระอนุเถระนั้นครั้นดำรงอยู่ในชั้นสุทธาวาสแล้ว ตรวจดูสหายเหล่านั้น ก็เห็นว่า
สหายผู้หนึ่งปรินิพพานในครั้งนั้นแล ผู้หนึ่งบรรลุอริยภูมิในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคเจ้า โดยไม่นาน ผู้หนึ่งอาศัยลาภสักการะเกิดความคิดขึ้นว่า เราเป็น
พระอรหันต์ อยู่ที่ท่าเรือชื่อสุปปารกะนั่นแล แล้วเข้าไปหาเขา สั่งเขาไปด้วย
กล่าวว่า ท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ยังปฏิบัติไม่ถึงพระอรหัตตมรรค จงไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังธรรมเสีย. แม้สหายผู้นั้นทูลขอโอวาทกะพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าในละแวกบ้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทโดยสังเขปว่า พาหิยะ
เพราะฉะนั้นแล เธอพึงศึกษาในสิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จงเป็นสักแต่ว่าเห็นก็บรรลุ
อริยภูมิ. สหายผู้หนึ่งนอกจากนั้นมีอยู่ เขาตรวจดูว่า อยู่ที่ไหน ก็เห็นว่ากำลัง
บำเพ็ญเสกขปฏิปทาอยู่ในอันธวัน จึงคิดว่า เราจักไปยังสำนักของสหาย แต่เมื่อ
ไปไม่ไปมือเปล่า ควรจะถือเครื่องบรรณาการบางอย่างไปด้วย แต่สหายของเรา
ไม่มีอามิสอยู่บนยอดเขา แต่สหายนั้นจักไม่ฉันแม้บิณฑบาต ที่เรายืนอยู่บน
อากาศถวาย ได้กระทำสมณธรรม บัดนี้ท่านจักรับอามิสบรรณาการหรือจำเรา

จักถือธรรมบรรณาการไป แล้วดำรงในพรหมโลกนั่นแล จำแนกปัญหา 15 ข้อ
เหมือนร้อยรัตนวลีพวงแก้วถือธรรมบรรณาการนั้นมา ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลสหาย
ไม่อภิวาทพระเถระนั้นโดยกล่าวด้วยสมณสัญญาเรียกว่า ภิกษุ ภิกษุ จึงกล่าวว่า
อยํ วมฺมิโก เป็นต้น. ในคำนั้นพึงทราบคำที่ท่านกล่าวซ้ำว่า ภิกษุ ภิกษุ
โดยเรียกเร็ว ๆ. หน้าผากย่อมไม่งามด้วยการเจิมจุดเดียวเท่านั้น ต่อเมื่อเจิมจุด
อื่น ๆ ล้อมจุดนั้น จึงจะงามเหมือนประดับด้วยดอกไม้ที่บานฉันใด ถ้อยคำ
จะไม่งามด้วยบท ๆ เดียวเท่านั้น ต่อประกอบด้วยบทแวดล้อมจึงจะงามเหมือน
ตกแต่งด้วยดอกไม้ที่บานฉะนั้น เพราะฉะนั้น เทพบุตรผู้นั้น กระทำถ้อยคำ
โดยบทแวดล้อมนั้นกระทำให้เหมือนตกแต่งดอกไม้ที่บานจึงกล่าวอย่างนี้.
