เมนู

อรรถกถาอลคัททูปมสูตร


อลคัททูปมสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
พึงทราบวินิจฉัยในอลคัททูปมสูตรนั้นต่อไปนี้
ชนทั้งหลายเหล่าใด เบียดเบียนแร้ง เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าผู้
เบียดเบียนแร้ง บรรพบุรุษผู้เบียดเบียนแร้งของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามี
บรรพบุรุษผู้เบียดเบียนแร้ง. บุตรของสกุลผู้เคยฆ่าแร้งนั้น อธิบายว่า ผู้
ขวนขวายแห่งสกุลผู้ฆ่าแร้ง. ชื่อว่าอันตรายิกธรรม เพราะทำอันตรายต่อสวรรค์
และนิพพาน. อันตรายิกธรรมเหล่านั้นมี 5 อย่าง คือ กรรม กิเลส วิบาก
อริยุปวาท และอาณาวีตกกมะ. ในอันตรายิกธรรมเหล่านั้น อนันตริยกรรม
5 ชื่อว่า กัมมนตรายิกธรรม. ภิกษุณีทูสกกรรมก็เหมือนกัน. แต่ภิกษุณีทูสก-
กรรมนั่น กระทำอันตรายต่อพระนิพพานอย่างเดียว หากระทำอันตรายต่อ
สวรรค์ไม่. ธรรมคือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า อันตรายิกธรรมคือกิเลส.
ปฏิสนธิธรรมของบัณเฑาะก์ สัตว์เดรัจฉานและอุภโตพยัญชนก ชื่อว่า อันตรา-
ยิกธรรม คือ วิบาก. ธรรม คือ การเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ชื่อว่า อันตรา-
ยิกรรม คือ อุปวาทะ. แต่อุปวาทันตรายิกธรรมเหล่านั้น ย่อมกระทำ
อันตรายตลอดเวลาที่ยังไม่ให้พระอริยเจ้าทั้งหลายอดโทษ เบื้องหน้าแต่นั้น
ให้พระอริยเจ้าอดโทษแล้ว หากระทำอันตรายไม่. อาบัติ 7 กองที่ภิกษุจงใจ
ล่วงละเมิดแล้ว ชื่อว่า อันตรายิกธรรมคือ อาณาวีติกกมะ. แม้อาณาวีติกก-
มันตรายิกธรรมเหล่านั้น ย่อมกระทำอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุต้องอาบัติแล้ว
ยังปฏิญญาตนว่าเป็นภิกษุอยู่ก็ดี ไม่อยู่ปริวาสกรรมก็ดี ไม่แสดงอาบัติก็ดี
เบื้องหน้าแต่นั้น หากระทำอันตรายไม่.

ในเรื่อง อันตรายยิกธรรมนั้น ภิกษุนี้ เป็นพหุสูต เป็นพระธรรม-
กถึก ย่อมรู้อันตรายิกธรรมที่เหลือ แต่เพราะคนไม่ฉลาดในพระวินัย จึงไม่รู้
อันตรายิกธรรม คือการล่วงละเมิดพระบัญญัติ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้อยู่ในที่
ลับจึงคิดอย่างนี้ว่า คฤหัสถ์เหล่านั้น บริโภคกามคุณ 5 เป็นพระโสดาบันก็มี
พระสกทาคามีก็มี พระอนาคามีก็มี ฝ่ายพวกภิกษุพิจารณาเห็นรูปที่น่าพอใจที่
พึงรู้สึกด้วยจักษุ ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ ที่พึงรู้สึกด้วยกาย ย่อมใช้สอย
เครื่องลาดและเครื่องนุ่งห่มที่อ่อนนุ่ม ข้อนั้นทั้งหมด ควร เพราะเหตุไร
รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของหญิงเท่านั้น ไม่ควร ฝ่ายรูปเป็นต้น
เหล่านี้จึงควร อริฏฐภิกษุเทียบเคียงรสกับรสอย่างนี้แล้ว รวมการบริโภคด้วย
อำนาจราคะที่มีฉันทะ กับการบริโภคด้วยอำนาจราคะที่ไม่มีฉันทะแล้วเกิดทิฏฐิ
ลามก เหมือนเทียบด้วยผ้าที่ละเอียดอย่างยิ่งกับปอหยาบ ประหนึ่งเทียบเขา
สิเนรุกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขัดแย้งกับพระสัพพัญญุตญาณว่า ทำไมพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงบัญญัติปฐมปาราชิกด้วยพระอุสาหะอย่างใหญ่ ประหนึ่งกั้นมหา-
สมุทร โทษในพระบัญญัตินั้นไม่มี คัดค้านพระเวสารัชชญาณ ใส่ตอและ
หนามเป็นต้น ลงในอริยมรรค ประหารอาณาจักรของพระชินเจ้าว่า โทษใน
เมถุนธรรมไม่มี. ด้วยเหตุนั้น อริฏฐภิกษุนั้นจึงกล่าวว่า ตถาหํ ภควตา ธมฺมํ
เทสิตํ อาชานามิ
เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้วอย่างนั้น
เป็นต้น. บทว่า เอวํ พฺยาโข เท่ากับ เอวํ วิยโข. ในคำว่า สมนุยุญฺชนติ
เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายถามว่า ท่านมีลัทธิอะไร จึงกล่าวลัทธิ ชื่อว่า สอบ
ถาม. ยกทิฏฐิขึ้นชื่อว่ายึดถือทิฏฐิ. สอบถามเหตุว่า เพราะเหตุไร ท่านจึง
กล่าวอย่างนี้ ชื่อว่า สมนุภาสน์. ในคำว่า อฏฺฐิกงฺขลูปมา เป็นต้น อุปมา
ด้วยร่างกระดูก เพราะอรรถว่า มีอัสสาทะน้อย อุปมาด้วยชิ้นเนื้อ เพราะ
อรรถว่า เป็นของทั่วไปแก่คนเป็นอันมาก อุปมาด้วยคบเพลิงหญ้า เพราะ

อรรถว่า ตามเผา อุปมาด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่า ทำให้เร่าร้อน
มาก อุปมาด้วยความฝัน เพราะอรรถว่า ปรากฏนิดหน่อย อุปมาด้วยของที่
ขอยืมเขามา เพราะอรรถว่า เป็นไปชั่วคราว อุปมาด้วยผลต้นไม้มีพิษ เพราะ
อรรถว่า ทำลายทั่วสรรพางค์ อุปมาด้วยคมดาบ เพราะอรรถว่า ตัดรอน
อุปมาด้วยหอกและหลาว เพราะอรรถทิ่มแทง อุปมาด้วยหัวงู เพราะอรรถว่า
น่ารังเกียจ และมีภัยเฉพาะหน้า. บทว่า ถามสา ได้แก่ด้วยกำลังแห่งทิฏฐิ.
บทว่า ปรามาสา ได้แก่ ลูบคลำด้วยทิฏฐิ. บทว่า อภินิวิสฺส โวหรติ
ได้แก่มุ่งมั่นกล่าวหรือแสดง. บทว่า ยโต โข เต ภิกฺขู ได้แก่ ครั้งใด
ภิกษุเหล่านั้น. อริฏฐภิกษุนี้แม้ใคร่จะกล่าวว่า ไม่มี ดังนี้ตามอัธยาศรัยของ
ตนก็ยอมรับคำนี้ว่า เอวํ พฺยา โข อหํ ภนฺเต ภควตา ด้วยอานุภาพของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า. ได้ยินว่า ชื่อว่า ผู้สามารถจะกล่าวคำ 2 คำต่อพระ-
พักตร์ของพระพุทธทั้งหลายไม่มี. บทว่า กสฺส โข นาม ตฺวํ โมฆปุริส
ความว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ ท่านรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงอย่างนี้แก่ใคร กษัตริย์
หรือพราหมณ์ แพทย์ หรือ สูทร คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์.
บทว่า อถ โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ นี้เป็นอนุสนธิแผนกหนึ่ง
โดยเฉพาะ. ได้ยินว่า อริฏฐภิกษุคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกเราว่า
โมฆปุริส แต่เธอจะไม่มีธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคและผล ด้วยเหตุเพียง
ตรัสว่า โมฆปุริส หามิได้แล จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอุปเสนวัง
คันตบุตรด้วยวาทะว่าโมฆปุริส ว่าดูก่อนโมฆปุริส เธอเป็นผู้เวียนมาเพื่อความ
มักมากเร็วเกินไป ภายหลังพระเถระเพียรพยายามกระทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา 6
ด้วยคิดว่า แม้เราก็จักประคองความเพียรเห็นปานนั้นทำมรรคผลให้เกิด. ลำดับ
นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความที่อริฏฐภิกษุเป็นผู้ไม่งอกงาม

