เมนู

7. มหาสมัยสูตร



เรื่องเทวสันนิบาต



[235] ข้าพเจ้าฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ป่าใหญ่ ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์
ในแคว้นสักกะ พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป ซึ่งล้วนแต่เป็น
พระอรหันต์. อนึ่ง พวกเทวดาโดยมากจากโลกธาตุทั้ง 10 ก็มาประชุมกันเพื่อ
ชมพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระภิกษุสงฆ์. ครั้งนั้นแล พวกเทพชั้นสุทธาวาส
4 องค์ มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้แล กำลังประทับอยู่ที่ป่าใหญ่ใกล้
กรุงกบิลพัลดุ์ในสักกชนบทพร้อมกับพระภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป ซึ่ง
ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น อนึ่ง พวกเทวดาโดยมากจาก 10 โลกธาตุก็
มาประชุมกันเพื่อชมพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์ อย่ากระนั้นเลย แม้
พวกเราก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว
พึงกล่าวคาถาองค์ละหนึ่งคาถาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ครั้งนั้นแล
พวกเทวดาเหล่านั้นก็หายตัวจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส แล้วปรากฏเบื้องพระ-
พักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษที่มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือ
พึงคู้แขนที่เหยียดออกฉะนั้น. ครั้งนั้น พวกเทวดาเหล่านั้น ถวายอภิวาทพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง. เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งยืนอยู่แล้ว ณ
ส่วนข้างหนึ่งแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[236] การประชุมใหญ่มีในป่าใหญ่ หมู่เทพ
ก็มาประชุมกันแล้ว เราทั้งหลายก็มาแล้ว
สู่ที่ประชุมธรรมนี้ เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ ซึ่งไม่มีใครเอาชนะได้เลย.

[237] ลำดับนั้นแล เทวดาอีกองค์หนึ่ง ก็ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
เหล่าพระภิกษุในที่ประชุมนั้น มั่นคง
ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว เป็นบัณฑิต
ย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย เหมือนสารถี
จับเชือกทั้งหลายอยู่ ฉะนั้น.

[238] ลำดับนั้นแล เทวดาอีกองค์หนึ่งก็ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พวกภิกษุเหล่านั้น ตัดกิเลสดุจตาปู
ตัดกิเลส ดุจส้มสลักได้แล้ว ถอนกิเลส
ดุจเสาเขื่อนได้แล้ว เป็นผู้ไร้ตัณหา หมด
จด ไม่มีมลทินเที่ยวไป ท่านเป็นนาคหนุ่ม
มีดวงตา ฝึกฝนดีแล้ว.

[239] ลำดับนั้นแล เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้ถึง
พระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะแล้วซิ ชนเหล่า
นั้นจักไม่ไปสู่อบายภูมิ ละร่างของมนุษย์
แล้ว จักทำให้ร่างเทพบริบูรณ์.

[240] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งภิกษุทั้งหลายว่า ดู
ก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่เทวดา 10 โลกธาตุโดยมากมาประชุมกันแล้วเพื่อชม
ตถาคตและหมู่ภิกษุ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น แม้เหล่าใด ได้
มีแล้วในอดีตกาล หมู่เทวดามาประชุมเพื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เหล่านั้น
ก็มากเท่ากับของเรา เดี๋ยวนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหลายนั้น จักมีในอนาคตกาล หมู่เทวดาที่จักเป็นผู้เข้าประชุมกัน ของพระผู้มี
พระภาคเจ้าแม้เหล่านั้น ก็จะมากเท่ากับของเราเดี๋ยวนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราจักบอกชื่อของหมู่เทพทั้งหลาย เราจักระบุชื่อของหมู่เทพทั้งหลาย เราจัก
แสดงชื่อของหมู่เทพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังการแสดงชื่อหมู่เทพทั้งหลายนั้น
จงเอาใจใส่ให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น สนองพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ดังนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส
ภาษิตนี้ว่า

ทรงประกาศนามเทวดา



[241] เราจักร้อยกรองโศลก ภุมมเทวดาอา-
ศัยอยู่ ณ ที่ใด ภิกษุก็อาศัยที่นั้น อาศัย
ซอกเขา ส่งตนไปแล้วมีจิตตั้งมั่น. เป็น
จำนวนมาก เร้นอยู่เหมือนราชสีห์ ครอบ
งำความขนพอง สยองเกล้าเสียได้ มีใจ
ผุดผ่อง เป็นผู้หมดจด ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว.
พระศาสดาทรงทราบภิกษุ 500 รูป
เศษในป่าใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แต่นั้น จึง
ตรัส เรียกพระสาวกทั้งหลาย ผู้ยินดีใน
พระศาสนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่

เทวดามุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักหมู่
เทวดาเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังพระดำรัส
ของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กระทำความ
เพียร.
ญาณเป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์ได้ปรา-
กฏแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางพวกได้เห็น
อมนุษย์ร้อยหนึ่ง บางพวกได้เห็นอมนุษย์
พันหนึ่ง บางพวกได้เห็นอมนุษย์เจ็ดหมื่น
บางพวกได้เห็นอมนุษย์หนึ่งแสน บางพวก
ได้เห็นไม่มีที่สุด อมนุษย์ได้แผ่ไปทั่วทิศ.
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงใคร่ครวญ
ทราบเหตุนั้นสิ้นแล้ว แต่นั้น จึงตรัสเรียก
สาวกผู้ยินดีในพระศาสนาว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย หมู่เทวดามุ่งมากันแล้ว พวก
เธอจงรู้จักหมู่เทวดานั้น เราจักบอกพวก
เธอด้วยวาจาตามลำดับ ยักษ์ 7,000 เป็น
ภุมมเทวดา อาศัยอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่ง
หน้ามาสู่ป่าซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้ง-
หลาย.
ยักษ์ 6,000 ที่อาศัยอยู่ในเขาเหมวัตมี
ผิวพรรณต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ
มีรัศมี มียศ มุ่งหน้ามาสู่ป่าซึ่งเป็นที่ประ-
ชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.

ยักษ์ 3,000 ที่อาศัยอยู่ที่เขาสาตาคีรี
มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ
มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้ามาสู่ป่าซึ่งเป็นที่
ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
ยักษ์ เหล่านั้นรวมเป็น 16,000 ตน
ซึ่งมีผิวพรรณแตกต่างกัน มีฤทธิ์ มีอานุ-
ภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้ามาสู่ป่า
ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
ยักษ์ 500 อยู่ที่เขาวิศวามิตร มีผิว
พรรณแตกต่างกัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มี
รัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็น
ที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
ยักษ์ชื่อ กุมภีร์ อยู่ในกรุงราชคฤห์
อาศัยเขาเวปุลละ เป็นที่อยู่ ยักษ์มากกว่า
แสนไปเฝ้ายักษ์กุมภีร์นั้น แม้ยักษ์ชื่อกุม-
ภีร์อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ก็ได้มา
สู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.


ชื่อพวกเทพ จตุโลกบาล



[242] ก็ท้าวธตรัฐปกครองทิศตะวันออกเป็น
อธิบดีของพวกคนธรรพ์ ท้าวเธอเป็นมหา
ราช มียศ. แม้บุตรเป็นอันมากของท้าว
เธอนั้น ชื่อว่าอินทร์ มีกำลังมาก มีฤทธิ์

มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้ามา
สู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
ส่วนท้าววิรุฬห์ ปกครองทิศใต้ เป็น
อธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ ท้าวเธอเป็นมหา
ราช มียศ. ถึงบุตรเป็นอันมาก ของท้าว
เธอนั้น ก็ชื่อว่า อินทร์ มีกำลังมาก มีฤทธิ์
มีอานุภาพ มีรัศมี ยินดีมุ่งหน้ามาสู่ป่า
ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
ฝ่ายท้าววิรูปักษ์ ปกครองทิศตะวัน-
ตก เป็นอธิบดีของพวกนาค ท้าวเธอเป็น
มหาราช มียศ. แม้บุตรเป็นอันมากของ
ท้าวเธอนั้น ก็ชื่อว่า อินทร์ต่างมีกำลังมาก
มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี
มุ่งหน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุ
ทั้งหลาย.
ท้าวกุเวร ปกครองด้านทิศเหนือ
เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ ท้าวเธอเป็นมหา
ราช มียศ. แม้บุตรเป็นอันมากของท้าว
เธอนั้น ก็มีชื่อว่า อินทร์ มีกำลังมาก มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศต่างก็
ยินดีมุ่งหน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่ง
ภิกษุทั้งหลาย.

ท้าวธตรัฐปกครองทิศตะวันออก
ท้าววิรุฬหกปกครองทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์ปกครองทิศวันตก ท้าวกุเวร
ปกครองทิศเหนือ มหาราชทั้ง 4 องค์นั้น
ยังทิศทั้ง 4 โดยรอบให้รุ่งเรืองประทับอยู่
ในป่าใกล้กรุงกบิลพัสดุ์.