ขึ้นชื่อว่า จอมปลวก ที่ตั้งอยู่ตรงหน้าไม่มี แต่เทพบุตรเหมือนจะ
แสดงจอมปลวกที่ตั้งอยู่ตรงหน้า ด้วยอำนาจเทศนาวิธี จึงกล่าวว่า อยํ ในบทว่า
อยํ วมฺมิโก. บทว่า ลงฺคึ ความว่า ถือศัสตราขุดพบกลอนเหล็ก. บทว่า
อุกฺขิป ลงฺคึ อภิกฺขน สุเมธ ได้แก่ พ่อบัณฑิต ชื่อว่า กลอนเหล็ก
กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เมื่อยกกลอนเหล็กขึ้นขุดต่อ พึงเห็นความ
ในบททั้งปวงอย่างที่กล่าวมานี้. บทว่า อุทฺธูมายิกํ ได้แก่ อึ่ง. บทว่า ปงฺกวารํ
ได้แก่ หม้อกรองน้ำด่าง. บทว่า กุมฺมํ ได้แก่ เต่า. บทว่า อสิสูนํ ได้แก่
เขียงหั่นเนื้อ. บทว่า มํสเปสึ ได้แก่ ชิ้นเนื้อสดขนาดลูกหินบด. บทว่า
นาคํ ได้แก่ ได้เห็นพญานาคแวดล้อมด้วยดอกจันทร์ 3 ดอก มีพังพานใหญ่
เช่นกับกำดอกมะลิ. บทว่า มา นาคํ ฆฏฺเฏสิ ได้แก่ อย่าใช้ปลายไม้
ปลายเถาวัลย์ หรือโปรยฝุ่นลงไปกระทบกระทั่งนาค. บทว่า นโม กโรหิ
นาคสฺส
ความว่า จงหลีกไปเหนือลม นุ่งผ้าสะอาดกระทำการนอบน้อม
พญานาค ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์ที่พญานาคปกครอง กิน 7 ชั่วตระกูลก็ไม่หมด
พญานาคจักให้ทรัพย์ที่ตนปกครองแก่เธอ เพราะฉะนั้น เธอจงกระทำความ

นอบน้อมแก่พญานาค. บทว่า อิโต วา ปน สุตฺวา ความว่า หมดความ
สงสัยในกองทุกข์จากสำนักเรานี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หมดความสงสัยใน
ศาสนาอย่างใด ในที่นี้หาเป็นอย่างนั้นไม่ แต่ในที่นี้หมดความสงสัยในเพราะ
เทพบุตร เพราะฉะนั้นในข้อนี้ จึงมีใจความดังนี้ว่า บทว่า อิโต วา ปน
ได้แก่ ก็หรือว่า เพราะฟังจากสำนักของเรา.
บทว่า จาตุมฺมหาภูมิกสฺส ได้แก่ สำเร็จด้วยมหาภูตทั้ง 4. บทว่า
กายสฺส อธิวจนํ แปลว่า เป็นชื่อของสรีระ. เหมือนอย่างว่า กายภายนอก
ท่านเรียกว่า วัมมิกะ เพราะเหตุ 4 อย่าง คือ จอมปลวกย่อมคาย 1 ผู้คาย
1 ผู้ตายร่างที่ประชุมธาตุ 4 1 ผู้คายความสัมพันธ์ด้วยเสน่หา 1 จริงอยู่
สภาพนั้นย่อมคายสัตว์เล็ก ๆ มีประการต่าง ๆ เช่นงู พังพอน หนู งูเหลือม
เป็นต้น เพราะฉะนั้น กายนั้น ชื่อว่า วัมมิกะ กายอันตัวปลวกคายแล้ว เหตุนั้น
จึงชื่อว่า วัมมิกะ กายอันตัวปลวกก่อขึ้นด้วยผงฝุ่น ที่ตัวคายยกขึ้นด้วยจะงอย
ปากประมาณเพียงสะเอวบ้าง ชั่วบุรุษบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วัมมิกะ กาย
เมื่อฝนตก 7 สัปดาห์ อันตัวปลวกเกลี่ย เพราะเนื่องด้วยยางน้ำลายที่คายออก
แม้ในฤดูแล้งมันก็คายเอาฝุ่นจากที่นั้น บีบที่นั้นให้เป็นกอง ยางเหนียวก็ออก
แล้วก็ติดกันด้วยยางเหนียวที่คาย เหตุนั้นจึงชื่อว่า วัมมิกะ ฉันใดนั้นแล แม้
กายนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่า วัมมิกะ เพราะคายของไม่สะอาด ของมีโทษและมลทิน
มีประการต่าง ๆ โดยนัยเป็นต้นว่า ขี้ตาออกจากลูกตา เป็นต้น และชื่อว่า
วัมมิกะ เพราะอันพระอริยเจ้าคายแล้ว เหตุพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธะ
และพระขีณาสพ ทิ้งอัตภาพไป เพราะหมดความเยื่อใยในอัตตภาพนี้ ชื่อว่า
วัมมิกะ เพราะคายหมดทั้งร่างที่ประชุมธาตุ 4 เหตุที่พระอริยเจ้าคายร่างทั้งหมด