เหมือนใบไม้เหลืองที่หลุดจากขั้ว จึงเริ่มแสดงพระธรรมเทศนานี้. บทว่า อุสฺมี
กโตปิ
ความว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร อริฏฐภิกษุ
นี้มีลัทธิอย่างนี้ ขัดแย้งกับสัพพัญญุตญาณ ปฏิเสธเวสารัชชญาณ ประหาร
อาณาจักรพระตถาคต แม้เธอก็อบรมญาณในธรรมวินัยนี้ได้บ้าง เธออาศัย
ความอบรมญาณแม้มีประมาณน้อย พยายามอยู่ พึงทำมรรคผลให้เกิดขึ้นได้
บ้าง เหมือนกองไฟใหญ่ที่จะพึงมีได้ เพราะอาศัยลูกไฟแม้มีประมาณเท่าหิ้ง
ห้อยในกองไฟใหญ่แม้ที่ดับไปแล้วฉันนั้น. บทว่า โน เหตํ ภนฺเต ความ
ว่า ภิกษุทั้งหลายกล่าวคัดค้านความที่อริฏฐภิกษุอบรมญาณ เพื่อประโยชน์แก่
มรรคผลที่มีปัจจัยเสมอกันว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริฏฐภิกษุผู้มีลัทธิอย่าง
นี้ จะอบรมญาณเช่นนั้นได้แต่ที่ไหน. บทว่า มงฺกุภูโต ได้แก่เป็นผู้ไร้
อำนาจ. บทว่า ปตฺตกฺขนฺโธ ได้แก่ คอตก. บทว่า อปฺปฏิภาโณ ได้
แก่ ไม่เห็นอะไร ๆ แจ่มชัด คือขาดปฎิภาณ. อริฏฐภิกษุพิจารณาความที่ตน
เป็นอภัพพบุคคลว่า ได้ยินว่า เราได้คำสอนที่นำออกจากทุกข์เห็นปานนี้แล้ว
ยังไม่งอกงาม เรามีปัจจัยถูกถอนเสียแล้ว ดังนี้ นั่งเอาปลายนิ้วเท้าขุดดินอยู่.
แม้บทว่า ปญฺญายิสฺสสิ โข นี้ ก็เป็นอนุสนธิแผนกหนึ่งโดย
เฉพาะ. ได้ยินว่า อริฏฐภิกษุคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราเป็นผู้ขาด
ธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคและผล ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิใช่ทรงแสดง
ธรรมเฉพาะผู้มีอุปนิสัยเท่านั้น ทรงแสดงธรรมแก่ผู้ไม่มีอุปนิสัยด้วย เราได้
สุคโตวาทจากสำนักพระศาสดาแล้ว จักกระทำกุศลอันจะเข้าถึงสมบัติของตน.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะระงับพระโอวาท จึงตรัสว่า ปญฺญายิสฺสสิ
เป็นต้น. คำนั้นมีความว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ ท่านนั่นแล จักปรากฏในนรก
เป็นต้น ด้วยทิฏฐิอันชั่วช้านี้ ขึ้นชื่อว่าสุคโตวาทของท่านย่อมไม่มีจากสำนัก
ของเรา ท่านไม่มีประโยชน์สำหรับเรา เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้.

ความว่า อถ โข ภควา นี้เป็นอนุสนธิแผนกหนึ่ง. จริงอยู่ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงชำระบริษัทในที่นี้ จึงทรงขับพระอริฏฐออกเสียจากหมู่
ก็ถ้าหากว่า บรรดาบริษัททั้งหลาย ภิกษุบางรูปจะพึงคิดอย่างนี้ว่า อริฏฐะนี้
หรือจักอาจกล่าวคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัส เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
เริ่มกถา ก็รีบตรัสในท่ามกลางสงฆ์เลยหรือ ก็คำที่ตรัสอย่างนี้ พระอริฏฐะเท่า
นั้นไม่ฟัง แต่จักเป็นพระดำรัสที่ภิกษุแม้อื่นฟังกันแล้ว แม้เช่นนั้นภิกษุบางรูป
นั้นพึงคิดว่า พระศาสดาทรงนิคคหะภิกษุอริฏฐะฉันใด พึงทรงนิคคหะแม้เรา
ฉันนั้น แม้ฟังแล้วก็ต้องนิ่ง จักไม่ทำการนั้นทั้งหมด คำที่แม้เราไม่กล่าว แม้
คำที่คนอื่นฟังก็ไม่มี. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระลัทธิในบริษัท
ด้วยพระดำรัสว่า ตุมฺเหปิ เม ภิกฺขเว เป็นต้น พระอริฏฐะชื่อว่าเป็นอัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่จากคณะ ด้วยการชำระลัทธิในบริษัทนั่นแหละ.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศลัทธิของภิกษุอริฏฐะจึง
ตรัสคำมีอาทิว่า โส วต ภิกฺขเว ดังนี้. พึงทราบวินิจฉัยในคำเป็นต้นว่า
อญฺญตเรว กาเมหิ ในบาลีนั้น ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นใด
มีลัทธิอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง ภิกษุนั้น
หนอจักเสพวัตถุกามทั้งหลาย คือจักประพฤติเมถุนสมาจาร เว้นกิเลสกามและ
สัญญาวิตกที่ประกอบด้วยกิเลสกาม ละธรรมเหล่านั้น คือเว้นจากธรรมเหล่า
นั้น. บทว่า เนตํ ฐานํ วิชฺชติ ความว่า ชื่อว่า ชื่อเหตุนี้ไม่มี คือเหตุนี้
มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส.
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศลัทธิของพระอริฏฐะ
ว่า อริฏฐะนี้เปรียบเหมือนช่างย้อม ถือเอาผ้าที่หอมบ้าง เหม็นบ้าง เก่าบ้าง
ใหม่บ้าง สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง มาห่อรวมเป็นห่อเดียวกัน ฉันใด เธอ
ก็กระทำการบริโภคจีวรประณีตเป็นต้นที่ไม่มีฉันทราคะสำหรับภิกษุ กระทำ

การบริโภคที่มีฉันทราคะอันกระทำอันตราย สำหรับคฤหัสถ์ที่มีศีลไม่ประจำ
และทำการบริโภคที่มีฉันทราคะอันกระทำป้องกัน สำหรับภิกษุมีที่ศีลประจำ
รวมเป็นอันเดียวกันทั้งหมด บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงโทษของปริยัติที่เรียนมาไม่
ดี จึงตรัสว่า อิธ ภิกฺขเว เอกจฺเจ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
ปริยาปุณนฺติ แปลว่าเล่าเรียน. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สุตํ เป็นต้น
อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะและบริวารมงคลสูตร รัตนสูตร นาฬกสูตร
ตุวัฏฏกสูตร ในสุตตนิบาต และตถาคตวจนะ แม้อื่นที่มีชื่อว่าสูตร พึงทราบว่า
สูตร. สูตรที่มีคาถาทั้งหมด พึงทราบว่า เคยยะ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สคาถวรรค
ทั้งสิ้นในสังยุตตนิกาย พึงทราบว่า เคยยะ. อภิธรรมปิฏกทั้งสิ้น สูตรที่ไม่มีคาถา
และพุทธพจน์แม้อื่นที่สงเคราะห์ด้วยองค์ 8 พึงทราบว่า เวยยากรณะ. ธรรม
บท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนที่ไม่ชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต พึงทราบ
ว่า คาถา. พระสูตร 82 สูตร ที่เกี่ยวด้วยคาถาที่สำเร็จมาแต่โสมนัสญาณ
พึงทราบว่า อุทาน. พระสูตร 110 สูตร ที่เป็นไปโดยอาทิว่า วุตฺตมิทํ
ภตวตา
พึงทราบว่า อิติวุตตกะ. ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดกเป็น
ต้น พึงทราบว่า ชาดก. พระสูตรที่เกียวด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมแม้ทั้งหมด
ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อจฺฉริยา อพฺภูตธมฺมา
อานนฺเท
พึงทราบว่า อัพภูตธรรม. พระสูตรที่ตรัสถามแล้ว ได้ความรู้
ได้ความยินดีทั้งหมด มีจุลลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร
สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร มหาปุณณสูตรเป็นต้น พึงทราบว่า
เวทัลละ.
บทว่า อตฺถํ น อุปริกฺขนฺติ ได้แก่ ไม่เห็น และกำหนดไม่ได้
ซึ่งอรรถแห่งสูตร ซึ่งอรรถแห่งเหตุ. บทว่า อนุปปริกฺขตํ ได้แก่ กำหนด

