เมนู

อรรถกถาโลหิจจสูตร


โลหิจจสูตร

มีบทเริ่มต้นว่า (ข้าพเจ้าพระอานนทเถระเจ้า) ได้
สดับมาแล้วอย่างนี้...............ในแคว้นโกศล
ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยากในโลหิจจสูตรนั้น บทว่า สาลวติกา
เป็นชื่อของบ้านนั้น. ได้ยินมาว่าบ้านนั้นล้อมด้วยไม้สาละ เป็นแถวไปตาม
ลำดับเหมือนล้อมรั้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า บ้านสาลาติกา. บทว่า. โลหิจจะ
เป็นชื่อพราหมณ์ผู้นั้น.
บทว่า ลามก คือ ชื่อว่าลามก เพราะเว้นจากการอนุเคราะห์ผู้อื่น.
แต่ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เกิดขึ้นแล้ว
คือบังเกิดแล้ว ได้แก่ ไม่ใช่เพียงเกิดในใจอย่างเดียวเท่านั้น. นัยว่า โลหิจจ-
พราหมณ์นั้นยังพูดอย่างนั้น แม้ในท่ามกลางบริษัท ตามอำนาจของใจ.
บททั้งหลายว่า เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ อธิบายว่า
คนอื่นจะพูดว่า ผู้ที่ถูกเขาพร่ำสอนจักทำอะไร แก่ผู้พร่ำสอนนั้นได้ ตนเอง
นั่นแหละควรสักการะเคารพกุศลธรรมที่ตนได้แล้วอยู่. ข้อว่า โลหิจจพราหมณ์
เรียกช่างกัลบกชื่อโรสิกามา
มีความว่า โลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกผู้ได้
ชื่อเป็นอิตถีลิงค์อย่างนี้ว่าโรสิกา นัยว่าเขาทราบถึงการเสด็จมาของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าแล้วคิดว่า การที่เราจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ประทับจะเป็นภาระ
แต่เราจะอาราธนาให้เสด็จมายังเรือน แล้วเข้าเฝ้า และจักถวายอาคันตุกภิกษา
ตามกำลัง เพราะฉะนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงเรียก โรสิกาช่างกัลบกนั้นมา.
บทว่า ตามเสด็จไปข้างหลัง ๆ หมายความว่า โรสิกาช่างกัลบกตาม
เสด็จไปข้างหลัง ๆ เพื่อสะดวกในการทูลสนทนา. บทว่า ขอจงทรง-

ปลดเปลื้อง คือ โรสิกากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงปลดเปลื้อง คือ กำจัดจากความเห็นลามก นัยว่าโรสิกานี่เป็นอุบาสกเป็น
เพื่อนรัก ของโลหิจจพราหมณ์ เพราะฉะนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น เพราะหวัง
ประโยชน์แก่โลหิจจพราหมณ์. ในบทว่า ไม่เป็นไร โรสิกา นี้ พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงเปล่งพระสุรเสียงด้วยพระดำรัสแรก ทรงเปล่งพระสุรเสียงย้ำ
อีกด้วยพระดำรัสที่สอง. ในบทนี้ พึงทราบอธิบายดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อจะทรงแสดงข้อความนี้ว่า ดูก่อนโรสิกา เรากระทำทุกรกิริยาหลายอย่าง
และบำเพ็ญบารมี ตลอดสี่อสงไขย และตลอดแสนกัป ก็เพื่อประโยชน์นี่แหละ
เรารู้แจ้งแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ ก็เพื่อประโยชน์นี่อีกแหละ การขจัด
ความเห็นลามกของโลหิจจพราหมณ์ไม่ใช่เรื่องหนัก ของเรา ดังนี้ ชื่อว่าทรง
เปล่งพระสุรเสียงด้วยพระดำรัสแรก. และเมื่อจะทรงแสดงความข้อนี้ว่า ดูก่อน
โรสิกา การมาก็ดี การนั่งดี การสนทนาปราศรัยก็ดี ในสำนักเราของโลหิจจ-
พราหมณ์ทั้งหมดนี้จงยกไว้ก่อน แม้ว่า บุคคลเช่นโลหิจจพราหมณ์มีความ
สงสัยในปัญหาตั้งแสนข้อ เราก็มีกำลังพอที่จะบรรเทาความสงสัยได้แต่
ในการบรรเทาความเห็นลามกของโลหิจจพราหมณ์เพียงคนเดียว ไฉนจะเป็น
เรื่องหนักของเราเล่าดังนี้ จึงทรงเปล่งพระสุรเสียงย้ำด้วยพระดำรัสที่สอง
บทว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยคือการ
เกิดขึ้นแห่งโภคทรัพย์ อธิบายว่าทรัพย์และข้าวเปลือกอันเกิดขึ้นจากผลประ-
โยชน์นั้น. บทว่า ผู้ที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพ คือ ชนทั้งหลายมีญาติบริวารชน
ทาสและกรรมกรเป็นต้น อาศัยเขาเลี้ยงชีพ. บทว่า ผู้ทำอันตราย คือ
ผู้ทำอันตรายทางลาภ. คำว่า ประโยชน์ ในบทว่า อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์
ได้แก่ความความเจริญ. บุคคลย่อมเอ็นดู เพราะฉะนั้นชื่อว่าผู้อนุเคราะห์ ความ-

