เมนู

เตวิชชสูตร


[365] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึงพราหมณคาม ของชาว
โกศลชื่อมนสากตะ. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ อัมพวัน ใกล้
ฝั่งแม่น้ำ อจิรวดี ทางทิศเหนือมนสากตคาม เขตบ้านมนสากตะนั้น.
[366] สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลเป็นอันมาก ผู้ที่เขารู้จักกัน
แพร่หลาย อาศัยอยู่ในมนสากตคาม เช่น วังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์
โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสนิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์
มหาศาลผู้ที่เขารู้จักกันแพร่หลายอื่น ๆ อีก. ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและ
ภารัทวาชมาณพเดินเที่ยวเล่นตามกันไป ได้พูดกันถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง
วาเสฏฐมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็นทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทาง
นั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม. ฝ่ายภารัทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทาง
ที่ท่านตารุกขพราหมณ์ บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็น
ทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้.
วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารัทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารัทวาชมาณพ ก็ไม่
อาจให้ วาเสฏฐมาณพยินยอมได้.
[367] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพจึงปรึกษากับภารัทวาชมาณพว่า
ภารัทวาชะ ก็พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยะตระกูล ประทับ
อยู่ ณ อัมพวันใกล้ฝั่งแม่น้ำ อจิรวดี ทางทิศเหนือ มนสากตคาม กิตติศัพท์อัน

ดีงามของพระสมณโคดมนั้น ได้แพร่ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึง
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้โลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควร
ฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว
เป็นผู้จำแนกพระธรรม ภารัทวาชะมาเกิด เราจักไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่
ประทับ ครั้นไปเฝ้าแล้วจักกราบทูลถามความข้อนี้กะพระสมณะโคดม พระ
สมณโคดมจักทรงพยากรณ์แก่เราอย่างใด เราจักทรงจำข้อความนี้ไว้อย่าง
นั้น ภารัทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพแล้ว พากันไป.
[368] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพ พากันเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้บันเทิงกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้น
ผ่านสัมโมทนียกถาพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งสอง
เดินเล่นตามกันไป ได้พูดกันถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง ข้าพระองค์พูดอย่างนี้
ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน
เป็นทางนำออก นำผู้เดินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้. ฝ่าย
ภารัชวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็น
ทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้เดินไปตามทางนั้น เพื่อ
ความอยู่ร่วมกับพรหมได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ยังมีการทะเลาะ
ขัดแย้งและมีวาทะต่างกันอยู่.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า วาเสฏฐะ ได้ยินว่า ที่ท่านพูดว่าทางที่ท่าน
โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทาง
นำออก นำผู้ดำเนินไปเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้.

ภารัทวาชมาณพพูดว่า ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็น
ทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปเพื่อความอยู่รวม
กับพรหมได้.
วาเสฏฐะ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเธอจะมีการทะเลาะ ขัดแย้งและมี
วาทะต่างกันในข้อไหน.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องทางและมิใช่ทาง พราหมณ์คือ-
พราหมณ์พวกอัทธริยะ พราหมณ์พวกติตติริยะ พราหมณ์พวกฉันโทกะ
พราหมณ์พวกพัวหริธะ ย่อมบัญญัติหนทางต่างๆ กันก็จริง ถึงอย่างนั้น ทาง
เหล่านั้นทั้งหมด เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม
ได้ เปรียบเหมือนในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม แม้หากจะมีทางต่างๆ กันมาก
สาย ที่แท้ทางเหล่านั้นทั้งหมดล้วนมารวมลงในบ้านเหมือนกับฉันใด ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ. . . เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้ฉันนั้น.
วาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูดอย่างนั้นพระเจ้าข้า.
[369] วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้จบไตรเพท พราหมณ์แม้คน
หนึ่ง ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีพระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ อาจารย์แม้คนหนึ่ง ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็น
พรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมเจริญ ไม่มีพระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ปาจารย์ แม้คนหนึ่งของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็น
พรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

วาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท
ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ พวกฤษีเป็นบุรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท คือ
ฤษีอัฏฐกะ วามกะ วามเทวะ เวสามิตตะ ยมตัคคี อังคีรส ภารัทวาชะ
วาเสฏฐะ กัสสปะ ภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ ร่ายมนต์ที่ในปัจจุบันนี้ พวก
พราหมณ์ผู้จบไตรเพท ขับกล่าวบอกสอนตาม ซึ่งมนต์บทเก่านี้ ที่ท่านขับ
แล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว ได้ถูกต้อง แม้ท่านเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
พวกเรารู้พวกเราเห็น พรหมนั้นว่า อยู่ ณ ที่ใด อยู่โดยอาการใด หรืออยู่ใน
เวลาใด ดังนี้ ยังมีอยู่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
[370] วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้จบไตรเพท แม้พราหมณ์สัก
คนหนึ่ง ที่เห็นพรหมมีเป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ แม้อาจารย์สักคนหนึ่งของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็น
พรหมเป็นพยานไม่มีเลยหรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ แม้ปาจารย์ของอาจารย์ แห่งพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็น
พรหมเป็นพยานไม่มีเลยหรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบเนื่องมาเจ็ดชั่วอาจารย์ ของพราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพท ที่เห็นพรหมเป็นพยานไม่มีเลยหรือ.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ได้ยินว่า พวกฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพท คือ ฤษีอัฏฐกะ............ภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ ร่ายมนต์ ที่ใน
ปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ขับ กล่าว บอก สอนตาม ซึ่งมนต์
บทเก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว ได้ถูกต้อง แม้ท่าน
เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้เห็นพรหมนั้น อยู่ ณ ที่ใด โดยอาการใด
หรืออยู่ในเวลาใด พราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรา
ไม่รู้ไม่เห็น แต่พวกเรา แสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมเหล่านั้นว่า
หนทางนี้แหละ เป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนิน
ไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้.
[371] เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต
ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทย่อมไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ข้าแต่พระโคดมผู้-
เจริญ ภาษิตของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทย่อมไม่มีปาฏิหาริย์ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็น
พรหม แต่แสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมว่า หนทางนี้แหละเป็นทาง
ตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นเพื่อความ
อยู่ร่วมกับพรหมได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ วาเสฏฐะ เหมือนแถวคน
ตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็
ไม่เห็น ภาษิตของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท เหล่านั้น จึงเป็นคำน่าหัวเราะที
เดียว เป็นคำต่ำช้า เป็นคำว่าง เป็นคำเปล่า. วาเสฏฐะ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์จบไตรเพทย่อมเห็นพระจันทร์พระอาทิตย์ แม้ชน

อื่นเป็นอันมากก็เห็น พระจันทร์และพระอาทิตย์ ขึ้นเมื่อใด ตกเมื่อใด
พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชื่นชมประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท ย่อมเห็นพระจันทร์
และพระอาทิตย์ แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็เห็น พระจันทร์และพระอาทิตย์
ขึ้นเมื่อใด ตกเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชื่นชม ประนมมือ
นอบน้อม เดินเวียนรอบ อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[372] วาเสฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพท เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็น พระ-
จันทร์และพระอาทิตย์ ขึ้นเมื่อใด ตกเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน
ชื่นชม ประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ พราหมณ์ผู้จบไตรเพทสามารถ
แสดงหนทางเพื่อความอยู่กับพระจันทร์และพระอาทิตย์แม้เหล่านั้น ว่า
ทางนี้แหละเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตาม
ทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ดังนี้ได้หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้พระเจ้าข้า
วาเสฏฐะ ได้ยินว่าพราหมณ์ผู้จบไตรเพท....นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น
เพื่อความอยู่รวมกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็จะกล่าวกันทำไม พราหมณ์
ผู้จบไตรเพทมิได้เห็นพรหมเป็นพยาน แม้พวกอาจารย์ของพราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพทก็มิได้เห็น แม้พวกปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ผู้จบไตรเพท
ก็มิได้เห็น แม้พวกอาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ก็มิได้เห็น แม้พวกฤษีผู้เป็น
บุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพทคือ ฤษี อัฏฐกะ..........ซึ่งเป็นผู้
แต่งมนต์ ร่ายมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ขับ กล่าว บอก