บ่าวของท้าวโลกบาล



[243] พวกบ่าวของมหาราชทั้ง 4 องค์นั้น
ต่างมีมายาล่อลวง โอ้อวด เจ้าเล่ห์ คือ
กุเฏณฑุ 1 เวเฏณฑุ 1 วิฏุ 1 วิฏุฏะ 1
จันทนะ 1 กามเศรษฐ์ 1 กินนุฆัณฑุ 1
นิฆัณฑุ 1 ปนาทะ 1 โอปมัญญะ 1
เทวสูต 1 มาตลี 1 จิตรเสนผู้คนธรรพ์ 1
นโฬราช 1 ชโนสภะ 1 ปัญจสิขะ 1
ติมพรู 1 สุริยวัจฉสา 1
ราชาและคนธรรพ์เหล่านั้น และเหล่า
อื่น พร้อมด้วยเทวราชทั้งหลาย ยินดีมุ่ง
หน้ากันมาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุ
ทั้งหลาย.
อนึ่ง พวกนาคที่อยู่ในสระชื่อ
นาสภะ และอยู่ในเมืองไพศาลี กับบริษัท
แห่งตัจฉกะนาคราชก็มา พวกนาคตระกูล
กัมพลและตระกูลอัสดรก็มา พวกนาคที่

อยู่ในท่าปายาคะพร้อมกับหมู่ญาติก็มา
พวกนาคในแม่น้ำยมุนา ตระกูลธตรัฐ ผู้มี
ยศก็มา เอราวัณเทพบุตรผู้เป็นช้างใหญ่
แม้นั้น ก็มาสู่ป่าซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุ
ทั้งหลาย.
[244] ปักษีเกิดสองครั้ง เป็นทิพย์ มีตา
หมดจดนำพญานาคไปได้อย่างรวดเร็ว
(คือพญาครุฑ) เหล่าใด พญาครุฑเหล่า
นั้นมาโดยเวหา ถึงท่ามกลางป่า ชื่อของ
พญาครุฑเหล่านั้นว่า จิตรสุบรรณ ในครั้ง
นั้น การอภัยได้มีแล้วแก่พวกพญานาค
พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำความปลอดภัย
จากสุบรรณแล้ว พวกนาคและพวก
สุบรรณทักทายกันด้วยวาจาที่ไพเราะ ต่าง
กระทำพระพุทธเจ้าให้เป็นสรณะแล้ว.
พวกอสูรที่อาศัยสมุทร ซึ่งถูกพระ
อินทร์ปราบจนพ่ายแพ้แล้ว นาคและครุฑ
เหล่านั้นเป็นพี่น้องของท้าววาสวะ มีฤทธิ์
มียศ.
พวกอสูรตระกูลกาลกัญชา มีกาย
ใหญ่น่ากลัว พวกอสูรตระกูลทานเวฆัส
อสูรเวปจิตติ และอสูรสุจิตติปาราท กับ
นมุจี บุตรของอสูรพลี 100 ซึ่งมีชื่อว่า

ไพโรจน์ทั้งนั้น ผูกสอดเครื่องเสนา ที่
ทรงพลัง เข่าไปหาราหุภัทร (อสุรินทรา-
หู) แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้เป็น
วันประชุม แล้วก็เข้าไปสู่ป่าเป็นที่ประชุม
แห่งภิกษุทั้งหลาย.


เทวนิกาย 60



[245] หมู่เทพพวกอาปะ พวกปฐวี พวก
เตชะและพวกวายะ ก็มาในครั้งนั้นด้วย
หมู่เทพพวกวรุณ พวกวารุณ พวกโสมะ
พวกยสสะ หมู่เทพผู้เกิดด้วยเมตตาและ
กรุณา ผู้มียศ ก็มา.
หมู่เทพ 10 เหล่านี้เป็น 10 พวก ทั้ง
หมดล้วนมีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์
มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ มุ่งหน้ามาสู่ป่า
ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย
เทพพวกเวณฑู พวกสหลี พวกโสมะ
และพวกยมทั้ง 2 พวก เทพที่อาศัยพระ-
จันทร์ ทำพระจันทร์เป็นเบื้องหน้าก็มา.
พวกเทพที่อาศัยสุริยะ ทำสุริยะเป็น
เบื้องหน้าก็มา พวกเทพทำนักษัตรทั้ง-
หลาย เป็นเบื้องหน้า พวกเทพมันทพลาหก
ก็มา แม้ท้าวสักกะ วาสวะ ผู้ให้ทานเมื่อ

กาลก่อน ผู้ประเสริฐกว่าพวกอสูรเทพก็
เสด็จมา.
หมู่เทพ 10 เหล่านี้ เป็น 10 พวก
ทั้งหมดล้วนแต่มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศยินดี มุ่ง
หน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้ง
หลาย.
เทพพวกสหภู ซึ่งรุ่งเรืองปานเปลว
เพลิง เทพพวกอริฏฐกะ และพวกโรชะ
มีรัศมีเหมือนสีดอกผักตบ เทพพวกวรุณ
พวกสหธรรม พวกอัจจุตะ พวกอเนชกะ
และสุไลยรุจิระ ก็มา พวกวาสวเนสิน
ก็มา.
หมู่เทพ 10 เหล่านี้ เป็น 10 พวก
ทั้งหมดล้วนแต่มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่ง
หน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้ง
หลาย.
เทพพวกสมาน พวกมหาสมาน พวก
มานุสะ พวกมานุสุตะ พวกขิฑฑาปทูสิกะ
พวกมโนปทูสิกะ ก็มา อนึ่ง เทพพวกหริ
ก็มา พวกเทพซึ่งชื่อโลหิตวาสี เทพพวก
ปารัค และพวกมหาปารัคผู้มียศ ก็มา.

หมู่เทพ 10 เหล่านี้ เป็น 10 พวก
ทั้งหมดล้วนแต่มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้า
มาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
เทพพวกสุกกะ พวกกรุมหะ พวก
อรุณ พวกเวฆนัส ก็มาด้วยกัน เทพพวก
โอทาตคัยห์ ซึ่งเป็นหัวหน้า พวกวิจักษณ์
พวกสทามัตต์ พวกหารคัช และพวก
มิสสัก ผู้มียศ ก็มา เทพผู้ซึ่งคำรามให้
ฝนตกทั่วทิศก็มา.
หมู่เทพ 10 เหล่านี้ เป็น 10 พวก
ทั้งหมดล้วนแต่มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน มี
ฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่งหน้า
มาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
เทพพวกเขมีย์ พวกดุสิต พวกยามะ
และพวกกัฏฐักผู้มียศ พวกลัมพิตัก พวก
ลามเศรษฐ์ พวกโชตินาม พวกอาสวะ
และพวกนิมมานรดี ก็มา อนึ่ง พวก
ปรนิมมิต ก็มาด้วย.
หมู่เทพ 10 เหล่านี้ เป็น 10 พวก
โดยทั้งหมดล้วนแต่มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน
มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดีมุ่ง
หน้ามาสู่ป่า ซึ่งเป็นที่ประชุมแห่งภิกษุทั้ง
หลาย.

หมู่เทพ 60 หมู่นี้ล้วนแต่มีผิวพรรณ
ต่าง ๆ กัน มาแล้วโดยส่วนแห่งชื่อ และ
เทพเหล่าอื่น ก็มา เช่นเดียวกัน ด้วยคิด
ว่าพวกเราจักเฝ้าพระมหานาคผู้ปราศจาก
ชาติผู้ไม่มีกิเลสดุจตาปู ผู้ข้ามห้วงน้ำได้
แล้ว ผู้ไร้อาสวะ ผู้ข้ามจากกิเลสที่เปรียบ
เหมือนห้วงน้ำ ผู้ก้าวล่วงกรรมดุจพระ-
จันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น.


พวกพรหม



[246] สุพรหม และปรมัตตะ ผู้เป็นบุตร
ของผู้มีฤทธิ์ก็มาด้วย สนังกุมารพรหม
และติสสพรหม แม้เขาก็มาสู่ป่า ซึ่งเป็น
ที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งหลาย.
มหาพรหมย่อมปกครองพรหมโลก
พันหนึ่ง เป็นอุปปาติกะ มีอานุภาพ มีกาย
ใหญ่โต มียศ ก็มา.
พวกพรหม 10 องค์ ผู้เป็นอิสระ
ในพรหมโลกพันหนึ่งนั้น ผู้มีอำนาจเป็น
ไปเฉพาะผู้เดียวก็มา และพรหมชื่อหาริตะ
อันพวกบริวารแวดล้อมแล้วก็มา ในท่าม
กลางแห่งพรหมเหล่านั้น.
และกองทัพมาร ได้เห็นพวกเทพ
พร้อมกับพระอินทร์ทั้งหมดนั้น ก็มาด้วย

แล้วกล่าวว่า ท่านจงดูความเขลาของมาร
พวกท่านจงมาจับผูกไว้ จงผูกด้วยราคะ
จงล้อมไว้โดยรอบ พวกท่านอย่าปล่อย
ให้ใครไปได้.
แม่ทัพ บังคับเสนามาร ในที่ประชุม
นั้นดังนี้ แล้วก็เอาฝ่ามือตบพื้นดิน ทำ
เสียงอย่างน่ากลัวเหมือนเมฆ ทำให้ฝนตก
คำรามอยู่ เป็นไปกับฟ้าแลบ.
ในเวลานั้น พญามารนั้น ไม่ทำให้
ใครเป็นไปในอำนาจของตนได้ เดือดดาล
แล้วกลับ ไป พระศาสดาผู้มีดวงตา ทรง
พิจารณาจนทราบเนื้อความนั้นหมดสิ้น
แล้ว แต่นั้นจึงตรัสเรียกพวกพระสาวกผู้
ยินดีในพระศาสนาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
กองทัพมารมุ่งหน้ามา พวกท่านจงรู้จัก
พวกเขาไว้ ก็ภิกษุเหล่านั้น ฟังพระดำรัส
ของพระพุทธเจ้าแล้ว กองทัพมารหลีกไป
จากพวกพระภิกษุ ผู้ปราศจากราคะแล้ว
ไม่ทำ แม้ขนของพวกท่านให้หวั่นไหวได้
สาวกทั้งหมดของพระองค์ ชนะสงความ
แล้วล่วงความกลัวเสียได้แล้ว เป็นผู้มียศ
ปรากฏแล้ว ในที่ประชุมชน บันเทิงอยู่
กับด้วยพระอริยเจ้าทั้งหลายแล.


