เมนู

จุลศีล


[319] ดูก่อนสุภมาณพ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลนั้น อย่างไร.
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วาง
ไม้ วางมีด มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา ทำประโยชน์แก่สัตว์
ทั้งปวง ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ฯลฯ (ข้อความต่อจากนี้เหมือน
พรหมชาลสูตร)

มหาศีล


[320] บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ
โดยมิจฉาชีพ (ข้อความต่อจากนี้เหมือนพรหมชาลสูตร)
ดูก่อนมาณพ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ
เพราะเป็นผู้สำรวมด้วยศีล เหมือนพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเศก
กำจัดศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแม้แต่ไหน ๆ เพราะศัตรูนั้น ดูก่อน
สุภมาณพ ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ก็ฉันนั้น ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ
เพราะเป็นผู้สำรวมด้วยศีล ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสีลขันธ์อันประเสริฐนี้ ย่อม
เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูก่อนสุภมาณพ ด้วยเหตุนี้แล ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
ดูก่อนสุภมาณพ สีลขันธ์อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้
ตรัสสรรเสริญ และยังชุมชนให้ยึดถือ ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ อนึ่ง ในธรรม
วินัย ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก.
สุภมาณพ ได้กราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์
นัก ไม่เคยมีมาก่อนเลย สีลขันธ์อันประเสริฐนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่

บริบูรณ์ กระผมยังไม่เห็นสีลขันธ์อันประเสริฐ ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณ-
พราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกศาสนานี้เลย ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกศาสนานี้ พึงเห็นสีลขันธ์อันประเสริฐ ที่
บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะดีใจ เพราะเหตุเพียงเท่านั้น ด้วยคิด
ว่า เป็นอันพอแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันทำเสร็จแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้
ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะเราได้บรรลุแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอย่างอื่น
ให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญก็ยังกล่าวว่า ในพระธรรมวินัย
นี้ ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก.
[321] สุภมาณพกราบเรียนถามว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ สมาธิ
ขันธ์อันประเสริฐ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญ และยังชุมชนให้ยึดมั่น ให้
ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่นั้น เป็นอย่างไร.
พระอานนท์ กล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอปฏิบัติเพื่อสำรวม
จักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำ ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า ถึงความ
สำรวมในจักขุนทรีย์. ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต.......ดมกลิ่นด้วยฆานะ........ลิ้มรส
ด้วยชิวหา........ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย........รู้ธรรมารมณ์ด้วยมนะ แล้วไม่
ถือนิมิตร ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวม
แล้วจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ
ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์. ภิกษุถึง
พร้อมด้วยอินทรียสังวรอันประเสริฐเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วย

กิเลส ในภายใน ดูก่อนมาณพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
[322] ดูก่อนมาณพ ภิกษุถึงพร้อมแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ เป็น
อย่างไร. ดูก่อนมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้สึกตัวในการก้าว ใน
การถอย ในการแล ในการเหลียว ในการงอ ในการเหยียด ในการทรง
สังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม
ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการหลับ
ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง ดูก่อนสุภมาณพ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึง
พร้อมแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล.
[323] ดูก่อนมาณพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ เป็นอย่างไร.
ดูก่อนมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหาร
กาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางใด ๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูก่อนมาณพ เหมือนนกจะบินไปทางใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระบินไปได้
ภิกษุก็เหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต
เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางใด ๆ ก็ถือไปได้เอง ดูก่อนมาณพ
ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษด้วยประการฉะนี้แล.
[324] ภิกษุถึงพร้อมแล้วด้วยสีลขันธ์อันประเสริฐ ด้วยอินทรียสังวร
อันประเสริฐ ด้วยสติสัมปชัญญะอันประเสริฐ ด้วยสันโดษอันประเสริฐ
เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต หลังอาหารแล้ว
นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความโลภคือความเพ่งเล็ง มี
จิตปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็ง ละความ