สอนตาม ซึ่งมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว ได้ถูกต้อง
แม้ท่านเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่รู้ไม่เห็นว่า พรหมอยู่ ณ ที่ใด
หรืออยู่โดยอาการใด หรืออยู่ในเวลาใด พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น
แหละ พากันกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราแสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม
ที่เราไม่รู้ไม่เห็นนั้นว่า ทางนี้แหละเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทาง
นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้.
[373] วาเสฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้
ภาษิตของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทย่อมไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทย่อมไม่มี
ปาฏิหาริย์พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ ก็พราหมณ์ผู้จบไตรเพท ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม
แต่แสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมนั้นว่า เป็นทางตรง เป็นสายทาง
เดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[374] วาเสฏฐะ เหมือนบุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราปรารถนารัก
ใคร่นางชนบทกัลยาณี ในชนบทนี้ ชนทั้งหลายพึงถามเขาว่า นางชนบทกัล-
ยาณี ที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้นท่านรู้จักหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ เป็น
พราหมณี เป็นนางแพศยา หรือนางศูทร เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบ
ว่า ไม่รู้จัก ชนทั้งหลายพึงถามเขาว่า นางชนบทกัลยาณี ที่ท่านปรารถนารัก
ใคร่นั้น ท่านรู้จักหรือว่า นางมีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูง ต่ำ หรือ สันทัด
ดำคล้ำ ผิวสีทอง อยู่ในบ้าน นิคม หรือเมืองโน้น เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว
เขาพึงตอบว่า ไม่รู้จักเลย ชนทั้งหลาย พึงถามเขาว่า ท่านปรารถนารักใคร่

หญิงที่ท่านไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นเลยดังนั้นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้ เขาพึงตอบ
ว่าถูกแล้ว วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ คำ
กล่าวของบุรุษนั้นไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ. แน่นอนพระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่าพราหมณ์ผู้จักไตรเพทก็ดี
อาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี อาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์พวกนั้นก็
ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ ของพราหมณ์นั้นก็ดี เหล่าฤษีผู้เป็นบุรพา-
จารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ต่างก็มิได้เห็นพรหมเป็นพยาน.
[375] วาเสฏฐะ เหมือนบุรุษทำพะองขึ้นปราสาทในทางใหญ่ 4
แพร่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ผู้เจริญ ท่านทำพะองขึ้นปราสาทใด
ท่านรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า อยู่ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศ
เหนือ สูง ต่ำ หรือปานกลาง. เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ไม่รู้จัก
ดอก. ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาต่อไปว่า ท่านจะทำพะองขึ้นปราสาทที่ท่าน
ไม่รู้จักไม่เคยเห็นหรือ. เมื่อเขาถูกถามดังนั้นแล้ว เขาถึงตอบว่า ถูกแล้ว.
วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของ
บุรุษนั้นย่อมไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ.
แน่นอน พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพทก็ดี
อาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพทก็ดี อาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์
ผู้จบไตรเพทก็ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท
นั้นก็ดี เหล่าฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพทก็ดี ต่างก็มี
ได้เห็นพรหมเป็นพยาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพวกพราหมณ์ผู้ได้จบ
ไตรเพท ไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ.

ถูกแล้ว พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ พราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น ไม่รู้จักพรหม ไม่เคย
เห็นพรหม แต่แสดงหนทาง เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมนี้ว่า ทางนี้แหละเป็น
ทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อ
ความอยู่ร่วมกับพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[376] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำ อจิรวดี นี้ น้ำเต็มเปี่ยม
เสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการจะข้ามฝั่งแสดงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง
ประสงค์จะข้ามฝั่งไปฝั่งโน้น เขายืนที่ฝั่งข้างนี้ร้องเรียกฝั่งโน้นว่า ฝั่งโน้นจง
มาฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝั่งโน้นของแม่น้ำอจิรวดี
จะพึงมาฝั่งนี้ เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา
หรือเพราะเหตุยินดีของบุรุษนั้นหรือ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ละธรรม
ที่ทำให้เป็นพราหมณ์เสีย ยึดถือธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่
กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราร้องเรียกหาพระอินทร์ ร้องเรียกหาพระจันทร์ ร้อง
เรียกหาพระวรุณ พระอีสาน พระประชาบดี พระพรหม พระมหินท์.
วาเสฏฐะ ก็พราหมณ์ผู้จบไตรเพท เหล่านั้น ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์
ยึดถือธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่ เมื่อตายไปแล้ว จักเข้า
ถึงความอยู่ร่วมกับพรหมเพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุ
ปรารถนาหรือเพราะเหตุยินดี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[377] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือน แม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง
กาดื่มกินได้ ครั้งนั้นบุรุษผู้ต้องการจะข้ามฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามไป

ฝั่งโน้น เขามัดแขนไพล่หลังอย่างแน่นด้วยเชือกเหนียวอยู่ที่ริมฝั่งนี้ วาเสฏฐะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงข้ามไปฝั่งโน้น จากฝั่งนี้ แห่ง
แม่น้ำอจิรวดี ได้หรือ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ได้พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน กามคุณ 5 เหล่านี้ ในวินัยของพระ-
อริยเจ้า เรียกว่า ขื่อคาบ้าง เรียกว่า เครื่องจองจำบ้าง กามคุณ 5 เป็น
ไฉน รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ เสียงที่พึงรู้ด้วยหู กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก รสที่พึงรู้
ด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก
เกี่ยวด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด กามคุณ 5 เหล่านี้ในวินัยของ
พระอริยเจ้า เรียกว่า ขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง พราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพท กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก
บริโภคกามคุณ 5 เหล่านั้นอยู่. วาเสฏฐะ ก็พราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์เสีย ยืดถือธรรมที่ไม่ให้เป็นพราหมณ์ประพฤติ
อยู่ กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาสลัดออก บริโภค
กามคุณ 5 พัวพันอยู่ในกามฉันทะ เมื่อตายไปแล้ว จักเข้าถึงความอยู่ร่วม
กับพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[378] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง
กาดื่มกินได้ ครั้งนั้นบุรุษต้องการจะข้าม ประสงค์จะข้ามไปฝั่งโน้น เขา
กลับนอนคลุมตลอดศีรษะเสียที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็น
ไฉน บุรุษนั้นพึงข้ามจากฝังนี้ไปฝั่งโน้นได้หรือ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน นิวรณ์ 5 อย่างเหล่านี้ ในวินัยของ

พระอริยเจ้า เรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่อง
รัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ 5 เป็นไฉน คือ กามฉันทะ
พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นิวรณ์ 5 เหล่านี้แล ใน
วินัยของพระอริยเจ้าเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง
เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง.
[379] วาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ถูกนิวรณ์ 5
เหล่านี้ ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตราแล้ว ก็พราหมณ์ผู้จบไตรเพท
เหล่านั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย ยึดถือธรรมที่ไม่ทำให้
เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่ ถูกนิวรณ์ 5 ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตรา
เมื่อตายไปแล้ว จักเข้าถึงความอยู่ร่วมกับพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[380] วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเคยได้
ยืนพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นอาจารย์ และเป็นอาจารย์ของอาจารย์กล่าวว่า
กระไรบ้าง พรหมมีเครื่องเกาะคือสตรี หรือไม่. ไม่มี พระเจ้าข้า. มีจิต
จองเวรหรือไม่. ไม่มีพระเจ้าข้า. มีจิตเบียดเบียนหรือไม่. ไม่มี พระเจ้าข้า.
มีจิตเศร้าหมองหรือไม่. ไม่มี พระเจ้าข้า. ทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือไม่.
ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้จบไตรเพท
มีเครื่องเกาะคือสตรี หรือไม่. มี พระเจ้าข้า มีจิตจองเวรหรือไม่. มี
พระเจ้าข้า. มีจิตเบียดเบียนหรือไม่. มี พระเจ้าข้า. มีจิตเศร้าหมองหรือไม่.
มี พระเจ้าข้า. ทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือไม่. ไม่ได้ พระเจ้าข้า.
[381] วาเสฏฐะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าพราหมณ์ผู้จบไตร-
เพท เหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะคือสตรี แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบ

พราหมณ์ผู้จบไตรเพท ซึ่งมีเครื่องเกาะคือสตรี กับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะ
คือสตรี ได้หรือ. ไม่ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท เหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะ
คือสตรี เมื่อตายไปแล้ว จักเข้าถึงความอยู่ร่วมกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะ
คือสตรี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท
เหล่านั้น ยังมีจิตจองเวร แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพท ซึ่งยังมีจิตจองเวรกับพรหมผู้ไม่มีจิตจองเวร ได้หรือไม่. ไม่ได้
พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท เหล่านั้น ยังมีจิตเบียดเบียน แต่
พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้จบไตรเพทซึ่งยังมีจิตเบียดเบียนกับ
พรหมผู้ไม่มีจิตเบียดเบียนได้หรือ. ไม่ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น ยังมีจิตเศร้าหมอง แต่
พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้จบ ไตรเพทซึ่งยังมีจิตเศร้าหมองกับ
พรหมผู้ไม่มีจิตเศร้าหมอง ได้หรือ. ไม่ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น ทำให้จิตอยู่ในอำนาจไม่
ได้ แต่พรหมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้จบ
ไตรเพทซึ่งทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ ได้หรือ. ไม่ได้พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ถูกละ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท เหล่านั้น ยังจิตให้เป็นไป
ในอำนาจไม่ได้ เมื่อตายไปแล้ว จักเข้าถึงความอยู่ร่วมกับพรหมผู้ทำจิตให้
อยู่ในอำนาจได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้จบไตรเพท
เหล่านั้น ในโลกนี้จมลงแล้ว กำลังจมอยู่ ครั้นจมลงแล้ว ย่อมถึงความ
ย่อยยับ สำคัญว่า ข้ามได้ง่าย เพราะฉะนั้น ไตรเพทนี้เรียกว่า ไตรเพท

ทุ่งใหญ่ [ที่ไม่มีหมู่บ้าน] บ้าง ว่าไตรเพทป่าใหญ่ [ที่ไม่มีน้ำ] บ้าง ว่า
ไตรเพทคือความย่อยยับบ้าง ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท.
[382] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพ ได้
กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณะ-
โคดมทรงทราบหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม.
วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มนสากตคามอยู่ในที่
ใกล้แต่นี้ ไม่ไกลจากนี้มิใช่หรือ. ใช่ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้เกิดมาแล้ว
เติบโตแล้ว ในมนสากตคามนี้ ออกไปจากมนสากตคามในทันใด พึงถูก
ถามหนทางแห่งมนสากตคาม วาเสฏฐะ จะพึงมีหรือ บุรุษผู้นั้นเกิดแล้ว
เติบโตแล้ว ในมนสากตคาม ถูกถามถึงหนทางแห่งมนสากตคามแล้วจะชักช้า
หรืออ้ำอึ้ง.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี. ข้อนั้น เพราะเหตุไร. เพราะบุรุษนั้น
เกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม เขาต้องทราบหนทางแห่งมนสากตคาม
ทั้งหมดได้เป็นอย่างดี.
วาเสฏฐะ เมื่อบุรุษนั้นเกิดแล้ว เติบโตแล้ว ในมนสากตคาม ถูกถาม
ถึงหนทางแห่งมนสากตคาม จะพึงมีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งหรือ. เมื่อตถาคตถูก
ถามถึงพรหมโลกหรือปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่มีความล่าช้า
หรืออ้ำอึ้งเลย เรารู้ถึงพรหมและพรหมโลก ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพรหมโลกและ
ว่าพรหมปฏิบัติอย่างไร จึงเข้าถึงพรหมโลกด้วย.
[383] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพได้
กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า พระสมณโคดม
ย่อมแสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม ข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระ-

องค์ทรงแสดงทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม ขอพระองค์โปรดช่วยประชาชน
ผู้เป็นพราหมณ์ด้วยเถิด.
วาเสฏฐะ ถ้ากระนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจด้วยดี เราจักกล่าว.
วาเสฏฐมาณพทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า วาเสฏฐะ พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้ เป็นพระ-
อรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ฯลฯ (พึงขยายความเหมือนในสามัญญ-
ผลสูตร) ฯลฯ วาเสฏฐะ ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ
เมื่อภิกษุตามเห็นนิวรณ์ 5 เหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อมีปราโมทย์ก็เกิดปีติ เมื่อใจประกอบด้วยปีติกายก็สงบ เมื่อกายสงบก็
เสวยสุข เมื่อเสวยสุขจิตก็ตั้งมั่น. เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอด
ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เช่นนั้น ทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้อง
ขวาง ก็แผ่ไปในที่ทั้งปวงตลอดโลกทั้งสิ้นเพราะแผ่ทั่วไป ด้วยจิตประกอบด้วย
เมตตาอันไพบูลย์ มีอารมณ์มาก หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้งสี่ทิศ โดยไม่ยากเลย
ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณอันใดในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้ว
อย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจร และอรูปาพจรนั้น
ฉันนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ แม้นี้ก็เป็นทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม.
[384] วาเสฏฐะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ฯลฯ
มุทิตา ฯลฯ อุเบกขา ฯลฯ นี้แลเป็นทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม. วาเสฏฐะ
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีเครื่องเกาะคือสตรี
หรือไม่ ไม่มีพระเจ้าข้า. มีจิตจองเวรหรือไม่. ไม่มีพระเจ้าข้า. มีจิตเบียด-

