เมนู

อรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อ ปปัญจสูทนี



พรรณนามูลปัณณาสก์


ภาคที่ 2


พรรณนาสีหนาทวรรค



อรรกถาจุลลสีหนาทสูตร1


จุลลสีหนาทสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
ก็เพราะจุลลสีหนาทสูตรนั้น มีการสรุปถึงความอุบัติของเรื่อง เพราะ
ฉะนั้น ข้าพเจ้าแสดงการสรุปนั้นแล้ว จักทำการพรรณนาบทโดยไม่ตามลำดับ
แห่งจุลลสีหนาทสูตรนั้น. ก็เรื่องนี้ได้ยกขึ้นกล่าวในความอุบัติของเรื่องอะไร.
ในเรื่องที่เดียรถีย์คร่ำครวญ เพราะลาภสักการะเป็นปัจจัย. ได้ยินว่า ลาภ-
สักการะใหญ่ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยนัยที่กล่าวแล้วในธัม-
มทายาทสูตร.
ก็โลกสันนิวาสนี้มีประมาณ 4 ดำรงอยู่แล้วโดย 4 อย่าง ด้วยอำนาจ
แห่งบุคคลเหล่านี้คือ บุคคลผู้มีประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป มีประมาณใน
เสียง เลื่อมใสในเสียง มีประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้า-
หมอง มีประมาณในธรรม เสื่อมใสในธรรม. ข้อการทำให้ต่างกันของบุคคล
เหล่านั้นดังนี้. ก็บุคคลผู้มีประมาณในรูป เลื่อมใสในรูปเป็นไฉน บุคคลบาง
คนในโลกนี้เห็นความเจริญขึ้น หรือเห็นความเจริญเต็มที่ เห็นความบริบูรณ์
หรือเห็นทรวดทรง ถือประมาณในรูปนั้นแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น
บาลี. จูฬสีหนาทสุตฺตํ

นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป. ก็บุคคลผู้มีประมาณในเสียง
เลื่อมใสในเสียงเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ถือประมาณในเสียงนั้น ด้วย
การพรรณนาของคนอื่น ด้วยการชมเชยของคนอื่น ด้วยการสรรเสริญของคน
อื่น ด้วยคนผู้นำคุณของคนอื่นแล้วยังความเสื่อมใสให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า
บุคคลผู้มีประมาณในเสียง เลื่อมใสในเสียง. ก็บุคคลผู้มีประมาณในความ
เศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมองเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็น
ความเศร้าหมองในจีวร หรือเห็นความเศร้าหมองในบาตร หรือเห็นความ
เศร้าหมองในเสนาสนะ หรือเห็นการบำเพ็ญทุกกรกิริยาต่าง ๆ แล้ว ถือประ-
มาณในความเศร้าหมองนั้น ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า บุคคลผู้
มีประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง. ก็บุคคลผู้มีประมาณ
ในธรรม เลื่อมใสในธรรมเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นศีล หรือ
เห็นสมาธิ หรือเห็นปัญญาแล้ว ถือประมาณในธรรมนั้น ยังความเลื่อมใสให้
เกิดขึ้น นี้เรียกว่า บุคคลผู้มีประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม.
ในบุคคล 4 พวกนี้ ฝ่ายบุคคลมีประมาณในรูปเห็นความเจริญขึ้น
และความเจริญเต็มที่ ทรวดทรง ความบริบูรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมี
พระฉวีวรรณสวยงาม ดุจวิจิตรด้วยรัตนะต่าง ๆ เพราะประดับประดาด้วยอนุ-
พยัญชนะ 80 อย่าง ดุจแผ่นใหญ่แห่งทองคำอันรุ่งเรืองด้วยหมู่ดาว เพราะ
เกลื่อนกล่นด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และดุจท้องฟ้าอันแจ่มจำรัส
โดยประการทั้งปวงฉะนั้น มีพระสรีระหาที่เปรียบมิได้ มีปาริฉัตรสูงร้อยโยชน์
มีพระสิริแวดล้อมด้วยรัศมีประมาณหนึ่งวา สูงสิบแปดศอกแล้ว เลื่อมใสใน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว.
ฝ่ายบุคคลมีประมาณในเสียง ได้ฟังเสียงที่เป็นไปแล้วแห่งพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า โดยนัยเป็นต้นว่า ตลอดสี่อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัป พระองค์ทรง

บำเพ็ญบารมีสิบ อุปปารมีสิบ ปรมัตถปารมีสิบ ทรงกระทำอังคบริจาค บุตร
ทารบริจาค รัชชบริจาค ธนบริจาค และนัยนบริจาคแล้วเลื่อมใสในพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว.
ฝ่ายบุคคลมีประมาณในความเศร้าหมอง เห็นความเศร้าหมองในจีวร
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว คิดว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ครองสมบัติ ก็จัก
ทรงแต่ผ้าที่ทำจากเมืองกาลีเท่านั้น แต่พระองค์ครั้นทรงผนวชแล้ว ทรงยินดี
ด้วยจีวรบังสุกุลอันทำด้วยป่าน ทรงกระทำการหนัก ดังนี้ ย่อมเลื่อมใสใน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว. เห็นแม้ความเศร้าหมองในบาตรแล้ว คิดว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ เมื่อทรงครองเรือนได้เสวยโภชนะแห่งข้าวสาลี
อันมีกลิ่นหอม สมควรแก่โภชนะของพระเจ้าจักรพรรดิ ในภาชนะทองคำอัน
ประเสริฐสีแดง แต่ครั้นทรงผนวชแล้วทรงถือบาตรหิน เสด็จบิณฑบาตตาม
ตรอกในประตูของตระกูลสูง ทรงยินดีด้วยก้อนข้าวที่ได้แล้ว กระทำกิจหนัก
ดังนี้ ย่อมเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว. แม้ได้เห็นความเศร้าหมอง
ในเสนาสนะแล้ว คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ เมื่อทรงครองเรือน
มีนางฟ้อน 3 พวกเป็นบริวาร เสวยราชสิริ ดุจสมบัติทิพในปราสาททั้ง 3
อันสมควรแก่ฤดูทั้ง 3 บัดนี้ ทรงผนวชแล้ว ทรงยินดีด้วยวัตถุ มีกระดานไม้
แผ่นศิลาและเตียงไม้ไผ่ เป็นต้น ในรุกขมูลและเสนาสนะเป็นต้น ทรงกระทำ
การหนัก ดังนี้ ย่อมเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว. แม้ได้เห็นการ
บำเพ็ญทุกกรกิริยาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว คิดว่า พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงยังชีพให้เป็นไปด้วยวัตถุ มี น้ำต้มถั่วเขียว น้ำต้มถั่วพู และน้ำ-
ต้มหเรณุ เป็นต้น เพียงฟายมือ ๆ จักเจริญฌานอันไม่มีประมาณ ไม่ทรง
ห่วงใยในสรีระและชีวิตอยู่ตลอดหกปี โอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำกิจที่
ทำได้ยาก ดังนี้ ย่อมเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว.

ฝ่ายบุคคลมีประมาณในธรรม เห็นศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ
ฌานวิโมกข์ สมาธิสมบัติ สัมปทา ความบริบูรณ์แห่งอภิญญา ยมกปาฏิหาริย์
เทโวโรหณะ และความอัศจรรย์หลายประการ มีการทรมานปาฏิกบุตรเป็นต้น
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ย่อมเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเทียว.
บุคคลเหล่านั้น เลื่อมใสอย่างนี้แล้ว ย่อมนำลาภสักการะใหญ่ถวายแด่
พระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ลาภสักการะของเดียรถีย์ทั้งหลายก็เสื่อมไป ดุจกาใน
พาเวรุชาดก. เหมือนอย่างท่านกล่าวว่า
นางนกยูงร้องเสียงไพเราะ เพราะ
ไม่เห็นนกยูง จึงบูชากาในพาเวรุนั้น
ด้วยเนื้อและผลไม้ ก็ในกาลใด นกยูงที่
ถึงพร้อมด้วยเสียงสู่พาเวรุ ในกาลนั้น
ลาภและสักการะของกาก็เสื่อมไป ในกาล
ใด พระพุทธเจ้าผู้ธรรมราชา ทรงกระทำ
แสงสว่างยังไม่อุบัติขึ้น ในกาลนั้น ชนอื่น
เป็นอันมาก ได้บูชาสมณพราหมณ์ทั้ง
หลาย แต่ในกาลใด พระพุทธเจ้าทรงถึง
พร้อมด้วยเสียง ทรงแสดงธรรม ในกาล
นั้น ลาภและสักการะของเดียรถีย์ทั้งหลาย
ก็เสื่อมไป.

เดียรถีย์เหล่านั้น เสื่อมจากลาภและสักการะอย่างนี้แล้ว แม้จะยังราตรี
ให้สว่างเพียงหนึ่งนิ้ว สองนิ้ว ก็เป็นผู้เสื่อมจากรัศมี ดุจหิงห้อยทั้งหลายใน
เวลาพระอาทิตย์ขึ้นฉะนั้น.

