เมนู

อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร



มหาปรินิพพานสูตร

เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
พรรณนาความตามลำดับบทในมหาปรินิพพานสูตรนั้น ดังต่อไปนี้.
บทว่า คิชฺฌกูเฏ ความว่า บนภูเขาชื่อว่า คิชฌกูฏ เพราะมีฝูงแร้งอยู่บนยอด
หรือมียอดคล้ายแร้ง. บทว่า อภิยาตุกาโม ได้แก่มีพระประสงค์จะเสด็จยาตรา-
ทัพยึดแคว้นวัชชี. บทว่า วชฺชี ได้แก่เหล่าเจ้าวัชชี. บทว่า เอวํ มหิทฺธิเก
ได้แก่ประกอบด้วยราชฤทธิ์ใหญ่อย่างนี้. พระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสถึงภาวะที่
เจ้าวัชชีเหล่านั้นสามัคคีกัน ด้วยพระดำรัสนี้. บทว่า เอวํ มหานุภาเว ได้แก่
ประกอบด้วยอานุภาพมากอย่างนี้. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถึงภาวะที่เจ้าวัชชี
เหล่านั้น ทรงศึกษาหัตถศิลปะเป็นต้น ที่ท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า พวกเจ้า
ลิจฉวีราชกุมารเหล่านี้ศึกษาฝึกฝนชำนาญดีแล้วหนอ ที่สามารถยิงลูกศร เข้า
ทางช่องดาลถี่ ๆ ได้ ลูกศรที่ติดพู่ทั้งใหญ่ทั้งเล็กไม่ผิดพลาดเป้าเลย. บทว่า
อุจฺเฉชฺชามิ แปลว่า จักตัดขาด. บทว่า วินาเสสฺสามิ แปลว่า จักทำให้ถึง
ความไม่ปรากฏ. ในคำว่า อนยพฺยสนํ นี้ ความเจริญหามิได้เหตุนั้นจึงชื่อว่า
อนยะ. คำว่า อนยะ นี้ เป็นชื่อของความไม่เจริญ ความไม่เจริญนั้น ย่อม
ขจัดทิ้งซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุข เหตุนั้นจึงชื่อว่า พยสนะ. คำว่า
พยสนะ นี้ เป็นชื่อของความเสื่อมมีเสื่อมญาติเป็นต้น. บทว่า อาปาเทสฺสามิ
แปลว่า จักให้ถึง.
ได้ยินว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนั้น ตรัสเฉพาะการยุทธ์อย่างนี้ ในอิริยา-
บถมียืนและนั่งเป็นต้น จึงสั่งกองทัพอย่างนี้ว่า พวกเจ้าจงเตรียมยาตราทัพ.

เพราะเหตุไร. ได้ยินว่าตรงตำบลปัฏฏนคามตำบลหนึ่งแห่งแม่น้ำคงคา พระเจ้า
อชาตศัตรูทรงมีอำนาจกึ่งโยชน์ พวกเจ้าลิจฉวีมีอำนาจกึ่งโยชน์. อธิบายว่า
ก็ในตำบลนี้เป็นสถานที่ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครอง. อีกอย่างหนึ่งในที่นั้น
สิ่งที่มีค่ามากตกจากเชิงเขา. เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรง
พระดำริว่า ไปวันนี้ ไปพรุ่งนี้ จึงตระเตรียมทันที เหล่าเจ้าลิจฉวีทรงสมัคร
สมานกันอยู่ จึงพากันไปก่อนยึดของมีค่ามากเอาไว้หมด. พระเจ้าอชาตศัตรู
เสด็จไปทีหลัง ทรงทราบเรื่องนั้น แล้วทรงกริ้ว เสด็จไป. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น
ก็กระทำอย่างนั้นแหละแม้ในปีต่อมา. ดังนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงอาฆาต
อย่างรุนแรง ได้ทรงการทำอย่างนั้นในคราวนั้น. แต่นั้นทรงดำริว่า ชื่อว่าการ
ต่อยุทธ์กับคณะเจ้าเป็นเรื่องหนัก ชื่อว่าการต่อตีที่ไร้ประโยชน์แม้ครั้งเดียวก็
มีไม่ได้ แต่เมื่อปรึกษากับบัณฑิตสักคนหนึ่งย่อมไม่พลาด. ก็บัณฑิตเช่นพระ
ศาสดา ไม่มี ทั้งพระศาสดาก็ประทับอยู่ในวิหารใกล้ ๆ นี่เอง. เอาเถิด เราจะ
ส่งคนไปทูลถาม ถ้าเราไปเอง จักมีประโยชน์อะไร พระศาสดาก็จักทรงดุษณี
ภาพ ก็เมื่อไม่เป็นประโยชน์เช่นนี้ พระศาสดาจักตรัสว่า พระราชาเสด็จไป
ในที่นั้น จะมีประโยชน์อะไร. ท้าวเธอจึงส่งวัสสการพราหมณ์ไป. พราหมณ์
ไปแล้วก็กราบทูลความข้อนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าว
ว่า อถ โข ราชา ฯ เป ฯ อาปาเทสฺสามิ วชฺชึ ดังนี้.
บทว่า ภควนฺตํ วีชยมาโน ความว่า พระเถระยืนถวายงานพัดพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตามธรรมเนียม แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงหนาวหรือทรงร้อน
ก็หามิได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของพราหมณ์แล้ว ไม่ทรงปรึกษา
กับพราหมณ์นั้น กลับมีประสงค์จะปรึกษากับพระเถระ จึงตรัสคำว่า กินฺติ เต
อานนฺท สุตํ
ดังนี้เป็นอาทิ.

บทว่า อภิณฺหสนฺนิปาตา ความว่า ประชุมกันวันละ 3 ครั้งบ้าง
ประชุมกันเป็นระยะบ้าง ชื่อว่า ประชุมกันเนือง ๆ. บทว่า สนฺนิปาตพหุลา
ความว่า เมื่อไม่หยุดพักว่าเมื่อวาน ก็ประชุมกันแล้ว ทั้งวันก่อนก็ประชุมกัน
แล้ว วันนี้จะประชุมกันทำไมอีก ชื่อว่า มากด้วยการประชุม. บทว่า ยาว-
กีวญฺจ
แปลว่า ตลอดกาลเพียงใด. บทว่า วุฑฺฒิเยว อานนฺท วชฺชีนํ
ปาฏิกงฺขาโน ปริหานิ
ความว่า เพราะเมื่อไม่ประชุมกันเนือง ๆ ไม่ฟังข่าว
ที่มาแต่ทุกทิศทุกทางก็ไม่รู้เรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้น จากเขตบ้านหรือเขตนิคมโน้น
หรือโจรมั่วสุมในที่โน้น. แม้เหล่าโจรรู้ว่า พวกเจ้าพากันประมาท จึงปล้นบ้าน
และนิคมเป็นต้น ทำชนบทให้พินาศ. พวกเจ้าย่อมเสื่อมด้วยประการฉะนี้.
แต่เมื่อประชุมกันเนือง ๆ รู้ข่าวนั้น ๆ แต่นั้นก็จะส่งกำลังไปปราบฝ่ายที่ไม่ใช่
มิตร แม้โจรทั้งหลายรู้ว่าพวกเจ้าไม่ประมาท พวกเราก็ไม่อาจจะคุมกันเป็น
หมู่เที่ยวไปได้ แล้วก็แตกหนีไป. เจ้าทั้งหลายย่อมเจริญด้วยประการฉะนี้.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ชาววัชชีพึงหวังความเจริญถ่ายเดียว
ไม่เสื่อมเลย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาฏิกงฺขา แปลว่า พึงปรารถนา
อธิบายว่า พึงเห็นอย่างนี้ว่า ความเจริญจักมีแน่แท้.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สมคฺคา เป็นต้น ดังนี้.
เมื่อกลองเรียกประชุมลั่นขึ้น พวกเจ้าลิจฉวีการทำการบ่ายเบี่ยงว่า
วันนี้เรามีกิจ วันนี้ มงคล ดังนี้ ชื่อว่าไม่พร้อมเพรียงกันประชุม. แต่พอได้
ยินเสียงกลอง กำลังกินก็ดี กำลังแต่งตัวก็ดี กำลังนุ่งผ้าก็ดี กินได้ครึ่งหนึ่งบ้าง
แต่งตัวได้ครึ่งหนึ่งบ้าง กำลังนุ่งผ้าบ้าง ก็เข้าประชุม ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน
ประชุม. ส่วนเข้าประชุมแล้ว ก็คิดก็ปรึกษากัน ทำกิจที่ควรทำ ไม่เลิกพร้อม
กัน ชื่อว่า ไม่พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม. ก็เมื่อเลิกประชุมกันอย่างนี้แล้ว
พวกที่ไปก่อนมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราได้ยินแต่พูดกันนอกเรื่อง บัดนี้ จะ