จบ มหาสมัยสูตรที่ 7

อรรถกถามหาสมัยสูตร



มหาสมัยสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว อย่างนี้.
ต่อไปนี้เป็นการพรรณนาตามลำดับบทในมหาสมัยสูตรนั้น. บทว่า
ในแคว้นของพวกชาวสักกะ ความว่า ชนบทแม้แห่งเดียวเป็นที่อยู่แห่ง
พระราชกุมารที่ได้พระนามว่าสักกะเพราะอาศัยพระอุทานว่า ท่าน ! พวกเด็ก
ช่างเก่งแท้ตามนัยแห่งการเกิดขึ้นที่กล่าวไว้ในอัมพัฏฐสูตร ก็เรียกว่า สักกะ
ทั้งหลาย ในชนบทของพวกชาวสักกะนั้น. บทว่า ที่ป่าใหญ่ คือในป่าใหญ่
ที่เกิดเองมิได้ปลูกไว้ ติดต่อเป็นอันเดียวกันกับหิมพานต์. บทว่า ล้วนแต่
เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
คือผู้สำเร็จพระอรหัตในวันที่ตรัสพระสูตรนี้เอง.
ต่อไปนี้เป็นลำดับถ้อยคำ
เล่ากันมาว่า ชาวศากยะและโกลิยะ ช่วยกันกั้นแม่น้ำชื่อโรหิณีใน
ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะด้วยเขื่อนเดียวเท่านั้นแล้วหว่านกล้า. ต่อ
มาในต้นเดือนเจ็ด เมื่อกล้ากำลังเหี่ยว พวกคนงานของชาวเมืองทั้งสองก็
ประชุมกัน. ในที่ประชุมนั้น พวกชาวเมืองโกลิยะพูดว่า น้ำนี้เมื่อถูกทั้งสอง
ฝ่ายนำเอาไป (ใช้) พวกคุณก็จะไม่พอ พวกฉันก็จะไม่พอ แต่กล้าของพวกฉัน
จะสำเร็จด้วยน้ำ แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ขอให้พวกคุณจงให้น้ำแก่พวก
ฉันเถิดนะ ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ก็พูดว่า เมื่อพวกคุณใส่ข้าวจนเต็มยุ้งแล้ว พวก
ฉันจะเอาทองแดงมณีเขียวและกหาปณะดำ มีมือถือกะบุงและไถ้เป็นต้น เดิน
ไปใกล้ประตูบ้านของพวกคุณก็ไม่ได้ ถึงข้าวกล้าของพวกฉันก็จะสำเร็จด้วยน้ำ
ครั้งเดียวเหมือนกัน ขอให้พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกฉันเถิดนะ พวกฉันให้

ไม่ได้. ถึงพวกฉันก็ให้ไม่ได้. เมื่อทะเลาะกันลามปามอย่างนี้แล้ว คนหนึ่งก็
ลุกไปตีคนหนึ่ง แม้คนนั้นก็ตีคนอื่น ต่างทุบตีกันและกันอย่างนี้แล้วก็ทะเลาะ
กันลามปามจนเกี่ยวโยงไปถึงชาติของพวกราชตระกูลด้วยประการฉะนี้.
พวกคนงานฝ่ายโกลิยะ พูดว่า พวกแกจงพาเอาพวกชาวกบิลที่ร่วม
สังวาสกับพี่น้องสาวของตนเหมือนกับพวกสุนัขและหมาจิ้งจอกเป็นต้นไป ต่อ
ให้ ช้าง ม้า และโล่และอาวุธของพวกนั้นก็ทำอะไรพวกข้าไม่ได้. พวกคนงาน
ฝ่ายศากยะก็พูดบ้างว่า พวกแกก็จงพาเอาเด็กขี้เรือน ซึ่งเป็นพวกอนาถาหาคติ
มิได้ อยู่ใต้ไม้กระเบาเหมือนพวกดิรัจฉานไปเดี๋ยวนี้ ต่อให้ช้างม้าและโล่และ
อาวุธของพวกนั้นก็ทำอะไรพวกข้าไม่ได้หรอก. ครั้นพวกเหล่านั้นกลับไปแล้ว
ก็แจ้งแก่พวกอำมาตย์ที่เกี่ยวกับงานนั้น. พวกอำมาตย์ก็กราบทูลพวกราชตระกูล
จากนั้นพวกเจ้าศากยะก็ว่า พวกเราจะแสดงความเข้มแข็งและกำลังของเหล่าผู้
ร่วมสังวาสกับพี่สาวน้องสาวแล้วก็เตรียมยกทัพไป. ฝ่ายพวกเจ้าโกลิยะก็ว่า
พวกเราจะแสดงความเข้มแข็งและกำลังของเหล่าผู้อยู่ใต้ต้นกระเบา แล้วก็
เตรียมยกทัพไป.
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเวลาใกล้รุ่งนั้นเอง เสด็จออกจาก
มหากรุณาสมาบัติ เมื่อทรงตรวจดูโลกได้ทรงเห็นพวกเหล่านี้ กำลังเตรียมยก
ทัพไปอย่างนี้ ครั้นทรงเห็นแล้วก็ทรงใคร่ครวญอยู่ว่า เมื่อเราไป การทะเลาะนี้
จะสงบหรือไม่หนอ ได้ทรงทำการสันนิษฐานว่า เมื่อเราไปที่นั้นแล้วจะแสดง
ชาดกสามเรื่อง เพื่อระงับการทะเลาะกัน แต่นั้นการทะเลาะกันก็จะสงบ ต่อ
จากนั้น เพื่อประโยชน์การส่องถึงความพร้อมเพรียงกันเราจะแสดงอีกสองชาดก
แล้วแสดงถึงเรื่อง อัตตทัณฑสูตร เมื่อชาวเมืองทั้งสองได้ฟังเทศน์แล้ว
จะให้เด็กฝ่ายละสองร้อยห้าสิบคน เราจะให้เด็กเหล่านั้นบวช ทีนั้น การประชุม
ใหญ่ก็จะมี เพราะเหตุนั้น ขณะที่พวกเหล่านั้นกำลังเตรียมยกทัพออกไป ไม่ทรง

แจ้งใคร ๆ พระองค์เองนั่นแหละเสด็จถือบาตร จีวร ไปขัดบัลลังก์ประทับนั่ง
เปล่งพระรัศมีหกสีที่อากาศระหว่างกองทัพทั้งสอง.
พอชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าเท่านั้น ก็คิดว่า
พระศาสดาพระญาติประเสริฐของพวกเราเสด็จมาแล้ว พระองค์ทรงเห็นความที่
พวกเรากระทำการทะเลาะกันหรือหนอ แล้วคิดว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ
มาแล้ว พวกเราจะให้ศัสตราถึงสรีระผู้อื่นไม่ได้อย่างเด็ดขาด แล้วก็ทิ้งอาวุธ
นั่งไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. แม้พวกชาวเมืองโกลิยะ ก็คิดเหมือนกันอย่าง
นั้นแหละ พากันทิ้งอาวุธนั่งไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. ทั้งที่ทรงทราบอยู่
เทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสถามว่า มหาบพิตร ! พวกพระองค์เสด็จมา
ทำไม. พวกเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! พวกข้าพระองค์
เป็นผู้มาที่นี้ไม่ใช่เพื่อเล่นที่ท่าน้ำ ไม่ใช่เพื่อเล่นที่ภูเขา ไม่ใช่เพื่อเล่นแม่น้ำ
ไม่ใช่เพื่อชมเขา แต่มารบกัน. มหาบพิตร ! เพราะอาศัยอะไร พระองค์
จึงทะเลาะกัน. น้ำ พระพุทธเจ้าข้า. น้ำมีค่าเท่าไร มหาบพิตร มีค่าน้อย
พระเจ้าข้า. ชื่อว่าแผ่นดิน มีค่าเท่าไร มหาบพิตร หาค่ามิได้พระเจ้าข้า. ชื่อว่า
พวกกษัตริย์มีค่าเท่าไร มหาบพิตร ชื่อว่าพวกกษัตริย์หาค่ามิได้ พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มหาบพิตร! พวกพระองค์อาศัยน้ำที่มีค่าน้อยแล้ว
มาทำให้พวกกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ ฉิบหาย เพื่ออะไร แล้วตรัสว่า ในการ
ทะเลาะกัน ไม่มีความชื่นใจ มหาบพิตรทั้งหลาย ! ด้วยอำนาจการทะเลาะกัน
ความเจ็บใจที่รุกขเทวดาคนหนึ่งผู้ทำเวรในที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้แล้วผูกไว้กับหมี
ได้ติดตามไปตลอดกัปทั้งสิ้น แล้วตรัสชาดกเรื่องต้นสะคร้อ. ต่อจากนั้น
ตรัสอีกว่า มหาบพิตรทั้งหลาย ! ไม่พึงเป็นผู้แตกตื่น เพราะฝูงสัตว์สี่เท้าใน
ป่าหิมพานต์ซึ่งกว้างทั้งสามพันโยชน์ แตกตื่นเพราะคำพูดของกระต่ายตัวหนึ่ง
ได้แล่นไปจนถึงทะเลหลวง เพราะฉะนั้น ไม่พึงเป็นผู้แตกตื่น แล้วตรัสชาดก

