เมนู

ธรรมเหล่านั้น บุคคลพึงรู้จักกายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหาใดว่า
เมื่อเราเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหานี้แล้ว อกุศลธรรมย่อม
เสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญมากดังนี้ กายสมาจาร วจีสมาจาร และการ
แสวงหาเป็นปานนั้น ควรเสพ. อาตมภาพกล่าวกายสมาจาร วจีสมาจาร และ
การแสวงหาโดยส่วนละ 2 ๆ คือที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี. อาตมภาพ
กล่าวหมายถึงข้อความดังว่ามาฉะนี้ และอาศัยเหตุนี้ จึงกล่าวดังนั้น ภิกษุ
ปฏิบัติอย่างนี้แลย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสำรวมในพระปาฏิโมกข์.
[259] ส. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร ชื่อว่า
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสำรวมในอินทรีย์.
พ. อาตมภาพย่อมกล่าว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสด ฆาน ชิวหา กาย มนะ ส่วนละ 2 คือที่ควรเสพ
ก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ได้
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบซึ้งถึงเนื้อความแห่ง
ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร เมื่อบุคคลเสพ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสด ฆาน
ชิวหา กาย มนะ อย่างใดอยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญมาก กุศลธรรมย่อม
เสื่อมไป ดังนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เห็นปานนั้น
ไม่ควรเสพ. เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
อันจะพึงรู้ด้วยจักขุ โสด ฆาน ชิวหา กาย มนะ อย่างใดอยู่ อกุศลธรรม
ย่อมเสื่อมไป กุศลย่อมเจริญมาก ดังนี้แล รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ เห็นปานนั้น ควรเสพ.

ส. ข้าพระองค์ทราบซึ้งถึงเนื้อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสแล้วโดยย่ออันได้โดยพิสดาร ได้ข้ามข้อสงสัยในข้อนี้ได้แล้ว หมดความ
สงสัยอันจะพึงกล่าวว่าอะไร ๆ แล้ว เพราะได้สดับปัญหาพยากรณ์ของพระผู้มี
พระภาคเจ้า.
[260] ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้วได้ทูลถามปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์ทั้งหมดแล มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน
มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีที่สุดเป็นอย่างเดียวกันหรือ.
พ. หามิได้ มหาบพิตร.
ส. ก็ทำไม สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงเป็นผู้ไม่มีวาทะเป็นอย่าง
เดียวกัน ไม่มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีที่สุด
ลงเป็นอย่างเดียวกันเล่า.
พ. โลกมีธาตุไม่เป็นอันเดียวกัน มีธาตุต่าง ๆ กัน หมู่สัตว์ถือมั่นใน
ธาตุใด ๆ แล ย่อมยึดถือธาตุนั้น ๆ กล่าวด้วยกำลังความยึดถือว่า อย่างนี้แหละ
แน่นอน อย่างอื่นเหลวไหล ดังนี้ เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์จึงเป็นผู้ชื่อว่า
มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน
มีที่สุดลงเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมดไม่ได้.
[261] ส. สมณพราหมณ์มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคะ
ล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนทั้งหมดหรือ.
พ. หามิได้ มหาบพิตร.
ส. เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้หลุดพ้น เพราะสิ้นตัณหา ภิกษุเหล่านั้นมีความ
สำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน เพราะเหตุนั้น
สมณพราหมณ์จึงเป็นผู้มีความสำเร็จล่วงส่วนทั้งหมดไม่ได้.

ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ชื่นชมเพลิดเพลินอนุโมทนาภาษิตแห่งพระผู้มี
พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตเจ้า
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าพระองค์ได้ข้ามความสงสัยในข้อนี้แล้วหมดความสงสัย
อันจะพึงกล่าวว่าเป็นอย่างไรๆ แล้ว เพราะได้สดับปัญหาพยากรณ์ของพระผู้มี
พระภาคเจ้า.