ไม่ได้. บทว่า น นิชฺฌานํ ขมนฺติ ได้แก่ ไม่ปรากฏ คือไม่มาปรากฎ.
อธิบายว่า ใคร ๆ ไม่อาจจะรู้อย่างนี้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญ า มรรค ผล
วัฏฏะ. หรือวิวัฏฏะ ตรัสไว้แล้วในที่นี้. บทว่า เต อุปารมฺภานิสํสา เจว
ความว่า กุลบุตรเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ยกโทษในวาทะของคนเหล่าอื่นเป็นอานิสงส์
เล่าเรียน. บทว่า อิติวาทปฺปโมกฺขานิสํสา จ ได้แก่ มีการปลดเปลื้อง
วาทะอย่างนี้เป็นอานิสงส์ เล่าเรียน อธิบายว่า ไม่เล่าเรียนด้วยเหตุนี้ว่า เมื่อ
คนอื่นยกโทษวาทะของตน เราจักเปลื้องโทษนั้นอย่างนี้. บทว่า ตญฺจสฺส
อตฺถํ นานุโภนฺติ
ความว่า กุลบุตรทั้งหลาย เล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์
มรรคหรือผลอันใด เรียนไม่ดี ย่อมไม่ได้รับประโยชน์นั้นของธรรมนั้น อนึ่ง
แม้เมื่อไม่อาจจะยกโทษในวาทะของผู้อื่น และปลดเปลื้องวาทะของตน ย่อม
ไม่ได้รับประโยชน์นั้นเหมือนกัน. บทว่า อลคทฺทตฺถิโก ได้แก่ ผู้ต้อง
การอสรพิษ. ก็คำว่า คทฺโท เป็นชื่อของพิษ. พิษนั้นของงูนั้น มีพอ คือ
บริบูรณ์ เหตุนั้น อสรพิษนั้น จึงชื่อว่าอลคัททะ มีพิษพอตัว. บทว่า โภเค
ได้แก่ ตัว. ข้อว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรบางพวกในโลกนี้ เล่า
เรียนธรรม ได้แก่เล่าเรียนด้วยอำนาจนิตถรณปริยัติ.
จริงอยู่. ปริยัติมี 3 คือ อลคัททปริยัติ นิตถรณปริยัติ ภัณฑาคา-
ริกปริยัติ. บรรดาปริยัติทั้ง 3 นั้น ภิกษุใดเล่าเรียนพุทธวจนะ เหตุปรารภ
ลาภสักการะว่า เราจักได้จีวรเป็นต้นหรือคนทั้งหลายจักรู้จักเราในท่ามกลาง
บริษัท 4 อย่างนี้ ปริยัตินั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่า อลคัททปริยัติ. จริงอยู่ การ
ไม่เล่าเรียนพุทธวจนะ แล้วนอนหลับเสีย ยังดีกว่าการเล่าเรียนอย่างนี้. ส่วน
ภิกษุใดเล่าเรียนด้วยคิดว่า เล่าเรียนพุทธวจนะ บำเพ็ญศีลในฐานะที่ศีลมาถึง
เข้า ให้ถือเอาห้องสมาธิในฐานะที่สมาธิมาถึงเข้า เริ่มตั้งวิปัสสนาในฐานะ
ที่วิปัสสนามาถึงเข้า ทำมรรคให้เกิด ทำให้แจ้งผล ในฐานะที่มรรคผลมาแล้ว

ปริยัตินั้นของภิกษุนั้นชื่อว่า นิตถรณปริยัติ. ปริยัติของพระขีณาสพ ชื่อว่า
ภัณฑาคาริกปริยัติ. จริงอยู่ ทุกขสัจที่ยังไม่กำหนดรู้ สมุทัยสัจที่ยังละไม่ได้
มรรคสัจที่ยังไม่ได้เจริญ หรือนิโรธสัจที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ
นั้น ด้วยว่า พระขีณาสพนั้น กำหนดรู้ขันธ์แล้ว ละกิเลสได้แล้ว เจริญ
มรรคแล้ว ทำให้แจ้งผลแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเล่าเรียนพุทธวจนะ จึงเล่าเรียน
เป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี อนุรักษ์วงศ์ ดังนั้น ปริยัตินั้นของท่าน
จึงชื่อว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ. ถามว่า ก็เมื่อพวกคันถธุระ ไม่สามารถจะอยู่
ในที่แห่งหนึ่งในเพราะฉาตกภัยเป็นต้น ปุถุชนใดเมื่อไม่ลำบากด้วยภิกษาจารเอง
เล่าเรียนด้วยคิดว่า ขอพระพุทธวจนะที่ไพเราะยิ่งอย่าสูญเสียไป เราจักดำรง
แบบแผน จักรักษาประเพณีไว้ ปริยัติของปุถุชนนั้นเป็นภัณฑาคาริกปริยัติ หรือ
ไม่เป็น. ตอบว่า ไม่เป็น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะความที่ตน
มิได้ตั้งอยู่ในฐานเล่าเรียน จริงอยู่ ชื่อว่า ปริยัติของปุถุชน เป็นอลคัททะ
บ้าง เป็นนิตถรณะบ้าง. ปริยัติของพระเสขะทั้ง 7 เป็นนิตถรณะอย่างเดียว
ปริยัติของพระขีณาสพ เป็นภัณฑาคาริกปริยัติเท่านั้น แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอา
นิตถรณปริยัติ.
บทว่า นิชฺฌานํ ขมนฺติ ความว่า ธรรมทั้งหลายย่อมมาปรากฏ
ในอาคตสถานแห่งธรรมมีศีลเป็นต้นว่า ศีล ตรัสไว้ในที่นี้ สมาธิในที่นี้. วิปัส-
สนาในที่นี้ มรรคในที่นี้ ผลในที่นี้ วัฏฏะในที่นี้ วิวัฏฏะในที่นี้. บทว่า
ตญฺจสฺส อตฺถํ อนุโภนฺติ ความว่า กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนเพื่อ
มรรคผลอันใด กุลบุตรเหล่านั้นอาศัยปริยัติที่เล่าเรียนดีแล้ว ทำมรรคให้เกิด
ทำผลให้แจ้ง และเสวยประโยชน์นั้นของธรรมนั้น. แม้ไม่สามารถจะยกโทษ
ในวาทะของผู้อื่นก็ดีไม่สามารถจะถือเอาฐานะที่ตนปรารถนาแล้วปรารถนาอีก
เปลื้องโทษที่เขายกในวาทะของตนก็ดี ชื่อว่า เสวยประโยชน์เหมือนกัน. บทว่า
ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย สํวตฺตนฺติ ความว่า เมื่อบำเพ็ญศีลเป็นต้นใน

ฐานะแห่งศีลเป็นต้นมาแล้วก็ดี ยกโทษในวาทะของผู้อื่นโดยชอบธรรมก็ดี
เปลื้องโทษจากวาทะของตนก็ดี บรรลุอรหัตต์แล้วแสดงธรรม ในท่ามกลาง
บริษัท บริโภคปัจจัย 4 ที่คนผู้เลื่อมใสในพระธรรมเทศนาน้อมเข้าไปถวายก็ดี
ธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน.
ครั้นทรงแสดงอานิสงส์ในพระพุทธวจนะที่เรียนดีอย่างนี้แล้ว บัดนี้
เมื่อจะทรงประกอบบริษัทไว้ในพุทธวจนะนั้นนั่นแล จึงตรัสคำอาทิว่า ตสฺมา
ติห ภิกฺขเว
ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า
เพราะเหตุที่ปริยัติที่เรียนมาไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์
ตลอดกาลนาน เหมือนงูพิษที่จับไม่ดีฉะนั้น ส่วนปริยัติที่เรียนมาดี ย่อมเป็น
ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน เหมือนงูพิษที่จับไว้ดี
ฉะนั้น. บทว่า ตถา นํ ธาเรยฺยาถ ความว่า พึงทรงปริยัตินั้นไว้อย่าง
นั้นนั่นแล คือทรงไว้โดยอรรถนั้นนั่นแล. บทว่า เย วา ปนสฺสุ พฺยตฺตา
ภิกฺขู ความว่า ก็หรือว่าพึงสอบถามเหล่าภิกษุผู้ฉลาดผู้บัณฑิตมีพระสารีบุตร
พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ และพระมหากัจจานะเป็นต้น แต่ภิกษุ
ไม่พึงเป็นเหมือนอริฏฐภิกษุใส่เปือกตมหรือหยากใย่ลงในศาสนาของเรา. บทว่า
กุลฺลูปมํ แปลว่า เหมือนทุ่น. บทว่า นิตฺถรณตฺถาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์
แก่การข้ามโอฆะ 4. บทว่า อุทกณฺณวํ ความว่า ก็น้ำใดลึกแต่ไม่กว้าง
หรือ กว้างแต่ไม่ลึก น้ำนั้นท่านไม่เรียกว่า อัณณพ ส่วนน้ำใดทั้งลึกทั้งกว้าง
น้ำนั้นท่านเรียกว่า อัณณพ เพราะฉะนั้น อรรถในบทว่า มหนฺตํ
อุทกณฺณวํ
นี้จึงมีความดังนี้ว่า น้ำใหญ่คือกว้าง ลึก. ที่ใดมีโอกาสที่โจรอยู่
ยืน นั่ง นอน ปรากฏอยู่ ที่นั้น ชื่อว่า สาลังกะ น่าสงสัย. ที่ใดมีเหล่ามนุษย์ถูก
พวกโจรมาปล้น ตีชิง ปรากฏอยู่ ที่นั้น ชื่อว่าสัปปฏิภยะมีภัยปรากฏเฉพาะหน้า.
สะพานที่เขาผูกไว้เบื้องบนห้วงน้ำ ชื่อว่า อุตตรเสตุ แปลว่า สะพานข้าม. บทว่า