เรื่องแผ่นดินถล่ม ต่อจากนั้นตรัสว่า มหาบพิตรทั้งหลาย ! บางทีแม้แต่ผู้ที่
อ่อนกำลังก็ยังเห็นช่องผิดของผู้มีกำลังมากได้ บางทีผู้มีกำลังมาก ก็เห็นช่อง
พิรุธของผู้อ่อนกำลังได้ จริงอย่างนั้น แม้แต่นางนกมูลไถ ก็ยังฆ่าช้างได้
แล้วตรัสชาดกเรื่องนกมูลไถ. เมื่อตรัสชาดกทั้งสามเรื่องเพื่อระงับการทะเลาะกัน
อย่างนี้แล้ว เพื่อประโยชน์การส่องถึงความพร้อมเพรียงกัน จึงตรัสชาดก (อีก)
สองเรื่อง. ตรัสอย่างไร ตรัสว่า มหาบพิตรทั้งหลาย ! ก็ใคร ๆ ไม่สามารถ
เพื่อจะเห็นช่องผิดของพวกผู้พร้อมเพรียงกันได้ แล้วตรัสรุกขธัมมชาดก.
จากนั้นตรัสว่า มหาบพิตรทั้งหลาย ใคร ๆ ไม่อาจเห็นช่องผิดของเหล่าผู้พร้อม
เพรียงกันได้ แต่เมื่อพวกเขาได้ทำการวิวาทกันและกัน เมื่อนั้นลูกพรานก็ฆ่า
พวกนั้นถือเอาไป ขึ้นชื่อว่าความชื่นใจ ย่อมไม่มีในการวิวาทกัน แล้วตรัสชาดก
เรื่องนกคุ่ม ครั้นตรัสชาดกทั้ง 5 เรื่อง เหล่านี้เสร็จแล้ว สุดท้ายตรัสเรื่อง
อัตตทัณฑสูตร.
พระราชาทั้งหลายทรงเลื่อมใส ตรัสว่า หากพระศาสดาจักมิได้เสด็จ
มา พวกเราก็จะฆ่ากันเองด้วยมือของตนแล้วทำให้แม่น้ำเลือดไหลไป พวก
เราจะไม่พึงเห็นลูกและพี่น้องของเราที่ประตูเรือน พวกเราจะไม่ได้มีแม้แต่ผู้
สื่อสารโต้ตอบกัน พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยพระศาสดา ก็ถ้าพระศาสดาจะ
ทรงครองเรือน ราชสมบัติในทวีปใหญ่สี่อันมีทวีป น้อย สองพันเป็นบริวาร
ก็คงจะได้อยู่ในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ ก็ลูก ๆ ของพวกเราตั้งพันกว่าคน ก็
จะได้มี และแต่นั้นพระองค์ก็จะมีกษัตริย์เป็นบริวารท่องเที่ยวไป แต่พระองค์
มาทรงละสมบัตินั้นแล้วทรงออกไปบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ถึงบัดนี้ก็ขอให้
จงทรงมีกษัตริย์เป็นบริวารเที่ยวไปนั่นเทียว. กษัตริย์ชาวสองพระนครก็ได้
ถวายพระกุมารฝ่ายละสองร้อยห้าสิบองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระกุมาร
เหล่านั้นทรงผนวชแล้ว ก็เสด็จไปป่าใหญ่ เพราะความที่ท่านเหล่านั้นเคารพ

อย่างหนัก ความไม่ยินดีจึงได้เกิดแก่พวกท่านผู้ซึ่งมิได้บวชตามความพอใจ
ของตน. แม้พวกภรรยาเก่าของท่านเหล่านั้นก็พูดคำเป็นต้นว่า ขอให้พระลูกเจ้า
ทั้งหลายจงสึกเถิด การครองเรือนจะทรงอยู่ไม่ได้ แล้วก็ส่งข่าวไป. พวกท่าน
ก็ยิ่งกระสันหนักขึ้นอีก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใคร่ครวญอยู่ก็ทรงทราบความ
ไม่ยินดีของพวกท่านเหล่านั้นทรงคิดว่า พวกภิกษุเหล่านี้อยู่ร่วมกันกับ
พระพุทธเจ้าเช่นเรา ยังกระสัน ถ้าไฉนเราจะกล่าวยกย่องสระดุเหว่าแก่พวกเธอ
แล้วก็ทรงพาไปที่นั้น ทรงคิดว่า เราจะบรรเทาความไม่ยินดี จึงทรงกล่าวคุณ
ของสระดุเหว่า. พวกภิกษุได้เป็นผู้อยากเห็นสระนั้นแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเป็นผู้อยากจะเห็นสระดุเหว่าหรือ. พวก
ภิกษุกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น มา พวกเราไปกัน. ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคเจ้า ! พวกข้าพระองค์จะไปสู่ที่สำหรับไปของพวกท่านผู้มีฤทธิ์
ได้อย่างไร. พวกเธอเป็นผู้อยากไปสระนั้น เราจะพาไปด้วยอานุภาพของเรา
เอง. ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพาภิกษุ 500 รูปเหาะไปในอากาศ
ลงที่ใกล้สระดุเหว่า และตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ! ที่สระ
ดุเหว่านี้ ใครไม่รู้จักชื่อพวกปลา ก็จงถามเรา. ท่านเหล่านั้นทูลถามแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสบอกสิ่งที่ภิกษุถามแล้วถามอีก. และไม่ใช่แต่ชื่อพวก
ปลาเท่านั้น ยังให้ถามถึงชื่อของต้นไม้ทั้งหลายในราวป่านั้นด้วย ของสัตว์สอง
เท้าสี่เท้าและนกในเชิงเขาด้วย แล้วก็ทรงบอก.
ครั้งนั้น พญานกดุเหว่าจับที่ท่อนไม้ซึ่งนกสองตัวใช้ปากกัดคาบไว้มี
พวกนกล้อมหน้าหลังทั้งสองข้างกำลังมา. เมื่อภิกษุได้เห็นนกนั้น ก็ทูลถามว่า
พระเจ้าข้า ! นั่นคงจะเป็นพญานกของนกเหล่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเข้าใจ
ว่า พวกเหล่านั่น คงจะเป็นบริวารของพญานกนั่น. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเป็น
อย่างนั้น แม้นี้ก็เป็นวงศ์ของเรา เป็นประเพณีของเรา. พระเจ้าข้า ! พวก

ข้าพระองค์จะดูนกเหล่านี้สักประเดี๋ยวก่อน และก็พวกข้าพระองค์อยากจะฟังข้อ
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แม้นี้ก็เป็นวงศ์ของเรา เป็นประเพณีของเรา.
อยากฟังหรือ ภิกษุทั้งหลาย. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น จงฟัง แล้วก็ตรัสชาดกเรื่องนกดุเหว่า ประดับด้วยคาถา
สามร้อย ทรงบรรเทาความไม่ยินดีแล้ว เมื่อจบเทศน์แม้ภิกษุเหล่านั้น ก็ตั้ง
อยู่ในโสดาปัตติผลทุกรูป และแม้แต่ฤทธิ์ของท่านเหล่านั้น ก็มาพร้อมกับมรรค
นั่นเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคิดว่า สำหรับภิกษุเหล่านี้เพียงเท่านี้ก่อนเถิด
แล้วก็ทรงเหาะไปในอากาศเสด็จไปสู่ป่าใหญ่นั่นแล. แม้ภิกษุเหล่านั้นเวลาไป
ไปด้วยอำนาจของพระทศพล แต่ เวลามาแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าลงในป่า
ใหญ่ด้วยอำนาจของตนเอง.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับบนที่นั่งที่ปูไว้แล้วตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้น
แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จงมานั่งลง เราจะบอกกัมมัฏฐานเพื่อให้พวกเธอ
ละกิเลสที่ต้องละด้วยสามมรรคเบื้องบน แล้วก็ทรงบอกกัมมัฏฐานให้. พวกภิกษุ
พากันคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าพวกเราไม่มีความยินดีจึงทรงพา
ไปสระดุเหว่าทรงบรรเทาความไม่ยินดี บัดนี้ ได้ทรงประทานกัมมัฏฐานสำหรับ
มรรคทั้งสามในที่นี้แก่พวกเราซึ่งบรรลุโสดาปัตติผลในที่นั้นแล้ว ก็แลพวกเรา
ไม่ควรให้เสียเวลาด้วยคิดว่า พวกเราเป็นพระโสดาบันแล้ว พวกเราควร
เป็นอุดมบุรุษ ท่านเหล่านั้นจึงไหว้พระบาทของพระทศพลแล้วลุกขึ้นสลัด
ที่นั่งแยกกันไปนั่งที่เงื้อมและโคนไม้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดำริ
ว่า ภิกษุเหล่านี้ แม้โดยปกติก็ไม่ทิ้งการงาน และก็สำหรับ ภิกษุที่ได้อุบาย
จะไม่มีเหตุแห่งการเหน็ดเหนื่อย และเมื่อไปตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุอรหัต ก็
จะพากันมาสู่สำนักเรา ด้วยคิดว่า พวกเราจะกราบทูลคุณวิเศษที่แต่ละคนได้
เฉพาะแล้ว เมื่อพวกเธอเหล่านั่นมาแล้วพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลก็จะประชุม

กันในจักรวาลหนึ่ง การประชุมใหญ่ก็จะมี เราควรนั่งในโอกาสที่สงัด. ลำดับ
นั้นก็รับสั่งให้ปูพุทธอาสน์ในโอกาสที่สงัดแล้วประทับนั่งลง.
พระเถระที่ไปรับกัมมัฏฐานก่อนเขาหมด สำเร็จพระอรหัตพร้อมทั้ง
ปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว. ต่อไปก็อีกรูป ถัดไปก็อีกรูป ดังนี้ก็เป็นอันว่าภิกษุทั้ง
500 รูป เบิกบานเหมือนปทุมที่บานในสระปทุมฉะนั้น. ภิกษุที่สำเร็จพระ-
อรหัตก่อนเขาหมด คิดว่า เราจะกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงคลายบัลลังก์
สลัดที่นั่งลุกขึ้นบ่ายหน้าไปหาพระทศพล. อีกรูปหนึ่งก็อย่างนั้น อีกรูปหนึ่งก็
อย่างนั้น ดังนี้ก็เป็นอันว่าภิกษุทั้ง 500 รูป ทะยอยกันมาเหมือนเข้าสู่โรง
อาหารฉะนั้น. ผู้ที่มาก่อนเขาหมด ไหว้และปูที่นั่งแล้วนั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง
เป็นผู้อยากจะกราบทูลถึงคุณพิเศษที่ได้โดยเฉพาะ คิดว่า ใครอื่นมีหรือไม่มี
หนอ กลับไปมองดูทางมาได้เห็นแม้อีกรูปหนึ่ง ได้เห็นแม้อีกรูปหนึ่ง. ด้วย
ประการฉะนี้ เป็นอันว่า ท่านทั้งหมดแม้นั้นก็มานั่งในที่ควรส่วนหนึ่งแล้วก็
ต่างคิดว่า รูปนี้กำลังระอายจึงไม่บอกแก่รูปนี้ รูปนี้ก็กำลังละอายจึงไม่บอกแก่
รูปนี้ ได้ยินว่า สำหรับพวกผู้สิ้นอาสวะแล้วย่อมมีอาการสองอย่างคือ
1. เกิดความคิดว่า ชาวโลกพร้อมกับเทวดาจะพึงรู้แจ้งแทงตลอด
คุณวิเศษที่เราได้เฉพาะแล้ว พลันทีเดียว
2. ไม่ประสงค์จะบอกคุณที่คนได้แล้วแก่ผู้อื่น เหมือนคนที่ได้ขุม
ทรัพย์ฉะนั้น.
ก็เมื่อสักว่าวงของพระอริยเจ้านั้นหยั่งลงแล้ว พระจันทร์เต็มวงศ์ ซึ่ง
หลุดพ้นจากตัวการที่ทำให้เศร้าหมองคือ หมอก น้ำค้าง ควัน ฝุ่น ราหู จาก
ขอบเขตรอบเขายุคนธรทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยสิริแห่งล้อเงิน ซึ่งกำลัง
จับขอบกงหมุนไป คล้ายกับวงแว่นส่องแผ่นใหญ่ที่สำเร็จด้วยเงินที่ยกขึ้นใน
ด้านทิศตะวันออก เพื่อทัศนะอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ของโลกที่ประดับด้วยพุทธุปบาท