ประทุษร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่มีพยาบาท มีความอนุเคราะห์ด้วยทำประ-
โยชน์แก่สรรพสัตว์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจ-
จะได้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่ มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจ-
จะละวิจิกจฉาได้ ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรม ย่อมชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
[325] ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษกู้หนี้ไปประกอบการงาน การ
งานของเขาก็สำเร็จ เขาได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมหมดสิ้น ทรัพย์ที่เป็นกำไร
ของเขามีเหลือสำหรับเลี้ยงภรรยา เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้
ไปประกอบการงาน บัดนี้การงานของเราได้สำเร็จแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่
เป็นต้นทุนเดิมหมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเราก็ยังมีเหลืออยู่
สำหรับเลี้ยงภรรยา ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัสอันมีความ
ไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษป่วยหนัก มีทุกข์ เจ็บหนัก ไม่บริโภค
อาหาร ไม่มีกำลัง ครั้นต่อมาเขาหายจากอาการป่วย บริโภคอาหารได้ และ
มีกำลังกาย เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราป่วยหนัก มีทุกข์ เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง บัดนี้เราหายจากอาการป่วยนั้นแล้ว บริโภค
อาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปรกติ ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึง
ความโสมนัสอันมีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษถูกจองจำในเรือนจำ ครั้นต่อมาเขาพ้น
จากเรือนจำนั้นโดยสวัสดี ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย เขาได้

คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้เราพ้นจากเรือนจำ
นั้นโดยสวัสดี ไม่มีภัยแล้ว ทั้งเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย ดังนี้ เขา
พึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ
ฉันใด.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามอำเภอใจก็ไม่ได้ ครั้นต่อมาเขาพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง
ได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามอำเภอใจ เขาได้คิดเห็นว่า
เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามอำเภอใจ
ก็ไม่ได้ บัดนี้เราพ้นจากความเป็นทาสแล้ว พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัว จะไปไหนได้ตามอำเภอใจ ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์
ถึงความโสมนัส อันมีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษ มีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก. มีภัยอยู่ข้างหน้า ครั้นเขาเดินพ้นทางกันดารนั้นไปได้
บรรลุถึงหมู่บ้านโดยปลอดภัยแล้ว เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามี
ทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยอยู่ข้างหน้า บัดนี้
เราพ้นทางกันดาร บรรลุถึงหมู่บ้านโดยปลอดภัยแล้ว ดังนี้ เขาได้ความ
ปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีความปลอดภัยนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูก่อนมาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ ที่ยังละ
ไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส
เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ละได้แล้ว
ในตน เหมือนความไม่เป็นหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจาก
เรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนสถานที่ปลอดภัย ฉันนั้นแล.

ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 เหล่านี้ ทำละได้แล้วในตน ย่อมเกิด
ปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติแล้ว กาย
ย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุข
ย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวก. เธอทำกายนี้แหละให้สดชื่น
เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกาย
ของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง.
ดูก่อนมาณพ เหมือนเจ้าหน้าที่สรงสนาน หรือลูกน้องของเจ้าหน้าที่
สรงสนานผู้ฉลาด จะพึงโรยผงที่ใช้ในการสรงสนานใส่ลงในภาชนะสำริด แล้ว
เอาน้ำพรมหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์ที่ใช้ในการสรงสนาน ยางจะซึมไป
จับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่ไหลออกไป ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุก็ฉัน
นั้นแล ทำกายนี้แหละให้สดชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่
วิเวก ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งร่างกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่
วิเวกจะไม่ถูกต้อง ข้อนี้เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.
[326] ดูก่อนมาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีจิต
ผ่องใสในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ เธอทำกายนี้ให้สดชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน
ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหน ๆ ของกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง.
ดูก่อนมาณพ เหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำพุขึ้น ไม่มีทางที่นี้จะไหลมาได้
ทั้งในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตาม
ฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำ จะพึงทำให้ห้วงน้ำนั้นแหละชุ่มชื่น เอิบ

อาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน ๆ ของห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็น
จะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ ดูก่อนมาณพเพราะ
วิตกวิจารสงบ ฯลฯ เข้าถึงทุติยฌานอยู่ เธอสดชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติ
และสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและ
สุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.
[327] ดูก่อนมาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขทางกาย เพราะปราศจากปีติที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ได้ฌาน
นี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้ ชื่อว่าบรรลุตติยฌาน เธอทำกายให้
สดชื่น เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหนแห่งกายของ
เธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง.
ดูก่อนมาณพ เหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง ในกอบัวขาว ดอก
บัวขาบ ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว บางเหล่า เกิดในน้ำเจริญในน้ำ ยังไม่
พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นสดชื่น เอิบอาบซึม-
ซาบด้วยน้ำเย็น ตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีส่วนไหน ๆ ของบัวขาบ บัว
หลวง บัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุ
ก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เธอเข้าถึงตติยฌานอยู่ ย่อมทำกายนี้ให้สดชื่น เอิบอิ่มซาบ
ซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอ ทั่งทั้งตัวที่สุข
ปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.
[328] ดูก่อนมาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอยู่
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข บริสุทธิ์ด้วยอุเบกขาและสติ เพราะละสุขเพราะละทุกข์
ดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ เธอมีใจบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ
ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง.

ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีส่วน
ไหน ๆ แห่งกายทุก ๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อนมาณพ
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เพราะละสุข ฯลฯ เธอเข้าถึงจตุตถฌานอยู่ เธอมีใจ
อันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วนั่งแผ่ไปทั่วกายนั้นนี้แล ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของ
เธอทั่งทั้งตัวที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอ
ประการหนึ่ง.
ดูก่อนมาณพ สมาธิขันธ์อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้
ตรัสสรรเสริญ และยังชุมชุนให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ อนึ่ง ในธรรม
วินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก.
มาณพ กราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก น่า
พิศวงนัก สมาธิขันธ์อันประเสริฐนี้บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ กระผมยัง
ไม่เห็นสมาธิขันธ์อันประเสริฐของท่านพระอานนท์ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ ใน
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ
ก็สมณพราหมณ์เหล่าอื่นภายนอกพระศาสนานี้ พึงเห็นสมาธิขันธ์อันประเสริฐ
ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะพึงดีใจเพราะเหตุเพียงเท่านั้น
ด้วยคิดว่าเป็นอันพอแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันทำสำเร็จแล้วด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะเราได้บรรลุแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้อง
ทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระคุณเจ้าผู้เจริญก็ยังกล่าวว่า ในพระธรรมวินัยนี้
ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก.
[329] สุภมาณพกราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ปัญญา
ขันธ์อันประเสริฐที่พระโคดมผู้เจริญได้ตรัสสรรเสริญ และยังทำชุมชนนี้
ให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ นั้นเป็นอย่างไร.

พระอานนท์กล่าวว่า ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กาย
ของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วย
ข้าวสุกและขนมสด มีการอบ นวด แตกกระจัดกระจายไปเป็นนิจเป็นธรรมดา
และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยผูกพันอยู่ในกายนี้. ดูก่อนมาณพ เหมือนแก้วมณี
และแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเอง มีแปดเหลี่ยม นายช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใส
แวววาวสมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวล
ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษผู้มีตาหยิบแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือ แล้ว
พิจารณาเห็นว่า แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเอง มีแปดเหลี่ยม นาย
ช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาว บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง มีด้ายเขียว
เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุก็
ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อม
น้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล
มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและ
ขนมสด ต้องมีการอบ นวด แตกกระจัดกระจายไปเป็นนิจเป็นธรรมดา
และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยผูกพันอยู่ในกายนี้ ข้อนี้เป็นปัญญาของเธอประ-
การหนึ่ง.
[330] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้
มีรูป เกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง.