เบียนหรือไม่. ไม่มีพระเจ้าข้า. มีจิตเศร้าหมองหรือไม่. ไม่มีพระเจ้าข้า. ยัง
จิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่. ได้พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ได้ยินว่า ภิกษุไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี พรหมก็ไม่มี จะ
เปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี กับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี
ได้หรือไม่. ได้พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ ภิกษุนั้นไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี เมื่อมรณะแล้ว
จักเข้าถึงความอยู่ร่วมกับพรหม ผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี ข้อนี้เป็นฐานะที่
มีได้.
วาเสฏฐะ ภิกษุมีจิตไม่จองเวร พรหมก็มีจิตไม่จองเวร ฯลฯ ภิกษุ
มีจิตไม่เบียดเบียน พรหมก็มีจิตไม่เบียดเบียน ฯลฯ ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง
พรหมก็มีจิตไม่เศร้าหมอง ฯลฯ ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ พรหมก็
ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ
กับพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่. ได้ พระเจ้าข้า.
วาเสฏฐะ ดีละ ภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้นั้น. เมื่อ
มรณะแล้ว จักเข้าถึงความอยู่ร่วมกับพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้
ข้อนั้นเป็นฐานะที่มีได้.
[385] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพ และ
ภารัทวาชมาณพ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มี

พระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้า
พระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็น อุบาสก ผู้ถึงสรณะอย่างมอบ
กายถวายชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ เตวิชชสูตรที่ 13

อรรถกถาเตวิชชสูตร


เตวิชชสูตร

มีความเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ ฯลฯ ใน
แคว้นโกศล.
ต่อไปนี้จะพรรณนาบทที่ยากในพระสูตรนั้น. บทว่า มนสากตะ เป็นชื่อ
ของบ้านนั้น. บทว่า โดยทางทิศเหนือของบ้านมนสากตะ คือ ข้างทิศเหนือ
ไม่ไกลจากบ้านมนสากตะ. บทว่า ในป่ามะม่วง คือ ในหมู่ต้นมะม่วงหนุ่ม ได้
ยินว่า ภูมิภาคนั้นน่ารื่นรมย์ ข้างล่าง ลาดทรายเช่นเดียวกับแผ่นดิน ข้างบน
เป็นป่ามะม่วงมีกิ่งและใบหนา เหมือนเพดานดาดด้วยแก้วมณี พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวัน อันเป็นความสุขเกิดจากวิเวก สมควรแก่
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
บทว่า พราหมณ์มหาศาล ผู้ที่เขารู้จักกันแพร่หลาย คือ เป็นผู้ที่เขา
รู้กันทั่วไปในตำบลนั้น ๆ โดยถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติมีกุลจารีตเป็นต้น. บท
ว่า วังกี เป็นอาทิ เป็นชื่อของพราหมณ์มหาศาล เหล่านั้น. บรรดาพราหมณ์
มหาศาลเหล่านั้น วังกีอยู่บ้านโอปสาทะ ตารุกขะอยู่บ้านอิจฉานังคละ.
โปกขรสาติอยู่อุกกัฏฐนคร ชาณุโสนิอยู่สาวัตถี โตเทยยะอยู่ตุทิคาม. บทว่า
พราหมณ์มหาศาล เหล่าอื่นอีก ความว่า ก็บรรดาชนเป็นอันมากเหล่าอื่น
มาจากที่อยู่ของตน ๆ แล้วอาศัยอยู่ ณ มนสากตคามนั้น. ได้ยินว่า เพราะ
มนสากตคามเป็นที่น่ารื่นรมย์ พราหมณ์เหล่านั้นจึงพากันสร้างเรือนใกล้ฝั่ง
แม่น้ำในมนสากตคามนั้น ล้อมไว้โดยรอบ ห้ามคนพวกอื่นเข้าไป พากันไป
อยู่ ณ ที่นั้น ตามลำดับ.