หิงห้อยทั้งหลายย่อมแสดงออกซึ่ง
แสงในราตรีข้างแรม ก็นั้นเป็นนิสัยของ
หิงห้อยเหล่านั้น ในเวลาใด พระอาทิตย์
ที่ถึงพร้อมด้วยรัศมีขึ้นอยู่ ในเวลานั้น
แสงของหมู่หิงห้อยทั้งหลายก็หายไปฉันใด
แม้เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกนี้ ส่วนมาก
เป็นเช่นกับหิงห้อยฉันนั้น ย่อมแสดงคุณ
ตนในโลกที่เปรียบเหมือนข้างแรม แต่ใน
เวลาใด พระพุทธเจ้ามีรัศมีหาที่เปรียบ
มิได้ อุบัติขึ้นในโลก ในเวลานั้น เดียรถีย์
ทั้งหลายก็หมดรัศมี ดุจหิงห้อยทั้งหลาย
ในพระอาทิตย์ ฉะนั้น.

เดียรถีย์เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากรัศมีอย่างนี้ สรีระเกลื่อนกล่นด้วยหิด และ
ต่อมเล็ก ๆ เป็นต้น ถึงความเสื่อมอย่างยิ่ง ไปหาพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ และที่ประชุมของมหาชนแล้ว ยืนคร่ำครวญในระหว่างถนนบ้าง
ในตรอกบ้าง ในทางสี่แพร่งบ้าง ในสภาบ้าง ร้องประการต่าง ๆ อย่างนี้ว่า
ดูก่อนผู้เจริญ สมณโคดมเท่านั้นหรือเป็นสมณะ พวกเราไม่เป็นสมณะ สาวก
ของพระสมณโคดมเท่านั้นเป็นสมณะ สาวกแม้ของพวกเราก็ไม่เป็นสมณะ ทาน
ที่ให้สมณโคดมและสาวกของสมณโคดมนั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเรา
ไม่มีผลมาก สมณโคดมก็เป็นสมณะด้วย พวกเราก็เป็นสมณะด้วย สาวกของ
สมโคดมก็เป็นสมณะด้วย สาวกของพวกเราก็เป็นสมณะด้วย ทานที่ให้แก่
สมโคดมและแก่สาวกของสมณโคดมนั้นก็มีผลมากด้วย ทานที่ให้แก่พวกเรา
และแก่สาวกของพวกเรา ก็มีผลมากด้วย มิใช่หรือ ท่านทั้งหลายจงให้จงทำ

แก่สมณโคดมแก่สาวกของสมณโคดมนั้นด้วย จงให้จงทำแก่พวกเราและแก่
สาวกของพวกเราด้วย สมณโคดมอุบัติแล้วตลอดวันก่อน ๆ มิใช่หรือ แต่
พวกเราเมื่อเกิดขึ้นในโลกเทียว ก็ได้เกิดแล้วดังนี้. ลำดับนั้น บริษัทสี่ คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ฟังเสียงของเดียรถีย์เหล่านั้นแล้ว กราบ
ทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เดียรถีย์ทั้งหลาย กล่าวคำ
นี้และคำนี้ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญว่า สมณะมีในที่อื่น ตามคำพวกเดียรถีย์ เมื่อ
จะทรงปฏิเสธความเป็นสมณะในอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย และเมื่อจะทรงอนุญาต
ความเป็นสมณะในศาสนานี้เท่านั้น จึงตรัสพระสูตรแห่งความเกิดขึ้นของเรื่องนี้
อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในศาสนานี้เท่านั้น.
ในบทนั้น บทว่า อิเธว คือ ในศาสนานี้เท่านั้น. ก็ความจำกัดนี้
พึงทราบแม้ในบทที่เหลือ. ก็สมณะทั้งหลายแม้มีสมณะที่ 2 เป็นต้น ก็มีใน
ศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในที่อื่น. บทว่า สมโณ ได้แก่ พระโสดาบัน. ด้วย
เหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ เพราะสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็น
โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้สมณะ. สกทาคามี ชื่อว่า สมณะที่ 2. ด้วยเหตุนั้นแล
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ 2เป็นไฉน ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้เป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป
เพราะความที่ราคะ โทสะ และโมหะ เบาบางกลับมาสู่โลกนี้ ครั้งเดียวเท่านั้น
ก็จะทำที่สุคแห่งทุกข์ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้สมณะที่ 2 ดังนี้. พระอนาคามี
ชื่อว่า สมณะที่ 3. ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ก็สมณะที่ 3 เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ เพราะ

ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 อย่าง เป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในภพ
นั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้สมณะที่ 3. พระอรหันต์
ชื่อว่า สมณะที่ 4 ด้วยเหตุนั้นเเล พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ก็สมณะที่ 4 เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ กระทำ
ให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่ง
อาสวะทั้งหลายด้วยอภิญญาของตนเอง เข้าถึงอยู่ในทิฏฐธรรมเทียว ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย นี้สมณะที่ 4. ท่านประสงค์เอาสมณะที่ตั้งอยู่ในผลสี่ในที่นี้เทียว
ด้วยประการฉะนี้. บทว่า สุญฺญา ได้เเก่ ว่าง คือ เปล่า. บทว่า ปรปฺปวาทา
ความว่า วาทะว่าเที่ยง 4 วาทะ.ว่าเที่ยงเป็นบางส่วน 4 วาทะว่ามีที่สุดและไม่
มีที่สุด 4 วาทะที่ห้ามความไม่ตาย 4 วาทะที่เกิดขึ้นเฉพาะ 2 สัญญีวาทะ 16
อสัญญีวาทะ 8 เนวสญัญีนาสัญญีวาทะ 8 อุจเฉทวาทะ 7 ทิฏฐธัมนนิพพาน
วาทะ 5 แม้ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ มาแล้วในพรหมชาลสูตร วาทะของเหล่า
พาเหียรอื่นจากนี้ 62 ชื่อว่า ปรัปปวาทะ. วาทะเหล่านั้น แม้ทั้งหมด ว่างเปล่า
จากสมณะผู้ตั้งอยู่ในผลสี่เหล่านี้. ก็วาทะเหล่านั้น ไม่มีในสมณะนั้น. ก็วาทะ
เหล่านั้นไม่มีอย่างเดียวก็หาไม่ แต่สูญจากสมณะเหล่านั้นนั่นเทียว. อนึ่ง สูญ
จากสมณะแม้สิบสองนั่นเทียว คือ จากสมณผู้ตั้งอยู่ในมรรคสี่บ้าง จากสมณะ
ผู้วิปัสสกซึ่งปรารภเพื่อประโยชน์แก่มรรคสี่บ้าง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงเนื้อความนี้นั้นเอง จึงตรัสไว้ในมหา
ปรินิพพานสูตรว่า
ดูก่อนสุภัททะเรามีวัยได้ 29 ปี บวช
แล้วตามแสวงหาอะไรเป็นกุศล ดูก่อน
สุภัททะตั้งแต่เราบวชแล้วได้ 50 ปีเศษ
แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรม

เป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่
ธรรมวินัยนี้.

สมณะแม้ที่ 2 ก็ไม่มี สมณะแม้ที่ 4 ก็ไม่มี ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะผู้รู้ทั่วถึง. ก็ท่านประสงค์เอาผู้ปรารภวิปัสสนาว่า ปเทสวตฺตี ในมหา
ปรินิพพานสูตรนั้น. เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงกระทำผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อ
โสดาปัตติมรรคผู้ตั้งอยู่ในมรรค ผู้ตั้งอยู่ในผล แม้ทั้ง 3 ดังกล่าวเข้าด้วยกัน
แล้ว ตรัสว่า แม้สมณะก็ไม่มีดังนี้. ทรงกระทำผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อสกทา-
คามิมรรคผู้ตั้งอยู่ในมรรค ผู้ตั้งอยู่ในผล แม้ทั้ง 3 ดังกล่าวเข้าด้วยกัน
ตรัสว่า สมณะแม้ที่ 2 ก็ไม่มี. ในบททั้ง 2 แม้นี้ ก็นัยนี้เช่นเดียวกัน. ก็สมณะ
เหล่านั้น ไม่มีในลัทธิอื่น เพราะเหตุไร. เพราะลัทธิอื่นนั้นไม่มีเขต.
ก็เมล็ดผักกาดย่อมไม่ตั้งอยู่ในปลายเหล็กแหลม ไฟไม่ลุกโพลงในหลังน้ำ พืช
ทั้งหลายย่อมไม่งอกในแผ่นหิน ฉันใด สมณะเหล่านี้ย่อมไม่เกิดในลัทธิเดียรถีย์
ภายนอก ฉันนั้นเหมือนกัน. ในศาสนานี้เท่านั้น. เพราะเหตุไร. เพราะ
ศาสนานี้มีเขตดี. ก็ความที่ลัทธิเดียรถีย์ไม่มีเขต และความที่ศาสนานี้มีเขตนี้นั้น
พึงทราบโดยความไม่มี และความมีอริยมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงตรัสว่า ดูก่อนสุภัททะ มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐอันบุคคลไม่ได้ในธรรม
วินัยใดแล แม้สมณะก็ไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น สมณะแม้ที่ 2 ก็ไม่ได้ใน
ธรรมวินัยนั้น สมณะแม้ที่ 3 ก็ไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น สมณะแม้ที่ 4 ก็ไม่ได้ใน
ธรรมวินัยนั้น ดูก่อนสุภัททะ มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐย่อมได้ในธรรม
วินัยใดแล แม้สมณะย่อมได้ในธรรมวินัยนั้น สมณะแม้ที่ 2 ก็ย่อมได้ใน
ธรรมวินัยนั้น ฯลฯ สมณะแม้ที่ 4 ก็ย่อมได้ในธรรมวินัยนั้น ดูก่อนสุภัททะ
มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐย่อมได้ในธรรมวินัยนั้นแล ดูก่อนสุภัททะ
สมณะมีในศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่ 2 ก็มีในศาสนานี้ สมณะที่ 3 ก็มีใน