ที่กระดูก 300 ท่อน ยกขึ้นรัดด้วยเอ็น ฉาบด้วยเนื้อ ห่อด้วยหนังสด
ย้อมผิว ลวงสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า วัมมิกะ เพราะผูกด้วยเสน่หา ที่คาย

เสียแล้ว เหตุกายนี้ผูกด้วยใยยางคือตัณหา ที่พระอริยทั้งหลายตายแล้ว
เพราะตัณหาก่อให้เกิดตามพระบาลีอย่างนี้ว่า ตัณหาทำคนให้เกิด จิตของคน
นั้น ย่อมแล่นไป. อนึ่ง สัตว์เล็ก ๆ มีประการต่าง ๆ ภายในจอมปลวก ย่อม
เกิด ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. นอนป่วย ย่อมตายตกไปในจอมปลวกนั้นนั่นเอง
ดังนั้นจอมปลวกนั้น จึงเป็นเรือนเกิด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็น
สุสานของสัตว์เล็กๆ เหล่านั้นฉันใด กายแม้ของกษัตริย์มหาศาล เป็นต้น ก็ฉัน
นั้น เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิว หนึ่ง เนื้อ เอ็น กระดูก เหยื่อในกระดูก มิได้คิด
ว่า กายนี้ถูกคุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตกแต่งแล้ว เป็นกายของผู้มีอานุภาพ
ใหญ่ รวมความว่า หมู่หนอนโดยการนับตระกูลมีประมาณ 80,000 ตระกูล
ย่อมเกิด ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนกระสับกระส่าย เพราะความป่วยไข้
ตายตกคลักอยู่ในกายนี้เอง เหตุนั้น จึงนับได้ว่าเป็นจอมปลวก เพราะ
เป็นเรือนตลอด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า วัมมิกะนี้เป็น
ชื่อของกายนี้ ที่เกิดจากมหาภูตทั้ง 4.
บทว่า มาตาเปติกสมฺภวสฺส ความว่า ที่เกิดจากการรวมตัวของ สุกกา
ซึ่งเกิดจากมารดาบิดา ที่ชื่อว่า มาตาเปติกะ. บทว่า โอทน กมฺมาสูปจยสฺส
ความว่า ก่อเติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า
อนิจฺจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺมสฺส ดังต่อไปนี้ กายนี้ชื่อว่า
มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะอรรถาว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่ามีการฉาบ
ทาเป็นธรรมดา เพราะฉาบทาด้วยหนังบางเพื่อประโยชน์แก่การกำจัดกลิ่นเหม็น
ชื่อว่า มีการนวดฟั้นเป็นธรรมดา เพราะมีการนวดฟั้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อประ-
โยชน์แก่การบันเทา ความเจ็บป่วยทางอวัยวะน้อยใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า
มีการประคบประหงมเป็นธรรมดา โดยการหยอดยาตาและบีบเป็นต้น เพื่อความ

สมบูรณ์แห่งทรวดทรง แห่งอวัยวะเหล่านั้น ที่ตั้งอยู่ไม่ดี โดยให้นอนอยู่บน
ขาให้นอนแต่ในห้องในเวลาเป็นเด็ก อธิบายว่า แม้ถึงจะถูกประคบประหงมอยู่
อย่างนี้ ก็ยังมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กายมีสภาพอย่างนี้. ท่าน
กล่าวกายที่ตั้งขึ้นด้วย บทคือ มาตาเปติกสัมภวะ โอทนะ กุมมาสอุปัจยะ
อุจฉาทนะ และปริมัททนะ ในคำนั้น. ท่านกล่าวการดับด้วยบทคือ อนิจจะ
อุจฉาทนะ เภทนะ วิทธังสนะ ภาวะที่สูงต่ำ ความเจริญ ความเสื่อม ความเกิด
และความดับ แห่งกายอันเกิดแต่มหาภูตทั้ง 4 พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้ด้วย
บททั้ง 7 อย่างด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ทิวา กมฺมนฺเต ได้แก่ การงานที่จะพึงทำในกลางวัน.