กุลฺลํ พนฺธิตฺวา ความว่า กอไม้เป็นต้น ที่เขามัดเป็นกำเพื่อประโยชน์แก่
ข้ามน้ำ ชื่อว่า ทุ่น ส่วนกอไม้เป็นต้นที่เขามัดแผ่ ๆ ท่านเรียกว่า แพ. บทว่า
อุสฺสาเปตฺวา แปลว่า ตั้งไว้. บทว่า กิจฺจการี ความว่า ทำกิจที่ถึงแล้ว
ทำกิจที่ควร ทำกิจที่เหมาะ. ในคำว่า ธมฺมาปิ โว ปทาตพฺพา นี้ ธรรม
ทั้งหลาย ชื่อว่า สมถะ และวิปัสสนา. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้
ละฉันทราคะ ทั้งในสมถะ ทั้งในวิปัสสนา. ทรงให้ละฉันทราคะในสมถะไว้
ในที่ไหน. ทรงให้ละฉันทราคะไว้ในสมถะ ในที่นี้ว่า ดูก่อนอุทายี
เพราะเหตุนี้แล เรากล่าวการละแม้เนวสัญญานาสัญายตนะ ดูก่อนอุทายี
เธอไม่เห็นสังโยชน์ อันละเอียดหรือหยาบ ที่เรามิได้กล่าวการละไว้. ทรงให้ละ
ฉันทราคะไว้ในวิปัสสนา ในที่นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอไม่เกาะ
ไม่ยึด ไม่ถือทิฏฐินี้ ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้. แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อทรงให้ละฉันทราคะในสมถะ และวิปัสสนาทั้ง 2 จึงตรัสว่า แม้ธรรม
ทั้งหลายพวกเธอพึงละ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงอธรรมทั้งหลาย. ในข้อนั้นมีอธิ-
บายดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการละฉันทราคะในธรรมทั้งหลาย
อันสงบ และประณีตเห็นปานนี้ ก็จะป่วยกล่าวไปไยในอัสสัทธรรมนี้ ซึ่งเป็น
ของชาวบ้าน เป็นของถ่อย เป็นธรรมชั่วหยาบ เป็นธรรมเหลวไหล ซึ่ง
อริฏฐะ โมฆบุรุษนี้ สำคัญว่าไม่มีโทษ กล่าวฉันทราคะในกามคุณทั้ง 5 ว่า
เป็นธรรมไม่อาจทำอันตรายได้ พวกเธอไม่พึงเป็นเหมือนอริฏฐภิกษุ ใส่
โคลนหรือหยากเยื่อลงในศาสนาของเรา.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิคคหะอริฏฐภิกษุผู้เดียว ด้วยโอวาทแม้นี้ ด้วย
ประการฉะนี้ บัดนี้เมื่อทรงแสดงว่า ผู้ใดยึดว่าเรา ของเรา ด้วยอำนาจการยึดถือ
สามอย่างในขันธ์ 5 ผู้นั้นชื่อว่าใส่โคลนหรือหยากเยื่อ ลงในศาสนาของเรา
เหมือนอริฏฐภิกษุนี้ จึงตรัสว่า ฉยิมานิ ภิกฺขเว เป็นต้น. บรรดาบท

เหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐิฏฺฐานานิ ความว่า แม้ทิฏฐิ ก็ชื่อว่า ที่ตั้งแห่งทิฏฐิ
ทั้งอารมณ์ของทิฏฐิ ทั้งปัจจัยของทิฏฐิ ก็ชื่อว่า ที่ตั้งของทิฏฐิ ในบทว่า
รูปํ เอตํ มม เป็นต้น การถือว่า นั่นของเรา เป็นตัณหาคาหะ การถือ
ว่าเราเป็นนั่นเป็นมานคาหะ การถือว่า นั่นเป็นตัวของเราเป็นทิฏฐิคาหะ เป็น
อันตรัส ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ด้วยประการฉะนี้
ส่วนรูปไม่ควรกล่าวว่าเป็นอัตต. เเม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
รูปายตนะ ชื่อว่า ทิฏฐะ สัททายตนะ ชื่อว่า สุตะ คันธายตนะ รสายตนะ
และโผฏฐัพพายตนะ ชื่อว่า มุตะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ
นั้น ท่านกล่าวว่า มุตะ เพราะพบแล้วยึดไว้. อายตนะ 7 ที่เหลือชื่อว่า
วิญญาตะ. บทว่า ปตฺตํ ได้แก่ ที่แสวงหาก็ดี ไม่แสวงหาก็ดี พบแล้ว.
บทว่า ปริเยสิตํ ได้แก่ที่พบหรือไม่พบก็แสวงหาแล้ว. บทว่า อนุวิจริตํ
มนสา
ได้แก่ ติดตามด้วยจิต. จริงอยู่ ในโลกของที่แสวงหาแล้วพบก็มี
แสวงหาแล้วไม่พบก็มี ไม่แสวงหาแล้วพบก็มี ไม่แสวงหาแล้วไม่พบก็มี. ใน
ที่ตั้งแห่งความเห็นนั้น ของที่แสวงหาแล้วพบ ชื่อว่า ปัตตะ ของที่แสวงหา
แล้วไม่พบชื่อว่า ปริเยสิตะ ของที่ไม่แสวงหาแล้วพบ และของที่ไม่แสวงหา
แล้วไม่พบ ชื่อว่า มนสานุจริต. อีกนัยหนึ่ง ของที่แสวงหาแล้วพบก็ดี ของ
ที่ไม่แสวงหาไม่พบก็ดี ชื่อว่า ปัตตะ เพราะอรรถว่าพบแล้ว. ของที่แสวงหาไม่พบ
อย่างเดียว ชื่อว่า ปริเยสิตะ ของที่ไม่แสวงหาแล้วพบ และของที่ไม่แสวงหาแล้ว
ไม่พบ ชื่อว่า มนสานุจริตะ หรือว่า ของนั้นทั้งหมด ชื่อว่า มนสานุจริตะ เพราะ
เป็นของติดตามด้วยใจ ตัณหา มานะ ทิฏฐิที่มีวิญญาณเป็นอารมณ์ ตรัสด้วยบทนี้
วิญญาณ ตรัสด้วยอ่านาจทิฏฐิเป็นต้นเป็นอารมณ์ ในหนหลังด้วยอำนาจการ
ยักย้ายแห่งเทศนา.
บทว่า ยํปิ ตํ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ ได้แก่ ที่ตั้งแห่งทิฏฐิ ที่เป็นไปโดยนัยมี
อาทิว่า ยํปิ ตํ เอตํ โส โลโก. บทว่า โส โลโก โส อตฺตา ความว่า

ทิฏฐิที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้นั้นเห็นรูปโดยเป็นอัตตา ย่อมยึดถือว่า เป็น
โลก เป็นอัตตา ท่านหมายเอาทิฏฐินั้นจึงกล่าวไว้ดังนี้. บทว่า โส เปจฺจ ภวิ-
สฺสามิ
ความว่า เรานั้นไปปรโลกแล้ว จักอยู่เป็นนิจ ยั่งยืนเที่ยง มีความ
ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความยั่นยืน ดุจภูเขาสิเนรุ
มหาปฐพีและมหาสมุทรเป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า ตํปิ เอตํ มม
ความว่า ย่อมตามเห็นว่าทัสสนะแม้นั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา
ของเรา. ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่มีทิฏฐิเป็นอารมณ์ ตรัสด้วยบทนี้. เวลา
ถือทิฏฐิครั้งแรก มีได้ด้วยทิฏฐิครั้งหลังอย่างนี้ เหมือนเวลากับเห็นแจ้งด้วย
วิปัสสนา. ในสุกกปักข์ ฝ่ายขาว ทรงคัดค้าน การยึดถือด้วยตัณหา มานะ
และทิฏฐิในรูปว่า นั่นไม่ใช่รูปของเราเป็นต้น. แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้
เหมือนกัน. ก็บทนี้ว่า สมนุปสฺสติ ความว่า สมนุปัสสนามี 4 คือ ตัณหา
สมนุปัสสนา มานสมนุปัสสนา ทิฏฐิสมนุปัสสนา ญาณสมนุปัสสนา. เนื้อ
ความแห่งสมนุปัสสนาเหล่านั้น พึงทราบด้วยอำนาจ สมนุปัสสนา 3 อยู่ใน
กัณหปักข์ ญาณสมนุปัสสนา อยู่ในสุกกปักข์. บทว่า อสติ น ปริตสฺสติ
ความว่า เมื่อความยึดถือไม่มี เธอย่อมไม่สะดุ้ง ด้วยความสะดุ้งด้วยภัย หรือด้วย
ความสะดุ้งด้วยตัณหา. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงถึงพระขีณาสพผู้ไม่
สะดุ้ง เพราะความพินาศแห่งขันธ์ภายใน จึงทรงจบเทศนาด้วยบทนี้.
บทว่า เอวํ วุตฺเต อญฺญตโร ภิกฺขุ ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค-
เจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้ฉลาดในอนุสนธิรูปหนึ่งคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นทรงแสดงถึงพระขีณาสพผู้ไม่สะดุ้ง เพราะความพินาศแห่งขันธ์ภายใน ทรง
จบเทศนาก็เมื่อพระขีณาสพไม่สะดุ้งภายในอยู่ ภิกษุผู้สะดุ้งภายใน ภิกษุผู้สะดุ้ง
ภายนอก ภิกษุผู้สะดุ้งเพราะความพินาศในบริขาร และแม้ผู้ไม่สะดุ้ง พึงมี
เราจะถามปัญหานี้ ด้วยเหตุ 4 ประการ ดังกล่าวมา แล้วจึงทำจีวรเฉวียงบ่า

ประคองอัญชลีกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้. บทว่า พหิทฺธา อสติ ได้แก่
ในภายนอก คือเพราะความพินาศแห่งบริขาร. บทว่า อหุ วต เม ความว่า
สิ่งของ ยาน พาหนะ เงิน ทอง ของเรา ได้มีแล้วหนอ. บทว่า ตํ วต เม นตฺถิ
ความว่า บัดนี้ สิ่งของนั้นหนอของเราไม่มี คือ ถูกพระราชาริบเอาเสียบ้าง
พวกโจรลักไปบ้าง ไฟใหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปเสียบ้าง คร่ำคร่าเพราะใช้สอยบ้าง.
บทว่า สิยา วต เม ความว่า ยาน พาหนะ เงิน ทอง ข้าวสาลี ข้าวเปลือก
ข้าวเหนียว ข้าวละมานของเรามีหนอ. บทว่า ตํ วตาหํ น ลภามิ ความว่า
เศร้าโศกว่า เราเมื่อไม่ได้ของนั้น บัดนี้เราก็ไม่ได้เพราะไม่ทำงานที่สมควร
แก่ทรัพย์นั้นนั่นเอง นี้ชื่อว่า ความเศร้าโศกของผู้ครองเรือน (คฤหัสถ์). ความ
เศร้าโศกของผู้ไม่ครองเรือน (บรรพชิต) พึงทราบด้วยอำนาจบาตรจีวรเป็นต้น.
พึงทราบในอปริตัสสนาวาร ดังต่อไปนี้ บทว่า น เอวํ โหติ ความ
ว่า ความสะดุ้งพึงมีอย่างนี้ เพราะกิเลสเหล่าใด ย่อมไม่มีอย่างนี้ เพราะกิเลส
เหล่านั้นได้ละแล้ว. บทว่า ทิฏฺฐิฏฺฐานาธิฏฺฐานปริยุฏฺฐานาภินิเวสานุ-
สยานํ
ความว่า ซึ่งทิฏฐิ ที่ตั้งทิฏฐิ ที่ตั้งมั่นแห่งทิฏฐิ ที่กลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ
และที่นอนเนื่องแห่งความถือมั่น. บทว่า สพฺพสงฺขารสมถาย ได้แก่ เพื่อ
ประโยชน์แก่ความดับ. จริงอยู่ ความหวั่น ความไหว ความผันแปรแห่งสังขาร
ทั้งปวง มาถึงพระนิพพานย่อมสงบระงับไป เพราะฉะนั้น พระนิพพานนั้นท่าน
จึงเรียกว่า เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง. อนึ่ง อุปธิเหล่านี้ คือ อุปธิ คือ ขันธ์
อุปธิ คือ กิเลส อุปธิคืออภิสังขาร อุปธิคือกามคุณ 5 มาถึงพระนิพพานนั้น
นั่นแล ก็สลัดคืนไป ตัณหา ก็สิ้น ก็คลาย ก็ดับ เพราะฉะนั้น พระนิพพานนั้น
ท่านจึงเรียกว่า สัพพูปธิปฏินิสสัคคะ. เป็นที่สลัดคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ
เป็นที่สิ้นตัณหา วิราคะ คายราคะ นิโรธดับ. ศัพท์ว่า นิพฺพานาย นี้เป็น
นิเทสสรุปแห่งพระนิพพานนั้น. ดังนั้น ท่านแสดงความนี้ว่า เมื่อทรงแสดง

ธรรมเพื่อประโยชน์แก่การกระทำให้แจ้งพระนิพพาน ด้วยบทเหล่านั้นทั้งหมด
ทีเดียว. บทว่า ตสฺเสวํ โหติ ความว่า ภิกษุผ้มีทิฏฐินั้นย่อมมีความคิด
อย่างนี้ว่า เราจักขาดสูญ เราจักพินาศ เราจักไม่มี. จริงอยู่ ภิกษุผู้มีทิฏฐิ
ฟังธรรมที่ทรงยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์แสดงให้เกี่ยวด้วยสุญญตาอยู่ เกิดความสะดุ้ง.
สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่สดับ
ย่อมมีความสะดุ้งอย่างนี้ว่า มีเราและไม่มีเรา.
ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้ ตรัสสุญญตา มี 4 เงื่อนด้วยสามารถ
แห่งภิกษุเหล่านี้คือภิกษุผู้สะดุ้ง และผู้ไม่สะดุ้งเพราะความพินาศแห่งปริขารภาย
นอก คู่ 1 และภิกษุผู้สะดุ้งและผู้ไม่สะดุ้งเพราะความพินาศแห่งขันธ์ภายในคู่ 1.
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงสุญญตา 3 เงื่อน คือ จัดปริกขารภายนอก
ให้ชื่อว่า ทิฏฐิปริคคหะ จัดสักกายทิฏฐิที่มีวัตถุ 20 ให้ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน
จัดทิฏฐิ 62 ซึ่งมีสักกายทิฏฐิเป็นหัวหน้าให้ชื่อว่า ทิฏฐินิสสยะ จึงตรัสว่า
ภิกฺขเว ปริคฺคหํ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริคฺคหํ ได้แก่
ปริกขารภายนอก. บทว่า ปริคฺคณฺเหยฺย ความว่า มนุษย์วิญญูชน พึง
กำหนดยึดถือ. ด้วยบทว่า อหํปิ โข ตํ ภิกฺขเว ทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุ
แม้พวกเธอก็ไม่เห็น แม้เราก็ไม่เห็น ดังนั้น ความกำหนดเห็นปานนั้น ก็ไม่มี.
พึงทราบความในบททั้งปวงด้วยประการฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสุญญตา 3 เงื่อนอย่างนี้แล้ว บัดนี้
เมื่อจะทรงแสดง 2 เงื่อน คือ อัตตา ในขันธ์ภายใน และที่เนื่องด้วยตนใน
ปริขารภายนอก จึงตรัสคำอาทิว่า อตฺตนิ วา ภิกฺขเว สติ เป็นต้น. ในคำ
นั้นมีความสังเขปดังนี้ว่า เมื่อตนมีอยู่ บริขารของเรานี้ก็เนื่องในตนหรือว่า
เมื่อปริขารที่เนื่องกับตนมีอยู่ อัตตาของเรานี้ก็เป็นเจ้าของบริขารนี้ เราก็
เหมือนกัน พึงประกอบคำว่า เมื่อวัตถุมีอยู่ ของ ๆ เราก็มี เราก็มี ดังนี้.

ฯบทว่า สจฺจโต แปลว่า โดยความเป็นจริง. บทว่า เถตโต แปลว่า โดย
เป็นแท้ หรือมั่นคง.
บัดนี้ เมื่อไม่ทรงถือเบญขันธ์ด้วยปริวัฏฏ 3 อย่างนี้คือ อนิจฺจํ
ทุกฺขํ อนตฺตา
เมื่อจะทรงแสดงว่า ภิกษุนี้ก็เหมือนอริฏฐภิกษุ ใส่เปือกตม
หยากไย่ ลงในศาสนาของเรา จึงตรัสว่า ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํวา
เป็นต้น. บทว่า อนิจฺจํ ภนฺเต ความว่า พระเจ้าข้า เพราะเหตุที่รูปมีแล้ว
ไม่มี ฉะนั้นรูปจึงไม่เที่ยง ที่ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะเหตุ 4 ประการ คือ เพราะ
เกิดแล้วก็เสื่อมไป หรือเพราะอรรถว่าแปรปรวน เป็นไปชั่วคราว และปฏิเสธ
ความเที่ยง. บทว่า ทุกฺขํ ภนฺเต ความว่า พระเจ้าข้า รูปชื่อว่าทุกข์โดยอาการ
คือ เบียดเบียน ชื่อว่าเป็นทุกข์ด้วยเหตุ 4 อย่างคือ เพราะอรรถว่าทำให้เร่าร้อน
ทนได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และปฏิเสธความสุข. บทว่า วิปริณามธมฺมํ
ความว่า มีอันก้าวลงและเข้าถึงภพเป็นสภาวะ คือมีอันละความเป็นปกติเป็น
สภาวะ. บทว่า กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตุํ เอตํ มม เอโสหมสฺมิ เอโส เม
อตฺตา
ความว่า สมควรหรือที่จะมายึดถือรูปนั้นอย่างนี้ว่า เรา ของเรา ด้วย
อำนาจแห่งการ ยึดถือแห่งตัณหา มานะ และทิฏฐิ ทั้ง 3 เหล่านี้. ด้วยบทนี้ว่า
โน เหตํ ภนฺเต ภิกษุเหล่านั้นย่อมปฏิญาณว่า รูปเป็นอนัตตา พระเจ้าข้า
ด้วยอาการไม่เป็นไปในอำนาจ รูปชื่อว่าเป็นอนัตตา ด้วยเหตุ 4 คือ ด้วย
อรรถว่าเป็นของสูญ ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นใหญ่ และปฏิเสธอัตตา. จริงอยู่
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเป็นอนัตตาด้วยอำนาจเป็นของไม่เที่ยง ไว้
ในที่ไหน ด้วยอำนาจความเป็นทุกข์ไว้ในที่ไหน ด้วยอำนาจความเป็นของ
ไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ไว้ในที่ไหน. จริงอยู่ ทรงแสดงความเป็นอนัตตา
ด้วยอำนาจความไม่เที่ยงไว้ในฉฉักกสูตรนี้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวว่า จักษุเป็นอัตตา