ศาสนานี้ สมณะที่ 4 ก็มีในศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่น สูญจากสมณะผู้รู้
ทั่วถึง ดังนี้. เพราะลัทธิเดียรถีย์ไม่มีเขต ศาสนามีเขตอย่างนี้ เพราะฉะนั้น
ไกสรสีหะมีแสงสว่างพราวแพรว เป็นพระยาเนื้อ ซึ่งมีเท้าหน้าและเท้าหลัง
แดงจัด ย่อมไม่อาศัยอยู่ในป่าช้า หรือกองหยากเยื่อ แต่เข้าไปสู่หิมวันต์ซึ่ง
กว้างสามพันโยชน์ อยู่ในถ้ำแก้วมณีฉันใด. พระยาช้างฉัททันต์ ย่อมไม่เกิด
ในตระกูลช้าง 9 มีตระกูลช้างโคจริยะเป็นต้น แต่เกิดในตระกูลช้างฉัททันต์
เท่านั้นฉันใด. พระยาม้าวลาหกไม่เกิดในตระกูลลา หรือในตระกูลอูฐ แต่เกิด
ในตระกูลม้าสินธพที่ฝั่งแม่น้ำสินธุเท่านั้น ฉันใด. มณีรัตนะอันนำความพอใจ
ให้สิ่งของที่ประสงค์ทุกอย่าง ย่อมไม่เกิดในกองหยากเยื่อ หรือในภูเขา มีภูเขา
ดินเป็นต้น ย่อมเกิดในระหว่างภูเขาวิบุลบรรพตเท่านั้นฉันใด. พระยาปลา
ติมิรมิงคละ ย่อมไม่เกิดในบ่อและสระโบกขรณีเล็ก ๆ ย่อมเกิดในมหา-
สมุทรที่ลึกได้ 84,000 โยชน์เท่านั้นฉันใด. พระยาครุฑใหญ่ 150 โยชน์
ย่อมไม่อาศัยอยู่ในป่ามีป่าละหุ่งเป็นต้น ที่ใกล้ประตูบ้าน แต่บินข้ามมหาสมุทร
แล้ว อาศัยอยู่ในสิมพลิทหวันเท่านั้นฉันใด. พระยาหงส์ทองธตรัฏฐะ ไม่
อาศัยอยู่ในที่ทั้งหลาย มีบ่อน้ำเป็นต้นที่ใกล้ประตูบ้าน แต่มีหงส์ 90,000 ตัว
เป็นบริวาร อาศัยอยู่ในภูเขาจิตตกูฏบรรพตเท่านั้นฉันใด. และพระเจ้าจักร-
พรรดิผู้เป็นใหญ่ในทวีปทั้งสี่ ย่อมไม่เกิดในตระกูลต่ำ แต่ย่อมเกิดในตระกูล
กษัตริย์ที่ไม่เจือปนเท่านั้นฉันใด. ในสมณะเหล่านี้ แม้สมณะหนึ่ง ก็ไม่เกิด
ในลัทธิของอัญญเดียรถีย์ แต่ย่อมเกิดในพระพุทธศาสนา ซึ่งแวดล้อมด้วย
อริยมรรคเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในศาสนานี้เท่านั้น ฯลฯ ลัทธิของศาสดา
อื่นว่างเปล่า จากสมณะทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึง ดังนี้.

บทว่า สมฺมา ในบทว่า สมฺมา สีหนาทํ นทถ นั้น ได้แก่
โดยเหตุ โดยนัย โดยการณ์. บทว่า สีหนาทํ คือ การบันลือที่ประเสริฐ
ที่สุด คือ การบันลือที่ไม่น่ากลัว การบันลือที่ไม่ติดขัด. ก็เพราะความที่
สมณะสี่เหล่านี้มีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น การบันลือนี้เป็นการบันลือสูงสุด ชื่อว่า
การบันลือที่ประเสริฐที่สุด. การบันลือของภิกษุผู้กล่าวว่า สมณะเหล่านี้มีใน
ศาสนานี้เท่านั้น ชื่อว่า การบันลือที่ไม่น่ากลัว เพราะภัยหรือความหวาดระแวง
จากที่อื่นไม่มี. การบันลือนี้ว่าสมณะเหล่านี้มีอยู่ในศาสนาแม้ของพวกเรา ชื่อว่า
การบันลือไม่ติดขัด เพราะความที่บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายมีปูรณะเป็นต้น แม้
คนหนึ่งก็ไม่สามารถเพื่อจะลุกขึ้นกล่าวได้. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า บทว่า
สีหนาทํ คือ การบันลือที่ประเสริฐที่สุด คือ การบันลือที่ไม่น่ากลัว การ
บันลือที่ไม่ติดขัด ดังนี้. บทว่า ฐานํ โข ปเนตํ วิชฺชติ ความว่า ก็
การณ์นี้แลมีอยู่. บทว่า ยํ อญฺญติตฺถิยา คือ พวกอัญญเดียรถีย์ โดย
การณ์ใด. อนึ่ง. พึงทราบติดถะ พึงทราบติตถกร พึงทราบเดียรถีย์ พึงทราบ
ติดถิยสาวกในที่นี้. ทิฏฐิ 62 อย่าง ชื่อว่า ติตถะ. ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมข้าม
ย่อมลอยไป ย่อมกระทำการผุดขึ้น ดำลงในท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า
ติตถะ แปลว่า เป็นที่ข้ามของสัตว์ทั้งหลาย. ความที่ให้ทิฏฐิเหล่านั้น เกิดขึ้น
ชื่อว่า ติตถกร แปลว่า เจ้าลัทธิ. ผู้ถือลัทธิของเจ้าลัทธินั้นแล้ว บวช ชื่อ
ว่าเดียรถีย์. ผู้ให้ปัจจัยแก่เดียรถีย์เหล่านั้น พึงทราบว่า ติตถิยสาวก แปลว่า
สาวกของเดียรถีย์. ผู้ที่ละความผูกพันทางฆราวาสแล้ว ถึงการบวชชื่อว่า
ปริพาชก. ที่พึ่ง การดำรง การบำรุง ชื่อว่า อัสสาสะ เรี่ยวแรง ชื่อว่า
พละ. บทว่า เยน ตุมฺเห ความว่า พวกเธอจงกล่าวอย่างนี้ด้วยอัสสาสะ
หรือพละใด. ในบทนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม 4 ประการ อันพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตรัสแล้วมีอยู่ ดังนี้ มีเนื้อความโดยย่อดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ใด บำเพ็ญบารมี 30 ทัด กำจัดกิเลสทั้งปวง ตรัสรู้โดยชอบยิ่ง ซึ่งสัมมา-
สัมโพธิอันยวดยิ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รู้อาสยานุสัยของสัตว์
เหล่านั้น ๆ ผู้เห็นธรรมที่ควรรู้ทั้งหมด เหมือนมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือ
ฉะนั้น. อนึ่ง ทรงรู้ด้วยญาณทั้งหลายมีปุพเพนิวาสญาณเป็นต้น ทรงเห็น
ด้วยทิพยจักษุ. อนึ่ง ทรงรู้ด้วยวิชชา 3 หรือ อภิญญา 6 ทรงเห็นด้วยสมันต-
จักษุ อันไม่ติดขัดในที่ทั้งปวง. ทรงรู้ด้วยปัญญาอันสามารถที่จะรู้ธรรมทั้งปวง
ทรงเห็นรูปทั้งหลายที่ล่วงจักษุวิสัยของสัตว์ทั้งปวง หรือที่อยู่ในกำแพงเป็นต้น
ด้วยมังสจักษุอันหมดจดยิ่ง ทรงรู้ด้วยปฏิเวธปัญญาอันเป็นปทัฏฐานแห่งสมาธิ
อันยิ่งประโยชน์ตนให้สำเร็จ ทรงเห็นด้วยเทศนาปัญญา อันเป็นปทัฏฐานแห่ง
กรุณา อันยังประโยชน์คนอื่นให้สำเร็จ. ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ เพราะความ
ที่กิเลสอันเป็นข้าศึกทั้งหลายทรงละได้แล้ว และเพราะความที่พระองค์เป็นผู้
สมควรแก่ปัจจัยเป็นต้น. ชื่อว่า สัมมาสัมพุทธะ เพราะความที่สัจจะทั้งหลาย
อันพระองค์ตรัสรู้แล้วโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง. อนึ่ง ทรงรู้ธรรมอัน
ประกอบด้วยอันตรายทั้งหลาย ทรงเห็นธรรมอันเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจาก
ทุกข์ทั้งหลาย ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ เพราะความที่ข้าศึกคือกิเลศทั้งหลาย
อันพระองค์ละได้แล้ว ชื่อว่า สัมมาสัมพุทธะ เพราะความที่ธรรมทั้งปวง
อันพระองค์ตรัสรู้แล้ว ด้วยพระองค์เอง อันมหาชนชมเชยแล้วด้วยอาการ 4
ด้วยสามารถแห่งเวสารัชชะ 4 ได้ตรัสธรรม 4 ด้วยประการฉะนี้. พวกเรา
ใด เห็นธรรมเหล่านี้ในตน จงกล่าวอย่างนี้ จงอย่ากล่าวถึงการบำรุงช่วยเหลือ
หรือกำลังกายของพระราชาและราชมหาอำมาตย์เป็นต้น. บทว่า สตฺถริ
ปสาโท ได้แก่ความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นแก่ผู้ระลึกถึงพุทธคุณโดยนัยมีอาทิว่า
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. บทว่า ธมฺเม ปสาโท