ธูมศัพท์นี้ในบทว่า ธูมายนา นี้เป็นไปในอรรถเหล่านี้ คือ ความโกรธตัณหา
วิตก กามคุณ 5 ธรรมเทศนา ควันตามปกติ. จริงอยู่ ธูมศัพท์เป็นไปใน
ความโกรธ ในคำนี้ว่า ความโกรธเป็นดังควันไฟ โทษของโจรกรรมเป็น
ดังเถ้า. เป็นไปในตัณหา ในคำนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีตัณหาดังควันไฟ.
เป็นไปในวิตก ได้ในคำนี้ว่า สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งตรึกดังควันไฟในที่ไม่
ไกล พระผู้มีพระภาคเจ้า. เป็นไปในกามคุณ 5 ได้ในคำนี้ว่า
กามเป็นดังเปือกตูม กามเป็นดังทาง
อ้อมและเป็นภัย ภัยนั้น เรากล่าวว่ามีมูล
3 เราประกาศกิเลสเป็นดังธุลี และเป็นดัง
ควัน ไฟ ดูก่อนท่านท้าวพรหมทัต ขอ
พระองค์โปรดละมันเสียแล้วทรงผนวช.

เป็นไปในธรรมเทศนา ได้ในคำนี้ว่า เป็นผู้กระทำธรรมเป็นดังควัน. เป็นไป
ในควันตามปกติได้ในคำนี้ว่า ธงเป็นเครื่องหมายของรถ ควันเป็นเครื่องหมาย
ของไฟ. แต่ในที่นี้ ธูมศัพท์นี้ ท่านประสงค์เอาว่าเป็นไปในวิตก ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า นี่การหวนควันในกลางคืน. บทว่า ตถาคตสฺ-

เสตํ อธิวจนํ ความว่า แท้จริง พระตถาคตชื่อว่า พราหมณ์ เพราะทรงลอย
ธรรมทั้ง 7 ได้แล้ว. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์
เพราะลอยธรรมทั้ง 7 ได้แล้ว ธรรมทั้ง 7 คืออะไร คือ ราคะ โทสะ โมหะ
มานะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลีพพตปรมาส ที่ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์
เพราะลอยธรรมทั้ง 7 เหล่านี้ได้แล้ว. บทว่า สุเมโธ แปลว่า ผู้มีปัญญาดี.
ในบทว่า เสกฺขสฺส นี้ชื่อว่าเสกขะ เพราะยังต้องศึกษา. เหมือนที่ท่านกล่าว
ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ ภิกษุยังต้องศึกษา ๆ อยู่เพราะเหตุฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า
เสกขะ ศึกษาอะไรเล่า ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิศีลจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญา
บ้าง. บทว่า ปญฺญาเยตํ คือ คำนี้เป็นชื่อของปัญญา ที่เป็นโลกิยะ และ โลกุตตระ
ไม่ใช่เป็นชื่อของอาวุธและศาสตรา. บทว่า วิริยารมฺภสฺส ได้แก่ ความ
เพียรทางกายและทางใจ. ความเพียรนั้น ย่อมเป็นคติแห่งปัญญาทีเดียว ความ
เพียรที่เป็นคติแห่งโลกิยปัญญา จัดเป็นโลกิยะ เป็นคติแห่งโลกุตตรปัญญา
จัดเป็นโลกุตตระ. ในข้อนี้ ขอชี้แจงความดังนี้.