พูดแต่เรื่องที่มีข้อยุติ. แต่เมื่อเลิกพร้อมกัน ก็ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันเลิก. อนึ่ง
ได้ยินว่า ความวุ่นวาย หรือโจรมั่วสุมกัน แต่เขตบ้านหรือเขตนิคม ในที่โน้น
เมื่อไต่ถามกันว่า ใครจักไปกระทำการปราบฝ่ายที่ไม่ใช่มิตรเล่า ต่างชิงกัน
อาสาพูดว่า ข้าก่อน ข้าก่อน แล้วพากันไปก็ดี ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันเลิก.
แต่เมื่อการงานของเจ้าองค์หนึ่ง ต้องงดไป เหล่าเจ้าที่เหลือก็ส่งบุตรและพี่น้อง
ไปช่วยการงาน ของเจ้าองค์นั้นก็ไม่พูดกะเจ้าผู้เป็นอาคันตุกะว่า โปรดเสด็จ
ไปวังของเจ้าองค์โน้นเถิด หากสงเคราะห์พร้อมกันทั้งหมดก็ดี และเมื่องาน
มงคล โรค หรือสุขทุกข์เช่นนั้น อย่างอื่น เกิดขึ้นแก่เจ้าองค์นั้น ก็พากันไป
ช่วยเหลือในเรื่องนั้น ทั้งหมดก็ดี ชื่อว่าพร้อมเพรียงกัน กระทำกิจที่ชาววัชชี
พึงทำ.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อปญฺญตฺตํ เป็นต้นดั่งนี้. ไม่ตั้งภาษีอากร
หรือ พลี หรืออาชญาที่ไม่เคยทำ ชื่อว่า ไม่บัญญัติข้อที่ยังไม่บัญญัติ. ส่วนใช้
ข้อที่มาโดยโบราณประเพณี ชื่อว่า ไม่ถอนข้อที่ท่านบัญญัติไว้แล้ว. เมื่อบุคคล
ถูกเขาจับมาแสดงว่าเป็นโจร. ไม่ยอมวินิจฉัย สั่งลงโทษโดยเด็ดขาดเลย ชื่อว่า
ไม่ถือวัชชีธรรมโบราณประพฤติ. เมื่อเจ้าเหล่านั้นบัญญัติข้อที่ยังไม่บัญญัติ
พวกผู้คนที่ถูกบีบคั้นด้วยภาษีใหม่เอี่ยมเป็นต้น รู้สึกว่าเราถูกบีบคั้น ใครจักอยู่
ในแคว้นของเจ้าเหล่านี้ได้ แล้วก็พากันไปชายแดนเป็นโจรบ้าง เป็นพรรคพวก
ของโจรบ้าง ปล้นชนบท. เมื่อพวกเจ้าเลิกถอนข้อที่บัญญัติไว้ ไม่เก็บภาษี
เป็นต้น ที่มีมาตามประเพณีเรือนคลังก็เสื่อมเสีย แต่นั้นกองทัพ ช้าง ม้าและ
ไพร่พล เมื่อไม่ได้วัตถุเนืองนิตย์เหมือนพนักงานต้นห้องเป็นต้น ก็จะเสื่อมทาง
กำลังใจกำลังกาย พวกเขาก็ไม่ควรจะรบ ไม่ควรจะบำรุงได้. เมื่อไม่ยึดถือวัชชี-
ธรรมโบราณประพฤติ ผู้คนในแว่นแคว้น ก็จะพากันโกรธว่า พวกเจ้าทำบุตรบิดา
พี่น้องของเราผู้ไม่เป็นโจรว่าเป็นโจรตัดทำลายกัน แล้วพากันไปชายแดน เป็น

โจรบ้าง เป็นพรรคพวกของโจรบ้าง โจมตีชนบท. พวกเจ้าย่อมเสื่อมด้วยอาการ
อย่างนี้. แต่เมื่อพวกเจ้าบัญญัติข้อที่บัญญัติแล้ว พวกผู้คนก็จะ พากันร่าเริงยินดี
ว่าพวกเจ้ากระทำแต่ข้อที่มาตามประเพณี ดังนี้แล้ว ต่างก็จะทำการงาน มีกสิ-
กรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นให้เกิดผลสมบูรณ์. เมื่อไม่เพิกถอนข้อที่บัญญัติ
ไว้แล้วเก็บภาษีเป็นต้น ที่มีมาตามประเพณี เรือนคลังก็เจริญ แต่นั้นทัพช้าง
ม้าและไพร่พล เมื่อได้วัตถุเนืองนิตย์ เหมือนพนักงานต้นห้อง สมบูรณ์ด้วย
กำลังใจ กำลังกายแล้ว ควรรบได้ ควรบำรุงได้.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โปราณํ วชฺชิธมฺมํ นี้ดังต่อไปนี้เขาว่า
พวกเจ้าวัชชีแต่ก่อน ไม่ตรัสว่า เมื่อตนถูกเขานำมาแสดงว่าผู้นี้เป็นโจร พวก
ท่านจงจับโจรนั้น แล้วมอบให้มหาอำมาตย์ฝ่ายสอบสวน. ฝ่ายอำมาตย์เหล่านั้น
สอบสวนแล้ว ถ้าหากว่าไม่ใช่โจรก็ปล่อยไป ถ้าเป็นโจรก็ไม่พูดอะไร ๆ ด้วย
ตนเอง แล้วมอบให้มหาอำมาตย์ฝ่ายผู้พิพากษา. มหาอำมาตย์ผู้พิพากษาวินิจฉัย
แล้ว ถ้าไม่ใช่โจรก็ปล่อยตัวไป ถ้าเป็นโจร ก็มอบให้แก่มหาอำมาตย์ฝ่ายที่
ชื่อว่าลูกขุน. ลูกขุนเหล่านั้นวินิจฉัยแล้ว หากไม่ใช่โจรก็ปล่อยตัวไป หาก
เป็นโจร ก็มอบให้มหาอำมาตย์ 8 ตระกูล. มหาอำมาตย์ 8 ตระกูลนั้น ก็
กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วมอบให้เสนาบดี. เสนาบดีก็มอบให้แก่อุปราช
อุปราชก็มอบถวายแด่พระราชา. พระราชา วินิจฉัยแล้ว หากว่าไม่ใช่โจรก็
ปล่อยตัวไป หากว่าเป็นโจร ก็จะโปรดให้เจ้าหน้าที่อ่านคัมภีร์ กฏหมาย
ประเพณี. ในคัมภีร์กฏหมายประเพณีนั้นเขียนไว้ว่า ผู้ใดทำความผิดชื่อนี้
ผู้นั้นจะต้องมีโทษชื่อนี้. พระราชา ทรงนำการกระทำของผู้นั้นมาเทียบกับตัว
บทกฏหมายนั้นแล้ว ทรงลงโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น ดังนั้นเมื่อพวกเจ้า
ยึดถือวัชชีธรรมโบราณประพฤติ ผู้คนทั้งหลายย่อมไม่ติเตียน. พวกเจ้าทั้งหลาย
ย่อมทำงาน ตามประเพณีโบราณ เจ้าเหล่านั้นย่อมไม่มีโทษ ย่อมมีโทษ

แต่เราเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ประมาททำการงาน. เจ้าทั้งหลายย่อม
เจริญด้วยอาการอย่างนี้. ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อานนท์
พวกเจ้าวัชชี พึงหวังความเจริญถ่ายเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย.
บทว่า สกฺกโรนฺติ ได้แก่ เมื่อกระทำสักการะแก่เจ้าวัชชีเหล่านั้น
อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมกระทำแต่ดี ๆ เท่านั้น. บทว่า ครุกโรนฺติ ได้แก่
กระทำการเชิดชูความเป็นผู้ควรเคารพ. บทว่า มาเนนฺติได้แก่ รักด้วยใจ.
บทว่า ปูเชนฺติ ได้แก่ แสดงการนอบน้อม. บทว่า โสตพฺพํ มญฺญนฺติ
ได้แก่ ไปปรนนิบัติวันละ 2-3 ครั้ง ย่อมสำคัญถ้อยคำของเจ้าวัชชีเหล่านั้น
ว่าควรฟังควรเชื่อ. พึงทราบวินิจฉัยในข้อนั้น ดังนี้. ชนเหล่าใด ไม่ทำสักการะ
แก่เจ้าผู้เฒ่า ผู้แก่อย่างนี้ และไม่ไปปรนนิบัติเจ้าเหล่านั้น เพื่อฟังโอวาท
ชนเหล่านั้นถูกเจ้าเหล่านั้นสลัดทิ้งไม่โอวาท ใฝ่ใจแต่การเล่น ก็ย่อมเสื่อมจาก
ความเป็นพระราชา. ส่วนเจ้าเหล่าใด ปฏิบัติตามอย่างนั้น เจ้าผู้เฒ่าผู้แก่
ย่อมสอนประเพณีโบราณแก่เจ้าเหล่านั้นว่า สิ่งนี้ ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ แม้ถึง
สมัยทำสงคราม ก็ย่อมแสดงอุบายว่า ควรเข้าไปอย่างนี้ ควรออกไปอย่างนี้.
เจ้าเหล่านั้นรับโอวาท ปฏิบัติตามโอวาท ย่อมสามารถดำรงราชประเพณีไว้ได้.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อานนท์ เหล่าเจ้าวัชชี พึงหวัง
ความเจริญถ่ายเดียวไม่เสื่อมเลย.
บทว่า กุลิตฺถิโย ได้แก่หญิงแม่เรือนของตระกูล. บทว่า กุลกุมา-
ริโย
ได้แก่ธิดาของหญิงแม่เรือนเหล่านั้น ผู้ยังไม่เป็นอิสสระ. ในคำว่า
โอกฺกสฺส ปสยฺห นี้คำว่า โอกฺกสฺส ก็ดี ปสยฺห ก็ดีนี้เป็นชื่อของอาการ
ข่มขืน. ศาสนิกชนสวดว่า อุกฺกสฺส ดังนี้ก็มี. ในบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกสฺส
แปลว่า ฉุดคร่า. บทว่า ปสยฺห แปลว่า ข่มขืน. ก็เมื่อเจ้าเหล่านั้น กระทำ
อย่างนี้ พวกผู้คนในแว่นแคว้น ก็พากันโกรธว่า พวกเจ้าเหล่านี้ จับบุตร