ได้แก่ ความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นแก่ผู้ระลึกถึง โดยนัยมีอาทิว่า พระธรรมอันพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว. บทว่า สีเลสุ ปริปูรการิตา คือ ความเป็น
ผู้กระทำบริบูรณ์ในศีลทั้งหลายอันพระอริยเจ้าใคร่แล้ว. ศีลห้า ชื่อว่า อริย-
กันตศีล จริงอยู่ พระอริยสาวก แม้อยู่ในระหว่างภพ แม้เมื่อไม่รู้ความที่ตน
เป็นพระอริยเจ้า ก็ไม่ล่วงละเมิดศีลห้าเหล่านั้น ถ้าจะมีใครพึงกล่าวกะอริยสาวก
นั้นว่า ขอให้ท่านรับเอาราชสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ทั้งสิ้นนี้แล้ว จง
ปลงแมลงวันตัวเล็กจากชีวิต ดังนี้. ข้อที่พระอริยสาวกจะพึงทำตามคำของผู้นั้น
นั้นไม่เป็นฐานะจะมีได้. ศีลทั้งหลาย เป็นที่ใคร่ คือ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ
ของพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วยประการฉะนี้. ทรงหมายถึงศีลเหล่านั้น จึงตรัสว่า
ความเป็นผู้ทำบริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ดังนี้. บทว่า สหธมฺมิกา โข ปน
ได้แก่ ผู้มีปกติประพฤติธรรมร่วมกัน 7 พวก นั่น คือ ภิกษุ ภิกษุณี
สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา. จริงอยู่ ในสหธรรมจารี
เหล่านั้น ภิกษุ ชื่อว่า ประพฤติธรรมร่วมกับภิกษุทั้งหลาย เพราะความเป็น
ผู้มีสิกขาเสมอกัน ภิกษุณี ก็ประพฤติธรรมร่วมกับภิกษุณีทั้งหลายเช่นเดียวกัน
ฯลฯ อุบาสิกา ก็ประพฤติธรรมร่วมกับอุบาสิกาทั้งหลาย พระโสดาบันก็
ประพฤติธรรมร่วมกับพระโสดาบันทั้งหลาย พระสกทาคามีฯลฯ พระอนาคามี
ก็พระพฤติธรรมร่วมกับพระอนาคามีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สหธรรมจารี
เหล่านั้นทั้งหมดแล เรียกว่า สหธัมมิก. อนึ่ง ในที่นี้ ท่านประสงค์พระ-
อริยสาวกอย่างเดียว. เพราะพระอริยสาวกเหล่านั้น ไม่มีความวิวาทในการเห็น
มรรคแม้ในระหว่างแห่งภพ เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกเหล่านั้น จึงชื่อว่า
สหธัมมิก. เพราะมีปกติพระพฤติธรรมอันเดียวกันโดยแท้. ท่านแสดงความ
เลื่อมใสที่เกิดแก่ผู้ระลึกถึงพระสงฆ์โดยนัยมีอาทิว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี
พระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ด้วยบทนี้. องค์ทั้งหลายแห่งพระโสดาบันสี่เป็น

อันท่านแสดงแล้ว ด้วยประการเพียงนี้. บทว่า อิเม โข โน อาวุโส
ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ธรรมสี่เหล่านี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น
ตรัสว่า เป็นความมั่นใจ และเป็นกำลังของพวกเรา. พวกเราใด เล็งเห็น
ธรรมเหล่านี้ในตน จงกล่าวอย่างนี้. ปริพาชกแสดงอ้างศาสดาทั้งหก มี
ปูรณกัสสป เป็นต้น ด้วยบทนี้ว่า ผู้ใด เป็นศาสดาของพวกเรา. ก็บัดนี้
มีความรักอันอาศัยเรือนว่า อาจารย์ของพวกเรา อุปัชฌาย์ของพวกเรา ในบุคคล
ทั้งหลายมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้นในศาสนา โดยประการใด ปริพาชก
กล่าวว่า ความเลื่อมใสในศาสดา หมายถึงความรัก เห็นปานนั้น. ก็พระเถระ
กล่าวว่า เพราะพระศาสดาไม่ใช่เป็นของคนเดียว ไม่ใช่เป็นของสองคน แต่
เป็นพระศาสดาพระองค์เดียวเท่านั้น ของโลก พร้อมกับเทวโลก เพราะฉะนั้น
เดียรถีย์ทั้งหลายได้แบ่งศาสดาออกเป็นแผนก ด้วยบทเดียวเท่านั้นว่า ศาสดา
ของพวกเรา เป็นอันพลาดแล้ว แพ้แล้วด้วยบทนี้เทียว ดังนี้. ก็ในบทว่า
ธมฺเม ปสาโท นี้ ปริพาชกทั้งหลายสำคัญว่า ทีฆนิกายของพวกเรา
มัชฌิมนิกายของพวกเราในศาสนาในบัดนี้ ฉันใด ย่อมกล่าวหมายถึงความรัก
อันอาศัยเรือนในปริยัติธรรมของตน ๆ ฉันนั้น. บทว่า สีเลสุ คือ ในศีล
ทั้งหลาย มีศีลแพะ ศีลโค ศีลแกะ และศีลสุนัขเป็นต้น. ปริพาชกทั้งหลาย
กล่าวหมายถึงความเลื่อมใสว่า อิธ ในบทนี้ว่า อิธ โน อาวุโส ดังนี้.
บทว่า โก อธิปฺปาโย ได้แก่ การประกอบข้อประสงค์อะไร. บทว่า ยทิทํ
ความว่า ปริพาชกทั้งหลายเป็นผู้มีธุระเสมอกันดำรงอยู่ด้วยถ้อยคำว่า ท่าน
พึงกล่าวข้อที่กระทำให้ต่างกันระหว่างของพวกท่านและของพวกเรานี้ใด ข้อนั้น
เป็นความเลื่อมใสในฐานสี่แม้ของพวกท่าน ชื่อไร ก็เป็นความเลื่อมใสในฐาน
เดียวกันกับของพวกเราด้วยมิใช่หรือ พวกท่านและพวกเราเป็นเช่นกับพวก
เดียวกัน ดุจทองคำที่แตกออกเป็น 2 ส่วนแล้ว ฉะนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มี

พระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำลายความเป็นผู้มีธุระเสมอกันนั้นของปริพาชก
เหล่านั้น จึงตรัสว่า เอวํ วาทิโน ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
เอกา นิฏฺฐา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงถามอย่างนี้ว่า
ความสำเร็จอันเป็นที่สุดแห่งความเลื่อมใสนั้นใด ความสำเร็จนั้นมีอย่างเดียว
หรือมีมากอย่าง. ก็เพราะชื่อผู้บัญญัติความสำเร็จในลัทธินั้น ๆไม่มี อสัญญีภพ
จึงถูกกำหนดอย่างนี้ว่า ก็พรหมโลกเป็นของพวกพราหมณ์ ความสำเร็จ คือ
ความดับมีอย่างเดียว อาภัสสราเป็นของพวกดาบส สุภกิณหาเป็นของพวกปริ-
พาชก โดยที่สุดเป็นของพวกอาชีวก. ก็อรหัต คือ ความสำเร็จในศาสนานี้.
ก็พวกปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมดย่อมกล่าวว่า อรหัตเท่านั้น คือความสำเร็จ.
อนึ่ง ย่อมบัญญัติโลกทั้งหลายมีพรหมโลกเป็นต้น ด้วยอำนาจทิฏฐิ เพราะ
ฉะนั้น จึงบัญญัติความสำเร็จมีอย่างเดียวเท่านั้นด้วยอำนาจแห่งลัทธิของตน ๆ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงความสำเร็จนั้น จึงตรัสว่า เมื่อจะพยากรณ์
โดยชอบ ดังนี้เป็นต้น.
บัดนี้ ครั้นเมื่อความสำเร็จ 2 อย่าง คือ ความสำเร็จมีอย่างเดียวใน
ศาสนานี้สำหรับภิกษุทั้งหลายด้วย ความสำเร็จมีอย่างเดียวสำหรับเดียรถีย์ทั้ง
หลายด้วย ดำรงอยู่เหมือนลูกความทั้งหลายฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อ
ทรงแสดงวัตรแห่งการประกอบเนืองๆ จึงตรัสว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ความ
สำเร็จนั้นเป็นของผู้มีราคะ หรือของผู้ปราศจากราคะ ดังนี้เป็นต้น. ในที่นี้
เพราะธรรมดาความสำเร็จของผู้มีกิเลสทั้งหลายมีผู้อันราคะย้อมเป็นต้นไม่มี
เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงพยากรณ์โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ความ
สำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากราคะแก่เดียรถีย์ทั้งหลาย ผู้เห็นโทษนี้ว่า ผิว่าแม้
สุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้นจะพึงมีไซร้ ก็จะพึงมี ดังนี้. บรรดาบทเหล่า
นั้น บทว่า วิทฺทสุโน ได้แก่ บัณฑิต. บทว่า อนุรุทฺธปฏิวิรุทฺธสฺส ได้