จักษุของผู้นั้นย่อมไม่เกิด ทั้งความเกิดทั้งความเสื่อมของจักษุ ย่อมปรากฏ
แต่ทั้งความเกิดทั้งความเสื่อมของจักษุใด ย่อมปรากฏ จักษุนั้น ย่อมมาอย่าง
นี้ว่า อัตตาของเราเกิด และเสื่อม เพราะฉะนั้น จักษุนั้น จึงไม่เกิด. ผู้ใด
พึงกล่าวว่า จักษุเป็นอนัตตา ดังนั้น จักษุจึงเป็นอนัตตา ดังนี้. ทรงแสดง
ความเป็นอนัตตา ด้วยอำนาจความเป็นทุกข์ไว้ ในอนัตตลักขณสูตรนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปนี้เป็นอัตตา รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ จะพึง
ได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าเป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้ง
ไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าเป็นอย่างนี้เลย ดังนี้.
ทรงแสดงความเป็นอนัตตา ด้วยอำนาจความไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ทั้งสองไว้
ในอรหัตตสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้น
ก็เป็นทุกข์ รูปใดเป็นทุกข์ รูปนั้นก็เป็นอนัตตา รูปใดเป็นอนัตตา รูปนั้นก็ไม่ใช่
ของเรา เราก็ไม่เป็นรูปนั้น รูปนั้นก็ไม่ใช่อัตตาของเรา พึงเห็นรูปนั้น ด้วย
ปัญญาอันชอบตามเป็นจริง ดังกล่าวมานี้. เพราะเหตุไร. เพราะ อนิจฺจํ
และ ทุกฺขํ ปรากฏแล้ว อนัตตายังไม่ปรากฏ. จริงอยู่ เมื่อภาชนะใส่ของ
บริโภคเป็นต้นแตกไป คนทั้งหลายก็กล่าวว่า อโห อนิจฺจํ โอ ไม่เที่ยงหนอ
ไม่มีคนกล่าวว่า อนัตตา. หรือเมื่อต่อมฝีทั้งหลายเกิดขึ้นที่ร่างกาย หรือคนถูก
หนามแทง ก็กล่าวกันว่า อโห ทุกขํ โอ ทุกข์หนอ แต่ไม่มีคนกล่าวว่า
อโห อนตฺตา โอ ไม่ใช่อัตตาหนอ. เพราะเหตุไร. เพราะชื่อว่าอนัตต-
ลักขณะนี้ ไม่ชัด เห็นยาก รู้กันยาก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง
ทรงแสดงความเป็นอนัตตานั้น ด้วยอำนาจไม่เที่ยงบ้าง ทุกข์บ้าง ทั้งไม่เที่ยง
ทั้งทุกข์ทั้งสองบ้าง. รูปนี้นั้น ทรงแสดงด้วยอำนาจไม่เที่ยงเป็นทุกข์เท่านั้น
ในปริวัฏ 3 แม้นี้. แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เพราะรูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ทั้งในบัดนี้ ทั้งในกาลอื่น ๆ.
คำว่า ยงฺกิญฺจิ รูปํ เป็นต้น กล่าวไว้พิสดารแล้ว ในขันธนิทเทส วิสุทธิ-
มรรค. บทว่า นิพฺพินฺทติ แปลว่า เบื่อหน่าย. ก็ในคำว่า นิพพินฺทติ
ในบาลีนี้ ท่านประสงค์เอาวุฏฐานคามินีวิปัสสนา (วิปัสสนาอันให้ถึงความ
ออกจากความยึดถือตัณหา). แท้จริง วุฏฐานคามินีวิปัสสนามีมากชื่อ บางแห่ง
เรียกว่า สัญญัคคะ บางแห่งว่า ธรรมฐีติญาณ บางแห่งว่า ปาริสุทธิปธานิยังคะ
บางแห่งว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ บางแห่งว่า ตัมมยปริยาทาน บางแห่ง
ก็มี 3 ชื่อ บางแห่งก็ 2 ชื่อ. บรรดาอาคตสถานเหล่านั้น ในโปฏฐปาทสูตร
ก่อน ตรัสเรียกว่า สัญญัคคะ อย่างนี้ว่า ดูก่อนโปฏฐปาทะ สัญญาเกิดขึ้น
ก่อน. ภายหลัง ญาณจึงเกิดขึ้น ดังนี้. ในสุสิมสูตร ตรัสเรียกว่า ธรรม-
ฐิติญาณ อย่างนี้ว่า ดูก่อนสุสิมะ ธรรมฐิติญาณมีก่อน ภายหลังญาณในนิพพาน
จึงมี ดังนี้. ในทสุตตรสูตร ตรัสเรียกว่า ปาริสุทธิปธานิยังคะ ว่า ปฏิปทา-
ญาณทัสสนวิสุทธิปธานิยังคะ ดังนี้. ในรถวินีตสูตร ท่านเรียกว่า ปฎิปทา-
ญาณทัสสนวิสุทธิ อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มี
พระภาคเจ้า เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ หรือหนอ ดังนี้. ในสฬายตน
วิภังคสูตร ท่านเรียกว่า ตัมมยปริยาทาน อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อุเบกขานี้ใด พึงพาความไม่มีตัณหา อาศัยความไม่มีตัณหา มีอารมณ์อันเดียว
อาศัยอารมณ์อันเดียว พวกเธอจงละอุเบกขานั้นเสีย จงก้าวล่วงอุเบกขานั้นเสีย
การละอุเบกขานี้มีอย่างนี้ การก้าวล่วงอุเบกขานี้มีอย่างนี้ดังนี้. ในปฏิสัมภิทา-
มรรค ท่านระบุไว้ 3 ชื่ออย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ คือ มุญจิตุกัมยตา ปฏิสังขา
นุปัสสนา และสังขารุเปกขา มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น.
ในคัมภีร์ปัฏฐาน ท่านระบุไว้ 2 ชื่ออย่างนี้ คือ อนุโลมญาณ เป็นปัจจัยแห่ง

โคตรภูญาณ โดยเป็นอนันตรปัจจัย อนุโลมญาณเป็นปัจจัยแห่งโวทาน
(มรรคจิต-ผลจิต) โดยเป็นอนันตรปัจจัย. ส่วนในอลคัททูปรสูตรนี้ วุฏฐาน
คามินิวิปัสสนา มาโดยชื่อว่า นิพพิทา ในบทว่า นิพฺพินฺทติ. มรรคชื่อว่า
วิราคะ ในบทนี้ว่า นิพฺพินฺทนฺโต วิรชฺชติ. ในบทว่า วิราคา วิมุจฺจติ
นี้ท่านกล่าวผลว่า ย่อมหลุดพ้น เพราะวิราคะ คือ มรรค. ในที่นี้ ท่าน
กล่าวปัจจเวกขณญาณไว้ว่า เมื่อหลุดพ้น ก็มีญาณรู้ว่า เราหลุดพ้นแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้น ทรงแสดงพระมหาขีณาสพ ผู้มีจิตหลุดพ้น
อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงระบุชื่อของพระมหาขีณาสพนั้นโดยเหตุ 5 ประการ
ตามเป็นจริง จึงตรัสว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว เป็นต้น. บทว่า อวิชฺชา
ได้แก่ อวิชชามีวัฏฏะเป็นมูล. จริงอยู่ อวิชชานี้ท่านเรียกว่า ปลิฆะ เพราะ
อรรถว่า ยกขึ้นได้ยาก. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนี้ ท่านจึงเรียกว่า อุกขิตตปลิฆะ
เพราะอวิชชานั้นถูกยกขึ้น. บทว่า ตาลาวตฺถุกตา ได้แก่ กระทำให้เป็น
เหมือนหนึ่งตาลยอดด้วน อธิบายว่า หรือถอนตาลพร้อมทั้งราก ทำให้เหมือน
ที่ตั้งแห่งตาล คือนำไปให้ถึงความไม่มีบัญญัติอีก เหมือนต้นตาลนั้นไม่ปรากฏ
พื้นที่ตั้ง. บทว่า โปโนพฺภวิโก ได้แก่ ให้ภพใหม่. บทว่า ชาติสํสาโร
ได้แก่ อภิสังขารคือกรรม อันเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ในภพใหม่ ที่ได้ชื่ออย่างนี้
โดยการเกิดและท่องเที่ยวไปในชาติทั้งหลาย. จริงอยู่ อภิสังขารคือกรรมนั้น
ท่านเรียกว่า ปริกขา เพราะตั้งแวดล้อมไว้โดยการกระทำให้เกิดบ่อย ๆ ด้วย
เหตุนั้น ภิกษุนั้น เรียกว่า สังกิณณปริกขะ เพราะอวิชชานั้นเกลื่อนกล่นไป.
บทว่า ตณฺหา ได้แก่ ตัณหาที่มีวัฏฏะเป็นมูล. จริงอยู่ ตัณหานี้ท่านเรียกว่า
เอสิกา เพราะอรรถว่า ตามไปโดยลึกซึ้ง. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า