ดูก่อนมาณพเหมือนบุรุษพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาคิดเห็น
อย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง แต่ก็ไส้
ชักออกจากหญ้าปล้องนั้นเอง. อีกนัยหนึ่ง ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษชักดาบ
ออกจากฝัก เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง
ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง. อีกนัยหนึ่ง ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษดึงงู
ออกจากกล่อง เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้กล่อง งูอย่างหนึ่ง กล่องอย่าง
หนึ่ง ก็แต่งูดึงออกจากกล่องนั่นเอง ฉันใด. ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิต
ตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เธอย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อ
นิรมิตรูป เกิดแต่ใจ ฯลฯ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[331] ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์. เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำ
ให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้.
เธอผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือน
เดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำ
พระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย
ไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
ดูก่อนมาณพ เหมือนช่างหม้อ หรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวด
ดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใด ๆ ก็ทำภาชนะชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้. อีก
นัยหนึ่ง เหมือนช่างงา หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้อง

การงาชนิดใด ๆ ก็ทำงาชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เหมือนช่างทอง
หรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณ
ชนิดใด ๆ ก็ทำทองรูปพรรณชนิดนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็
ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม
ย่อมโน้มจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียว
ทำเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้. แม้
ข้อนี้ก็จัดเป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[332] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องผุด ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ
เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์
เกินหูของมนุษย์.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะได้ยินเสียงกลองบ้าง
เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงมโหระทึกบ้าง เขา
ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์
ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงมโหระทึกดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็
ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อ
ทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้ง
ที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ เกินหูของมนุษย์ แม้ข้อนี้
ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[333] เธอเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น
ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือ จิตปราศจากราคะ

ก็รู้ว่าจิตปราศจากจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า
จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือ จิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า
จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า จิตเป็นมหัคคตะ หรือ จิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่
เป็นมหัคคตะ จิตเป็นโลกุตตระก็รู้ว่า จิตเป็นโลกุตตระ หรือ จิตไม่เป็น
โลกุตตระก็รู้ว่า จิตไม่เป็นโลกุตตระ จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือ
จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิต
ไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น.
ดูก่อนมาณพ เหมือนหญิงสาว ชายหนุ่ม ชอบแต่งตัว เมื่อส่องดูหน้า
ของตนในกระจกที่สะอาด ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝก็รู้ว่า
หน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝก็รู้ว่า หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุ
ก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหว เธอย่อมน้อม
ย่อมโน้มจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคล
อื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือ จิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า
จิตไม่หลุดพ้น แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[334] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่ง ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อน
ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง
สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบ
ชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏ-
วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มี

กำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพ
นั้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร
อย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติ
จากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส ด้วยประการฉะนี้.
ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้น
ไปบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาบ้านของตนตามเดิม เขาก็ระลึกได้อย่างนี้
ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่ง
อย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เมื่อเราจากบ้านนั้นไปบ้านโน้น
แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่ง
อย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมายังบ้านของเรา ดังนี้ ฉันใด ดูก่อนมาณพ
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ
เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส. แม้
ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[335] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เธอ
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อหยั่งรู้การจุติและการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลาย เธอ
เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งสัตว์
ทั้งหลาย ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุริต
มโนทุจิต ว่าร้ายพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดการกระทำด้วยอำนาจ
มิจฉาทิฏฐิ สัตว์เหล่านั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็เข้าถึงอบายทุคติ
วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโน-

สุจริต ไม่ว่าร้ายพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ
สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
เธอย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายที่กำลังจุติ กำลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี
ผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ เกินจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.
ดูก่อนมาณพ เหมือนปราสาท ตั้งอยู่ท่ามกลางทางสี่แพร่ง บุรุษผู้มี
จักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น ก็จะเห็นผู้คนทั้งหลาย กำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออก
ไปอยู่บ้าง กำลังเดินไปมาอยู่ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ท่ามกลางทางสี่แพร่งบ้าง เขา
ก็รู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน คนเหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้เดินไปมา
ตามถนน คนเหล่านี้นั่งท่ามกลางทางสี่แพร่ง ฉันใด ดูก่อนมาณพ ภิกษุก็ฉัน
นั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหว เธอย่อมน้อมย่อม
โน้มจิตไปเพื่อหยั่งรู้การจุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เห็นสัตว์ทั้งหลายที่
กำลังจุติ กำลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดี
ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรม แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[336] ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อม
น้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เธอรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์
นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้
อาสวะ เหล่านี้เหตุให้เกิดอาสวะ เหล่านี้ความดับอาสวะ เหล่านี้ข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว

รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก.
ดูก่อนมาณพ เหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษ
ผู้มีตาดียืนอยู่บนขอบสระน้ำ จะเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวด
และกระเบื้องบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น เขา
คิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บรรดาหอยโข่งและหอยกาบ
ก้อนกรวดและกระเบื้อง ฝูงปลา ต่างกำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ใน
สระน้ำนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึง
ความไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อยู่
เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุด
พ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก แม้
ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
[337] ดูก่อนมาณพ ปัญญาขันธ์ อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มี
พระภาคเจ้า ได้ตรัสสรรเสริญ ทั้งยังชุมชนให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่
ในพระธรรมวินัยนี้ มิได้มีกิจอะไรที่จะพึงกระทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้.
สุภมาณพ กราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์
นัก น่าพิศวงนัก ปัญญาขันธ์อันประเสริฐนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์
ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ กระผมไม่เคยเห็นปัญญาขันธ์อันประเสริฐที่
บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในสมณพราหมณ์พวกอื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย และ
ไม่มีกิจอะไรอื่นที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้.

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านไพเราะยิ่งนัก ไพเราะยิ่ง
นัก เหมือนบุคคลหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดภาชนะที่ปิด บอกทางแก่คนหลง
ทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระ
อานนท์ผู้เจริญประกาศธรรม โดยอเนกปริยายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระ
อานนท์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จบสุภสูตรที่ 10

อรรถกถาสุภสูตร


สุภสูตร

มีบทเริ่มว่า ข้าพเจ้า สดับมาอย่างนี้ ฯเปฯ ในพระนครสาวัตถี.
ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยากในสุภสูตรนั้น บทว่า เมื่อพระผู้มี
พระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน
อธิบายว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน. ประมาณ 1 เดือน ถัดจากวันปรินิพพาน ข้อนี้
ท่านกล่าวหมายถึงวันที่พระอานนท์ ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วมานั่งฉันยาถ่ายผสมน้ำนม ณ วิหาร โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในนิทาน.
บทว่า โตเทยยบุตร แปลว่า บุตรของโตเทยยพราหมณ์ มีเรื่องเล่า
ว่า ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีบ้านชื่อตุทิคาม เพราะเขาเป็นคนใหญ่โตใน
บ้านตุทิคาม จึงมีชื่อว่า โตเทยยะ เขามีทรัพย์สมบัติประมาณ 45 โกฏิ แต่
เขาเป็นคนตระหนี่เป็นอย่างยิ่ง เขาคิว่า ชื่อว่า ความไม่สิ้นเปลืองแห่งโภค
สมบัติ ย่อมไม่มีแก่ผู้ให้ แล้วเขาก็ไม่ให้อะไรแก่ใคร ๆ เขาสอนบุตรว่า
คนฉลาด ควรดูความสิ้นไปของยาหยอดตา การก่อจอมปลวก การ
สะสมน้ำผึ้ง แล้วพึงครองเรือน

เมื่อเขาให้บุตรสำเหนียกถึงการไม่ให้อย่างนี้แล้ว ครั้นตายไปก็ไปเกิด
เป็นสุนัขอยู่ที่เรือนหลังนั้นเอง สุภมาณพผู้เป็นบุตร รักสุนัขนั้นมาก ให้กิน
อาหารเหมือนกับตน อุ้มนอนบนที่นอนอย่างดี.
ครั้นวันหนึ่ง เมื่อสุภมาณพออกจากบ้านไป พระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เรือนหลังนั้น สุนัขเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเห่า
เดินเข้าไปใกล้พระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะสุนัขนั้นว่า ดูก่อนโต-
เทยยะ แม้เมื่อก่อนเจ้าก็กล่าวหมิ่นเราว่าแน่ะท่าน แน่ะท่าน ดังนี้ จึงเกิดเป็น