แก่ ผู้ยินดีด้วยราคะผู้ยินร้ายด้วยความโกรธ. ในบทว่า ปปญฺจารามสฺส
ปปญฺจรติโน นั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีในความเนิ่นช้านั้น เพราะฉะนั้น
ความเนิ่นช้านั้น จึงชื่อว่า อาราโม เป็นที่มายินดี. ความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี
ของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปปญฺจาราโม แปลว่าผู้มี
ความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี. ความยินดีในความเนิ่นช้าของบุคคลนั้น เพราะ
ฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปปญฺจรตี ผู้ยินดีในความเนิ่นช้า. บทว่า ปปญฺโจ
นั้น เป็นชื่อของตัณหาทิฏฐิและมานะ อันเป็นไปแล้วโดยความเป็นอาการของ
ผู้มัวเมาและผู้ประมาทแล้ว. ก็ในที่นี้ ท่านประสงค์เฉพาะตัณหาและทิฏฐิเท่า
นั้น. กิเลสอย่างเดียวเท่านั้นมาแล้วในฐานะ 5 ว่าของผู้มีราคะเป็นต้น พึง
ทราบอาการและความเป็นต่าง ๆ ของกิเลสนั้น. ก็ท่านถือเอากิเลสด้วยอำนาจ
ราคะที่เจือด้วยกามคุณห้า ในที่ท่านกล่าวว่า สราคสฺส. ถือเอากิเลสด้วยอำนาจ
ภวตัณหาในบทว่า สตณฺหสฺส. ถือเอากิเลสด้วยอำนาจการยึดถือในบทว่า
สอุปาทานสฺส. ถือเอากิเลสด้วยอำนาจคู่ในบทว่า อนุรุทฺธปฏิวิรุทฺธสฺส.
ถือเอากิเลสด้วยอำนาจการแสดงความเกิดขึ้นของกิเลสเครื่องเนิ่นช้าในบทว่า
ปปญฺจรามสฺส. อีกอย่างหนึ่ง ถือเอากิเลสด้วยอำนาจอกุศลมูลในบทนี้ว่า
สราคสฺส. ถือเอากิเสสด้วยอำนาจอุปาทาน เพราะตัณหาเป็นปัจจัยให้บทนี้ว่า
สตณฺหสฺส. บทที่เหลือก็เช่นกับบทก่อนนั้นเทียว. ก็พระเถระกล่าวว่า ท่าน
จงกำจัดอย่างนี้เพราะเหตุไร เพราะโลภตัวเดียวนี้เท่านั้นกล่าวว่า ราคะ ด้วย
อำนาจแห่งความยินดี ก็ชื่อว่า ตัณหา ด้วยอำนาจการกระทำความทะยานอยาก
ชื่อว่า อุปาทาน ด้วยอรรถว่ายึดถือ ชื่อว่า ความยินดีและความยินร้าย ด้วย
อำนาจคู่ ชื่อว่า ปปัญจะ ด้วยอรรถว่า เกิดขึ้นแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า. บัดนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงทิฏฐิวาทะอันเป็นรากเหง้าของกิเลสเหล่านี้
จึงตรัสว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ทิฏฺฐิโย ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า ภวทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นว่าเที่ยง. บทว่า วิภวทิฏฺฐิ ได้แก่
ความเห็นว่าขาดสูญ. บทว่า ภวทิฏฺฐิ อลฺลีนา ความว่า ผู้แอบอิง ความ
เห็นว่าเที่ยงด้วยอำนาจตัณหาทิฏฐิ. บทว่า อุปคตา ความว่า เข้าถึงด้วย
อำนาจตัณหาทิฏฐิเทียว. บทว่า อชฺโฌสิตา ความว่า ตามเข้าไปด้วยอำนาจ
ตัณหาทิฏฐินั้นเทียว. บทว่า วิภวทิฏฺฐิยา เต ปฏิวิรุทฺธา ความว่า สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้ยินร้ายว่า พวกท่านโง่เขลาพร้อมด้วยผู้
กล่าวว่าขาดสูญ ไม่รู้ว่า โลกนี้เที่ยง โลกนี้ไม่ขาดสูญ ขวนขวายในการทะเลาะ
เป็นนิตย์อยู่. แม้ในวาระที่สอง ก็นัยนี้เหมือนกัน. ในบทมีว่า สมุทยญฺจ
เป็นต้น แดนเกิดของทิฏฐิทั้งหลายมีสองอย่าง คือ ขณิกสมุทัย 1 ปัจจยสมุทัย
1. ความเกิดของทิฏฐิทั้งหลาย ชื่อว่า ขณิกสมุทัย ฐานะที่ตั้งอยู่ไม่ได้แห่ง
ทิฏฐิทั้งหลาย ชื่อว่า ปัจจยสมุทัย. อย่างไร. คือ ขันธ์ก็ดี อวิชชาก็ดี ผัสสะ
ก็ดี สัญญาก็ดี วิตกก็ดี อโยนิโสมนสิการก็ดี ปาปมิตรก็ดี เสียงกึกก้องอย่างอื่นก็ดี
จัดเป็นทิฏฐิฐานะ. ขันธ์ทั้งหลายเป็นเหตุ ขันธ์ทั้งหลายเป็นปัจจัย แห่งความ
เกิดขึ้นของทิฏฐิทั้งหลาย เพราะอรรถว่าตั้งขึ้นพร้อม. แม้ขันธ์ทั้งหลายชื่อว่า
ทิฏฐิฐานะ ด้วยประการฉะนี้. อวิชชา ผัสสะ สัญญา วิตก อโยนิโสมนสิการ
ปาปมิตร เสียงกึกก้องฝ่ายอื่น เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความเกิดขึ้นของทิฏฐิ
ทั้งหลาย เพราะอรรถว่าตั้งขึ้นพร้อม. แม้เสียงกึกก้องฝ่ายอื่น ชื่อว่า ทิฏฐิฐานะ
ด้วยประการฉะนี้. แม้การตั้งอยู่ไม่ได้มีสองอย่างเท่านั้น คือ ขณิกัตถังคมะ 1
ปัจจัยตถังคมะ 1. ความสิ้น ความเสื่อม ความแตก ความสลาย ความไม่เที่ยง
ความหายไป ชื่อว่า ขณิกัตถังคมะ โสดาปัตติมรรค ชื่อ ปัจจัยตถังคมะ.
ก็โสดาปัตติมรรค ท่านกล่าวว่า ทำลายพร้อมซึ่งทิฏฐิทั้งหลาย. บทว่า อสฺสาทํ
คือ กล่าวหมายถึงอานิสงส์อันมีทิฏฐิเป็นมูล. อธิบายว่า พระศาสดาทรงมีทิฏฐิใด
สาวกทั้งหลายก็เป็นผู้มีทิฏฐินั้น สาวกทั้งหลาย ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ

บูชาย่อมได้พระศาสดาทรงมีทิฏฐิใด ทิฏฐินั้นเป็นต้นเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ. คิลานปัจจัย เภสัชและบริขารทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
อานิสงส์ที่ประกอบด้วยทิฏฐิธรรมแห่งทิฏฐิ. บทว่า อาทีนวํ ได้แก่ อุปัททวะ
ซึ่งมีการยึดถือทิฏฐิเป็นมูล. อาทีนพนั้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่งวัตรทั้งหลายมี
อาทิว่า วัคคุลิวัตร อุกกุฏิกปธานะ กัณฏกาปัสสยตา ปัญจาตปตัปปนะ
มรุปปปาตปตนะ เกสมัสสุโลจนะ อัปปาณกฌาน. บทว่า นิสฺสรณํ ได้แก่
นิพพาน ชื่อว่า สลัดออกซึ่งทิฏฐิทั้งหลาย. บทว่า ยถาภูตํ นปฺปชานนฺติ
ความว่า สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใด ไม่รู้สมุทัยเป็นต้นนั้นทั้งหมด ตาม
สภาวะ. บทว่า น ปริมุจฺจนฺติ ทุกฺขสฺมา ความว่า ไม่หลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์
ทั้งสิ้น. ด้วยบทนี้ ทรงแสดงว่า ชื่อว่า ความสำเร็จของสมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นไม่มี. บทว่า ปริมุจฺจนฺติ ทุกฺขสฺมา ความว่า ย่อมหลุดพ้นจาก
วัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น. ด้วยบทนี้ ทรงตั้งไว้ซึ่งความสำเร็จมีในศาสนาเท่านั้น ดุจ
ทรงตัดสินคดีของลูกความทั้งสองว่า ความสำเร็จของสมณะหรือพราหมณ์เหล่า
นั้น มีอยู่ ดังนี้.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงการตัดทิฏฐิ จึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน 4 อย่างเหล่านี้เป็นต้น. กถาว่าด้วยความพิสดาร
ของอุปาทานเหล่านั้น ได้กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นเทียว. บทว่า สพฺพูปา-
ทานปริญฺญาวาทา ปฏิชานมานา
ความว่า ปฏิญาณอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย
ย่อมกล่าวความรอบรู้ คือ ความก้าวล่วงอุปาทานทุกอย่าง. บทว่า น สมฺมา
สพฺพูปาทานสฺส ปริญฺญํ ปญฺญเปนฺติ
ความว่า ย่อมไม่บัญญัติการก้าวล่วง
อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ. บางพวกบัญญัติความรอบรู้เพียงกามูปาทานเท่านั้น
บางพวกบัญญัติความรอบรู้เพียงทิฏฐุปาทาน บางพวกบัญญัติความรอบรู้แม้
เพียงสีลัพพตูปาทาน. แต่ผู้ชื่อว่าบัญญัติความรอบรู้อัตตวาทูปาทานไม่มี. ก็