อัพภุฬเหสิกะ เพราะตัณหานั้นเขายกทิ้ง คือ เพราะเขาตัดทิ้ง. บทว่า โอร-
มฺภาคิยานิ
ได้แก่ ให้เกิดต่ำลง คือเป็นปัจจัยให้เกิดในกามภพ. จริงอยู่
สังโยชน์เหล่านี้ ท่านเรียกว่า อัคคฬะ เพราะตั้งปิดจิต เหมือนบานประตูปิด
ประตูเมือง. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้น ท่านเรียกว่า นิรัคคฬะ เพราะสังโยชน์
เหล่านั้น อันเธอกระทำให้ไม่มี คือ ทำลายไป. บทว่า อริโย ได้แก่ ผู้
ไม่มีกิเลส คือ หมดจด. บทว่า ปนฺนทฺธโช ได้แก่ มีธงคือมานะอันตก
ไปแล้ว. บทว่า ปนฺนภาโร วิเคราะห์ว่า ชื่อว่าปันนภาระ. เพราะภิกษุนั้น
มีภาระ คือ ขันธ์ กิเลส อภิสังขาร และกามคุณห้า ตกแล้ว คือยกลงแล้ว.
อีกนัยหนึ่ง ในที่นี้ท่านประสงค์ว่าปันนภาระ เพราะปลงภาระคือมานะเท่านั้น.
บทว่า วิสํยุตฺโต ได้แก่ พรากเสียแล้วจากโยคะสี่และกิเลสทั้งหมด. แต่ใน
ที่นี้ ท่านประสงค์ว่า วิสังยุตตะ เพราะพรากจากสังโยชน์คือมานะอย่างเดียว.
บทว่า อสฺมิมาโน ได้แก่ มีมานะว่า เรามีในรูป มีมานะว่า เรามีในเวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกาลของพระขีณาสพ ผู้ทำกิเลสให้สิ้นไป
ด้วยมรรค ผู้อยู่บนที่นอนคือนิโรธอันประเสริฐ ผู้เข้าผลสมาบัติที่มีนิพพาน
เป็นอารมณ์อยู่. เปรียบเหมือนนคร 2 นคร นครโจร 1 นครเกษม 1 เมื่อเป็น
ดังนั้น นักรบใหญ่ผู้หนึ่งพึงคิดอย่างนี้ว่า นครโจรนี้ตั้งอยู่ตราบใด นครเกษม
ก็ไม่ปลอดภัยอยู่ตราบนั้น เราจักท่านครโจรไม่ให้เป็นนครแล้ว จึงสวมเกราะถือ
พระขรรค์เข้าไปยังนครโจร เอาพระขรรค์ตัดเสาระเนียดที่ยกขึ้นใกล้ประตูนคร
ทำลายบานประตูพร้อมกับกรอบประตู แล้วยกสลักขึ้นทำลายกำแพง รื้อค่าย
คูล้มธงที่ยกขึ้นเพื่อความงามของนคร เอาไฟเผานครแล้วเข้านครเกษม ขึ้น
ปราสาท แวดล้อมด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนะมีรสอร่อย ฉันใด ข้อนี้ก็
ก็ฉันนั้น สักกายะเหมือนนครโจร นิพพานเหมือนนครเกษม พระโยคาวจร

เหมือนนักรบใหญ่ พระโยคาวจรนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ความหมุนเวียนแห่ง
สักกายะยังเป็นไปอยู่ตราบใด ความหลุดพ้นจากกรรมกรณ์ 32 โรค 98 มหาภัย
25 ก็มีไม่ได้ตราบนั้น พระโยคาวจรเปรียบเหมือนนักรบใหญ่นั้น สวมเกราะ
คือเกราะศีล จับพระขรรค์คือปัญญา เอาพระอรหัตตมรรคตัดเสาระเนียดคือ
ตัณหา ดุจเอาพระขรรค์ตัดเสาระเนียด พระโยคาวจรนั้นยกสลักคือ สังโยชน์
เบื้องต่ำ 5 ดุจนักรบยกบานประตูนครพร้อมทั้งกรอบประตู พระโยคาวจร
นั้นยกสลักคือ อวิชชาดุจนักรบยกสลัก พระโยคาวจรทำลายอภิสังขารคือกรรม
รื้อค่ายดูคือชาติสงสาร ดุจนักรบทำลายกำแพงรื้อค่ายคู พระโยคาวจรล้มธงคือ
มานะ. เผานครคือ สักกายะ. ดุจนักรบล้มธงที่ยกขึ้นเพื่อทำนครให้สวยงาม
พระโยคาวจรเข้านครคือกิเลสนิพพาน เสวยสุขเกิดแต่ผลสมาบัติ อันมีอมต-
นิโรธเป็นอารมณ์ ยังกาลให้ล่วงไป เหมือนนักรบบริโภคโภชนะมีรสดีใน
ปราสาทชั้นบนในนครเกษม.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความที่พระขีณาสพผู้มีจิตหลุด
พ้นอย่างนี้ เป็นผู้มีวิญญาณอันผู้อื่นพบไม่ได้ จึงตรัสว่า เอวํ วิมุตฺตจิตฺตํโข
เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺเวสนฺตา ได้แก่ เสาะแสวงหา.
บทว่า อิทํ นิสฺสิตํ ได้แก่ อาศัยชื่อสิ่งนี้. แม้สัตว์ ท่านก็ประสงค์เอาว่า
ตถาคตในคำว่า ตถาคตสฺส นี้. แม้พระขีณาสพก็เป็นบุคคลสูงสุด. บทว่า
อนนุวชฺโช แปลว่า ผู้ไม่มี หรือผู้ที่ใครไม่พบ. จริงอยู่ เมื่อถือว่า สัตว์
เป็นตถาคต ก็ควรจะมีความว่า ไม่มี. เมื่อถือว่าขีณาสพ ก็ควรจะมีความว่า
ใครพบไม่ได้. ในนัยทั้งสองนั้น นัยแรกมีอธิบายดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราไม่บัญญัติพระขีณาสพที่ยังดำรงซีวิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นว่า ตถาคต สัตว์
บุคคล แต่เราบัญญัติพระขีณาสพผู้ปรินิพพานแล้ว ไม่มีปฏิสนธิว่า สัตว์
หรือบุคคลได้อย่างไร อธิบายว่า ตถาคตไม่มีอยู่ จริงอยู่ ว่าโดยปรมัตถ์

ชื่อว่า สัตว์ไร ๆ ไม่มี เมื่อสัตว์นั้นไม่มีอยู่ เทวดาทั้งหลายแม้เสาะแสวงว่า
วิญญาณอาศัยอะไร ดังนี้ จักประสบได้อย่างไร คือ จักพบได้อย่างไร. ใน
นัยที่สอง อธิบายดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าพระขีณาสพผู้ยัง
ดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น อันเทวดาทั้งหลายมีพระอินทร์เป็นต้นพบไม่
ได้โดยวิญญาณ จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พร้อมทั้งพระ-
พรหม พร้อมทั้งปชาบดี แม้เสาะแสวงอยู่ ก็ไม่อาจจะรู้วิปัสสนาจิต มรรคจิต
หรือผลจิต ของพระขีณาสพ ว่าอาศัยอารมณ์ชื่อนี้เป็นไป เทวดาเหล่านั้น จัก
รู้อะไรของพระขีณาสพผู้ปรินิพพานแล้ว ไม่มีปฏิสนธิ. บทว่า อสตา แปล
ว่าไม่มีอยู่. บทว่า ตุจฺฉา แปลว่า ว่างเปล่า. บทว่า มุสา แปลว่า พูด
เท็จ. บทว่า อภูเตน แปลว่า ด้วยเรื่องที่ไม่มี. บทว่า อพฺภาจิกฺขนฺติ
ได้แก่ ใส่ความ กล่าวตู่. บทว่า เวนยิโก ความว่า ชื่อว่า วินัย เพราะกำจัด
ทำให้พินาศ วินัยนั่นแหละชื่อเวนยิกะ อธิบายว่า ผู้ทำสัตว์ให้พินาศ. บทว่า
ยถา จาหํ ภิกฺขเว เน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เป็นผู้ทำสัตว์ให้
พินาศด้วยเหตุใด. บทว่า ยถา จาหํ น วทามิ ความว่า หรือเราไม่
บัญญัติการทำสัตว์ให้พินาศด้วยเหตุใด. ท่านอธิบายไว้ว่า เราไม่ทำสัตว์ให้
พินาศโดยประการใด และไม่บัญญัติการทำสัตว์ให้พินาศโดยประการใด สมณ-
พราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นกล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด และกล่าว
หาว่า พระสมณะโคดมทำสัตว์ให้พินาศ ว่าเราบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ
ความไม่มี แห่งสัตว์ที่มีอยู่ ทั้งกล่าวตู่ด้วยเรื่องที่ไม่มี ว่างเปล่า เท็จ และไม่
เป็นจริงว่า ตถาคตบัญญัติความพินาศแห่งสัตว์. บทว่า ปุพฺเพ จ ได้แก่
ในกาลก่อน คือครั้งตรัสรู้ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน. บทว่า เอตรหิ จ
ได้แก่ ในบัดนี้ คือ ในเวลาแสดงธรรม. บทว่า ทุกฺขํ เจว ปญฺญเปมิ
ทุกฺขสฺส นิโรธํ
ความว่า ตถาคตอยู่ที่โพธิมณฑสถาน ยังไม่ประกาศ