ว่าย่อมปรารถนา ท่านกล่าวอธิบายว่าปรารถนาความเจริญ หรือไม่ปรารถนา.
บทว่า นรก หรือกำเนิดเดียรัจฉานมีอธิบายว่า หากว่าความเห็นผิดนั้น
สมบูรณ์ คือ เป็นความแน่นอน ย่อมเกิดในนรก โดยส่วนเดียว หากยังไม่
แน่นอน ย่อมเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน.
บัดนี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระประสงค์จะให้พราหมณ์เกิด
ความสลดใจยิ่งขึ้น เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายสลดใจด้วยอันตรายทางลาภของ
ตนเอง มิใช่สลดใจด้วยอันตรายทางลาภของคนอื่น ฉะนั้น จึงตรัสเรื่องเกิด
ขึ้นครั้งที่สองว่า โลหิจจะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนดังนี้.
บทว่า กุลบุตรทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ กุลบุตรเหล่านี้สดับพระ-
ธรรมเทศนาของพระตถาคต แล้วไม่สามารถจะก้าวลงสู่อริยภูมิได้. บทว่า
ครรภ์อันเป็นทิพย์ รูปศัพท์เป็นปฐมาวิภัตติลงในอรรถทุติยาวิภัตติ แปลว่า
ซึ่งครรภ์อันเป็นทิพย์. อนึ่งบทว่า ครรภ์อันเป็นทิพย์นี้ เป็นชื่อ ของเทวโลก
6 ชั้น. บทว่า กุลบุตรทั้งหลายย่อมบำรุง อธิบายว่า กุลบุตรทั้งหลาย
บำเพ็ญปฏิปทา เพื่อไปสู่เทวโลก ให้ทาน รักษาศีล ทำการบูชาด้วยของหอม
และดอกไม้เป็นต้น เจริญภาวนา ชื่อว่าย่อมบำรุงบริหาร ย่อมอบรม คือว่า
ย่อมเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง
บทว่า เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ อธิบายว่า วิมานของเทวดา
ทั้งหลาย ชื่อว่าภพเป็นทิพย์ เพื่อจะไปเกิดในวิมานเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง
บทว่า ครรภ์อันเป็นทิพย์ หมายถึง บุญวิเศษมีทานเป็นต้น. บทว่า ภพอัน-
เป็นทิพย์
อธิบายว่า ภพทั้งหลายเป็นวิบากขันธ์ในเทวโลก กุลบุตรทั้งหลาย
กระทำบุญเพื่อเกิดในภพเหล่านั้น. บทว่า ทำอันตรายแก่ชนเหล่านั้น คือ

ทำอันตรายแห่งมรรคสมบัติ ผลสมบัติ และความวิเศษแห่งภพอันเป็นทิพย์
ของชนเหล่านั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงทำลายมานะของพราหมณ์ซึ่งขึ้นไป
จนถึงภวัคคพรหม โดยวิธีอุปมาโดยไม่กำหนด แล้วทรงแสดงถึงศาสดา
3 จำพวก ผู้ควรท้วง จึงตรัสพระดำรัสเป็นอาทิว่า ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดา 3
จำพวกเหล่านี้. บทว่า การท้วงนั้น คือ การท้วงของผู้ท้วงศาสดา 3 จำพวก
เหล่านั้น. บทว่า ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่งถึงคือไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้รอบ
คือเพื่อประโยชน์แก่การรู้ทั่ว บทว่า หลีกเลี่ยง อธิบายว่า ไม่กระทำตามคำ
สั่งสอนของศาสดานั้นตลอดเวลา หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนนั้น. บทว่า
พึงลุกเข้าไปหาสตรีที่กำลังถอยหลังหนี คือเข้าไปหาผู้ที่ถอยหนี ต้องการ
หญิงที่เขาไม่ต้องการ อธิบายว่า หญิงคนหนึ่งผู้ไม่ต้องการอยู่ร่วม ตัวคนเดียว
ก็ยังต้องการอยู่. บทว่า บุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ อธิบายว่า บุรุษไปข้าง
หลังแล้วกอดสตรีผู้ไม่อยากแม้จะเห็นยืนหันหลังให้ บทว่า ข้ออุปไมยนี้ก็
ฉันนั้น
อธิบายว่า เมื่อศาสดาแม้นี้คิดว่า พวกนี้เป็นสาวกของเรา แล้วสอน
สาวกผู้หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนด้วยความโลภ เราจึงกล่าวธรรมคือความ
โลภนี้ว่า มีข้ออุปไมยฉันนั้น ศาสดานั้นควรถูกท้วงว่า ท่านได้เป็นเหมือน
บุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรีที่กำลังหนี เหมือนบุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ด้วย
ธรรมคือความโลภใด ธรรมคือความโลภของท่านนั้นก็เป็นอย่างนี้ ด้วย
ประการฉะนี้. ข้อที่ว่า เพราะคนอื่นจักทำอะไรแก่คนอื่นได้ มีอธิบายว่า
ศาสดาย่อมควรถูกท้วงว่า ท่านสอนคนอื่นด้วยธรรมใด ท่านจงยังตนให้ถึง
พร้อมในธรรมนั้นก่อน คือท่านจงทำให้ตรง เพราะคนอื่นจักทำอะไรให้คน
อื่นได้.