เมื่อจะทรงแสดงการจำแนกอุปาทานเหล่านั้น จึงตรัสว่า บัญญัติความรอบรู้
กามูปาทานดังนี้เป็นต้น. ในอุปาทานเหล่านั้น สมณพราหมณ์แม้ทั้งหมด
บัญญัติความรอบรู้กามูปาทานเท่านั้น. ก็แม้ความเห็นนอกรีตนอกรอย 96
ประการ ก็คือ กามแล อันบรรพชิตไม่พึงเสพ เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์
จึงไม่บัญญัติว่าผู้เสพวัตถุ ย่อมควร กระทำให้เป็นอกัปปิยเท่านั้นแล้ว จึง
บัญญัติ. ก็บุคคลเหล่าใดเสพ บุคคลเหล่านั้นเสพโดยไถยจิต. เพราะฉะนั้น
จึงตรัสว่า ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามูปาทาน ดังนี้. เพราะสมณพราหมณ์
ถือว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล ดังนี้เป็นต้นเที่ยวไป ย่อมถือว่า ความบริสุทธิ์ด้วย
ศีล ความบริสุทธิ์ด้วยวัตร ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ด้วยภาวนา ชื่อว่าไม่สละ
อัตตุปลัทธิ เพราะฉะนั้น จึงไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐูปาทานอัตตวาทูปา-
ทาน. บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ ความว่า การไม่บัญญัตินั้นเป็นเหตุไร เเห่ง
อุปาทานเหล่านั้น คือ เพราะเหตุไร. บทว่า อิมานิ หิ เต โภนฺโต ความ
ว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้การณ์ 3 อย่างนี้ตามสภาวะ. ก็สมณ
พราหมณ์เหล่าใด ย่อมรู้ตามสภาวะในบทนั้นว่า เหตุแห่งการบัญญัติความ
รอบรู้สองอย่างคือ ทิฏฐิและสีลัพพตะ นั้นพึงละ ทรงหมายถึงสมณพราหมณ์
เหล่านั้น จึงตรัสวาระสองอย่างไว้ข้างหน้า. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์เหล่าใด ถือว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ดังนี้เป็นต้น สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมบัญญัติความรอบรู้ทิฎฐูปาทาน. ส่วนเหล่าใด ถือว่า
ความบริสุทธิ์ด้วยศีล ความบริสุทธิด้วยวัตร ความบริสุทธิด้วยภาวนา เหล่านั้น
ย่อมบัญญัติความรอบรู้แม้สีลัพพตูปาทาน. แม้แม้ผู้หนึ่งไม่อาจเพื่อบัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทูปาทานข้างหน้า. ก็เดียรถีย์ทั้งหลายผู้ได้สมาบัติแปดก็ดี
ผู้เอามือลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์อยู่ก็ดี ย่อมบัญญัติความรอบรู้ 3
อย่าง แต่ไม่อาจเพื่อจะเปลื้องอัตตวาทะได้ เพราะฉะนั้น จึงตกอยู่ในวัฏฏะ

บ่อย ๆ นั้นเทียว. ก็เดียรถีย์เหล่านั้น ก็เหมือนกระต่ายรังเกลียดแผ่นดิน.
อุปมาเกี่ยวกับการสนทนาเนื้อเรื่องในที่นี้ดังนี้. ได้ยินว่า แผ่นดินกล่าวกะ
กระต่ายว่า แนะกระต่าย. กระต่ายพูดว่า นั้นใคร. แผ่นดิน. เจ้าสำเร็จ
อิริยาบถทั้งหมด ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะบนเราเทียว ทำไมจึงไม่รู้เรา
กระต่าย. ท่านเห็นเราด้วยดี ก็ที่อันเราเหยียบเป็นเหมือนที่ถูกต้องด้วยปลาย
นิ้ว น้ำที่ปล่อยออกมาก็มีประมาณน้อย กรีสก็เพียงเมล็ดตุมกา แต่แม้ที่อัน
ช้างและม้าเป็นต้นเหยียบแล้วเป็นที่ใหญ่ แม้ปัสสาวะของสัตว์เหล่านั้น
ประมาณเต็มหม้อ อุจจาระก็ประมาณกระเช้า เราพอละกับท่าน จึงกระโดดไป
อยู่ในที่อื่น. แต่นั้นแผ่นดินกล่าวกะกระต่ายนั้นว่า โอ ถึงเจ้าไปไกล เจ้าก็อยู่บน
เราแล้ว มิใช่หรือ. กระต่ายนั้นเกลียดแผ่นดินนั้นอีก จึงกระโดดไปอยู่ในที่อื่น.
กระต่ายกระโดดแล้วกระโดดอีกอยู่แม้พันปีอย่างนี้ ก็ไม่อาจพ้นแผ่นดินได้
เดียรถีย์ทั้งหลายก็เหมือนอย่างนั้น แม้บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง ก็ย่อม
บัญญัติการก้าวล่วงอุปาทาน 3 อย่าง มีกามูปทานเป็นต้นเท่านั้น. แต่ไม่อาจ
เพื่อจะพ้นอัตตวาทะได้ เมื่อไม่อาจจึงตกอยู่ในวัฏฏบ่อย ๆ นั่นเที่ยว. ด้วย
ประการฉะนี้ เดียรถีย์ทั้งหลายไม่อาจเพื่อก้าวล่วงอุปาทานใด พระผู้มีพระภาค-
เจ้าตรัสถึงวาทะที่ตัดขาดทิฏฐิ ด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนั้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะ
ทรงแสดงวาทะอันตัดความเลื่อมใส จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม
วินัยเห็นปานนี้แล ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมวินเย
ได้แก่ ในธรรมและวินัย. ทรงแสดงศาสนาซึ่งไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจาก
ทุกข์ ด้วยบทแม้ทั้งสอง. บทว่า โย สตฺถริ ปสาโท โส น สมฺมคฺคโต
ความว่า ก็ศาสดาในศาสนาที่ไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทำกาละแล้ว
เป็นสีหะบ้าง เสือโคร่งบ้าง เสือเหลืองบ้าง หมีบ้าง เสือดาวบ้าง.
ส่วนสาวกทั้งหลายของศาสดานั้น เป็นเนื้อบ้าง สุกรบ้าง กระต่ายบ้าง. มันไม่

ทำความอดทน หรือความหวังดี หรือความเอ็นดูว่า สัตว์เหล่านี้ เคยเป็น
อุปัฏฐาก ผู้ให้ปัจจัยแก่เรา ฆ่าสัตว์เหล่านั้นแล้ว ดูดเลือดบ้าง กินเนื้อสัน
ทั้งหลายบ้าง. ก็อีกประการหนึ่ง ศาสดาเกิดเป็นแมว. สาวกทั้งหลายเป็นไก่
หรือหนู. ลำดับนั้น แมวก็จะไม่ทำความอนุเคราะห์ย่อมกินไก่หรือหนูเหล่านั้น
โดยนัยกล่าวแล้วนั้นเทียว. อนึ่ง ศาสดาเป็นนายนิรยบาล สาวกทั้งหลายเป็น
สัตว์นรก. นายนิรยบาลนั้น จะไม่ทำความอนุเคราะห์ว่า สัตว์เหล่านี้ เคยให้
ปัจจัยแก่เรา ย่อมทำกรรมกรณ์ต่าง ๆ ใส่ในรถที่ร้อนจัดบ้าง ให้ขึ้นภูเขาไฟ
บ้าง ทิ้งศีรษะลงในหม้อโลหะบ้าง ประกอบด้วยทุกขธรรมหลายอย่างบ้าง.
ก็หรือสาวกทั้งหลายตายไปเป็นสัตว์มีสีหะเป็นต้น. ศาสดาเป็นสัตว์อย่างใด
อย่างหนึ่งมีเนื้อเป็นต้น. สัตว์เหล่านั้นไม่ทำความอดทน หรือความหวังดี
หรือความเอ็นดูในสัตว์นั้นว่า เราเคยอุปัฏฐากสัตว์นี้ด้วยปัจจัยสี่ สัตว์นี้เคย
เป็นศาสดาของพวกเรา ดังนี้ ย่อมให้ถึงความพินาศ โดยนัยกล่าวแล้วนั้น
เทียว. ในศาสนาที่ไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ด้วยประการฉะนี้ ความ
เลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้นไม่ไปแล้วโดยชอบ แม้ไปสู่กาละอย่าง
ไรแล้ว จะพินาศในภายหลังนั้นเทียว. บทว่า โย ธมฺเม ปสาโท ความว่า
ก็ธรรมดาความเลื่อมใสในธรรม ในศาสนาที่ไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์
เป็นความเลื่อมใสในตันติธรรม เพียงเรียน เล่าเรียน ทรงไว้และบอกแล้ว
แต่ความพ้นจากวัฏฏะไม่มีในความเลื่อมใสนั้น เพราะฉะนั้น ความเลื่อมใสใน
ธรรมนั้นใด ความเลื่อมใสนั้นรังแต่จะทำวัฏฎะให้ลึกบ่อย ๆ เพราะฉะนั้น
เรากล่าวว่าไม่ไปแล้วโดยชอบ คือ ไม่ไปแล้วโดยสภาวะ. บทว่า ยา สีเลสุ
ปริปูรการิตา
ความว่า ความกระทำให้บริบูรณ์ด้วยอำนาจแห่งศีลทั้งหลาย
มีศีลแพะเป็นต้น ในศาสนาที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์แม้ใด ความกระทำให้
บริบูรณ์แม้นั้น ไม่ยังให้ถึงความพ้นจากวัฏฏะ คือ ความสลัดออกจากภพ