ลอยเด่นดำเนินไปสู่ทางลม. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ป่าใหญ่ใกล้กรุง
กบิลพัสดุ์ในแคว้นแห่งพวกชาวสักกะกับหมู่ภิกษุจำนวนมาก คือ ภิกษุมีจำนวน
500 รูป ทุกรูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ในขณะ คือในลยะ ได้แก่ในครู่หนึ่ง
เห็นปานนี้ด้วยประการฉะนี้.
ในที่ประชุมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเกิดในวงศ์พระเจ้ามหาสมมต
เหล่าภิกษุทั้ง 500 รูปนั้นเล่า ก็เกิดในตระกูลพระเจ้ามหาสมมต พระผู้มี-
พระภาคเจ้าทรงเกิดในพระครรภ์กษัตริย์ ท่านเหล่านั้นเล่าก็เกิดในครรภ์
กษัตริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นนักบวชชั้นเจ้า ท่านเหล่านั้นเล่าก็เป็น
นักบวชชั้นเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละเศวตฉัตร ทรงสละราชสมบัติจักร-
พรรดิที่อยู่ในกำพระหัตถ์ ทรงผนวช ท่านเหล่านั้น เล่าก็สละเศวตฉัตร ทิ้ง
ราชสมบัติที่อยู่ในกำมือบวช. ดังว่ามานี้จึงเป็นอันว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า
เองทรงหมดจด ทรงมีบริวารที่หมดจด ในโอกาสที่หมดจด ในส่วนราตรีที่
หมดจด ทรงปราศจากราคะ ทรงมีบริวารที่ปราศจากราคะ ทรงปราศจากโทสะ
ทรงมีบริวารที่ปราศจากโทสะ ทรงปราศจากโมหะ ทรงมีบริวารที่ปราศจาก
โมหะ ทรงไม่มีตัณหา ทรงมีบริวารที่ไม่มีตัณหา ทรงไม่มีกิเลส ทรงมีบริวาร
ที่ไม่มีกิเลส ทรงสงบ ทรงมีบริวารที่สงบ ทรงฝึกแล้ว ทรงมีบริวารที่ฝึกแล้ว
ทรงพ้นแล้ว ทรงมีบริวารที่พ้นแล้ว ทรงรุ่งเรืองเกินเปรียบด้วยประการฉะนี้.
นี่ชื่อว่าเป็นชั้นวรรณะสามารถพูดได้เท่าใด ก็พึงพูดเท่านั้น. ดังที่ว่ามานี้ ท่าน
พระอานนท์ หมายเอาภิกษุเหล่านี้จึงกล่าวว่า คือภิกษุมีจำนวน 500 รูป ทุก
รูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น.
บทว่า โดยมาก คือ มากกว่า ประชุมกันแล้ว ที่น้อยยกเว้นเทพ
ไม่มีสัญญา เทพชั้นอรูปาวจร และเทพที่เข้าสมาบัติ ไม่ได้เข้าประชุม. ต่อไป
นี้ เป็นลำดับการเข้าประชุมในมหาสมัยสูตรนั้น.

เล่ากันมาว่า เหล่าเทวดาโดยรอบป่าใหญ่เคลื่อนไหวแล้ว ทำเสียงดัง
ว่า มาเถิดผู้เจริญทั้งหลาย ชื่อว่าการเห็นพระพุทธเจ้ามีอุปการะมาก การฟัง
พระธรรมมีอุปการะมาก การเห็นหมู่ภิกษุมีอุปการะมาก มา มาเถิด พวกเรา
แล้วก็พากันมานมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าพระขีณาสพผู้บรรลุ
พระอรหัต เมื่อครู่นั้น แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. โดยอุบายนี้นั่นแหละ
พึงทราบว่า ทวยเทพทั้งหลายในแสนจักรวาลมาประชุมกัน เพราะฟังเสียงเทวดา
เหล่านั้น ๆ โดยลำดับ คือ เทวดาผู้อยู่ในจักรวาลทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ในสกลชมพู
ทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ในทวีปน้อยสองพัน
ทวีป คือ พวกเทวดาที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งกว้างประมาณสามพันโยชน์
โดยฟังเสียงเทวดาผู้อาศัยอยู่ในที่กึ่งคาวุต หนึ่งคาวุต กึ่งโยชน์ หนึ่งโยชน์
โดยลำดับต่อกันไป เทวดาในนคร 189,000 นคร เทวดาอยู่ที่โทณมุข
9,900,000 แห่ง เทวดาอยู่ที่ปฏนะ 96 แสนโกฏิ และอาศัยอยู่ที่ทะเล 56
แห่ง มาประชุมกันแล้ว แต่นั้นก็เทวดาในจักรวาลที่สองที่สามเป็นต้น มา
ประชุมกันด้วยประการฉะนี้. ก็หมื่นจักรวาลท่านหมายเอาว่า 10 โลกธาตุ
ในที่นี้. เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เทวดาจาก 10 โลกธาตุโดยมากเป็นผู้เข้า
ประชุมแล้ว.
ห้องจักรวาลทั้งสิ้น จนถึงพรหมโลกเต็มแน่นไปด้วยพวกเทวดาที่เข้า
ประชุมอย่างนั้น เหมือนกล่องเข็มที่เต็มแน่นไปด้วยเข็มที่ใส่ไปจนหาที่ว่าง
ไม่ได้. ในห้องจักรวาลทั้งสิ้นนั้นพึงทราบว่า ที่สูงกว่าเขาได้แก่ห้องจักรวาล
ของพรหมโลก. เล่ากันมาว่า ผู้ยืนในพรหมโลกเอาก้อนหินเท่าเรือนยอดเจ็ด
ชั้นในโลหปราสาท โยนลงล่างสี่เดือนจึงถึงแผ่นดิน. ในโอกาสใหญ่ขนาดนั้น
ได้มีเทวดาจนหาที่ว่างไม่ได้. เหมือนดอกไม้ที่คนยืนข้างล่างโยนไป หรือเหมือน
ควันไม่ได้ช่องเพื่อขึ้นไปเบื้องบน หรือเหมือนเมล็ดผักกาดที่คนยืนข้างบน

โรยไปไม่ได้ช่องเพื่อลงล่างฉะนั้น. ก็ที่ประทับนั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่คับ
แคบ พวกเทวดาและพวกพรหมที่มีศักดิ์ใหญ่ซึ่งมาแล้ว ๆ ย่อมได้ช่องทุกองค์
เหมือนที่ประทับนั่งของพระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นที่ไม่คับแคบ พวกกษัตริย์
ชั้นผู้ใหญ่ที่เสด็จมาแล้ว ๆ ก็ยังทรงได้ช่องว่างอยู่นั่นเองฉะนั้น. เออก็ยังเล่า
กันมาว่า ประเทศขนาดเท่ากับปลายขนทราย ตามนัยที่กล่าวไว้ในมหา-
ปรินิพพานสูตร ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง ก็ยังมีเทวดา 10 องค์
บ้าง 20 องค์บ้าง เนรมิตร่างละเอียดยืนอยู่. ข้างหน้าทั้งหมดมีเทวดา 60 ๆ
องค์ยืนอยู่.
บทว่า พวกชั้นสุทธาวาส คือชาวสุทธาวาส. พรหมโลก 5 ชั้น
อันเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีและพระขีณาสพผู้หมดจดชื่อว่าสุทธาวาส. คำว่า
ได้มีคำดำริอย่างนี้ คือ ทำไมจึงได้มี. ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พวกพรหมเหล่านั้น
เข้าสมาบัติแล้วออกตามกำหนด เมื่อมองดูที่อยู่ของพรหมก็ได้เห็นว่าง เหมือน
โรงอาหารในเวลาหลังอาหาร แต่นั้นเมื่อใคร่ครวญดูว่า พวกพรหมไปไหน
ก็ทราบว่าไปที่ประชุมใหญ่ คิดว่า สมาคมนี้ใหญ่ ฝ่ายพวกเรามามัวชักช้า
ก็สำหรับพวกผู้ชักช้าจะหาโอกาสได้ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อจะไปพวกเราอย่ามี
มือเปล่า แต่งคาถาองค์ละบทแล้วค่อยไปพวกเราจะให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
ทราบว่าตนมาในสมาคมเหมือนกันด้วยคาถานั้น และจะกล่าวพระเกียรติคุณของ
พระทศพลด้วย. ความดำริอย่างนี้จึงได้มีเพราะความที่พรหมเหล่านั้นออกจาก
สมาบัติแล้วใคร่ครวญด้วยประการฉะนี้. บทว่า ปรากฏข้างหน้าพระผู้มี
พระภาคเจ้า
ความว่า ท่านทำพรหมเล่านั้นให้เหมือนหยั่งลงในที่เฉพาะ
พระพักตร์ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเองกล่าวไว้แล้ว. ในบาลีแต่ในที่นี้ไม่พึง
เข้าใจความอย่างนี้เลย.