เล่ากันมาว่า พราหมณ์ชาวชนบทคนหนึ่ง ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่
พร้อมด้วยเหล่ามาณพ ตอนกลางวันสอนมนต์ในป่า ตอนเย็นก็กลับบ้าน.
ระหว่างทางมีจอมปลวกจอมหนึ่ง จอมปลวกนั้น กลางคืนเป็นควัน กลางวัน
เป็นไฟ พราหมณ์จึงพูดกะสุเมธมาณพศิษย์ว่า พ่อเอ๋ย จอมปลวกนี้ กลางคืน
เป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอมปลวกนั้น เจ้าจง
ทำลายมันแบ่งเป็น 4 ส่วน ทิ้งไป. ศิษย์นั้นก็รับคำ จับจอบใช้ 2 เท้าเหยียบ
เสมอกันยืนหยัดที่พื้นดินแล้วได้กระทำอย่างนั้น. ใน 2 อาจารย์และศิษย์นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนพราหมณ์ผู้อาจารย์ เสกขภิกษุเปรียบเหมือน
สุเมธมาณพศิษย์ กายเปรียบเหมือนจอมปลวก เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
ว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงแบ่งกายที่เกิดแต่มหาภูตรูปทั้ง 4 ส่วน กำหนดถือเอา

เป็นอารมณ์ ก็เปรียบเหมือนเวลาที่พราหมณ์ผู้อาจารย์กล่าวว่า พ่อเอย จอม
ปลวกนี้กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอม
ปลวกนั้น เจ้าจงทำลายมันแบ่งเป็น 4 ส่วน แล้วทิ้งไป. พึงทราบกำหนด
กายสำหรับเสกขภิกษุโดยกำหนดธาตุ 4 เป็นอารมณ์ อย่างนี้ คือ ความที่กาย
เป็นของแข้น 20 ส่วนจัดเป็นปฐวีธาตุ ความที่กายเอิบอาบ 12 ส่วน จัดเป็น
อาโปธาตุ ความที่กายอบอุ่น 4 ส่วน จัดเป็นเตโชธาตุ ความที่กายเคลื่อนไหว
6 ส่วน จัดเป็นวาโยธาตุ เปรียบเหมือนสุเมธมาณพศิษย์ รับคำแล้วจับจอบ
แล้วกระทำอย่างนั้น.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอวิชชาชื่อว่า
กลอนเหล็กในคำว่า ลงฺคีติ โข ภิกฺขุ. ตอบว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อปิดประตู
พระนคร ใส่ลิ่มสลัก มหาชนก็ขาดการไป เหล่าชนที่อยู่ภายในพระนครก็คงอยู่
ภายในนั่นเอง พวกที่อยู่ภายนอกพระนครก็อยู่ภายนอกฉันใด กลอนเหล็กคือ
อวิชชาดกไปในปากคือ ญาณ ของผู้ใด การไปคือญาณที่ให้ถึงพระนิพพานของ
ผู้นั้นก็ขาด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอวิชชาให้เป็นดังกลอน
เหล็ก ในคำว่า ปชหถ อวิชฺชํ นี้ท่านกล่าวการละอวิชชาด้วยอำนาจการเรียน
และการสอบถามกัมมัฏฐานะ ในบทว่า อุทฺธูมายิกาติ โข ภิกฺขุ นี้ขึ้นชื่ออึ่งที่
พองขึ้นไม่ใหญ่ประมาณเท่าหลังเล็บอยู่ในระหว่างใบไม้เก่า ๆ ในระหว่างกอไม้
หรือระหว่างเถาวัลย์ มันถูกปลายไม้ปลายเถาวัลย์หรือละอองฝุ่นเสียดสีขยายออก
มีปริมณฑลใหญ่ ขนาดเท่าแว่นมะตูม 4 เท้าขวักไขว่ในอากาศขาดการไป
(เดินไม่ได้) ตกอยู่ไม่อำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของกาและนกเค้า เป็นต้น
ฉันใด ความโกรธนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นคราวแรก ก็เป็นเพียง
ความขุ่นมัวแห่งจิตเท่านั้น ไม่ถูกข่มเสียในขณะนั้นก็ขยายให้ถึงการหน้านิ้วคิ้ว-
ขมวด ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงคางสั่น ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึง

การเปล่งวาจาหยาบ ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ก็ให้ถึงการมองไม่เห็นทิศ ไม่
ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการยื้อกันมายื้อกันไป ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็
ให้ถึงการจับมือ ก้อนดิน ท่อนไม้และศาสตรา ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึง
การประหารด้วยท่อนไม้ และศาสตรา ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการฆ่า
ผู้อื่นบ้าง ฆ่าตัวเองบ้าง. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความโกรธนี้ ฆ่าผู้อื่น