บทว่า ที่อันตนควรบำรุง อธิบายว่า ควรถอนหญ้าที่ทำลายข้าว
กล้าแล้วทำให้เรียบร้อย.
เนื้อความแห่งการท้วงครั้งที่ 3 ว่า คนอื่นจักทำอะไรแก่คนอื่นได้
หมายความว่า คนอื่นที่ถูกพร่ำสอนตั้งแต่เวลาที่ไม่รับคำสอน จักทำอะไร
แก่คนอื่น คือผู้พร่ำสอนได้ อธิบายว่า ศาสดานั้นควรถูกท้วงอย่างนี้ว่า ตน
นั่นแหละควรถึงความเป็นผู้ขวนขวายน้อย แล้วจึงควรนับถือบูชาธรรมที่ตน
รู้แจ้งแทงตลอดแล้วอยู่มิใช่หรือ.
บทว่า ไม่ควรท้วง อธิบายว่า เพราะศาสดานี้ตั้งตนไว้ในความ
เหมาะสมแล้วก่อนจึงแสดงธรรมแก่สาวก. และสาวกของเขาเป็นผู้เชื่อฟัง
ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนย่อมบรรลุคุณวิเศษยิ่งใหญ่ ฉะนั้น เขาจึงไม่ควรท้วง.
บทว่า ตกไปสู่เหว คือ นรก ความว่า เพราะเราถือทิฏฐิลามกเราจึง
ตกไปสู่เหว คือนรก. บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกเราวางไว้บนบก ความ
ว่า โลหิจจพราหมณ์กล่าวว่า เราอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดทิฏฐิลามกให้
แล้ว ทรงยกขึ้นจากเหว คืออบาย ด้วยพระหัตถ์คือพระธรรมเทศนา แล้ว
วางเราไว้บนบกคือทางสวรรค์ ดังนี้.
คำที่เหลือในสูตรนี้มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.
อรรถกถาโลหิจจสูตรแห่งอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินีจบ
แล้วด้วยประการฉะนี้.
สูตรที่ 12 จบ

เตวิชชสูตร


[365] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึงพราหมณคาม ของชาว
โกศลชื่อมนสากตะ. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ อัมพวัน ใกล้
ฝั่งแม่น้ำ อจิรวดี ทางทิศเหนือมนสากตคาม เขตบ้านมนสากตะนั้น.
[366] สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลเป็นอันมาก ผู้ที่เขารู้จักกัน
แพร่หลาย อาศัยอยู่ในมนสากตคาม เช่น วังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์
โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสนิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์
มหาศาลผู้ที่เขารู้จักกันแพร่หลายอื่น ๆ อีก. ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและ
ภารัทวาชมาณพเดินเที่ยวเล่นตามกันไป ได้พูดกันถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง
วาเสฏฐมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็นทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทาง
นั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม. ฝ่ายภารัทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทาง
ที่ท่านตารุกขพราหมณ์ บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็น
ทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้.
วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารัทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารัทวาชมาณพ ก็ไม่
อาจให้ วาเสฏฐมาณพยินยอมได้.
[367] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพจึงปรึกษากับภารัทวาชมาณพว่า
ภารัทวาชะ ก็พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยะตระกูล ประทับ
อยู่ ณ อัมพวันใกล้ฝั่งแม่น้ำ อจิรวดี ทางทิศเหนือ มนสากตคาม กิตติศัพท์อัน