ก็พรหมเหล่านั้น แต่งคาถาแต่ยังอยู่ในพรหมโลกเสร็จแล้วองค์หนึ่ง
ลงที่ขอบปากจักรวาลด้านตะวันออก องค์หนึ่งลงที่ขอบปากจักรวาลด้านใต้
องค์หนึ่งลงที่ขอบปากจักรวาลด้านตะวันตก องค์หนึ่งลงที่ขอบปากจักรวาลด้าน
เหนือ. ต่อจากนั้นพรหมที่ลงที่ขอบปากจักรวาลด้านตะวันออก ก็เข้ากสิณเขียว
แล้วปล่อยรัศมีเขียว เหมือนกำลังสวมหนังแก้วมณีให้เทวดาในหมื่นจักรวาล
ทราบว่าตนมาแล้ว ธรรมดาวิถีของพระพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถจะผ่านไปได้
เพราะฉะนั้น จึงมาด้วยวิถีของพระพุทธเจ้าที่กระทบแล้วไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า
ยืนในที่ควรส่วนหนึ่งแล้วก็ได้กล่าวคาถาที่ตนได้แต่งไว้. พรหมที่ลงที่ขอบปาก
จักรวาลด้านใต้ ก็เข้ากสิณเหลืองปล่อยรัศมีแสงทองเหมือนกำลังห่มผ้าทอง
ประกาศให้เทวดาในหมื่นจักรวาลทราบว่าตนมาแล้วได้ยืนอยู่ในนั้นนั่นเอง.
พรหมที่ลงทางขอบปากจักรวาลด้านตะวันตก เข้ากสิณแดง เปล่งรัศมีแดง
เหมือนห่มผ้าขนสัตว์ชั้นดีสีแดง ประกาศให้ทรงทราบว่าตนมาแล้ว แก่เทวดา
ในหมี่นจักรวาลแล้วได้ยืนอย่างนั้นเหมือนกัน. พรหมที่ลงทางขอบปากจักรวาล
ด้านเหนือ เข้ากสิณขาว เปล่งรัศมีขาวเหมือนนุ่งผ้าดอกมะลิ ประกาศให้
ทราบว่าตนมาแล้ว แก่เทวดาในหมื่นจักรวาลได้ยืนอย่างนั้นเหมือนกัน. แต่ใน
บาลีท่านกล่าวว่า พรหมทั้งหลายเหล่านั้น ปรากฏข้างหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่า ครั้งนั้นเทวดาเหล่านั้น อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนในที่ควรส่วน
หนึ่ง ดังนี้ แล้วได้กล่าวความปรากฏข้างหน้า และการอภิวาทแล้วยืนในที่ควร
ส่วนหนึ่ง เหมือนกับในขณะเดียวกันอย่างนั้น. การปรากฏและการยืนได้มี
ตามลำดับนี้ แต่ท่านกระทำเป็นพร้อมกันแสดงไว้แล้ว. ส่วนการกล่าวคาถา
ในบาลีท่านแยกกล่าวไว้เป็นแผนก ๆ ทีเดียว.
ในบทเหล่านั้น บทว่า มหาสมัย แปลว่า การประชุมใหญ่ ป่าชัฏ
เรียกว่าป่าใหญ่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า การประชุมใหญ่ คือการเข้า

ประชุมพร้อมกันครั้งใหญ่มีในวันนี้ที่ชัฏป่านี้ แม้ด้วยบททั้งสอง. แต่นั้น เพื่อ
แสดงพวกที่เข้าประชุมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า หมู่เทพมาประชุมกัน
แล้ว. ในบทว่า หมู่เทพนั้น คือพวกเทวดา บทว่า พวกเราเป็นผู้มาสู่การ
ประชุมธรรมนี้
คือ เมื่อได้เห็นหมู่เทพมาประชุมกันอย่างนี้ แม้พวกเราก็มา
สู่การประชุมธรรมนี้. เพราะเหตุไร เพราะเหตุ เพื่อเห็นหมู่ที่ไม่มีใคร
ปราบได้นั่นเอง อธิบายว่า พวกเราได้เป็นผู้มาเพื่อชมหมู่ที่ไม่มีใครปราบได้นี้
ผู้ชื่อว่าพิชิตสงความ เพราะเป็นผู้ที่ไม่มีใครทำให้พ่ายแพ้ได้แล้วย่ำยีมารทั้งสาม
ชนิดได้ในวันนี้นั่นเอง. ก็พรหมนั้น ครั้นกล่าวคาถานี้แล้วก็อภิวาทพระผู้มี
พระภาคเจ้าแล้วได้ยืนทางขอบปากจักรวาลด้านตะวันออก. ถัดมาองค์ที่สองก็
มากล่าวตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
ในบทว่า ภิกษุทั้งหลายใน...นั้น นั้นได้แก่ พวกภิกษุในที่ประ-
ชุมนั้น. บทว่า ตั้งมั่นแล้ว คือประกอบด้วยสมาธิ. บาทคาถาว่า ได้ทำจิต
ของตนให้ตรงแล้ว
ได้แก่ ได้นำความคดโกง และความโค้งออกจนหมด
แล้วทำจิตของตนให้ตรง. บาทคาถาว่า เหมือนสารถีถือเชือก ความว่า
เมื่อพวกม้าสินธพ ไปอย่างเรียบร้อย สารถีวางปฏักลงแล้วคอยจับเชือกทั้งหมด
ไว้ไม่เตือนไม่รั้งตั้งอยู่ฉันใด ภิกษุหมดทั้งห้าร้อยนี้ถึงพร้อมด้วยความวางเฉยมี
องค์หก คุ้มทวารได้แล้วบัณฑิตรักษาอินทรีย์ทั้งหลายไว้ฉันนั้น พรหมกล่าว
ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มาที่นี้เพื่อชมภิกษุ
เหล่านี้. แล้วพรหมแม้นั้นก็ไปยืนตามตำแหน่งทีเดียว. ถัดมาองค์ที่สามก็มา
กล่าวตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตัดตาปูได้แล้ว คือ ตัดตาปูอัน ได้แก่
ราคะโทสะและโมหะ. บทว่า ลิ่มสลัก ก็ได้แก่ลิ่มสลักคือราคะโทสะและโมหะ
นั่นเอง. บทว่า เสาเขื่อน ก็ได้แก่เสาเขื่อนคือราคะโทสะและโมหะนั่นเอง.

บทว่า ถอนแล้วไม่มี เอชา คือ ภิกษุเหล่าชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว เพราะ
ไม่มีความหวั่นไหวคือตัณหา ถอนแล้วคือกระชากเสาเขื่อนจนหลุดแล้ว .
บทว่า ท่านเหล่านั้นเที่ยวไป คือเที่ยวจาริกไปชนิดที่ไม่กระทบกระทั่งใคร
ในสี่ทิศ. บทว่า หมดจด คือไม่มีตัวการที่เข้ามาทำให้จิตใจเศร้าหมอง.
บทว่า ปราศจากมลทิน คือไม่มีมลทิน. คำว่า ปราศจากมลทินนี้ ก็เป็นคำ
สำหรับใช้แทนคำว่า หมดจด นั่นเอง. บทว่า มีตา คือมีดวงตาด้วยดวงตา 5
ชนิด. บทว่า ฝึกแล้วเป็นอย่างดี คือ ทางตาก็ฝึกแล้ว ทางหู. ทางจมูก
ทางลิ้นทางกาย ทางใจ ก็ฝึกแล้ว. บทว่า นาคหนุ่ม คือนาครุ่น ๆ. พรหม
อธิบายว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เป็นผู้มาแล้วเพื่อชมนาครุ่น
ที่ฝึกแล้วด้วยความเพียรเป็นเครื่องประกอบอัน ยอดเยี่ยมเห็นปานนี้เหล่านี้.
แม้พรหมองค์นั้นก็ได้ไปยืนตามตำแหน่งนั่นแล. ถัดมาองค์ที่สี่ ก็ได้มากล่าว
ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นเอง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถึงแล้ว คือถึงแล้วด้วยการถึงสรณะที่
ไม่มีความสงสัย. แม้พรหมองค์นั้นก็ได้ไปยืนตามตำแหน่งนั่นแล.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อได้ทรงสำรวจดูตั้งแต่พื้นแผ่นดิน
จนจรดกำหนดขอบปากจักรวาล จากกำหนดขอบปากจักรวาลจนจรดพรหมโลก
ทอดพระเนตรเห็นการประชุมของเทวดาแล้วจึงทรงพระดำริว่า สมาคมเทวดา
นี้ใหญ่. ฝ่ายพวกภิกษุไม่ทราบว่า สมาคมเทวดานี้ใหญ่อย่างนี้ เอาเถิด เรา
จะบอกพวกเธอ เมื่อทรงพระดำริอย่างนั้นเสร็จแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระ
ภาคเจ้าก็ตรัสเรียกภิกษุ ด้วยประการฉะนี้. พึงขยายให้กว้างทั้งหมด.
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า มีเท่านี้เป็นอย่างยิ่ง คือ ชื่อว่ามีเท่านี้
เป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่านี้เป็นประมาณอย่างยิ่งของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น. แต่
เพราะบัดนี้ ไม่มีพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงไม่ตรัสครั้งที่สามว่า ภิกษุทั้งหลาย !