พระธรรมจักรก็ดี แสดงธรรมทั้งแต่ประกาศพระธรรมจักรก็ดี ย่อมบัญญัติ
สัจจะ 4 เท่านั้น. จริงอยู่ ในสัจจะ 4 นั้น สมุทัยอันเป็นมูลแห่งทุกข์นั้น
พึงทราบว่า ทรงถือเอาด้วยทุกขศัพท์ ส่วนมรรค*ที่ให้ถึงนิโรธนั้น พึงทราบ
ว่าทรงถือเอาด้วยนิโรธศัพท์. บทว่า ตตฺร เจ ได้แก่ ในการประกาศสัจจะ
4 นั้น. บทว่า ปเร ได้แก่ บุคคลผู้ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย.
บทว่า อกฺโกสนฺติ ได้แก่ ด่าด้วยอักโกสวัตถุ 10. บทว่า ปริภาสนฺติ
ได้แก่ ปริภาษด้วยวาจา. บทว่า โรเสนฺติ วิเหเสนฺติ ได้แก่ ประสงค์ว่า
เราจักโกรธขึ้น จักเบียดเบียน. บทว่า ฆฏฺเฏนฺติ ได้แก่ ให้ประสบทุกข์.
บทว่า ตตฺร ได้แก่ ในการด่าเป็นต้นเหล่านั้น หรือในบุคคลอื่นเหล่านั้น.
บทว่า อาฆาโต ได้แก่ ความโกรธ. บทว่า อปฺปจฺจโย ได้แก่ ความ
เสียใจ. บทว่า อนภินนฺทิ ได้แก่ ความไม่ยินดี. บทว่า ตตฺร เจ ได้
แก่ ในการประกาศสัจจะ 4 นั้นแหละ. บทว่า ปเร ได้แก่ บุคคลผู้รู้แจ้ง
แทงตลอดการประกาศสัจจะ 4. บทว่า อานนฺโท ได้แก่ ความดื่มด่ำด้วย
ความยินดี. บทว่า อุพฺพิลาวิตตฺตํ ได้แก่ ความดื่มด่ำด้วยอำนาจความปลาบ
ปลื้ม. บทว่า ตตฺเร เจ ได้แก่ในการประกาศสัจจะ 4 นั้นแหละ. บทว่า ตตฺร
ได้แก่ ในสักการะเป็นต้น. บทว่า ยํ โข อิทํ ปุพฺเพ ปริญฺญาตํ ความว่า
ขันธปัญจกนี้ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดรู้แล้วด้วยปริญญา 3 ที่โพธิมัณฑ
สถานก่อน. บทว่า ตตฺถ เม แปลว่า สักการะเหล่านี้ อันเขากระทำในขันธปัญจก
นั้น. ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ท่านอธิบายไว้ว่า ความคิดว่าสักการะเหล่านี้
จักมีในเรา หรือว่า เราจะเสวยสักการะเหล่านี้ไม่มีแก่พระตถาคตในขันธ
ปัญจกแม้นั้น และมีความดำริเท่านี้ว่า ตถาคตย่อมเสวยสักการะของขันธปัญจก
ที่กำหนดรู้แล้วแต่ก่อนนั้น และขันธปัญจกย่อมเสวยสักการะเหล่านี้. บทว่า
ตสฺมา ความว่า ก็เพราะเหตุที่สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ผู้ไม่สามารถแทงตลอด

สัจจะทั้งหลาย จึงพากันด่าซึ่งพระตถาคตฉะนั้น. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่
กล่าวมาแล้วนั้นแล.
บทว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว ยํ น ตุมฺหากํ ความว่า การละฉันท
ราคะ แม้ในสิ่งที่ไม่เนื่องกับตน เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอด
กาลนาน เพราะฉะนั้น พวกเธอจงละสิ่งที่ไม่ใช่ของพวกเธอเสีย. บทว่า
ยถาปจฺจยํ วา กเรยฺย ความว่า เธอปรารถนาโดยประการใด ๆ พึงกระทำ
โดยประการนั้น ๆ. บทว่า น หิ โน เจติ ภนฺเต อตฺตา วา ความว่า
พระเจ้าข้า สมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวหญ้าไม้ กิ่งไม้ และใบไม้นั้นว่า ไม่ใช่
ตัวของเรา ไม่ใช่รูปของเรา ไม่ใช่วิญญาณของเรา. บทว่า อตฺตนิยํ วา
ความว่า แม้บริขารมีจีวรเป็นต้นไม่ใช่ของเรา. บทว่า เอวเมว โข ภิกฺขเว
ยํ น ตุมฺหากํ ตํ ปชหถ
ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขันธปัญจก
นั้นแลว่า ไม่ใช่ของท่าน จึงทรงให้ละเสีย แต่ก็มิใช่ให้เพิกถอนหรือตัดขันธ-
ปัญจก แต่ให้ละมันเสียด้วยการกำจัดฉันทราคะ. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า
เอวํ สฺวากฺขาโต นี้ดังนี้ แม้จะนำมาแต่ปริวัฏฏ 3 รอบ จึงถึงฐานะนี้ก็ควร
โดยปฏิโลม จะย้อนกลับมา ตั้งแต่เปมมัตตสัคคปรายนะ จนถึงฐานะนี้ก็ควร.
บทว่า สฺวากฺขาโต ความว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือง่าย เปิดเผย ประกาศแล้ว
เพราะเป็นธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว. ผ้าฉีก ผ้าขาด ที่เขาเย็บทำเป็นปมไว้ในที่นั้น ๆ
ผ้าคร่ำคร่า ท่านเรียกว่าผ้าเก่า ในคำว่า ฉินฺนปิโลติโก ผู้ใดไม่มีผ้าเก่านั้น
ผู้นั้นนุ่งผ้าใหม่ 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง ชื่อว่า ผู้ขาดผ้าเก่า. ธรรมแม้นี้ก็เป็น
เช่นนั้น ก็ในคำนี้ ไม่มีภาวะ อย่างผ้าที่ขาดที่ฉีกที่เย็บที่ทำเป็นปม โดยการ
ล่อล่วงเป็นต้น. อนึ่ง หยากไย่ ท่านก็เรียก ปิโลติกะ แต่ขึ้นชื่อว่า สมณะ
หยากไย่ จะอยู่ในศาสนานี้ไม่ได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

พวกเธอ จงขจัดสมณะหยากไย่ จง
กวาดสมณะกองขยะ จงลอยสมณะแกลบ
ผู้มิใช่สมณะ แต่สำคัญตัวว่าเป็นสมณะ
เสียจากพระศาสนานั้น ครั้นกำจัดสมณะผู้
มีความปรารถนาลามก ผู้มีอาจาระและ
โคจรลามก จงเป็นอยู่บริสุทธิ์อยู่ร่วมกับผู้
บริสุทธิ์ มีสติจำเพาะหน้า แต่นั้นมีความ
พร้อมเพรียงกัน มีปัญญารักษาตัว จะทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ธรรมนี้ ย่อมชื่อว่า ขาดผ้าเก่า เพราะขาดสมณะหยากไย่ ด้วยประการฉะนี้
บทว่า วฏฺฏนฺเตสํ นตฺถิ ปญฺญาปนาย ความว่า วัฏฏะของภิกษุ
เหล่านั้นถึงความไม่มีบัญญัติหาบัญญัติไม่ได้. พระมหาขีณาสพเห็นปานนั้น
ย่อมเกิดขึ้นในศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้เท่านั้น. ก็พระ-
ขีณาสพเป็นฉันใด พระอริยบุคคลมีพระอนาคามีเป็นต้นก็เป็นฉันนั้น. บรรดา
พระอริยบุคคลเหล่านั้น พระอริยบุคคล 2 นี้ คือ ธัมมานุสารี สัทธานุสารี ย่อม
เป็นผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค. เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธัมมานุสารีบุคคลเป็น
ไฉน ปัญญินทรีย์ของบุคคลใด ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาบัตติผลมีประมาณ
ยิ่ง. ย่อมเจริญอริยมรรคมีปัญญาเป็นเครื่องนำ มีปัญญาเป็นประธาน บุคคลผู้นี้
ท่านเรียกว่า ธัมมานุสารี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล เป็น
ธัมมานุสารี ผู้ตั้งอยู่ในผล ชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ ก็สัทธานุสารีบุคคล
เป็นไฉน สัทธินทร์ย์ของบุคคลใด ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลมี

ประมาณยิ่ง เจริญอริยมรรค มีศรัทธาเป็นตัวนำ มีศรัทธาเป็นประธาน
บุคคลนี้ ท่านเรียกว่า สัทธานุสารี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
เป็นสัทธานุสารีบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้น้อมไปด้วยศรัทธา. ด้วยคำว่า เยสํ
มยํ สทฺธามตฺตํ เปมมตฺตํ
นี้ท่านประสงค์เอาเหล่าบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาที่
ไม่มีอริยธรรมอย่างอื่น แต่มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในพระตถาคต
เท่านั้น. จริงอยู่ เหล่าภิกษุผู้นั่งเริ่มวิปัสสนาเกิดความเชื่ออย่างหนึ่ง ความรัก
อย่างหนึ่งในพระทศพล เธอก็เป็นเสมือนความเชื่อนั้น ความรักนั้น จับมือไป
วางไว้ในสวรรค์. นัยว่า ภิกษุเหล่านั้น มีคติที่แน่นอน. ส่วนเหล่าพระเถระ
เก่า ๆ เรียกภิกษุเหล่านั้นว่า พระจุลลโสดาบัน. คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้ง
นั้นแล.
จบอรรถกถาอลคัททูปสูตรที่ 2

3. วัมมิกสูตร


[289] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปะพัก
อยู่ที่ป่าอันธวัน. ครั้งนั้นเทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง เมื่อราตรีล่วงปฐมยาม
แล้ว ยังป่อันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะได้ยืน ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะว่า ดูก่อนภิกษุ จอมปลวก
นี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อ
สุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู. สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นลิ่มสลัก จึง
เรียนว่า ลิ่มสลักขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลัก
ขึ้น เอาศาสตราขุดดู. สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่าอึ่งขอรับ.
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาสตราขุดดู. สุเมธะ
เอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นทาง 2 แพร่ง จึงเรียนว่าทาง 2 แพร่งขอรีบ. พราหมณ์
กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง 2 แพร่งเสีย เอาศาสตราขุดดู. สุเมธะ
เอาศาตราขุดลงไปได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่าง ขอรับ.
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาสตรา
ขุดดู. สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่าขอรับ. พราหมณ์
กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู. สุเมธะเอาศาสตรา
ขุดดูไปได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ. พราหมณ์กล่าว
อย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู. สุเมธะเอา
ศาสตราขุดลงไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อขอรับ. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้