ว่าด้วยสมณพราหมณ์พวกอื่น



[262] ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาภาษิตแห่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้ว ได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความหวั่นไหว
(ตัณหา) เป็นดั่งโรค เป็นดั่งฝี เป็นดั่งลูกศร ย่อมคร่าบุรุษนี้ เพื่อให้บังเกิด
ในภพนั้น ๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น บุรุษนี้ย่อมถึงความสูง ๆ ต่ำ ๆ ข้าพระองค์
ไม่ได้โอกาสที่จะถามปัญหาเหล่าใด ในสมณพราหมณ์อื่นภายนอกแต่ศาสนานี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้เห็นมาช้านาน ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแก่ข้า
พระองค์แล้ว อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงถอนลูกศรคือความสงสัยเคลือบ
แคลงของข้าพระองค์เสียแล้ว .
พ. มหาบพิตร ได้ทรงถามปัญหาเหล่านั้น กะสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
แล้วทรงเข้าใจหรือไม่.
ส. เข้าใจอยู่ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้น พยากรณ์ไว้แล้วอย่างไร ถ้ามหาบพิตร
ไม่ทรงหนักพระหฤทัย จงตรัสเถิด.
ส. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้วในที่ใด หรือพระรูปของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าปรากฏอยู่แล้วในที่ใด ในที่นั้นความหนักใจของข้าพระองค์
ไม่มีแล.
พ. ถ้าดังนั้นมหาบพิตรจงตรัส.

ส. ข้าพระองค์ย่อมสำคัญสมณพราหมณ์เหล่าใดว่า เป็นผู้อยู่ป่ามี
เสนาสนะอันสงัด จึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถามปัญหาเหล่านี้
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามแล้วแก้ไม่ได้ แทนที่จะตอบกลับย้อน
ถามข้าพระองค์ว่า ท่านชื่อไร ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้า
แลเป็นท้าวสักกะผู้จอมเทพ ดังนี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นย้อนถามข้าพระองค์
อีกว่า ก็ท่านผู้จอมเทพ ท่านทำกรรมอะไรไว้ จึงได้ถึงฐานะนี้ ข้าพระองค์
ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังได้เล่าเรียนมาแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นได้มีใจปลาบปลื้มด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้นว่า พวกเราได้เห็น
ท้าวสักกะผู้จอมเทพ และได้ถามปัญหากะท้าวเธอๆได้พยากรณ์ปัญหานั้นแล้ว
เขาเหล่านั้นย่อมสำเร็จเป็นสาวกของข้าพระองค์โดยแท้แล แต่ไม่ใช่ข้าพระองค์
สำเร็จเป็นสาวกของเขา ก็ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น
โสดาบันมีอันไม่ตกต่ำไปเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
พ. มหาบพิตร การได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ พระองค์ได้
เคยประสบในกาลก่อน แต่กาลนี้บ้างไหม.
ส. เคยได้ประสบ พระพุทธเจ้าข้า.
พ. มหาบพิตร ทรงทราบได้อย่างไร.

ว่าด้วยเทวาสุรสงคราม



[263] ส. เรื่องเคยมี พระพุทธเจ้าข้า สงครามระหว่างเทวดากับ
อสูรได้ประชิดกันแล้ว. ก็ในสงครามนั้น หมู่เทพชนะ พวกอสูรปราชัย.
ข้าพระองค์ชำนะสงครามนั้นแล้ว ได้ปริวิตกว่า บัดนี้ หมู่เทพจักเสวยโอชานี้
ที่เป็นทิพย์และที่เป็นของอสูรทั้ง 2 ในเทวโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การได้
ความยินดี การได้โสมนัสนั้นของข้าพระองค์เป็นไปด้วยกับอาชญา เป็นไปกับ

ด้วยศัสตรา ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ
เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ก็การได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้
ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น ไม่เป็นไปด้วยกับอาชญา ไม่เป็นไป
ด้วยกับศัสตรา ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน.
พ. มหาบพิตร เห็นอำนาจประโยชน์อะไรอยู่ จึงเพลิดเพลินการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเห็นปานนั้นเล่า.
ส. ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ 6 ประการ จึงประกาศการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเห็นปานนั้น คือ
[264] (1) เมื่อข้าพระองค์เป็นเทวดา มีสติดำรงอยู่ในที่นี้นั่นแล
ข้าพระองค์ได้อายุต่อไปอีก.
[265] (2) ข้าพระองค์ละอายุอันไม่ใช่ของมนุษย์ จุติแล้วจากกาย
อันเป็นทิพย์ เป็นผู้ไม่หลงแล้ว จักเข้าถึงครรภ์ในภพเป็นที่ชอบใจของข้า
พระองค์.
[266] (3) ข้าพระองค์นั้นยินดีแล้ว ในศาสนาของพระองค์ มี
ปัญหาอันไม่ฟั่นเฝือแล้วอยู่ จักเป็นผู้รอบรู้ มีสติมั่นคง อยู่ด้วยความ
ประพฤติชอบ.
[267] (4 ) ถ้าว่าความตรัสรู้จักมีแก่ข้าพระองค์ในเบื้องหน้า ด้วย
ความประพฤติชอบ และเป็นผู้รอบรู้อยู่ไซร้ ที่สุดนั่นแล จักมีแก่ข้าพระองค์.
[268] (5) ข้าพระองค์จุติแล้ว จากกายอันเป็นของมนุษย์ และ
อายุอันเป็นของมนุษย์ จักเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก.