แม้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นใดในบัดนี้. บทว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะบอก ความ
ว่า ถามว่า ทำไมจึงตรัส ตอบว่า เพื่อให้ทราบพรั่งพร้อมแห่งจิตของทวยเทพ
ได้ยินว่า พวกเทวดาพากันคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงกล่าวชื่อและโคตร
แต่ของทวยเทพชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ของพวกชั้นผู้น้อยจะทรงบอกไปทำไมใน
สมาคมใหญ่นี้. ทีนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เทพเหล่านั้นคิด
อย่างไร ทรงทราบวาระจิตนั้นของเทวดาเหล่านั้น เหมือนสอดมือเข้าปาก
แล้วคลำดวงใจ และเหมือนจับโจรได้ทั้งของกลางจึงทรงดำริว่า เราจะกล่าว
ถึงชื่อและโคตรของเหล่าเทพแม้ทั้งหมดทั้งชั้นผู้น้อยและชั้นผู้ใหญ่ซึ่งต่างมาจาก
หมื่นจักรวาล.
ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นผู้ใหญ่ พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ทรงเป็นสัตว์พิเศษ ทรงทราบสิ่งที่ชาวโลกรวมทั้งเทวดาได้เห็น ได้ยิน
ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้ถึง ได้แสวงหา ได้ใช้ใจท่องเที่ยวไปตาม ไม่ว่า
สิ่งไร ๆ ในที่ใด ๆ จะเป็นรูปารมณ์ในรูปารมณ์ที่จำแนกด้วยสามารถรูปมีรูปสี
เขียวเป็นต้น หรืออารมณ์มีเสียงเป็นต้น ที่แยกไว้เป็นแผนก ๆ ในสัททารมณ์
เป็นต้น ที่จำแนกด้วยสามารถเสียงกลองเป็นต้น มีอยู่ซึ่งมาสู่คลองที่หน้าพระ
ญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย สิ่งใดที่ชาวโลกรวมทั้งเทวดา ฯลฯ รวมทั้งเทวดาและมนุษย์ ได้เห็น
ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้ถึง ได้แสวงหา ได้ใช้ใจท่องเที่ยวไปตาม เรารู้สิ่ง
นั้น เราเห็นสิ่งนั้น เราเข้าใจสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง.1 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมี
พระญาณไม่มีอะไรมาขัดขวางได้ในทุกหนทุกแห่งอย่างนี้ ทรงได้ทำพวกเทวดา.
แม้ทั้งหมดนั้นเป็นสองพวกด้วยอำนาจภัพและอภัพ คือ พวกที่เป็นอภัพสัตว์ที่
กล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า หรือสัตว์เหล่าใด ถึงพร้อมด้วยทำนบคือกรรม สัตว์พวก
1. สํ. จตุก. 32

นั้นถึงจะอยู่ร่วมวิหารกัน พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ทรงมอง และพวกภัพสัตว์
ที่ตรงกันข้ามกับพวกอภัพสัตว์นั้น พวกนั้นต่อให้อยู่ไกลก็เสด็จไปทรง
สงเคราะห์. เพราะฉะนั้น แม้ในการประชุมของเทพนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงละพวกที่อภัพ (ไม่เหมาะไม่สมควรโชคร้าย) แล้วรวบรวมเอาแต่พวก
ภัพสัตว์ เมื่อรวบรวมเอาเสร็จแล้วก็มาทรงจัดเป็น 6 พวก ตามอำนาจจริต
นั่นเองว่า พวกราคจริตเท่านี้ พวกโทสจริตเป็นต้นเท่านี้.
ต่อมาก็ทรงใคร่ครวญธรรมเทศนาอันเป็นที่สบายแก่พวกจริตเหล่านั้น
ทรงกำหนดเทศนาว่า พวกเทวดาราคจริต เราจักแสดงสัมมาปริพพาชนียสูตร
(สูตรว่าด้วยเรื่องที่พึงเว้นโดยชอบ) จักแสดงกลหวิวาทสูตร (สูตรเกี่ยวกับ
เรื่องทะเลาะวิวาท) แก่พวกโทสจริต จักแสดงมหาพยูหสูตร (สูตรว่าด้วย
พวกใหญ่) แก่พวกโมหจริต จักแสดงจูฬพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกน้อย)
แก่พวกวิตกจริต จักแสดงตุวัฏฏกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของนกคุ่ม)
แก่พวกสัทธาจริต จักแสดง ปุราเภทสูตร ( สูตรว่าด้วยเรื่องแตก
ในอนาคต) แก่พวกพุทธิจริต แล้วก็ทรงใส่พระทัยถึงบริษัทนั้นอีกว่า บริษัท
พึงรู้ด้วยอัธยาศัยของตน ด้วยอัธยาศัยของคนอื่น ด้วยการเกิดเรื่องขึ้น หรือ
ด้วยอำนาจการถามหนอแล แต่นั้นก็ทรงทราบว่า บริษัทพึงรู้ด้วยอำนาจการ
ถามแล้วทรงพระดำริว่าจะมีใครหรือไม่หนอที่เป็นผู้ถือเอาอัธยาศัยของทวยเทพ
แล้ว สามารถถามปัญหาด้วยอำนาจจริตได้ ได้ทรงเห็นว่า ในพวกภิกษุทั้ง 500
รูปนั้น แม้รูปเดียวก็จะไม่สามารถ. จากนั้นทรงรวมเอาพระสาวกผู้ใหญ่ 80
รูป และพระสาวกชั้นเลิศ 2 รูป ก็ทรงเห็นว่า ถึงท่านเหล่านั้นก็จะไม่อาจ
แล้วทรงพระรำพึงว่า ถ้าพึงมีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าจะ
สามารถหรือไม่หนอ ทรงทราบว่า ถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็จะไม่สามารถ
ทรงรวมว่า ในบรรดาท้าวสักกะและท้าวสุยามะเป็นต้น ใคร ๆ จะพึงอาจ แม้

ถ้าในท่านแม้เหล่านั้น ผู้ไร ๆ จะพึงอาจจะให้ถามพระองค์แล้วจะพึงตอบเสีย
เอง. แต่แม้ในท่านเหล่านั้น ใคร ๆ ก็ไม่อาจ.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า
พระพุทธเจ้าอย่างเราเท่านั้นจึงจะพึงอาจ และก็มีพระพุทธเจ้าองค์อื่นในที่ใด
บ้างไหม แล้วก็ทรงแผ่พระญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดไปในโลกธาตุอันไม่มีที่สิ้นสุด
ทรงตรวจดูก็ไม่ได้ทรงเห็นพระพุทธเจ้าองค์อื่น. ข้อที่ไม่ทรงเห็นผู้ใดเสมอ
พระองค์ในบัดนี้นั้นไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้ในวันประสูติ เมื่อไม่ทรงเห็น
ใครเสมอพระองค์ตามนัยที่กล่าวไว้ในอรรถกถาพรหมชาลสูตร พระองค์ก็ได้
เปล่งสีหนาทที่ไม่มีใครจะพึงปฏิวัติได้ว่า เราเป็นยอดของโลก ดังนี้. เมื่อไม่
ทรงเห็นคนอื่นเท่าพระองค์อย่างนี้แล้ว ก็ทรงคิดว่า ถ้าเราพึงถามแล้วตอบ
เองเสียเลย แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เทวดาเหล่านี้ ก็จะไม่อาจแทงตลอดได้
แต่เมื่อพระพุทธเจ้าองค์อื่นนั่นแล ทรงถามและเราตอบจึงจะเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์
และพวกเทวดาก็จะสามารถแทงตลอดได้ด้วยฉะนั้น เราจะสร้างพระพุทธนิรมิต.
แล้วทรงเข้าฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท ครั้นทรงออกแล้วก็ทรงบริกรรมด้วย
กามาวจรจิตทั้งหลายว่า ขอให้การถือบาตรและจีวร การเหลียวหน้าและ
เหลียวหลัง และการคู้เข้าและเหยียดออกจงเหมือนเราทีเดียว แล้วก็ทรงอธิษ-
ฐานด้วยรูปาวจรจิต เหมือนทำลายดวงจันทร์ที่กำลังลอยเด่นจากวงในโดยรอบ
เขายุคนธรทางทิศตะวันออก ให้ออกไปอยู่ฉะนั้น.
ครั้นหมู่เทพได้เห็นพุทธนิรมิตนั้น ก็พูดว่า ท่าน พระจันทร์ดวงอื่น
ขึ้นไปแล้วหรือหนอแล. เมื่อพระพุทธที่ทรงนิรมิตละดวงจันทร์แล้วเข้ามาใกล้.
ก็พูดว่า ไม่ใช่พระจันทร์ แต่เป็นพระอาทิตย์ขึ้นต่างหาก เมื่อยิ่งใกล้เข้ามา
อีก ก็พูดว่า ไม่ใช่พระอาทิตย์ แต่นั่นเป็นวิมานเทวดา. เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก
ก็พูดว่า ไม่ใช่วิมานเทวดา แต่นั่นเป็นเทพบุตร. เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูด

ว่า ไม่ใช่เทพบุตร แต่นั่นเป็นมหาพรหม เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูดว่า
ไม่ใช่เป็นมหาพรหม แต่เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเสด็จมา ดังนี้. ในที่นั้น
พวกเทวดาปุถุชน ก็พากันคิดว่า พระพุทธเจ้าองค์เดียว ที่ประชุมเทวดา
ก็ใหญ่ขนาดนี้แล้ว สองพระองค์จะใหญ่ขนาดไหน (ส่วน) เทวดาอริยะ
ก็พากันคิดว่า ในโลกธาตุเดียว ไม่มีพระพุทธเจ้าสองพระองค์ พระผู้มีพระ
เจ้าทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าองค์อี่นขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่งที่เหมือนกับพระองค์
เป็นแน่.
ขณะที่หมู่เทพกำลังเห็นพระพุทธนิรมิตนั่นเอง พระพุทธนิรมิตก็เสด็จ
มาถึงไม่ทรงไหว้พระทศพลเลย ทำให้เท่า ๆ กันในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วก็
ประทับนั่งบนพระที่นั่งที่เนรมิตไว้. มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ แม้ของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของพระพุทธนิรมิต ก็มี 32 ประการเหมือนกัน. พระ
รัศมี 6 สี ออกไปจากพระสรีระแม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของพระพุทธ
นิรมิตก็เหมือนกัน. พระรัศมีจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทบพระ
กายของพระพุทธนิรมิต พระรัศมีจากพระสรีระของพระพุทธเนรมิตก็กระทบ
พระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า. รัศมีเหล่านั้นพุ่งจากพระสรีระของพระพุทธเจ้า
ทั้งสองพระองค์ไปจรดชั้นนอกนิฏฐพรหม กลับจากนั้นก็ลงในที่สุดของทุกเศียร
ของเหล่าเทพ แล้วตั้งอยู่ที่ขอบปากจักรวาล. ห้องจักรวาลทั้งสิ้นรุ่งเรืองดัง
เรือนพระเจดีย์ที่มีไม้จันทันโค้งที่แล้วไปด้วยเงินรึงรัดไว้แล้วฉะนั้น. เทวดา
ในหมื่นจักรวาล รวมเป็นกลุ่มในจักรวาลเดียวเข้าไปตั้งอยู่ในระหว่างห้องรัศมี
ของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์. เมื่อพระพุทธเนรมิตกำลังประทับนั่งอยู่นั่น
แล ชมเชยการละกิเลสที่โพธิบัลลังก์ของพระทศพล จึงตรัสคาถาว่า