ได้ แต่เนื้อถึงพร้อม ย่อมนำมาสู่กำเนิดเดียรัจฉาน เมื่อให้ผลย่อมนำมาสู่นรก
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าไปแล้วโดยชอบ. บทว่า ยา สหธมฺมิเกสุ
ความว่า ก็ในศาสนาอันไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ หมู่สหธรรมิกบาง
พวกทำกาละแล้ว เป็นสัตว์แม้มีสีหะเป็นต้น บางพวกเป็นสัตว์มีเนื้อเป็นต้น
ในสัตว์เหล่านั้น พวกที่เป็นสัตว์มีสีหะเป็นต้น ไม่ทำกิจมีความอดทนเป็นต้น
ในสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเนื้อเป็นต้นว่า สัตว์เหล่านี้เป็นสหธรรมิกของพวกเรา
ดังนี้แล้ว ยังมหาทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย มีเนื้อเป็นต้นเหล่านั้น โดย
นัยกล่าวแล้วในบทก่อนนั้นเทียว เพราะฉะนั้น แม้ความเป็นที่รักและน่าพอใจ
ในหมู่สหธรรมิกนั้น เราจึงกล่าวว่า ไม่ไปแล้วโดยชอบ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อจะทรงแสดงประเภทแห่งการณ์แม้ทั้งหมดนี้รวมกัน จึงตรัสว่า ข้อนั้น
เพราะเหตุอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น ดังนี้เป็นต้น. ความสังเขป
ในบทนั้น ดังนี้. บทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อที่เรากล่าวว่าความ
เลื่อมใสในศาสดาใด ไม่ไปแล้วโดยชอบนั้นย่อมเป็นอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้นนั้น
ย่อมเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร เพราะความเลื่อมใสเป็นต้นเหล่านั้น ใน
ธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวชั่วแล้ว ฯลฯ มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้. ก็
ในบทนั้น บทว่า ยถาตํ เป็นนิบาตลงในอรรถเเห่งตติยาวิภัตติ. บรรดาบท
เหล่านั้น บทว่า ทูรกฺขาเต ได้แก่ กล่าวไว้ไม่ดี. ชื่อว่า ประกาศไม่ดี
แล้ว เพราะความที่ธรรมวินัยนั้นกล่าวไว้ไม่ดีนั้นเทียว. ก็ธรรมวินัยนี้นั้น
ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มรรคและผล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนิยฺยา-
นิโก
แปลว่า ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์. ชื่อว่า ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
เพราะไม่เป็นไปเพื่อความสงบกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น. ชื่อว่า ไม่ใช่อันผู้
รู้เองโดยชอบประกาศไว้ เพราะอันผู้รู้เองโดยชอบ คือ สัพพัญญู ไม่ประ-
กาศไว้. ในธรรมวินัยนั้น มิใช่สภาพนำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความ

สงบ มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า
ความเลื่อมใสในเดียรถีย์ทั้งหลายไร้ประโยชน์ ดุจความเลื่อมใสในสุนัขจิ้งจอก
ดื่มสุราฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
ได้ยินว่า สุนัขจิ้งจอก ตาบอดข้างเดียวตัวหนึ่งเข้าสู่นครในกลางคืน
กินส่าสุราแล้วนอนหลับในป่าบุนนาค ตื่นขึ้นในเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้วคิดว่า
เราไม่อาจไปในเวลานี้ได้ สัตว์ที่เป็นเวรกับเรามีมาก สมควรหลอกลวงคนหนึ่ง
ดังนี้. สุนัขจิ้งจอกนั้นเห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งเดินไป จึงคิดว่าเราจักหลอกลวง
พราหมณ์นี้ แล้วกล่าวว่า ดูก่อนท่านพราหมณ์. พราหมณ์พูดว่า นั่นใคร
เรียกพราหมณ์. สุนัขจิ้งจอกตอบว่า เรา นาย ท่านจงมานี้ก่อน. พราหมณ์.
อะไรนาย. สุนัขจิ้งจอก. ท่านจงนำเราไปนอกบ้าน เราจักให้กหาปณะสอง
ร้อยแก่ท่าน. พราหมณ์นั้นพูดว่า เราจักนำไป แล้วจับที่เท้าทั้งหลาย. สุนัข
จิ้งจอกพูดว่า แน่ะพราหมณ์โง่ เราไม่มีกหาปณะทอดทิ้งไว้ กหาปณะเป็น
ของหาได้ยาก เจ้าจงจับเราดี ๆ. พราหมณ์. เราจะจับอย่างไร นาย. สุนัข
จิ้งจอก. ท่านจงเอาผ้าห่มสพายเราแล้วจับ. พราหมณ์จับสุนัขจิ้งจอกอย่างนั้น
แล้วไปสู่สถานใกล้ที่ประตูทางทิศใต้ แล้วถามว่า เราจักปล่อยในที่นี้. สุนัข
จิ้งจอก. นั่นที่ไหน. พราหมณ์. นั่นประตูใหญ่. สุนัขจิ้งจอก. เอ้ย
พราหมณ์โง่ ญาติของท่านเก็บกหาปณะไว้ในภายในประตูหรือ จงนำเราไปที่
อื่น. พราหมณ์นั้นบ่อย ๆ ไปพลางถามว่า เราจักปล่อยที่นี้ ๆ ถูกสุนัขจิ้งจอก
คุกคามแล้วบอกว่า ท่านจงไปที่ปลอดภัยแล้ว ปล่อยในที่นั้น ดังนี้แล้วปล่อย
ไป ถือผ้าสาฎก. กาณสิงคาลกล่าวว่า เราได้พูดไว้ว่า เราจักให้กหาปณะ
สองร้อยแก่ท่าน แต่เรามีกหาปณะมาก ไม่ใช่มีเพียงสองร้อยกหาปณะเท่านั้น
ท่านจงยืนดูพระอาทิตย์จนกว่าเราจะนำกหาปณะทั้งหลายมาให้ท่านแล้วค่อย ๆ
ไป กลับมาพูดกะพราหมณ์อีกว่า ท่านพราหมณ์ ท่านอย่ามองดูแต่ที่นี้

จงยืนมองดูพระอาทิตย์อย่างเดียว. ก็แลสุนัขจิ้งจอก ครั้นพูดอย่างนี้แล้ว ก็
เข้าไปสู่ป่าการะเกต หนีไปตามชอบใจ. ฝ่ายพราหมณ์มองดูพระอาทิตย์นั้น
เทียว จนเหงื่อไหลออกจากหน้าผาก เเละรักแร้. ลำดับนั้น รุกขเทวดาได้
กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขจิ้งจอก
ดื่มสุรา สุนัขจิ้งจอกทั้งร้อยไม่มีศิลปะ
กหาปณะตั้งสองร้อยจะมีแต่ที่ไหน.

ด้วยประการฉะนี้ ความเลื่อมใสในกาณสิงคาล ไร้ประโยชน์ ฉันใด
ความปีติอย่างดีในเดียรถีย์ ก็ไร้ประโยชน์ฉันนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความที่ความเลื่อมใสในศาสนาที่ไม่
เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นสิ่งไร้ประโยชน์แล้ว เพื่อทรงแสดงความที่
เลื่อมใสนั้นในศาสนาที่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ว่า เป็นสิ่งมีประโยชน์ จึง
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตถาคตแล ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า กามูปาทานสฺส ปริญฺญํ ปญฺญาเปติ ความว่า ทรงบัญญัติความ
รอบรู้ในการละ คือ การก้าวล่วงกามูปาทาน ด้วยอรหัตตมรรค ทรงบัญญัติ
ความรอบรู้อุปทาน 3 อย่างนอกนี้ ด้วยโสดาปัตติมรรค. บทว่า เอวรูเป
โข ภิกฺขเว ธมฺมวินเย
ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมและวินัย
เห็นปานนี้ ทรงแสดงศาสนาที่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ด้วยบทแม้ทั้งสอง.
บทว่า สตฺถริ ปสาโท ความว่า ในศาสนาเห็นปานนี้ ความเลื่อมใสใน
พระศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ คือ ย่อมเป็น
ไปเพื่อสลัดออกจากทุกข์ในภพ. ในข้อนั้นมีเรื่องเหล่านี้.