และมารดา ในเรือนของเราบ้าง จับธิดาที่เรา เอาปากดูดน้ำลายน้ำมูกเป็นต้น
เลี้ยงเติบโตมา โดยพลการให้อยู่ ในเรือนของตนบ้าง แล้วเข้าไปในปลายแดน
เป็นโจรบ้าง เป็นพรรคพวกโจรบ้าง โจมตีชนบท. แต่เมื่อไม่กระทำอย่างนั้น
พวกผู้คนในแว่นแคว้น ก็ขวนขวายน้อย ทำการงานของตน ย่อมทำคลังหลวง
ให้เจริญ พึงทราบความเจริญและความเสื่อมในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า วชฺชีนํ วชฺชิเจติยานิ ความว่า สถานที่ยักษ์ ได้นามว่าเจดีย์
เพราะอรรถว่าเขาทำไว้อย่างงดงาม ในแว่นแคว้น คือรัฐของพวกเจ้าวัชชี.
บทว่า อพฺภนฺตรานิ คือตั้งอยู่ภายในพระนคร. บทว่า พาหิรานิ คือตั้ง
อยู่ภายนอกพระนคร. บทว่า ทินฺนปุพฺพํ แปลว่า ที่เขาเคยให้. บทว่า
กตปุพฺพํ คือ ที่เขาเคยทำ. บทว่า โน ปริหาเปสฺสนฺติ ความว่า จักไม่ให้
ลดลง กระทำตามเดิมนั่นเอง. จริงอยู่ เมื่อเจ้าวัชชีลดพลีกรรมที่ชอบธรรมเสีย
เหล่าเทพยดาย่อมไม่กระทำอารักขาที่จัดไว้อย่างดี ทั้งไม่สามารถที่จะยังทุกข์ที่
ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำโรคไอโรคในศรีษะเป็นต้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้กำเริบ
เมื่อมีสงครามก็ไม่ช่วย แต่เมื่อพวกเจ้าวัชชีไม่ลดพลีกรรม เทพยดาทั้งหลาย
ย่อมการทำอารักขาที่จัดไว้เป็นอันดี ถึงไม่สามารถทำสุขที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
แต่ก็กำจัดโรคไอโรคในศีรษะเป็นต้น ที่เกิดขึ้นแล้วได้ ทั้งจะช่วยในยามสงคราม
ด้วยพึงทราบความเจริญ และความเสื่อมในข้อนี้ ดังกล่าวมานี้ .
พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า ธมฺมิกา รกฺขาวรณคุตฺติ ดังต่อไปนี้
ชื่อว่า อาวรณะ เพราะป้องกันโดยประการที่ สิ่งซึ่งไม่น่าปรารถนา ยังไม่มาถึง.
ชื่อว่าคุตติ เพราะคุ้มครองโดยประการที่ สิ่งซึ่งปรารถนามีอยู่แล้ว ยังไม่
เสียหาย ชื่อว่ารักขาเหมือนกัน. ในคำนั้น การล้อมรักษาด้วยกองเพลิง ไม่
ชื่อว่า ธัมมิการักขาวรณคุตติ เพื่อบรรพชิต แต่การกระทำโดยที่ไม่ตัดต้นไม้
ในป่าใกล้วิหาร ไม่จับเนื้อด้วยตาข่าย ไม่จับปลาในสระโปกขรณี ชื่อว่า

ธัมมิการักขาวรรณคุตติ. ก็ด้วยคำว่า กินฺติ อนาคตา จ นี้ ท่านถามความ
ในใจของเจ้าวัชชีเหล่านั้นว่า มีจิตสันดานปรากฏอย่างนี้. พึงทราบวินิจฉัย
ในคำนั้น ดังต่อไปนี้. เจ้าวัชชีเหล่าใด ไม่ปรารถนาการมาของพระอรหันต์
ทั้งหลายที่ยังไม่มา เจ้าวัชชีเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส
เมื่อบรรพชิต มาถึงแล้ว ก็ไม่ไปต้อนรับ ไม่ไปเยี่ยม ไม่กระทำปฏิสันถาร
ไม่ถามปัญหา ไม่ฟังธรรม ไม่ให้ทาน ไม่ฟังอนุโมทนา ไม่จัดที่อยู่อาศัย
เมื่อเป็นเช่นนั้น เสียงติเตียนเจ้าวัชชีเหล่านั้น ก็จะกระฉ่อนไปว่า เจ้าชื่อโน้น
ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส เมื่อบรรพชิตมาถึงก็ไม่ต้อนรับ ฯลฯ ไม่จัดที่อยู่อาศัย.
เหล่าบรรพชิตฟังเรื่องนั้นแล้ว แม้ผ่านทางประตูพระนคร ของเจ้าองค์นั้น
ก็ไม่เข้าไปยังพระนคร. เหล่าพระอรหันต์ที่ยังไม่มา ก็ย่อมไม่มาด้วยประการ
ฉะนี้. เมื่อที่อยู่อย่างผาสุก สำหรับพระอรหันต์ที่มาแล้วไม่มี. แม้เหล่าพระ-
อรหันต์ที่ไม่รู้มาถึง ก็คิดว่าก่อนอื่น เราคิดจะมาอยู่ แต่ใครเล่าจักอยู่ได้
โดยความไม่ไยดี ของเจ้าเหล่านี้ ดังนี้แล้วก็พากันออกไปเสีย. โดยประการ
ดังกล่าวมานี้ เมื่อเหล่าพระอรหันต์ที่ยังไม่มา ก็ไม่มา ที่มาแล้วก็อยู่ลำบาก
ถิ่นนั้นย่อมไม่ใช่เป็นที่อยู่สำหรับบรรพชิต. แต่นั้นการอารักขาของเทวดา ก็
ย่อมไม่มี เมื่อเป็นดังนั้น เหล่าอมนุษย์ก็ได้โอกาส. เหล่าอมนุษย์ก็แน่นหนา
ย่อมทำความป่วยไข้ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น. บุญอันมีที่ตั้ง เช่นการเห็นการถาม
ปัญหา เหล่าท่านผู้มีศีลเป็นต้น ก็ไม่มาถึง. แต่เมื่อว่าโดยปริยายกลับกัน
บุญอันเป็นฝ่ายขาว ที่ตรงกันข้ามกับบาปฝ่ายดำ ตามที่กล่าวแล้วย่อมเกิดพร้อม
พึงทราบความเจริญและความเสื่อมในข้อนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำนี้ว่า เอกมิทาหํ ก็เพื่อทรงประกาศภาวะ
แห่งวัชชีสูตรนี้ ที่ทรงแสดงไว้แล้ว แก่เหล่าเจ้าวัชชีในกาลก่อน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สารนฺทเท เจติเย คือ วิหารที่มีชื่ออย่าง
นี้ ได้ยินว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ สถานที่อยู่ของ สารันททยักษ์ ในที่
นั้น ได้เป็นเจดีย์. ครั้งนั้นเหล่าเจ้าวัชชี ให้สร้างวิหารถวายแด่พระผู้มีพระ
ภาคเจ้าลงในที่นั้น. วิหารนั้นก็นับได้ว่า สารันททเจดีย์นั่นเอง เพราะทรง
สร้างไว้ตรงที่สารันททเจดีย์.
บทว่า อกรณียา แปลว่า ไม่พึงกระทำ อธิบายว่าไม่ควรยึดถือ. คำว่า
ยทิทํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า ยุทฺธสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัติ ลงในอรรถตติยาวิภัติ.
ความว่าใคร ๆ ไม่อาจเผชิญหน้าต่อยุทธ์ได้. บทว่า อญฺญตฺร อุปลาปนาย
ได้แก่ นอกจากการเจรจากัน. อธิบายว่า การส่งเครื่องบรรณาการมี ช้าง
ม้า รถ เงิน และทองเป็นต้น สงเคราะห์กัน ด้วยกล่าวว่า พอกันทีสำหรับ
การขัดแย้งกัน พวกเราสามัคคีกันเดี๋ยวนี้เถิด ดังนี้ ชื่อว่าการเจรจากัน. กระทำ
การสงเคราะห์กันอย่างนี้ ก็อาจยึดเหนี่ยวกันไว้ได้ ด้วยความสนิทสนมอย่าง
เดียว. บทว่า อญฺญตฺร มิถุเภทาย ได้แก่ นอกจากทำให้แตกกันเป็นสองฝ่าย
ด้วยคำนี้ ท่านแสดงว่า แม้กระทำการแตกซึ่งกันและกัน ก็อาจจับเหล่าเจ้า
วัชชีเหล่านั้นได้. พราหมณ์ได้นัย แห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้ว จึงกล่าวคำนี้. ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าพราหมณ์ได้นัย
แห่งพระดำรัสนี้หรือ. ตอบว่าทรงทราบสิ. ถามว่า เมื่อทรงทราบ เหตุไร
จึงตรัส. ตอบว่า เพราะทรงอนุเคราะห์. ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรง
พระดำริว่า แม้เมื่อเราไม่กล่าว 2 -3 วัน พราหมณ์จักไปจับเจ้าวัชชีเหล่านั้น
แต่เมื่อเรากล่าว พราหมณ์ เมื่อจะทำลายสามัคคี ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จักมี
ชีวิตอยู่เพียงเท่านี้ก็ประเสริฐแล้ว ด้วยว่าเหล่าเจ้าวัชชีเป็นอยู่ได้เพียงนี้ ก็จัก
ทำบุญเป็นที่พึ่งของตนกันได้. บทว่า อภินนฺทิตฺวา แปลว่า บรรเทิงจิต.

