เมนู

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้
เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย แต่ปางก่อน
มีพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรมเป็นพระราชา
โดยธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร 4 เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว
มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ เมืองกุสินารานี้ มี
นามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา
และทิศประจิม 12 โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ 7 โยชน์
กุสาวดีเป็นราชธานี เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรืองมีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และ
มีภิกษาหาได้ง่าย ดูก่อนอานนท์ อาลกมันทาราชธานีแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย
เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรืองมีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้
ฉันใด กุสาวดีราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรืองมีชนมาก
มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานีมิได้เงียบจากเสียงทั้ง
10 ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมและเสียงเป็นที่ 10
ว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน จงไปเถิด อานนท์ เธอจงเข้า
ไปในเมืองกุสินาราแล้ว บอกแก่พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราว่า ดูก่อน
วาสิฏฐทั้งหลาย พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวก
ท่านจงรีบออกไปเถิด พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระ-
ตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เข้าไปเฝ้า พระตถาคต
ในกาลครั้งสุดท้าย. ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมืองกุสินารา ลำพังผู้เดียว.

แจ้งข่าวมัลลกษัตริย์



สมัยนั้น มัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคาร
ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยังสัณฐาคารของ

มัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา ได้บอกแก่พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราว่า ดูก่อน
วาสิฏฐทั้งหลาย พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ
พวกท่านจงรีบออกไปเถิด พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระ
ตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าตถาคตในกาล
ครั้งสุดท้าย. พวกมัลลกษัตริย์ พระโอรส สุณิสาและปชาบดีได้สดับคำนี้ของ
ท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ บาง
พวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา
เหมือนมีพระบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักปรินิพพาน
เร็วนัก พระสุคตจักปรินิพพานเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธาน
เสียเร็วนัก.
ครั้งนั้น พวกมัลลกษัตริย์ พระโอรส สุณิสาและปชาบดีเป็นทุกข์
เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไปยังสาลวัน อันเป็นที่แวะพัก
ของพวกมัลลกษัตริย์ เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์. ท่านพระอานนท์ได้มี
ความดำริว่า ถ้าเราให้พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มี-
พระภาคเจ้าทีละองค์ ๆ พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราจักมิได้ถวายบังคมพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทั่วกัน ราตรีนี้จักสว่างเสีย ถ้ากระไรเราควรจัดให้พวกมัลล-
กษัตริย์เมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยลำดับสกุล ๆ ด้วย กราบ
ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มัลลกษัตริย์มีนามอย่างนี้ พร้อมด้วยโอรส
ชายา บริษัทและอำมาตย์ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยเศียรเกล้า. โดยอุบายเช่นนี้ท่านพระอานนท์ ยังพวกมัลลกษัตริย์เมือง
กุสินาราให้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จโดยปฐมยามเท่านั้น.

เรื่องสุภัททปริพาชก



[138] สมัยนั้น สุภัททปริพาชก อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา. สุภัทท
ปริพาชกได้ฟังว่า พระสมณโคดม จักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้น
วันนี้. ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกได้มีความดำริว่า เราได้ฟังคำนั้นของพวก
ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมอุบัติขึ้นในโลกในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดมจัก
ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้
ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณ-
โคดม ย่อมสามารถเพื่อแสดงธรรมแก่เรา ที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัย
นี้ได้.
ลำดับนั้น สุภัททปริพาชก เข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันอันเป็น
ที่แวะพักของพวกมัลลกษัตริย์ ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงได้กล่าวกะท่านพระ
อานนท์ว่า ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกปริพาชก...ที่เราจะพึงละธรรม
อันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ท่านอานนท์ ข้าพเจ้านั้น ขอได้เฝ้าพระสมณโคดม.
เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์กล่าวว่า อย่าเลยสุภัททะ
อย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อย. แม้ครั้ง
ที่สอง...แม้ครั้งที่สามสุภัททปริพาชกก็กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า. . .
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับคำเจรจาของท่านพระอานนท์กับสุภัทท
ปริพาชกแล้ว. จึงตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อย่าเลย อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะ
เลย สุภัททะจงได้เฝ้าพระตถาคตเถิด สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
กะเรา มุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งเพื่อความเบียดเบียน อนึ่ง เราอันสุภัททะถาม
แล้วจักพยากรณ์ข้อความแก่สุภัททนะนั้นได้ เขาจักรู้ข้อความนั้นได้โดยฉับพลัน.