เราขอถามท่านมุนี ผู้มีปัญญามาก ผู้
ข้ามแล้ว ถึงฝั่งแล้ว เย็นสนิท มีพระองค์
ตั้งมั่น ออกจากเรือนแล้วบรรเทากาม
ทั้งหลาย

ภิกษุนั้นพึงท่องเที่ยวไปในโลกโดยชอบอย่างไร.
พระศาสดา ครั้นทรงคิดว่า เราจะกล่าวถึงชื่อและโคตรของผู้ที่มา
แล้ว ๆ เพื่อให้พวกเทวดาเกิดความเป็นผู้มีจิตพร้อม ก่อนจึงตรัสคำเป็นต้นว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราจะบอก ดังนี้
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เราจะทำโศลก คือถ้อยคำที่ประพันธ์
เป็นฉันท์ คือ จะให้หมู่คำที่นิยมแล้วด้วยบทอักษรเป็นไป. บทว่า ภุมม-
เทวดาในที่ใดก็อาศัยที่นั้น
ความว่า พวกเทวาที่อยู่ตามพื้นดินในที่ใด ๆ
อาศัยที่นั้น ๆ แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกชั้นวรรณะแก่ภิกษุเหล่านั้น
ด้วยบทเป็นต้นว่า พวกที่อาศัยซอกเขา. อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดอาศัยท้องภูเขา.
บทว่า ส่งตนไปแล้ว คือมีตนที่ส่งไปแล้ว. บทว่า ตั้งมั่น คือ ไม่ฟุ้งซ่าน.
บทว่า มาก คือ ชนมาก. บทว่า เหมือน สีหะ ซ่อนเร้น คือเข้าถึงความ
เป็นผู้มีจิตเป็นหนึ่ง เหมือนสีหะ หลบซ่อน. บทว่า ครอบงำความ
พองขน
คือ ครอบงำขนพอง แล้วตั้งอยู่. มีคำอธิบายว่า ไม่มีความกลัว.
บทว่า มีใจผุดผ่อง หมดจด คือเป็นผู้มีจิตขาวผ่อง หมดจด. บทว่า
ผ่องใส ไม่ขุ่น คือ ผ่องแผ้ว ไม่ขุ่นมัว. บทว่า ทรงทราบภิกษุเกิน
500 รูป
คือทรงรู้จักภิกษุเกิน 500 รูป รวมทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย.
บทว่า ที่ป่าใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ คือที่ชัฏป่าซึ่งเกิดใกล้กรุงกบิลพัสดุ์. บทว่า
แต่นั้นพระศาสดาจึงตรัสเรียก คือ ตรัส เรียกในครั้งนั้น. บทว่า หมู่
สาวกผู้ยินดีในศาสนา
คือ ชื่อว่าสาวกเพราะเกิดในที่สุดการฟังพระธรรม

เทศนาของพระองค์ ชื่อว่า ผู้ยินดีในศาสนาเพราะยินดีในศาสนาคือสิกขาสาม.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำคำทั้งหมดนี้ให้เหมือนคนอื่นกล่าว ตรัสด้วยพระดำรัส
ว่า เราจะทำโศลก. บทว่า หมู่เทพมุ่งหน้ามากันแล้ว ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงรู้จักหมู่เทพเหล่า นั้นไว้
ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
เพี่อประโยชน์ แก่อภินิหารแห่งทิพยจักษุญาณของภิกษุเหล่านั้น ว่า พวกเธอ
จงรู้จักพวกเทพเหล่านั้นด้วยทิพยจักษุ ดังนี้ .
บทว่า ก็ภิกษุเหล่านั้น ฟังพระพุทธศาสน์แล้วได้กระทำความ
เพียร
ความว่าก็แลภิกษุเหล่านั้นฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นแล้ว ทันใด
นั้นเองก็ได้กระทำความเพียรเพื่อประโยชน์แก่ทิพยจักษุนั้น. ญาณก็ได้ปรากฏ
แก่ท่านเหล่านั้นผู้พอได้ลงมือกระทำความเพียรนั่นเองอย่างนั้น. เป็นอย่างไร
คือทิพยจักษุญาณอันเป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์เกิดขึ้นแล้ว. ทิพยจักษุญาณนั้น
มิใช่ว่าพวกท่านเหล่านั้นกระทำบริกรรม แล้วให้เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ทิพย-
จักษุญาณนั้นสำเร็จด้วยมรรคทีเดียว. ก็แลเหตุเพียงอภินิหาร แห่งทิพยจักษุ
ญาณเพื่อเห็นอมนุษย์นั้นเท่านั้น ได้กระทำแล้ว. ถึงพระศาสดาก็ทรงหมาย
เอาข้อนี้เองว่า พวกเธอมีญาณ ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงน้อมญาณไปรู้ แล้วจึง
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรู้จักหมู่เทพเหล่านั้น. บทว่า เหล่าภิกษุ
บางพวกได้เห็น 100
ความว่า ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางพวกได้เห็นพวก
อมนุษย์หนึ่งร้อย. บทว่า หนึ่งพัน และ เจ็ด ความว่า บางพวกเห็น
อมนุษย์หนึ่งพัน บางพวกเห็นอมนุษย์เจ็ดหมื่น. บทว่า บางพวกหนึ่งร้อย
พัน
คือบางพวกเห็นอมนุษย์หนึ่งแสน. บทว่า บางพวกได้เห็นไม่มี
ที่สุด
ความว่าได้เห็นอย่างใหญ่. อธิบายว่า ได้เห็นอมนุษย์แม้จะกำหนด
ด้วยสามารถร้อยและด้วยสามารถพันก็ไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะอมนุษย์
ได้แผ่ไปทั่วทิศ คือได้เต็มที่ทีเดียว.

บทว่า และรู้ยิ่งสิ่งทั้งหมดนั้น คือ ในภิกษุเหล่านั้น สิ่งใดที่แต่
ละรูปได้เห็น ก็รู้สิ่งทั้งหมดนั้นด้วย. บทว่า ผู้ทรงมีจักษุทรงใคร่ครวญ
แล้ว
คือ พระศาสดาผู้ทรงมีจักษุด้วยจักษุทั้ง 5 อย่าง ทรงใคร่ครวญโดย
ประจักษ์ เหมือนผู้ใคร่ครวญดูลายมือฉะนั้น จึงตรัสพระคาถาที่กล่าวมาเมื่อ
ก่อนว่า แต่นั้นจึงตรัส เรียก เพื่อทรงต้องการระบุถึงชื่อและโคตร. ในบทนี้มี
ความเกี่ยวข้องอย่างนี้ว่า พวกเธอจงรู้จัก คือจงดู ได้แก่ จงมองดูพวกอมนุษย์
ที่เราจะระบุแก่พวกเธอ. บทว่า ด้วยถ้อยคำทั้งหลาย คือด้วยคำพูดทั้งหลาย.
บทว่า โดยลำดับ คือ ตามลำดับ.
บทว่า ยักษ์ทั้งหลายเจ็ดพันเป็นพวกเทพอยู่ตามแผ่นดิน
อาศัยกรุงกบิลพัสดุ์
คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า หมู่ยักษ์ คือพวก
เทพอยู่ตามแผ่นดินอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์เกิดในกรุงกบิลพัสดุ์นั้นก่อน. บทว่า มี
ฤทธิ์
คือประกอบด้วยฤทธิ์ทิพย์. บทว่า มีความรุ่งเรือง คือถึงพร้อมด้วย
อานุภาพ. บทว่า มีวรรณะ คือสมบูรณ์ด้วยผิวพรรณของร่างกาย. บทว่า
มียศ คือสมบูรณ์ด้วยบริวาร. บทว่า ยินดีมุ่งหน้ามา คือ มีจิตยินดีมา.
บทว่า สู่ป่าเป็นที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย คือมาเพื่อต้องการดูป่าใหญ่
นี้ คือสำนักของพวกภิกษุนี้ ได้แก่เพื่อต้องการดูภิกษุทั้งหลาย. อีกอย่างหนึ่ง
พวก เรียกว่า ประชุม. อธิบายว่า มาเพื่อชมพวกภิกษุดังนี้ก็ได้. บทว่า พวก
ยักษ์ชาวเขาเหมวัตหกพัน มีผิวพรรณต่าง ๆ กัน
คือพวกยักษ์ที่เกิดที่
ภูเขาเหมวัตหกพัน พวกยักษ์แม้ทั้งหมดนั้น มีสีต่าง ๆ กัน ด้วยอำนาจสีเขียว
เป็นต้น. บทว่า พวกยักษ์ชาวเขาสาตาคิรีสามพัน คือ พวกยักษ์ที่เกิดที่
ภูเขาสาคาคิรี 3,000. บทว่า ยักษ์เหล่านี้หมื่นหกพันด้วยประการฉะนี้
คือยักษ์แม้ทั้งหมดนี้ รวมกันเป็นหมื่นหกพัน. บทว่า ชาวเขาวิศวามิตร
ห้าร้อย
คือ พวกยักษ์ที่เกิดที่ภูเขาวิศวามิตร 500 บทว่า กุมภีร์ชาวเมือง