บทว่า อนุโมทิตฺวา ได้แก่อนุโมทนาด้วยวาจาว่า ท่านพระโคดม คำนี้เป็น
วาจาสุภาษิตแท้. บทว่า ปกฺกามิ ได้แก่ไปยังราชสำนัก.
ลำดับนั้น พระราชา (อชาตศัตรู) ตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า อาจารย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากระไร. พราหมณ์ทูลว่า พระดำรัสของท่านพระสมณ-
โคดม บ่งชี้ว่า ใคร ๆ ไม่อาจจับเหล่าเจ้าวัชชีได้ แต่ว่า อาจจับได้ด้วยการ
เจรจา 1 ด้วยการทำให้แตกสามัคคี 1. พระราชาตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า
ช้าง ม้า เป็นต้นของเรา จักพินาศด้วยการเจรจา เราจักจับเหล่าเจ้าวัชชี
ด้วยการทำลายสามัคคีเท่านั้น เราจักทำอย่างไร. พราหมณ์ทูลว่า พระมหา-
ราชเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอได้โปรดปรารภแคว้นวัชชี ยกเรื่องขึ้นตรัสในที่ประชุม
แต่นั้น ข้าพระองค์จักทูลว่าพระมหาราชเจ้า พระองค์จะทรงประสงค์อะไรด้วย
สมบัติของเจ้าเหล่านั้น เจ้าเหล่านั้น จงทำกสิกรรมและพานิชย์กรรมเป็นต้น
เลี้ยงชีพอยู่เถิด แล้วทำทีจะหลบหนีไป ต่อนั้น พระองค์พึงตรัสว่า เหตุไรหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นี้ จึงคัดค้านเรื่องแคว้นวัชชีที่ปรารภกัน. ตอนกลางวันข้า
พระองค์จักส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าวัชชีเหล่านั้น แม้พระองค์ก็จงให้
จับข้าพระองค์นั้น ยกโทษของข้าพระองค์ ไม่ทำการจองจำและเฆี่ยนตีเป็นต้น
หากแต่โกนหัวอย่างเดียว เนรเทศออกไปจากพระนคร เมื่อเป็นดั่งนั้น ข้าพระ
องค์จักกล่าวว่า ข้าพระองค์ให้สร้างกำแพงและคูในพระนครของพระองค์
ข้าพระองค์จะรู้ถึงสถานที่มั่นคงและอ่อนแอ และสถานที่ตื้นและลึกบัดนี้
ข้าพระองค์จักทำพระนครนั้นให้ตรงไม่นานเลย พระองค์ฟังคำนั้น พึงตรัส
สั่งไล่ให้ไปดังนี้. พระราชาก็ได้ทำทุกประการ.
เหล่าเจ้าลิจฉวี ทรงสดับการเนรเทศพราหมณ์นั้นแล้วตรัสว่า
พราหมณ์โอ้อวด ท่านทั้งหลายอย่าให้พราหมณ์นั้นข้ามแม่น้ำคงคาไปได้.
บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น เมื่อเจ้าลิจฉวีบางพวกกล่าวว่า เขาว่าพราหมณ์นั้น

ถูกเขาทำอย่างนี้ เพราะเขาพูดปรารภพวกเรา เจ้าวัชชีอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า
พนาย ท่านอย่าได้ให้พราหมณ์เข้ามา. พราหมณ์นั้นไปพบพวกเจ้าลิจฉวีถูก
ถามว่า ท่านได้ทำผิดอะไรจึงเล่าเรื่องนั้น. พวกเจ้าลิจฉวี กล่าวว่าพราหมณ์
ทำผิดเล็กน้อย ไม่ควรลงโทษหนักอย่างนี้แล้วจึงถามว่า ในนครนั้นท่านมี
ตำแหน่งอะไร. พราหมณ์ตอบว่า ข้าพระองค์เป็นอำมาตย์ฝ่ายวินิจฉัย. เจ้า
ลิจฉวี ตรัสว่าท่านจงดำรงตำแหน่งนั้นนั่นแล. พราหมณ์นั้นก็ทำหน้าที่วินิจฉัย
เป็นอันดี. ราชกุมารทั้งหลายพากันศึกษาศิลปะในสำนักของพราหมณ์นั้น.
พราหมณ์นั้นทรงคุณ วันหนึ่งพาเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งไปที่แห่งหนึ่ง ถามว่าเด็ก ๆ
ทำนากันหรือ. เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ตอบว่า เออ ทำนา ถามว่า เทียมโคคู่หรือ.
ตอบว่า เออ เทียมโคคู่. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้วก็กลับไป. ต่อนั้น เจ้าลิจ-
ฉวีองค์อื่น จึงถามเจ้าลิจฉวีองค์นั้นว่า อาจารย์พูดกระไรไม่เชื่อคำเจ้าลิจฉวี
องค์นั้นบอก คิดว่าเจ้าลิจฉวีองค์นั้นไม่บอกเราตามเป็นจริง ก็แตกกับเจ้า
ลิจฉวีองค์นั้น. แม้ในวันอื่น ๆ พราหมณ์ก็พาเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ไปที่แห่งหนึ่ง
ถามว่า ท่านเสวยกับอะไรแล้วก็กลับ. เจ้าลิจฉวีองค์อื่นไม่เชื่อก็แตกกันอย่างนั้น
เหมือนกัน. แม้ในวันต่อ ๆ มา พราหมณ์ก็พาเจ้าลิจฉวีอีกองค์หนึ่ง ไปที่แห่ง
หนึ่งแล้วถามว่า เขาว่าท่านจนนักหรือ. ย้อนถามว่าใครพูดอย่างนี้. พราหมณ์
ตอบว่า เจ้าลิจฉวีชื่อโน้น. พราหมณ์ก็พาเจ้าลิจฉวีองค์อื่น ๆ ไปที่แห่งหนึ่ง
แล้วถามว่า เขาว่าท่านขลาดนักหรือ. ย้อนถามว่าใครพูดอย่างนั้น. ตอบว่า
เจ้าลิจฉวีชื่อโน้น. พราหมณ์กล่าว ถ้อยคำที่เจ้าลิจฉวีอีกองค์หนึ่ง มิได้กล่าว
ต่อเจ้าลิจฉวีอีกองค์หนึ่งด้วยอาการอย่างนี้ 3 ปี จึงแยกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นออก
จากกัน แล้วกระทำโดยประการที่เจ้าลิจฉวีทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เดินทางเดียวกันจึง
ให้ตีกลองเรียกประชุม. พวกเจ้าลิจฉวีกล่าวกันว่า ผู้เป็นใหญ่จงประชุมกัน

ผู้กลัวจงประชุมกันเถิด แล้วก็ไม่ประชุมกัน. พราหมณ์จึงส่งข่าวถวายพระ
ราชาว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้ว โปรดรีบเสด็จมาเถิด.
พระราชาชาสดับแล้ว ก็โปรดให้ตีกลองเรียกไพร่พล เสด็จกรีธาทัพออกไป.
ชาวเมืองเวสาลี ก็ตีกลองประกาศว่า พวกเราจักไม่ยอมให้พระราชาเสด็จข้าม
แม่น้ำคงคา. ชาวเมืองเวสาลี ฟังประกาศนั้นแล้ว ก็พูดว่าคนเป็นใหญ่จงไป
กันเถิด ดังนี้เป็นต้น แล้วก็ไม่ไปประชุมกัน. ชาวเมืองเวสาลี ก็ตีกลองประกาศ
ว่า พวกเราจักไม่ให้พระราชาเสด็จเข้าพระนครจะปิดประตูอยู่เสีย ไม่ไปประ-
ชุมแม้แต่คนเดียว. พระราชาเสด็จเข้าทางประตูตามที่เปิดไว้ ทรงทำเหล่าเจ้า
วัชชีทั้งหมดให้ถึงความย่อยยับแล้วเสด็จไป.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อถโข ภควา อจิรปกฺกนฺเต เป็นต้น ดังต่อ
ไปนี้. บทว่า สนฺนิปาเตตฺวา ความว่า พระอานนท์เรียกประชุมว่า ท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย จงส่งท่านผู้มีฤทธิ์ไปที่วิหารไกล ๆ จงไปประชุมกันเอง ที่วิหาร
ใกล้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะประชุมพวกท่าน. บทว่า อปริหา-
นิเย
ความว่า ไม่กระทำเหตุแห่งความเจริญให้เสื่อม. บทว่า ธมฺเม เทเสสฺสามิ
ความว่า เราจักกล่าวให้แจ่มชัด ประหนึ่งยกพระจันทร์พันดวง พระอาทิตย์
พันดวงขึ้น ประหนึ่งตามประทีปน้ำมันพันดวงที่สี่มุมเรือน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิณฺหสนฺนิปาตา นี้ ก็เช่นเดียวกับ
ที่กล่าวไว้แล้ว ในการประชุมของเจ้าวัชชี นั่นเอง. อนึ่ง เพราะเหตุที่ไม่
ประชุมกันเนือง ๆ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้ยินข่าวที่มาในทิศต่าง ๆ
แต่นั้น สีมาของวัดโน้นก็วุ่นวาย อุโบสถและปวารณาก็งด ภิกษุทั้งหลายใน
ที่โน้นกระทำอเนสนกรรมมีเวชชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น เป็นผู้มากด้วย
วิญญัติ ไม่รู้จักกิจเป็นต้นว่าเลี้ยงชีวิตด้วยอเนสนกรรมมีการให้ดอกไม้เขา
เป็นต้น. แม้ภิกษุชั่วทั้งหลายรู้ว่าสงฆ์เผลอ รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ย่อมทำ

ศาสนาให้เสื่อมถอย. แต่เพราะประชุมกันเนือง ๆ ภิกษุทั้งหลายย่อมได้ยินเรื่อง
นั้น ๆ. แต่นั้นก็ส่งภิกษุสงฆ์ ไปกระทำสีมาให้ตรง ทำอุโบสถและปวารณา
เป็นต้น ให้เป็นไป. ส่งภิกษุผู้นับเนื่องในอริยวงศ์ไปในที่ ๆ เหล่าภิกษุมิจฉาชีพ
หนาแน่น ให้กล่าวอริยวงศ์ ให้เหล่าพระวินัยธร กระทำนิคคหะภิกษุชั่ว
ทั้งหลาย แม้ภิกษุชั่วทั้งหลายรู้ว่าสงฆ์ไม่เผลอ พวกเราไม่อาจรวมเป็นหมู่เป็น
กลุ่มกันได้ ก็แตกหนีไป. พึงทราบความเสื่อมและความเจริญ ในข้อนี้ด้วย
ประการฉะนี้.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สมคฺคา เป็นต้นดังต่อไปนี้ เมื่อเขาตีกลอง
หรือเคาะระฆังประกาศว่า สงฆ์จงประชุมกัน เพราะประสงค์จะแจ้ง วัตตกติกา
เพราะประสงค์จะให้โอวาท เพื่อปฏิบัติพระเจดีย์ ปฏิบัติลานโพธิ์ หรือ เพื่อ
มุงโรงอุโบสถ กระทำการหลีกเลี่ยงว่า ผมมีกิจด้วยจีวร ผมสุมบาตร ผมมี
การก่อสร้าง ชื่อว่าไม่พร้อมเพรียงกันกระทำ. ส่วนภิกษุทั้งหลายเว้นกิจการนั้น
ทั้งหมด ประชุมกันโดยการป่าวร้องครั้งเดียวเท่านั้นด้วยความสนใจว่า ผมก่อน
ผมก่อน ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันประชุม. อนึ่งประชุมกันแล้ว คิดปรึกษากัน
กระทำกิจที่ควรทำไม่เลิกพร้อมกัน ไม่ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันเลิก. ก็บรรดาภิกษุ
ทั้งหลายผู้เลิกกันแล้วอย่างนี้ พวกภิกษุที่ไปก่อนคิดอย่างนี้ว่า พวกเราฟังแต่
เรื่องนอกเรื่อง บัดนี้จักพูดกันแต่ข้อที่ยุตติ. แต่เมื่อเลิกโดยพร้อมเพรียงกัน
ก็ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันเลิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสดับว่า สีมาของวิหารในที่ชื่อ
โน้นวุ่นวายอุโบสถ และปวารณาก็งด ภิกษุชั่ว ผู้กระทำอเนสนกรรมมีเวชชกรรม
เป็นต้น ในที่ชื่อโน้นมีหนาแน่น เมื่อภิกษุเหล่านั้น กล่าวว่า ใครจะไปทำการ
นิคคหะภิกษุเหล่านั้น จึงพูดรับอาสาว่า ผมก่อน ผมก่อน แล้วก็ไปชื่อว่าพร้อม
เพรียงกันเลิก. ก็ภิกษุทั้งหลายพบภิกษุอาคันตุกะ ไม่พูดอะไรว่า จงไปบริเวณนี้
จงไปบริเวณนั้นทั้งหมดแม้กระทำวัตรอยู่ก็ดี พบภิกษุผู้มีบาตรจีวรเก่าแสวงหา

บาตรจีวรด้วยภิกษุจารวัตร เพื่อภิกษุนั้นก็ดี แสวงหาคิลานเภสัช (ยา) เพื่อ
ภิกษุไข้ก็ดี ไม่พูดกะภิกษุไข้ผู้ไม่มีที่พึ่งว่า จงไปบริเวณโน้นซิ จงไปบริเวณ
โน้นซิก็ดี ปฏิบัติในบริเวณของตน ๆ อยู่ก็ดี มีคัมภีร์เหลืออยู่คัมภีร์หนึ่ง ก็
สงเคราะห์ภิกษุ ผู้มีปัญญาให้ภิกษุนั้นยกคัมภีร์นั้นขึ้นก็ดี ชื่อว่าพร้อมเพรียง
กันกระทำกิจของสงฆ์ที่พึงกระทำ. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อปญฺญตฺตํ ดังนี้
เป็นต้น ดังต่อไปนี้. ภิกษุทั้งหลายแต่งวัตตกติกา หรือ สิกขาบทที่ไม่ชอบธรรม
ขึ้นใหม่ ชื่อว่าบัญญัติข้อที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้บัญญัติ เหมือนพวกภิกษุ เมือง
สาวัตถี ในเรื่องหล่อสันถัตเก่า. พวกภิกษุที่แสดงคำสั่งสอนนอกธรรม นอก
วินัย ชื่อว่าถอดถอนข้อที่ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้ว เหมือนพวกภิกษุ
วัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานได้ 100 ปี. ส่วนพวก
ภิกษุจงใจล่วงละเมิด อาบัติเล็ก ๆน้อย ๆชื่อว่าไม่สมาทานพระพฤติ ในสิกขาบท
ทั้งหลาย ตามที่ทรงบัญญัติไว้ เหมือนอย่าง ภิกษุอัสสชิปุนัพพสุกะ. ส่วน
ภิกษุทั้งหลายไม่แต่งวัตตกติกา หรือสิกขาบทขึ้นใหม่ แสดงคำสั่งสอนจาก
ธรรมวินัย ไม่ถอดถอนสิกขาบท เล็กๆ น้อย ๆ ชื่อว่าไม่บัญญัติ ข้อที่ไม่ทรง
บัญญัติ ไม่ถอดถอนข้อที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบท
ตามที่ทรงบัญญัติไว้ เหมือนท่านพระอุปเสนะ ท่านพระยสกากัณฑกบุตร และ
ท่านพระมหากัสสปะ ผู้ตั้งแบบแผนนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สิกขาบททั้งหลายของพวกเรา เป็นส่วนของคฤหัสถ์มีอยู่ แม้คฤหัสถ์ทั้งหลาย
ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่สมณะศากยบุตรของพวกท่าน สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกท่าน ก็
ถ้าพวกเราจักถอดถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ กันไซร้ ก็จักมีผู้ว่ากล่าวเอาได้
ว่า สิกขาบทที่พระสมณโคดมบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย อยู่ได้ชั่วควันไฟ สาวก
เหล่านี้ ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ตราบเท่าที่ศาสดา ของสาวกเหล่านี้ยังดำรง
อยู่ เพราะศาสดาของสาวกเหล่านี้ปรินิพพานเสียแล้ว บัดนี้ สาวกเหล่านี้ก็ไม่

ยอมศึกษา ในสิกขาบททั้งหลาย ดังนี้ ผิว่าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว
สงฆ์ไม่พึงบัญญัติข้อที่ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่พึงถอดถอนข้อที่ทรงบัญญัติไว้
แล้ว พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ทรงบัญญัติไว้. บทว่า
วุฑฺฒิเยว ได้แก่ ความเจริญด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ไม่เสื่อมเลย.
บทว่า เถรา ได้แก่ผู้ถึงความเป็นผู้มั่นคง คือประกอบด้วยคุณอัน
กระทำความมั่นคง. ชื่อว่า รัตตัญญู เพราะรู้ราตรีมาก. ชื่อว่า จิรปพฺพชิตา
เพราะบวชมานาน. ชื่อว่า สงฺฆปิตโร เพราะตั้งอยู่ในฐานะเป็นบิดาของสงฆ์.
ชื่อว่า สงฺฆปริณายกา เพราะปริหารสงฆ์เหตุตั้งอยู่ในฐานะเป็นบิดา เป็น
ห้วหน้าปฏิบัติในบทคือสิกขา 3. ภิกษุเหล่าใด ไม่กระทำสักการะเป็นต้นแก่
พระเถระเหล่านั้น ไม่ไปปรนนิบัติวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อรับโอวาท พระเถระ
แม้เหล่านั้นย่อมไม่ให้โอวาท ไม่กล่าวเรื่องประเพณี ไม่ให้ศึกษาธรรมบรรยาย
อันเป็นสาระแก่ภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้น ถูกพระเถระเหล่านั้นสลัดเสียแล้ว
ย่อมเสื่อมจากคุณทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้คือ จากธรรมขันธ์ มีศีลขันธ์เป็นต้น
และจากอริยทรัพย์ 7. ส่วนภิกษุเหล่าใดกระทำสักการะเป็นต้นไปปรนนิบัติ
พระเถระเหล่านั้น พระเถระแม้เหล่านั้นย่อมให้โอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า เธอ
พึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลอย่างนี้ พึงเหลียวอย่างนี้ พึงคู้เข้า
อย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงทรงบาตร และจีวรอย่างนี้ ย่อมสอนเรื่อง
ประเพณี ย่อมให้ศึกษาธรรมบรรยายที่เป็นสาระ พร่ำสอนด้วยธุดงค์ 13
กถาวัตถุ 10. ภิกษุเหล่านั้นอยู่ในโอวาทของพระเถระเหล่านั้นเจริญด้วยคุณ
มีศีลเป็นต้น ย่อมบรรลุสามัญญผลโดยลำดับ. พึงทราบความเสื่อมและความ
เจริญในข้อนี้ด้วยประการฉะนี้.
การให้การเกิดอีกชื่อว่าภพใหม่ ภพใหม่นั้นเป็นปกติของตัณหานั้น
เหตุนั้น ตัณหานั้น จึงชื่อว่า โปโนพฺภวิกา. อธิบายว่าให้เกิดอีก. แห่งตัณหา

ผู้ให้ภพใหม่นั้น. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า น วสํ คจฺฉิสฺสนฺติ ดังต่อไปนี้
ภิกษุเหล่าใดรับบิณฑบาตของอุปัฏฐากแล้ว จากบ้านหนึ่งไปบ้านหนึ่ง เพราะ
เหตุแห่งปัจจัย 4 ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า อยู่ในอำนาจของตัณหานั้น. ฝ่ายภิกษุ
ผู้ไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ชื่อว่า ไม่อยู่ในอำนาจแห่งตัณหา. ความเสื่อมและความ
เจริญในข้อนั้นปรากฏชัดแล้ว.
บทว่า อารญฺญเกสุ ได้แก่ป่าชั่ว 500 ธนูเป็นที่สุด. บทว่า สาเปกฺขา
ได้แก่มีตัณหา มีอาลัย. ภิกษุแม้ยังไม่บรรลุฌานในเสนาสนะใกล้บ้าน พอ
ออกจากฌานนั้น ได้ยินเสียงหญิง ชาย และเด็กหญิงเป็นต้น เป็นเหตุเสื่อม
คุณวิเศษที่ภิกษุนั้นบรรลุแล้ว แต่เธอนอนในป่า พอตื่นขึ้น ก็ได้ยินแต่เสียง
ราชสีห์ เสือ และนกยูงเป็นต้น อย่างที่เธอได้ปิติในป่า แล้วพิจารณาปิตินั้น
นั่นแล ตั้งอยู่ในผลอันเลิศ. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงสรรเสริญภิกษุ
ผู้หลับอยู่ในป่าเท่านั้น ยิ่งกว่าภิกษุผู้ไม่บรรลุฌานอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน.
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์นั้นนั่นแล จึง
ตรัสว่า จักเป็นผู้อาลัยในเสนาสนะป่า.
บทว่า ปจฺจตฺตํเยว สตึ อุปฏฺฐเปสฺสนฺติ ได้แก่จักไปตั้งสติไว้
ภายในของตน. บทว่า เปสลา แปลว่า ผู้น่ารัก. เหล่าภิกษุเจ้าถิ่นไม่ปรารถนา
ให้เพื่อนสพรหมจารีมาในที่นี้ เป็นผู้ไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ทำสามี
กิจกรรม มีไปต้อนรับ รับบาตร จีวร ปูอาสนะ พัดด้วยพัดใบตาลเป็นต้น
แก่เหล่าภิกษุผู้มาถึงแล้ว. ครั้งนั้น เสียงติเตียนภิกษุเหล่านั้น ก็กระพือไปว่า
เหล่าภิกษุวัดโน้น ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส ไม่ทำวัดปฏิบัติ แก่เหล่าภิกษุ
ผู้เข้าไปวัด. บรรพชิตทั้งหลายพึงเรื่องนั้นแล้ว ก็ผ่านประตูวัด ไม่ยอมเข้าวัด.
เหล่าภิกษุที่ยังไม่มา ย่อมไม่มา ด้วยประการฉะนี้. ส่วนสำหรับเหล่าภิกษุที่
มาแล้ว เมื่อไม่มีวัดอยู่ผาสุก เหล่าภิกษุที่ไม่รู้มาแล้ว ก็คิดก่อนว่าจะอยู่ แต่ก็

ต้องออกไปเสีย ด้วยเห็นว่าพวกเรามากันแล้ว แต่ด้วยความไม่นำพานี้ ของ
ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านี้ ใครจักอยู่ได้. เมื่อเป็นดังนั้น วัดนั้น ภิกษุอื่น ๆ ก็มาอยู่
ไม่ได้. แต่นั้น เหล่าภิกษุเจ้าถิ่นเมื่อไม่ได้พบเหล่าภิกษุผู้มีศีล ก็พลอยไม่ได้
ภิกษุผู้ช่วยบรรเทาความสงสัย หรือผู้ให้ศึกษาธรรมบรรยาย หรือฟังธรรม
อันไพเราะ ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น ก็เป็นอันไม่ได้รับธรรมที่ยังไม่ได้รับ ไม่ได้
กระทำการสาธยายธรรมที่รับไว้แล้ว. ดังนั้น ภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้นจึงมีแต่ความ
เสื่อมถ่ายเดียว ไม่มีความเจริญเลย. ส่วนภิกษุเหล่าใด ปรารถนาจะให้เพื่อน
สพรหมจารีมา ภิกษุเหล่านั้น มีศรัทธามีความเลื่อมใส กระทำการต้อนรับ
เป็นต้นแก่เพื่อนสพรหมจารีที่มากันแล้ว จัดเสนาสนะให้ พาเข้าไปภิกษาจาร
บรรเทาความสงสัย ได้ฟังธรรมอันไพเราะ เมื่อเป็นเช่นนั้น กิตติศัพท์ของ
ภิกษุเหล่านั้น ก็ฟุ้งขจรไปว่าเหล่าภิกษุในวัดโน้น มีศรัทธา เลื่อมใส ถึงพร้อม
ด้วยวัตร สงเคราะห์อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังเรื่องนั่นแล้ว แม้ไกลก็พากันไป
เหล่าภิกษุเจ้าถิ่นกระทำวัตรแก่ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น มาใกล้ ๆ แล้วไหว้
อาคันตุกะผู้แก่กว่าแล้วนั่ง ถืออาสนะนั่งใกล้ ๆ อาคันตุกะผู้อ่อนกว่า แล้ว
ถามว่า พวกท่านจักอยู่ในวัดนี้หรือจักไป เมื่ออาคันตุกะ ตอบว่าจักไป ก็
กล่าวว่า เสนาสนะสบาย ภิกษาก็หาได้ง่าย ไม่ยอมให้ไป. ถ้าอาคันตุกะเป็น
วินัยธร ก็สาธยายวินัยในสำนักของพระวินัยธร ถ้าอาคันตุกะทรงพระสูตร
เป็นต้น ก็สาธยายธรรมนั้น ๆ ในสำนักของพระธรรมธรนั้น อยู่ในโอวาทของ
พระอาคันตุกะ ผู้เป็นพระเถระ ย่อมบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
เหล่าพระอาคันตุกะคิดจะอยู่สักวัน 2 วันจึงกล่าวว่า พวกเรามากันแล้วก็จะอยู่
สัก 10-12 วัน เพราะภิกษุเหล่านี้ มีการอยู่ร่วมอย่างสบาย. พึงทราบความ
เจริญและความเสื่อม ด้วยประการฉะนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ 2 ดังต่อไปนี้. ภิกษุชื่อว่ากัมมารามะ
เพราะมีการงานเป็นที่ยินดี. ชื่อว่า กัมมรตะ เพราะยินดีในการงาน. บทว่า
กมฺมารามตํ อนุยุตฺตา ความว่า ประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้ว ประกอบตาม
แล้ว. ในบทเหล่านั้นงานที่จะพึงทำเรียกว่ากรรม. คืออะไรบ้าง. คือ เช่น
จัดจีวร กระทำจีวร ช่วยเขาทำวัตถุมีกล่องเข็ม ถลกบาตร สายโยคประคด
เอว เชิงรองบาตร เขียงเท้า และไม้กวาดเป็นต้น. จริงอยู่ ภิกษุบางรูปเมื่อ
กระทำกิจเหล่านั้น ย่อมกระทำกันทั้งวันทีเดียว. ท่านหมายเอาข้อนั้นจึงห้ามไว้
ดังนี้. ส่วนภิกษุใดกระทำกิจเหล่านั้น ในเวลาทำกิจเหล่านั้นเท่านั้น ในเวลา
อุเทศก็เรียนอุเทศ ในเวลาสาธยาย ก็สาธยาย เวลากวาดลานพระเจดีย์ก็ทำวัตร
ที่ลานพระเจดีย์ ในเวลามนสิการ ก็ทำมนสิการ ภิกษุนั้นไม่ชื่อว่ามีการงาน
เป็นที่ยินดี.
พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า น ภสฺสารามา นี้ดังต่อไปนี้ ภิกษุใด
เมื่อกระทำการเจรจาปราศัย ด้วยเรื่องเพศหญิงเพศชายเป็นต้น หมดเวลาไป
ทั้งกลางวันและกลางคืน คุยเช่นนี้ไม่จบ ภิกษุนี้ชื่อว่า มีการคุยเป็นที่มายินดี.
ส่วนภิกษุใด พูดธรรม แก้ปัญหา ชื่อว่า ไม่มีการคุยเป็นที่มายินดี ภิกษุนี้ชื่อว่า
คุยน้อยคุยจบทีเดียว. เพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่าภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอผู้ประชุมกันมีกรณียะ 2 อย่าง คือ พูดธรรม หรือนิ่งอย่าง
อริยะ.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า น นิทฺทารามา นี้ดังต่อไปนี้ ภิกษุใดเดิน
ก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ถูกถิ่นมิทธะครอบงำแล้วก็หลับได้ทั้งนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า
มีการหลับเป็นที่มายินดีส่วนภิกษุใดมีจิตหยั่งลงในภวังค์ เพราะความเจ็บป่วย
ทางกรัชกาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนอัคคิเวสสนะ

เรารู้ยิ่งว่า ปลายเดือนฤดูร้อนภายหลังกลับจากบิณฑบาต ปูสังฆาฏิ 4 ชั้น
มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยตะแคงข้างขวา.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า น สงฺคณิการามา นี้ดังต่อไปนี้ ภิกษุใด
มีเพื่อน 1 รูป 2 รูป 3 รูป 4 รูป คลุกคลีอยู่อย่างนี้ ไม่ได้รับความยินดีแต่
ผู้เดียว ภิกษุนี้ชื่อว่ามีการคลุกคลีเป็นที่มายินดี. ส่วนภิกษุใดได้ความยินดีใน
อิริยาบถ ทั้ง 4 แต่ผู้เดียว ภิกษุนี้พึงทราบว่ามิใช่ผู้มีความคลุกคลีเป็นที่มา
ยินดี.
เหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยปรารถนา ความยกย่องคุณที่ไม่มีอยู่เป็นผู้ทุศีล
ชื่อว่าเป็นผู้ปรารถนาลามกในคำว่า น ปาปิจฺฉา นี้.
พึงทราบวินิจฉัยในปาปมิตรเป็นต้นดังต่อไปนี้. ชื่อว่า ปาปมิตร เพราะ
มีมิตรชั่ว ชื่อว่า ปาปสหาย เพราะมีสหายชั่ว เหตุไปด้วยกันในอิริยาบถทั้ง 4.
ชื่อว่า ปาปสัมปวังกะ เพราะเป็นเพื่อนในหมู่ภิกษุชั่ว เหตุเป็นผู้โอนอ่อน
ผ่อนตามภิกษุชั่วนั้น.
บทว่า โอรมตฺคเกน ได้แก่ มีประมาณต่ำมีประมาณน้อย. บทว่า
อนฺตรา ได้แก่ในระหว่างยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น. บทว่า โอสานํ ได้แก่
งดความเพียร ท้อถอยว่าพอละด้วยเหตุเพียงเท่านี้ได้แก่หยุดกิจ. ท่านอธิบาย
ไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายไม่ถึงที่สุด ด้วยผลเพียงมีศีลบริสุทธิ์เพียงวิปัสสนา
เพียงฌาน เพียงเป็นพระโสดาบันเพียงเป็นพระสกทาคามี หรือเพียงเป็นพระ-
อนาคามีเพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังแต่ความเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมเลย.
พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ 3 ดังต่อไปนี้. บทว่า สทฺธา ได้แก่
ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ในความว่า สทฺธา นั้น ศรัทธามี 4 คือ อาคมนีย-
ศรัทธา อธิคมศรัทธา ปสาทศรัทธา โอกัปปนศรัทธา.
บรรดาศรัทธา
ทั้ง 4 นั้นอาคมนียศรัทธา ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู. อธิคมปสาท

ศรัทธา ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ส่วนเมื่อเขาว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ
ก็เลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ส่วนความปักใจเชื่อ ชื่อว่า โอกัปปน-
ศรัทธา.
ความเชื่อทั้ง 2 นั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้. จริงอยู่ ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยศรัทธานั้น เป็นผู้น้อมไปในศรัทธาก็เป็นเช่นเดียวกับพระวักกลิเถระ.
ความจริง พระวักกลิเถระเป็นอันทำเจติยังคณวัตร หรือว่า โพธิยังคณวัตร.
บำเพ็ญวัตรทุกอย่าง มีอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตรเป็นต้น. บทว่า หิริมนา
ได้แก่ผู้มีจิตประกอบด้วย หิริ อันมีลักษณะเกลียดบาป. บทว่า โอตฺตปฺปี
ได้แก่ผู้ประกอบด้วยโอตตัปปะอันมีลักษณะเกรงกลัวแต่บาป.
ก็ในบทว่า พหุสฺสุตา นี้ พหุสุตะ มี 2 คือ ปริยัตติพหุสุตะ
ปฏิเวธพหุสุตะ.
ปิฏก 3 ชื่อว่า ปริยัติ. การแทงตลอดสัจจะ ชื่อว่าปฏิเวธ.
ก็ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาปริยัติ. ภิกษุผู้มีสุตะมาก ชื่อว่า พหุสุตะ. ก็ภิกษุ
พหุสุตะนี้นั้น มี 4 คือ นิสัยมุตตกะ ปริสูปัฎฐาปกะ ภิกขุโนวาทกะ
สัพพัตถพหุสุตะ.
ใน 4 จำพวกนั้น. พหุสุตะ 3 จำพวก พึงถือเอาได้
ตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในโอวาทวรรค ในอรรถกถาวินัย ชื่อ สมันตปา-
สาทิกา. จำพวกสัพพัตถพหุสุตะ. ก็คล้ายกับพระอานนทเถระ. จำพวกสัพพัตถ
พหุสุตะนั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้. ชื่อว่า อารัทธวิริยา ได้แก่เหล่าภิกษุที่
ปรารภความเพียรทางกายและทางใจ. ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใด บรรเทา
ความคลุกคลีด้วยหมู่อยู่ผู้เดียว ในอิริยาบถทั้ง 4 โดยอารัมภวัตถุ 8 ภิกษุ
เหล่านั้น ชื่อว่าปรารภความเพียรทางกาย. ภิกษุเหล่าใดบรรเทาความคลุกคลี
ทางจิตอยู่ผู้เดียว โดยสมาบัติ 8 ไม่ยอมยืนเมื่อกิเลสที่เกิดในขณะเดินอยู่ ไม่
ยอมนั่งเมื่อกิเลสที่เกิดในขณะยืนอยู่ ไม่ยอมนอนเมื่อกิเลสที่เกิดในขณะนั่งอยู่
ข่มกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่าปรารภความเพียรทางจิต.

บทว่า อุปฏฺฐิตสติ ได้แก่ระลึกถึง ตามระลึกถึงกิจที่ทำไว้แล้วแม้
นานเป็นต้น เหมือนพระมหาคติมพอภัยเถระ พระทีฆกอภัยเถระ และพระ-
ติปิฏกจุฬาภยเถระ ได้ยินว่า พระมหาคติมพอภัยเถระ เห็นนกกากำลังยื่นจงอย
ปากไปที่ข้าวมธุปายาสที่เป็นมงคล ในวันที่ 5 นับแต่ตนเกิด ก็ร้องเสียง ฮู ฮู.
ต่อมา เมื่อเป็นพระเถระ ถูกพวกภิกษุถามว่า ท่านขอรับ ท่านระลึกได้แต่
เมื่อไร จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ตั้งแต่ร้องขึ้น ในวันที่ 5 นับแต่ตนเกิด. มารดา
ของพระทีฆกอภัยเถระ น้อมตัวลงหมายจะจุมพิต ตั้งแต่วันที่ 9 นับแต่พระ-
เถระเกิด. มวยผมของนางก็สยาย. ต่อนั้นดอกมะลิประมาณทนานหนึ่ง ก็ตก
ไปที่อกของทารกทำให้เกิดทุกข์. เมื่อเป็นพระเถระท่านถูกพวกภิกษุถามว่า
ท่านขอรับ ระลึกได้ตั้งแต่เมื่อไรตอบว่า ตั้งแต่วันที่ 9 นับแต่ตนเกิด. พระ-
ติปิฏกจูฬาภัยเถระ เล่าว่าเราปิดประตู 3 ด้าน ในอนุราธบุรี ให้ผู้คนออก
ประตูเดียวแล้วถามว่าท่านชื่อไร ท่านชื่อไร ถึงตอนเย็นก็ไม่ถามซ้ำสามารถ
ระบุชื่อของผู้คนเหล่านั้นได้. ก็ท่านหมายเอาภิกษุเห็นปานนั้น จึงกล่าวว่า
อุปฏฺฐิตสติ. บทว่า ปญฺญวนฺโต ได้แก่ประกอบด้วยปัญญา กำหนดความ
เกิดดับของปัญจขันธ์เป็นอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง ด้วยสองบทนี้ ท่านกล่าวถึง
สัมมาสติและวิปัสสนาปัญญา อันเป็นเหตุอุคหนุนวิปัสสนาของเหล่าภิกษุผู้เจริญ
วิปัสสนา.
พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ 4 ดังต่อไปนี้. สัมโพชฌงค์คือสติชื่อว่า
สติสัมโพชฌงค์. ในทุกบท ก็นัยนี้. ในสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ มีความ
ปรากฏเป็นลักษณะ ธัมมวิจยสัมโพชฌงศ์มีการเลือกเฟ้นเป็นลักษณะ วิริยะ-
สัมโพชฌงค์มีการประคองจิตเป็นลักษณะ ปีติสัมโพชฌงค์มีการซาบซ่านไป
เป็นลักษณะ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีความสงบเป็นลักษณะ สมาธิสัมโพชฌงค์
มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ อุเปกขาสัมโพชฌงค์มีการพิจารณาเป็นลักษณะ.

บทว่า ภาเวสฺสนฺติ ความว่า ภิกษุทั้งหลายตั้งสติสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 4
ตั้งธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 6 ตั้งวิริยสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 9 ตั้ง
ปีติสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 10 ตั้งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 7 ตั้ง
สมาธิสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 10 ตั้งอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ด้วยเหตุ 5 จักทำให้
เจริญ. ท่านกล่าวสัมโพชฌงค์คละกันทั้งโลกิยะทั้งโลกุตตระประกอบด้วยวิปัสสนา
และมรรคผลด้วยบทนี้.
พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ 5 ดังต่อไปนี้. สัญญาที่เกิดขึ้นพร้อมกับ
อนิจจานุปัสสนา ชื่อว่า อนิจจสัญญา. แม้ในอนัตตสัญญาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือน
กัน. พึงทราบว่าสัญญา 7 นี้ เป็นโลกิยวิปัสสนาก็มี สัญญา 2 ในที่นี้ เป็น
โลกุตตรวิปัสสนาก็มี โดยบาลีที่มาว่านิพพานนี้สงบประณีต คือ ธรรมที่ระงับ
สังขารทั้งปวง ฯลฯ นิโรธ.
พึงทราบวินิจฉัยในฉักกะดังต่อไปนี้. บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่
กายกรรมที่พึงทำด้วยเมตตาจิต. แม้ในวจีกรรมและมโนกรรมก็นัยนี้เหมือนกัน.
ก็กรรมทั้ง 3 นี้มาโดยเป็นของเหล่าภิกษุ แม้ในเหล่าคฤหัสถ์ก็ใช้ได้ จริงอยู่
สำหรับเหล่าภิกษุ การบำเพ็ญธรรมคือ อภิสมาจารด้วยเมตตาจิต ชื่อว่า เมตตา
กายกรรม. สำหรับคฤหัสถ์กิจมีเป็นต้นอย่างนี้ คือการไปไหว้พระเจดีย์ ไหว้
ต้นโพธิ์ นิมนต์สงฆ์ การพบเหล่าภิกษุเข้าบ้านไปบิณฑบาตแล้วต้อนรับรับบาตร
ปูอาสนะ เดินตาม ทาน้ำมัน ชื่อว่า เมตตากายกรรม. สำหรับเหล่าภิกษุ
การสอนอาจาระ บัญญัติสิกขาบท และกัมมัฏฐาน การแสดงธรรม แม้พระ-
ไตรปิฎก พุทธวจนะ ด้วยเมตตาจิต ชื่อว่าเมตตาวจีกรรม. สำหรับคฤหัสถ์
ในเวลากล่าวเป็นต้นว่า พวกเราไปไหว้พระเจดีย์ ไปไหว้ต้นโพธิ์ กระทำการ
ฟังธรรม ให้ทำการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน สมาทานประพฤติสุจริต 3 ถวาย
สลากภัตเป็นต้น ถวายผ้าอาบน้ำฝน วันนี้ถวายปัจจัย 4 แก่สงฆ์ นิมนต์สงฆ์

จัดถวายของเคี้ยวเป็นต้น ปูอาสนะ ตั้งน้ำฉันต้อนรับสงฆ์นำมาให้นั่งเหนือ
อาสนะที่ปูไว้ เกิดฉันทะ อุตสาหะ ทำการขวนขวาย ชื่อว่าเมตตาวจีกรรม.
สำหรับภิกษุลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ปฏิบัติสรีระ และทำวัตรที่ลานพระเจดีย์เป็นต้น
นั่งเหนืออาสนะอันสงัดคิดว่า ขอภิกษุทั้งหลายในวัดนี้ จงมีสุข ไม่มีเวร ไม่
เบียดเบียนกันเป็นต้น ชื่อว่าเมตตามโนกรรม. สำหรับคฤหัสถ์คิดว่า ขอพระ-
ผู้เป็นเจ้า จงมีสุข ไม่มีเวร ไม่เบียดเบียนกัน ชื่อว่าเมตตามโนกรรม.
บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ในที่ต่อหน้าและลับหลัง. ในบทนั้น
การร่วมกันในจีวรกรรมเป็นต้น สำหรับภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าเมตตากายกรรม
ต่อหน้า. แต่สำหรับพระเถระ สามีจิกรรมทั้งหมด แม้ต่างโดยการล้างเท้าและ
พัดวีเป็นต้น ก็ชื่อว่าเมตตากายกรรมต่อหน้า. ไม่ทำการดูหมิ่นในภิกษุเหล่านั้น
แล้วเก็บงำสิ่งของมีเครื่องไม้เป็นต้น ที่แม้ภิกษุ 2 ฝ่ายเก็บไว้ไม่ดี เหมือนอย่าง
ที่ตนเก็บไว้ไม่ดี ชื่อว่าเมตตากายกรรมลับหลัง. การกล่าวยกย่องอย่างนี้ว่า
ท่านพระเทวเถระ พระติสสเถระ. ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมต่อหน้า. การที่ภิกษุ
สอบถามถึงผู้ที่ไม่มีอยู่ในวัด กล่าวถ้อยคำที่น่ารักว่า พระเถระไปไหน พระ
ติสสเถระไปไหน เมื่อไรจักมาดังนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมลับหลัง การลืมตา
ที่ผ่องใสด้วยความหวังดีและความห่วงใย มองดูด้วยหน้าที่ผ่องใส ชื่อว่าเมตตา
มโนกรรมต่อหน้า. การตั้งใจว่า ขอท่านพระเทวเถระ พระติสสเถระ จงเป็น
ผู้ไม่มีโรค ไม่มีอาพาธ ชื่อว่าเมตตามในกรรมลับหลัง.
บทว่า ลาภา ได้แก่ปัจจัยที่ได้มา มีจีวรเป็นต้น. บทว่า ธมฺมิกา
ความว่า เว้นมิจฉาชีพต่างด้วยการหลอกลวงเป็นต้น เกิดด้วยภิกขาจารวัตร
โดยธรรมโดยเสมอ. บทว่า อนฺตมโส ปตฺตปริยาปนฺนมตฺตมฺปิ ความว่า
โดยอย่างต่ำที่สุด แม้เพียงภิกษา 2-3 ทัพพีที่เนื่องในบาตร คือที่อยู่ภายใน
บาตร. ในคำว่า อปฺปฏิวิภตฺตโภคี นี้ ปฏิวิภัตตะ มี 2 อย่าง คือ อามิส-

ปฏิวิภัตต์ บุคคลปฏิวิภัตต์. ใน 2 อย่างนั้นการแบ่งด้วยจิตคิดอย่างนี้ว่า เราจัก
ให้เท่านี้ จักไม่ให้เท่านี้ ชื่อว่าอามิสปฏิวิภัตต์. การแบ่งด้วยจิตคิดอย่างนี้ว่า
เราจักให้องค์โน้น ไม่ให้แก่องค์โน้นดังนี้ ชื่อว่าบุคคลปฏิวิภัตต์. ภิกษุไม่
กระทำแม้ทั้ง 2 อย่าง บริโภคปัจจัยที่ยังไม่ได้แบ่ง ชื่อว่าอปฏิวิภัตตโภคี.
ในคำว่า สีลวนฺเตหิ สพฺรหฺมจารีหิ สาธรณโภคี นี้ เป็นลักษณะของภิกษุ
ผู้บริโภคทั่วไป. ภิกษุได้ลาภใด ๆ อันประณีตให้ลาภนั้น แก่พวกคฤหัสถ์โดยมุข
คือการต่อลาภด้วยลาภก็หามิได้ บริโภคด้วยตนเองก็หามิได้. เมื่อรับก็ถือว่าจง
ทั่วไปกับสงฆ์ เห็นลาภที่เขาเคาะระฆังแล้วบริโภคเหมือนของสงฆ์. ถามว่า
ใคร ๆบำเพ็ญ ใครไม่บำเพ็ญสาราณียธรรมนี้. ตอบว่า ภิกษุผู้ทุศีลไม่บำเพ็ญ.
เพราะภิกษุผู้มีศีลไม่ยอมรับของๆ ภิกษุนั้น. ส่วนภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญ
วัตรไม่ขาด. วัตรในข้อนั้นมีอุทาหรณ์ดั่งนี้

เรื่อง สารณียธรรมแตก



ก็ภิกษุใด เจาะจงให้แก่มารดาบิดาหรืออาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น
ภิกษุนั้นย่อมให้สิ่งที่ควรให้ ภิกษุนั้นไม่มีสาราณียธรรม ชื่อว่าปฏิบัติด้วย
ความกังวล. จริงอยู่สาราณียธรรมย่อมควรแก่บุคคลผู้พ้นความกังวลเท่านั้น.
ก็ภิกษุนั้นเมื่อให้เจาะจงพึงให้แก่ภิกษุไข้ ภิกษุพยาบาลภิกษุไข้แก่ภิกษุผู้จรมา
ภิกษุผู้เตรียมจะไปและภิกษุบวชใหม่ ผู้ไม่รู้การรับสังฆาฏิและบาตร. ควรให้
แก่ชนเหล่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ให้น้อย ๆ ตั้งแต่เถรอาสน์ แล้วพึงให้เท่าที่
ภิกษุจะรับได้. เมื่อส่วนที่เหลือไม่มี ไปเที่ยวบิณฑบาตอีก ให้สิ่งที่ประณีต ๆ
ตั้งแต่เถรอาสน์ แล้วบริโภคส่วนที่เหลือ. ไม่ควรให้แก่ภิกษุทุศีลเพราะพระ-
บาลีว่า สีลวนฺเตหิ ดังนี้. ก็สาราณียธรรมนี้ บำเพ็ญยากสำหรับบริษัทผู้ยัง