[269] (6) ในอัตตภาพอันมีในที่สุด ข้าพระองค์จักอยู่ในหมู่เทพ
ชั้นอกนิฏฐะผู้มียศอันประณีตกว่า. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็น
อำนาจประโยชน์ 6 อย่างเหล่านี้แล ย่อมประกาศการได้ความยินดี การได้
โสมนัสเช่นนี้.
[270] ท้าวสักกะทูลคำนี้แล้ว ได้กราบทูลว่า
ข้าพระองค์มีความดำริอันยังไม่ถึงที่
สุดแล้ว ยังมีความสงสัยเคลือบแคลงอยู่
ยังท่องเที่ยวไปสู่ทางไกล ยังต้องค้นหา
พระตถาคตเจ้าอยู่. ย่อมสำคัญสมณะผู้มี
ปกติอยู่ในเสนาสนะอันสงัดว่าเป็นผู้ตรัสรู้
พร้อมดังนี้ ย่อมเข้าไปหาสมณะเหล่า
นั้น ๆ.
พวกสมณะที่ข้าพระองค์ถามแล้วว่า
ความยินดีเป็นอย่างไร ความยินร้ายเป็น
อย่างไร ดังนี้ ย่อมไม่สามารถจะบอกใน
มรรคและปฏิปทาได้ จึงย้อนถามข้าพระ-
องค์ในกาลนั้นว่า ท่านทำกรรมอะไร จึง
ถึงความเป็นจอมเทพ ดังนี้.
ข้าพระองค์ย่อมแสดงธรรม ตามที่
ได้ยินได้ฟังมาแก่สมณะเหล่านั้น สมณะ
เหล่านั้นมีใจปลาบปลื้ม เพราะเหตุนั้น
และพากันคิดว่า เราได้เห็นท้าววาสวะ
แล้วดังนี้.

ก็ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมมาสัม-
พุทธเจ้า ผู้ยังหมู่ชนให้ข้ามพ้นวิจิกิจฉาใน
กาลใด กาลนั้น ข้าพระองค์ปราศจากความ
กลัว เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน
วันนี้.
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธ-
เจ้าผู้ขจัดเสียซึ่งลูกศร คือตัณหา ผู้ไม่มี
บุคคลเปรียบ ผู้กล้าหาญผู้เป็นเผ่าพันธุ์
พระอาทิตย์.
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ในกาลก่อน
ข้าพระองค์ทำความนอบน้อมแก่พรหม
พร้อมด้วยหมู่เทพ วันนี้ ข้าพระองค์ถวาย
นมัสการแด่พระองค์ เชิญพวกเราจงทำ
ความนอบน้อมเถิด.
พระองค์เป็นสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยม บุคคลที่จะ
เปรียบกับพระองค์ในโลกนี้ กับทั้งเทวโลก
ไม่มีเลย.


ท้าวสักกะเปล่งอุทาน - ได้ธรรมจักษุ



[271] ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ได้เรียกปัญจสิขคนธรรพ์
เทพบุตรมาแล้วตรัสว่า พ่อปัญจสิขะ เธอเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก เธอ
ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดให้ทรงยินดีก่อนแล้ว ภายหลังฉันจึงได้เข้าไป

เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ฉันจักตั้ง
เธอไว้ในตำแหน่งเทพบิดร เธอจงเป็นคนธรรพราช อนึ่ง ฉันได้ยกนางสุริย-
วัจฉสาให้ตามความปรารถนาของพ่อ. ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้จอมเทพ ได้ทรง
ลูบคลำแผ่นดินด้วยฝ่าพระหัตถ์ (เพื่อเป็นพยาน) แล้ว ได้ทรงอุทาน 3 ครั้งว่า
นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นะโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ดังนี้.
[272] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์นี้จบลง ธรรมจักษุ
(ดวงตาเห็นธรรม) อันปราศจากธุลี ไม่มีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท้าวสักกะ
ผู้จอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีอันดับ
ไปเป็นธรรมดา อนึ่ง ธรรมจักษุเช่นนั้น ได้เกิดขึ้นแก่เทพดาเหล่าอื่นแปดหมื่น
องค์ด้วย. ปัญหาเหล่าใดที่ท้าวสักกะผู้จอมเทพทรงปรารถนา ได้ทูลถามแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว. เพราะฉะนั้น ไวยา-
กรณ์นี้ จึงได้มีชื่อว่า สักกปัญหา ดังนี้แล.
จบ สักกปัญหสูตรที่ 8