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอยู่ในถ้ำอินทศาล ณ เวทิสสก
บรรพต. ครั้งนั้นนกฮูกตัวหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่บ้าน
เพื่อบิณฑบาต ก็บินตามได้ครึ่งทาง ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกมา ก็ทำ
การต้อนรับครึ่งทาง. ในวันหนึ่ง นกฮูกนั้นลงจากภูเขาไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งในเวลาเย็น โดยป้องปีก ประคองอัญชลี
ทำศีรษะให้ต่ำลง ยืนนมัสการพระทศพลอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูนกฮูก
นั้นแล้ว ทรงกระทำการยิ้มแย้ม. พระอานนทเถระทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยแห่งการทรงยิ้มแย้มให้ปรากฏ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงดูนกฮูกนี้ นกฮูกนี้ยังจิตให้
เลื่อมใสในเราและในพระภิกษุสงฆ์แล้วท่องเที่ยวในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ตลอดแสนกัป จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าโสมนัส ดังนี้แล้ว จึงตรัส
พระคาถาว่า
ดูก่อนนกฮูกตากลม อยู่เป็นเวลายาว
นานในภูเขาเวทิสสกะ เจ้านกฮูก เจ้ามี
ความสุขแล้ว เจ้านั้นเห็นพระพุทธเจ้าผู้
ประเสริฐผู้ลุกขึ้นตามกาล ยังจิตให้เลื่อมใส
ในเรา และในพระภิกษุสงฆ์อันยอดเยี่ยม
จะไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป ครั้นเคลื่อน
จากเทวโลกแล้ว อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีญาณอันหาที่
สุดมิได้ปรากฏนามว่า โสมนัส.

ก็เรื่องทั้งหลายมีเรื่องสุมนมาลาการ ในนครราชคฤห์ เรื่องมหา
เภริวาทกะ เรื่องโมรชาดก เรื่องวีณาวาทะ เรื่องสังขธมกะ ดังนี้เป็นต้น
แม้อื่นๆ พึงให้พิสดารในเรื่องนั้น. ความเลื่อมใสในพระศาสดาในศาสนาที่เป็น
เครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นอันไปแล้วโดยชอบ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ธมฺเม ปสาโท ความว่า ความเลื่อมใสในธรรม ในศาสนา
ที่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นอันไปแล้วโดยชอบ ความเลื่อมใสนั้นย่อม
ให้สมบัติแม้แก่ดิรัจฉานทั้งหลายที่ถือนิมิตในสักว่าเสียง ฟังอยู่. เนื้อความนี้
พึงทราบด้วยอำนาจแห่งเรื่องของมัณฑูกเทวบุตรเป็นต้น. บทว่า สีเลสุ ปริ
ปูรการิตา
ความว่า แม้ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในศาสนาที่เป็น
เครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นอันไปแล้วโดยชอบ คือ ย่อมนำมาซึ่งสวรรค์สมบัติ
และโมกขสมบัติ. ในที่นั้น พึงแสดงเรื่องทั้งหลายมีเรื่องฉัตตมาณวกะ และ
เรื่องสามเณรเป็นต้น. บทว่า สหธมฺมิเกสุ ความว่า แม้ความเป็นที่รักและ
น่าพอใจในหมู่สหธรรมิก ในศาสนาที่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นอันไป
แล้วโดยชอบ คือ ย่อมนำมาซึ่งมหาสมบัติ. เนื้อความนี้พึงแสดงด้วยเรื่องวิมาน
เปรตทั้งหลาย ก็ท่านได้กล่าวคำนั้นไว้ว่า เราได้ให้น้ำนมแก่ภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต เราให้น้ำอ้อย ฯลฯ ลำอ้อย มะพลับ แตง ฟักทอง วัลลิปักกะ
หัตถปตากะ กำผัก ข้าวเม่า เผือก กำสะเดา น้ำส้ม ขนมทอด ประคตเอว
ผ้าอังสะ ผ้าสำหรับทำความเพียร การพูด พัดใบตาล โมรหัตถ์ ร่ม รอง
เท้า ขนม ก้อนขนม เครื่องผูก แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ท่านจงดูวิมานของ
เรานั้น เรามีนางฟ้าผู้มีวรรณน่าใคร่ ดังนี้ คำว่า ตํ กิสฺส เหตุ เป็นต้น
พึงทราบประกอบโดยแนวแห่งนัยที่กล่าวแล้ว เถิด.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงปัจจัยแห่งอุปาทานทั้งหลาย
ที่เดียรถีย์ทั้งหลายไม่บัญญัติความรอบรู้โดยชอบ ตถาคตทรงบัญญัติ จึงตรัส

ว่า อิเม จ ภิกฺขเว เป็นต้น. คำทั้งหลายมีนิทานเป็นต้น ในบททั้งหลาย
มีว่า กึนิทานา เป็นต้นในบทนั้น. ทั้งหมดเทียวเป็นไวพจน์ของการณ์ จริงอยู่
การณ์ย่อมมอบให้ซึ่งผล เหมือนส่งให้ว่า เอาเถอะ ท่านทั้งหลายจงถือเอาผลนั้น
เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่านิทาน. เพราะนิทานนั้น ย่อมเกิด ตั้งขึ้น ผลิตออกจาก
การณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สมุทัย ชาติ ปภวะ. ก็เนื้อความแห่งบทใน
ที่นี้ ดังนี้. อะไรเป็นต้นเหตุแห่งอุปาทานเหล่านั้น เพราะฉะนั้น อุปาทาน
เหล่านั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ. อะไรเป็นเหตุเกิดแห่งอุปาทานเหล่านั้น เพราะ
ฉะนั้น อุปาทานเหล่านั้น มีอะไรเป็นเหตุเกิด. อะไรเป็นกำเนิดของอุปทาน
เหล่านั้น เพราะฉะนั้น อุปาทานเหล่านั้น มีอะไรเป็นกำเนิด. อะไรเป็นแดน
เกิดของอุปทานเหล่านั้น เพราะฉะนั้น อุปทานเหล่านั้น มีอะไรเป็นแดนเกิด.
ก็เพราะตัณหาเป็นต้นเหตุ เป็นเหตุเกิด เป็นกำเนิดและเป็นแดนเกิดของอุปา-
ทานเหล่านั้น โดยเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มี
ตัณหาเป็นต้นเหตุ ดังนี้เป็นต้น . พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงอย่างนี้ ก็.
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรู้ปัจจัยแห่งอุปาทานอย่างเดียวเท่านั้น หามิได้
ย่อมทรงรู้ถึงปัจจัยของตัณหาซึ่งเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานด้วย ของธรรมทั้งหลาย
มีเวทนาเป็นต้น ซึ่งมีตัณหาเป็นต้นเป็นปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้ ดังนี้เป็นอาทิ. บทว่า ยโต จ โข ได้แก่
ในกาลใด. บทว่า อวิชฺชา ปหีนา โหติ ความว่า อวิชชาซึ่งเป็นราก
เหง้าของวัฏฏะ เป็นอันละเเล้วด้วยอนุปปาทนิโรธ. บทว่า วิชฺชา อุปฺปนฺนา
ได้แก่ วิชชาคืออรหัตมรรคเกิดขึ้นแล้ว. บทว่า โส อวิชฺชาวิราคา วิชฺ
ชุปฺปาทา
ความว่า ภิกษุนั้น เพราะความที่อวิชชาละได้แล้ว และเพราะ
ความที่วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ถือมั่นกามูปาทาน บทว่า เนว กามูปาทานํ
อุปาทิยติ
ความว่าย่อมไม่ถือมั่น คือ ไม่เข้าสู่กามูปาทาน ย่อมไม่ถือมั่น

ย่อมไม่เข้าสู่อุปาทานทั้งหลายที่เหลือ. บทว่า อนุปาทิยํ น ปริตสฺสติ
ความว่า เมื่อไม่ถือมั่นอุปาทานไรๆ อย่างนี้ เชื่อว่าไม่สะดุ้ง ด้วยความสะดุ้ง
คือตัณหา. บทว่า อปริตสฺสํ ได้แก่เมื่อไม่สะดุ้ง คือไม่ยังตัณหาให้เกิดขึ้น.
บทว่า ปจฺจตฺตํเยว ปรินิพฺพายติ ความว่า ย่อมปรินิพพานด้วยการดับ
กิเลส เฉพาะตนนั่นเทียว ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความสิ้นไปแห่งอาสวะแก่ภิกษุนั้น
อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงปัจจเวกขณะญาณแก่ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
จึงตรัสว่า ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น. บทที่เหลือมีเนื้อความดังกล่าวแล้วแล.
จบอรรถกถาจุลลสีหนาทสูตรที่ 1

2. มหาสีหนาทสูตร


[159] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกนอก
พระนครเขตพระนครเวสาลี.ก็โดยยสมัยนั้นแล สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นผู้หลีก
ไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน. ได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้
ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะ
ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วยความ
ตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรง
แสดงเพื่อประโยชน์อะไร ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่ง
บุคคลผู้ทำตาม.
[160] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตร
และจีวรเข้าไปในเมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาต. ได้สดับข่าวว่า สุนักขัตตลิจฉวี-
บุตรได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์
ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี
พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการ
ค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้น
ย่อมดิ่งไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม. ลำดับนั้น ท่านพระ-
สารีบุตรเที่ยวไปในเมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลา
ปัจฉาภัต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน ได้กล่าว