แล้ว ฆ่าตนเพียงใด ความโกรธเพียงนี้ ก็จะหนาแน่นยิ่งขึ้น กำเริบเสิบสาน
อย่างยิ่ง. ในข้อนั้น เมื่อเท้าทั้ง 4 ของตัวอึ่ง ขวักไขว่ในอากาศ ก็ขาดการไป
(เดินไม่ได้) ตัวอึ่งก็ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของสัตว์มีกาเป็นต้น
ฉันใด บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถ
จะกำหนดกัมมัฏฐานให้ขยายไปได้ ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นผู้อันปวงมาร
พึงทำได้ตามความปรารถนา. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อน
ภิกษุ คำว่า อุทฺธูมายิกา นี้เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ.
ในข้อนั้นความโกรธจัด ชื่อว่าแค้นด้วยอำนาจความโกรธ ท่านกล่าวการละ
ด้วยการพิจารณา ในคำว่า ปชห โกธูปายาสํ.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เทฺวธาปโถ ดังต่อไปนี้ บุรุษผู้มีทรัพย์-
โภคะ เดินทางไกลอันกันดาร ถึงทาง 2 แพร่ง ไม่อาจตัดสินใจว่า ควรไป
ทางนี้ หรือไม่ควรไปทางนี้ หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เหล่าโจร
ปรากฏตัวขึ้นมาก็จะทำผู้นั้นให้ถึงความย่อยยับฉันใด ภิกษุผู้นั่งกำหนดกัมมัฏฐาน
เบื้องต้น ก็ฉันนั้นนั่นแล เมื่อเกิดความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจ
เจริญกัมมัฏฐานได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปวงมารมีกิเลสมารเป็นต้น ย่อมทำภิกษุ
นั้นให้ถึงความย่อยยับ วิจิกิจฉา จึงเสมอด้วยทาง 2 แพร่ง ด้วยประการฉะนี้.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ทาง 2 แพร่งนี้
เป็นชื่อของวิจิกิจฉา. ในคำว่า ปชห วิจิกิจฺฉํ นี้ ท่านกล่าวการละวิจิกิจฉา

ด้วยการเรียนและการสอบถามกัมมัฏฐาน. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปงฺกวารํ
ดังต่อไปนี้ เมื่อช่างย้อมใส่น้ำลงในหม้อกรองน้ำด่าง หม้อน้ำ 1 หม้อ 2 หม้อ
บ้าง 10 หม้อบ้าง 20 หม้อบ้าง 100 หม้อบ้าง ก็ไหลออก น้ำแม้ฟายมือเดียว
ก็ไม่ขังอยู่ฉันใด กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนีวรณ์ ย่อมไม่
ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อน
ภิกษุ คำว่า หม้อกรองน้ำด่างนี้ เป็นชื่อของนีวรณ์ทั้ง 5. ในคำว่า ปชห
ปญฺจ นีวรเณ
นี้ ตรัสการละนีวรณ์ด้วยวิกขัมภนปหานและตทังคปหาน.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กุมฺโม ดังต่อไปนี้ เต่ามีอวัยวะ 5 คือ เท้า 4
ศีรษะ 1 ฉันใด สังขตธรรมทั้งหมด เมื่อรวบรัดก็มีขันธ์ 5 เท่านั้น ฉันนั้น
เหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า
เต่านี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ 5. ในคำว่า ปชห ปญฺจูปาทานกฺขนฺเธ นี้
ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในขันธ์ 5. พึงทราบวินิจฉัย ใน
คำว่า อสิสูนา ดังต่อไปนี้ เอาเนื้อวางบนเขียง เอามีดสับ ฉันใด สัตว์
เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทำไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลส
กาม ตัด สับ ก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
คำว่าเขียงมีด นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง 5. ในคำว่า ปชห ปญฺจ กามคุเณ
นี้ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในกามคุณ 5 พึงทราบวินิจฉัย
ในคำว่า มํสเปสีติ โข ภิกฺขุ ดังต่อไปนี้ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนี้ คนเป็น
อันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์ มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉาน
มีกาเป็นต้น ต่างปรารถนามัน สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความ
กำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่
ในที่วางไว้ ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ ถูกความกำนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
ผูกไว้ ก็ติดอยู่ในวัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกำหนัดด้วย

อำนาจความเพลิดเพลินย่อมเสมือนชิ้นเนื้อด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่าชิ้นเนื้อนี้ เป็นชื่อของความ
กำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน. ในคำว่า ปชห นนฺทิราคํ นี้ ตรัสการ
ละความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ด้วยมรรคที่ 4.
ในคำว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า นาคนี้เป็นชื่อของพระขีณาสพนี้ พระ-
ขีณาสพท่านเรียกว่านาค ด้วยอรรถใด อรรถนั้นท่านประกาศไว้แล้วใน
อนังคณสูตร. ในคำว่า นโม กโรหิ นาคสฺส นี้มีเนื้อความดังนี้คือ ท่าน
จงกระทำการนอบน้อมพระพุทธนาคผู้พระขีณาสพว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ตรัสรู้แล้ว ย่อมแสดงธรรมเพื่อความรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรง
ฝึกแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสงบแล้ว
ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงข้ามแล้ว แสดง
ธรรมเพื่อข้าม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดับสนิทแล้ว แสดงธรรมเพื่อ
ดับสนิท. พระสูตรนี้ได้เป็นกัมมัฏฐานของพระเถระด้วยประการฉะนี้ ฝ่าย
พระเถระ ทำพระสูตรนี้แล ให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระ-
อรหัตต์. บทว่า อยเมว ตสฺส อตฺโถ ความว่า นี้เป็นใจความของปัญหา
นั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนทรงถือเอายอดมณีในกองรัตนะ ทรงจบเทศนา
ตามลำดับ อนุสนธิด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถาวัมมิกสูตรที่ 3

4. รถวินีตสูตร


[292] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่
พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้นภิกษุชาวชาติภูมิจำนวน
มาก จำพรรษาแล้วในชาติภูมิ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายอภิวาท
แล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใน
ชาติภูมิ ภิกษุรูปไหนหนอ ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิยกย่อง
อย่างนี้ว่า ตนเองเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภ
ความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีล ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว
ยังกล่าวความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่
ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และ
วิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย เป็นผู้สอน แนะให้เข้าใจชี้ชวน
พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง.
ภิกษุชาวชาติภูมิเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใน
ชาติภูมิ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นผู้ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาว
ชาติภูมิประเทศยกย่องว่า ตนเองเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุก
คลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีล. สมาธิ ปัญญา วิมุตติและ
วิมุตติญาณทัสสนะแล้ว ยังกล่าวเรื่องความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัด
เงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีล