เมนู

ที่รวมอยู่ของโชควาสนา ราวกะว่าท่าที่รวนลงของฝูงวิหค คือนัยนาแห่ง
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงดังภาพที่งามตาน่ารื่นรมย์ในโลก ซึ่ง
ประนวลไว้ในที่เดียวกัน มีเพดานงามยวนคาเหมือนจะคายออกซึ่งพวง
ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ และไข่มุกที่ห้อยอยู่ ดูประหนึ่งฟันระดับ ซึ่งปรับ
ด้วยทับทิม วิจิตรไปด้วยรัตนะต่าง ๆ มีแท่นที่สำเร็จเรียบร้อยดี ด้วย
ดอกไม้บูชานานาชนิด ประดับ ให้วิจิตรละม้ายคล้ายพิมานพรหม โปรด
ให้ปูลาดอาสนะอันเป็นกัปปิยะ 500 ที่ มีค่านับมิได้ ในมหามณฑปนั้น
สำหรับ ภิกษุ 500 รูป ให้ปูลาดที่นั่งพระเถระ หันหน้าทางทิศเหนือ
หันหลังทางทิศใต้ ให้ปูลาดที่นั่ง แสดงธรรมอันควรแก่การประทับนั่งของ
พระพุทธเจ้าผู้มีบุญ หันหน้าทางทิศตะวันออก ในท่ามกลางมณฑป วาง
พัดทำด้วยงาช้างไว้บนธรรมาสน์นั้น แล้วมีรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ว่า
กิจของโยมเสร็จแล้ว เจ้าข้า.
ก็และในวันนั้น ภิกษุบางพวกได้พูดพาดพิงถึงท่านพระอานนท์
อย่างนี้ว่า ในหมู่ภิกษุนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวโชยกลิ่นคาวอยู่. พระ
อานนท์เถระ
ได้ยินคำนั้นแล้ว ถึงความสังเวชว่า ภิกษุรูปอื่นที่ชื่อว่าเที่ยว
โชยกลิ่นคาว ไม่มีในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุเหล่านี้คงพูดหมายถึงเราเป็นแน่.
ภิกษุบางพวกกล่าวกะพระอานนท์นั้นว่า ดูก่อนท่านอานนท์ การประชุม
ทำสังคายนาจักมีในวันพรุ่งนี้ แต่ท่านยังเป็นพระเสขะ ยังมีกิจที่จะต้องทำ
ด้วยเหตุนั้นท่านไม่ควรเข้าประชุม ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.

พระอานนท์บรรลุพระอรหัต


ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุมทำสัง-
คายนา การที่เรายังเป็นพระเสขะอยู่ จะเข้าประชุมด้วยนั้น ไม่สมควรแก่

เราเลย แล้วให้เวลาล่วงไปด้วยกายคตาสติกรรมฐาน ตลอดราตรีเป็นส่วน
มากทีเดียว ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีก็ลงจากที่จงกรมเข้าวิหาร เอนกายลง
หมายจะนอน. เท้าทั้งสองพ้นจากพื้นแล้ว แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน
ในระหว่างนี้จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. พระ
อานนท์เถระ
นี้ให้เวลาล่วงไปในภายนอก ด้วยการจงกรม เมื่อไม่อาจให้
คุณวิเศษเกิดขึ้นได้ ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราไว้มิใช่หรือ
ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอได้สร้างบุญไว้แล้ว จงหมั่นบำเพ็ญเพียรเถิด ไม่
ช้าก็จะเป็นพระอรหันต์ดังนี้ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ตรัสผิด
พลาด แต่เราปรารภความเพียรมากเกินไป ฉะนั้น จิตของเราจึงฟุ้งซ่าน
ทีนี้เราจะประกอบความเพียรพอดี ๆ คิดดังนี้แล้ว ลงจากที่จงกรม ยืน
ในที่ล้างเท้า ล้างเท้า เข้าวิหาร นั่งบนเตียงคิดว่า จักพักผ่อนสักหน่อย
แล้วเอนกายบนเตียง เท้าทั้งสองพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน
ในระหว่างนี้จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. ความเป็น
พระอรหันต์ของพระอานนทเถระ เว้นจากอิริยาบถ 4 ฉะนั้น เมื่อมีการ
กล่าวถามกันขึ้นว่า ในศาสนานี้ ภิกษุที่ไม่นอน ไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่เดิน
จงกรม แต่ได้บรรลุพระอรหัต คือภิกษุรูปไหน ควรตอบว่า คือ พระ
อานนทเถระ.

ครั้งนั้น ในวันที่ 2 จากวันที่พระอานนท์บรรลุพระอรหัต คือ
วันแรม 5 ค่ำ พวกภิกษุชั้นพระเถระฉันเสร็จแล้ว เก็บบาตรและจีวร
แล้วประชุมกันในธรรมสภา. สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เป็นพระ
อรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม. ท่านไปอย่างไร. ท่านพระอานนท์มีความยินดี
ว่า บัดนี้เราเป็นผู้สมควรเข้าท่ามกลางที่ประชุมแล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่า

ข้างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้ว มีลักษณะเหมือน
ทับทิมที่วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง มีลักษณะเหมือนดวงจันทร์เพ็ญที่ลอย
เด่นในท้องนภากาศอันปราศจากเมฆ และมีลักษณะเหมือนดอกปทุมมี
เกสรและกลีบแดงเรื่อกำลังแย้มด้วยต้องแสงอาทิตย์อ่อน ๆ คล้ายจะบอก
เรื่องที่คนบรรลุพระอรหัตด้วยปากอันประเสริฐบริสุทธิ์ผุดผ่องมีรัศมีและมี
สิริ ได้ไปสู่ที่ประชุมสงฆ์. ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะพอเห็นพระ
อานนท์
ดังนั้น ได้มีความรู้สึกว่า ท่านผู้เจริญ พระอานนท์บรรลุพระ
อรหัตแล้ว งามจริง ๆ ถ้าพระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็จะ
พึงประทานสาธุการแก่พระอานนท์ในวันนี้แน่แท้ บัดนี้เราจะให้สาธุการ
ซึ่งพระศาสดาควรประทานแก่พระอานนท์นั้น ดังนี้แล้ว ได้ให้สาธุการ
3 ครั้ง.
ส่วนพระมัชฌิมภาณกาจารย์กล่าวว่า พระอานนทเถระ ประสงค์
จะให้สงฆ์ทราบเรื่องที่ตนบรรลุพระอรหัต จึงมิได้ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายเมื่อนั่งบนอาสนะที่ถึงแก่ตน ๆ ตามลำดับอาวุโส ก็นั่งเว้น
อาสนะของพระอานนทเถระไว้. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางพวก
ถามว่า นั่นอาสนะของใคร ? ได้รับตอบว่า ของพระอานนท์. ภิกษุ
เหล่านั้นถามอีกว่า พระอานนท์ไปไหนเสียเล่า ? สมัยนั้น พระอานนท์-
เถระ
คิดว่า บัดนี้เป็นเวลาที่เราควรจะไป ต่อจากนั้น เมื่อจะแสดง
อานุภาพของตน ท่านจึงดำดินแล้วแสดงตนบนอาสนะของตนทีเดียว.
อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระอานนท์ไปทางอากาศแล้ว นั่งบน
อาสนะของตน ดังนี้ก็มี. อย่างไรก็ตาม การที่ท่านพระมหากัสสปะเห็น
พระอานนท์แล้ว ให้สาธุการ เป็นการเหมาะสมโดยประการทั้งปวงทีเดียว.

เมื่อท่านพระอานนท์มาอย่างแล้ว พระมหากัสสปเถระจึง
ปรึกษาหารือภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลาย
จะสังคายนาอะไรก่อน พระธรรมหรือพระวินัย ? ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า
ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้เจริญ พระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อ
พระวินัยตั้งอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย
จงสังคายนาพระวินัยก่อน พระมหากัสสปะถามว่าเราจะจัดให้ใครรับเป็น
ธุระ ? ที่ประชุมตอบว่าให้ท่านพระอุบาลีรับเป็นธุระ ? ท่านถามแย้งว่า
พระอานนท์ไม่สามารถหรือ ? ที่ประชุมชี้แจงว่า ไม่ใช่พระอานนท์
ไม่สามารถ ก็แต่ว่าเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งดำรงพระชนม์อยู่ ได้
สถาปนาท่านพระอุบาลีไว้ในเอตทัคคะ เพราะอาศัยการเล่าเรียนวินัยว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย ดังนี้
เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงต้องถามพระอุบาลีเถระ สังคายนาพระวินัย.
ลำดับนั้น พระมหากัสสปเถระได้สมมติตนเองเพื่อถามพระวินัย แม้
พระอุบาลีเถระ ก็สมมติตนเองเพื่อตอบพระวินัย ในการสมมตินั้น
มีบาลีดังต่อไปนี้
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะได้เผดียงว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ขอสงฆ์จงพึงข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว
ข้าพเจ้าจะขอถามวินัยกะพระอุบาลี. แม้ท่านพระอุบาลีก็ได้เผดียงว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอสงฆ์จงพึงข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของ
สงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะถามวินัยแล้ว จะตอบ
ครั้นท่านพระอุบาลีสมมติตนอย่างนี้แล้วลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า
ข้างหนึ่งนมัสการภิกษุชั้นพระเถระแล้วนั่งบนธรรมาสน์จับพัดงา. ลำดับนั้น

พระมหากัสสปเถระนั่งบนเถรอาสน์ ถามวินัยกะท่านพระอุบาลีว่า
ดูก่อนอาวุโสอุบาลี ปฐมปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ
ที่ไหน ? พระอุบาลีตอบว่า ทรงบัญญัติที่เมืองเวลาลี เจ้าข้า.
พระมหากัสสปะถามว่า ทรงปรารภใคร ? พระอุบาลีตอบว่า ทรง
ปรารภพระสุทิน บุตรกลันทเศรษฐี. พระมหากัสสปะถามว่า เรื่อง
อะไร ? พระอุบาลีตอบว่า เรื่องเสพเมถุนธรรม. ครั้งนั้นแล ท่าน
พระมหากัสสปะถามท่านพระอุบาลีทั้งวัตถุ ถามทั้งนิทาน ถามทั้งบุคคล
ถามทั้งมูลบัญญัติ ถามทั้งอนุบัญญัติ ถามทั้งอาบัติ ถามทั้งอาบัติแห่ง
ปฐมปาราชิก. ท่านพระอุบาลี อันพระมหากัสสปะถามแล้ว ๆ ก็ได้ตอบ
แล้ว.
ถามว่า ก็ในบาลีปฐมปาราชิก ในวินัยปิฎกนี้ บทอะไร ๆ ที่ควร
ตัดออกหรือที่ควรเพิ่มเข้ามา จะมีบ้างหรือไม่มีเลย. ตอบว่า บทที่ควร
ตัดออก ไม่มีเลย เพราะถือกันว่าบทที่ควรตัดออกในภาษิตของพระ
พุทธเจ้าผู้มีบุญ จะมีไม่ได้เลย ด้วยว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสอักษร
ที่ไม่มีประโยชน์แม้แต่ตัวเดียว แต่บทที่ควรตัดออกในภาษิตของพระสาวก
ทั้งหลายก็ดี ของเทวดาทั้งหลายก็ดี ย่อมมีบ้าง พระธรรมสังคาหกเถระ
ทั้งหลายได้ตัดบทนั้นออกแล้ว. ส่วนบทที่ควรเพิ่มเข้ามา ย่อมมีได้แม้ใน
พุทธภาษิต สาวกภาษิต และเทวดาภาษิตทั่วไป เพราะฉะนั้น บทใด
ควรเพิ่มเข้าในเทศนาใด พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายก็ได้เพิ่มบทนั้น
เข้ามาแล้ว. ถามว่า บทที่เพิ่มเข้ามานั้นได้แก่บทอะไรบ้าง ? ตอบว่า
บทที่เพิ่มเข้ามานั้น ได้แก่บทที่เป็นแต่เพียงคำเชื่อมความท่อนต้นกับท่อน
หลัง มีอาทิอย่างนี้ว่า เตน สมเยน บ้าง เตน โข ปน สมเยน บ้าง

อถโข บ้าง เอวํ วุตฺเต บ้าง เอตทโวจ บ้าง อนึ่ง พระธรรม-
สังคาหกเถระทั้งหลาย ได้เพิ่มบทที่ควรเพิ่มเข้ามาอย่างนี้แล้ว ตั้งไว้ว่า
อิทํ ปฐมปาราชิกํ (สิกขาบทนี้ชื่อปฐมปาราชิก) เมื่อปฐมปาราชิก
ขึ้นสู่สังคายนาแล้ว พระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้ทำคณสาธยาย (สวด
เป็นหมู่ ) โดยนัยที่ยกขึ้นสู่สังคายนาว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา
เวรญฺชายํ วิหรติ
เป็นต้น. ในเวลาที่พระอรหันต์ 500 องค์เหล่านั้น
เริ่มสวด แผ่นดินใหญ่ได้เป็นเหมือนให้สาธุการไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน.
พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย ยกปาราชิกที่เหลืออยู่ 3 สิกขาบท
ขึ้นสู่สังคายนาโดยนัยนี้เหมือนกัน แล้วตั้งไว้ว่า อิทํ ปาราชิกกณฺฑํ
กัณฑ์นี้ชื่อปาราชิกกัณฑ์ ตั้งสังฆาทิเสส 13 ไว้ว่า เตรสกณฺฑํ ตั้งสิกขา
บท 2 ไว้ว่า อนิยต ตั้งสิกขาบท 30 ไว้ว่า นิสสัคคียปาจิตตีย์ ตั้ง
สิกขาบท 92 ไว้ว่า ปาจิตตีย์ ตั้งสิกขาบท 4 ไว้ว่า ปาฏิเทสนียะ
ตั้งสิกขาบท 75 ไว้ว่า เสขิยะ ตั้งธรรม 7 ประการไว้ว่า อธิกรณสมถะ
ระบุสิกขาบท 227 ว่า คัมภีร์มหาวิภังค์ ตั้งไว้ด้วยประการฉะนี้. แม้
ในเวลาเสร็จการสังคายนาคัมภีร์มหาวิภังค์ แผ่นดินใหญ่ก็ได้ไหวโดยนัย
ก่อนเหมือนกัน.
ต่อจากนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย ได้ตั้งสิกขาบท 8
ในภิกขุนีวิภังค์ไว้ว่า กัณฑ์นี้ชื่อปาราชิกภัณฑ์ ตั้งสังฆาทิเสส 17
สิกขาบทไว้ว่า นี้สัตตรสกัณฑ์ ตั้งนิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 สิกขาบทนี้
ไว้ว่า นี้นิสสัคคียปาจิตตีย์ ตั้งปาจิตตีย์ 166 สิกขาบทไว้ว่า นี้ปาจิตตีย์
ตั้งปาฏิเทสนียะ 8 สิกขาบทไว้ว่า นี้ปาฏิเทสนียะ ตั้งเสขิยะ 75 สิกขาบท
ไว้ว่า นี้เสขิยะ ตั้งธรรม 7 ประการไว้ว่า นี้อธิกรณสมถะ ระบุ

สิกขาบท 304 ว่า ภิกขุนีวิภังค์ อย่างนี้แล้ว ตั้งไว้ว่า วิภังค์นี้ชื่อ
อุภโตวิภังค์ มี 64 ภาณวาร. แม้ในเวลาเสร็จการสังคายนาคัมภีร์
อุภโตวิภังค์ แผ่นดินใหญ่ก็ได้ไหวโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน.
โดยอุบายวิธีนี้แหละ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย ยกคัมภีร์
ขันธกะ (มหาวรรคและจุลวรรค ) ซึ่งมีประมาณ 80 ภาณวาร และ
คัมภีร์บริวารซึ่งมีประมาณ 25 ภาณวาร ขึ้นสู่สังคายนาแล้วตั้งไว้ว่า
ปิฎกนี้ชื่อวินัยปิฎก. แม้ในเวลาเสร็จการสังคายนาวินัยปิฎก แผ่นดินได้
ไหวตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้มอบ
ท่านพระอุบาลีให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน ในเวลาเสร็จการสังคายนา
วินัยปิฎก พระอุบาลีเถระ วางพัดงาลงจากธรรมาสน์ นมัสการภิกษุ
ชั้นเถระทั้งหลายแล้วนั่งบนอาสนะที่ถึงแก่ตน.
ครั้นสังคายนาพระวินัยเสร็จแล้ว ท่านพระมหากัสสปะประสงค์
จะสังคายนาพระธรรมต่อไป จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า เราทั้งหลายผู้จะ
สังคายนาพระธรรม (สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก) จะจัดให้ใครรับ
เป็นธุระสังคายนาพระธรรม ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ให้ท่านพระอานนท-
เถระ
รับเป็นธุระ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะได้เผดียงว่า ดูก่อน
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอสงฆ์จงพึงข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์
ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะขอถามพระธรรมกะพระอานนท์. ครั้งนั้นแล ท่าน
พระอานนท์ได้เผดียงว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะ
ถามพระธรรมแล้ว จะตอบ. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ
ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นมัสการภิกษุชั้นพระเถระทั้งหลายแล้วนั่งบน

ธรรมาสน์จับพัดงา. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราทั้งหลายจะสังคายนาปิฎกไหนก่อน ? ภิกษุ
ทั้งหลายกล่าวว่า สังคายนาสุตตันปิฎกก่อน พระมหากัลสปะถามว่า
ในสุตตันตปิฎกมีสังคีติ 4 ประการ (คือ ทีฆสังคีติ การสังคายนาทีฆนิกาย
มัชฌิมสังคีติ การสังคายนามัชฌิมนิกาย สังยุตตสังคีติ การสังคายนา-
สังยุตตนิกาย อังคุตตรสังคีติ การสังคายนาอังคุตตรนิกาย ส่วนขุททก-
นิกาย มีวินัยปิฎกรวมอยู่ด้วย จึงไม่นับในที่นี้ ) ในสังคีติเหล่านั้น เรา
ทั้งหลายจะสังคายนาสังคีติไหนก่อน ? ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า สังคายนา
ทีฆสังคีติก่อน. พระมหากัสสปะถามว่า ในทีฆสังคีติ มีสูตร 34 สูตร
มีวรรค 3 วรรค ในวรรคเหล่านั้น เราทั้งหลายจะสังคายนาวรรคไหน
ก่อน ? ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า สังคายนาสีลขันธวรรคก่อน. พระมหา-
กัสสปะ
ถามว่า ในสีลขันธวรรค มีสูตร 13 สูตร ในสูตรเหล่านั้น เรา
ทั้งหลายจะสังคายนาสูตรไหนก่อน ? ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ขึ้นชื่อว่าพรหมชาลสูตรประดับด้วยศีล 3 ประเภท เป็นสูตรกำจัดโทษ
มีการหลอกลวง และการพูดประจบประแจงซึ่งเป็นมิจฉาชีพหลายอย่าง
เป็นต้น เป็นสูตรปลดเปลื้องข่ายคือ ทิฏฐิ 62 ทำหมื่นโลกธาตุให้ไหว
เราทั้งหลายจงสังคายนาพรหมชาลสูตรนั้นก่อน.
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะได้กล่าวถามคำนี้กะท่านพระ
อานนท์
ว่า ดูก่อนอาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพรหมชาลสูตร
ที่ไหน ? พระอานนท์ตอบว่า ตรัส ณ พระตำหนักในพระราชอุทยาน
อัมพลัฏฐิกา
ระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทา. พระมหากัสสปะ
ถามว่า ทรงปรารภใคร ? พระอานนท์ตอบว่า ทรงปรารภสุปปิยปริ-

พาชกกับพรหมทัตมาณพ. พระมหากัสสปะถามว่า เรื่องอะไร ?
พระอานนท์ตอบว่า เรื่องชมและติ. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะ
ถามทั้งนิทาน ถามทั้งบุคคล แห่งพรหมชาลสูตรกะท่านพระอานนท์
ท่านพระอานนท์ก็ได้ตอบแล้ว. เมื่อตอบเสร็จแล้ว พระอรหันต์ 500
องค์ไค้ทำคณสาธยาย. และแผ่นดินได้ไหวตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
ครั้นสังคายนาพรหมชาลสูตรอย่างนี้แล้ว ต่อจากนั้น พระธรรม
สังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาสูตร 13 สูตร ทั้งหมดรวมทั้งพรหม-
ชาลสูตร ตามลำดับแห่งปุจฉาและวิสัชนา โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อน
อาวุโสอานนท์ วรรคนี้ชื่อสีลขันธวรรค. พระธรรมสังคาหกเถระ
ทั้งหลาย สังคายนาบาลีประมาณ 64 ภาณวาร ประดับด้วยสูตร 64 สูตร
จัดเป็น 3 วรรค อย่างนี้ คือ มหาวรรคต่อจากสีลขันธวรรคนั้น ปาฏิก-
วรรคต่อจากมหาวรรคนั้น แล้วกล่าวว่า นิกายนี้ชื่อทีฆนิกาย แล้วมอบ
ท่านพระอานนท์ ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน. ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์
ทีฆนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนามัชฌิมนิกาย
ประมาณ 80 ภาณวาร แล้วมอบกะนิสิตของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร-
เถระ
ว่า ท่านทั้งหลาย จงบริหารคัมภีร์มัชฌิมนิกายนี้ . ต่อจากการ
สังคายนาคัมภีร์มัชฌิมนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้
สังคายนาสังยุตตนิกายประมาณ 100 ภาณวาร แล้วมอบกะพระมหา-
กัสสปเถระ
ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์
สังยุตตนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาอังคุตตร-
นิกายประมาณ 120 ภาณวาร แล้วมอบกะพระอนุรุทธเถระ ให้ไปสอน
ลูกศิษย์ของท่านว่า

คัมภีร์ธรรมสังคณี คัมภีร์วิภังค์ คัมภีร์
กถาวัตถุ คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ คัมภีร์
ธาตุกถา คัมภีร์ยมก คัมภีร์ปัฏฐาน ท่าน
เรียกว่า พระอภิธรรม.

ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์อังคุตตรนิกายนั้น พระธรรมสังคาหก-
เถระทั้งหลาย ได้สังคายนาบาลีพระอภิธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของญาณ
อันสุขุม อันบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้วอย่างนี้ แล้วกล่าวว่า ปิฎกนี้
ชื่อ อภิธรรมปิฎก พระอรหันต์ 500 องค์ได้ทำคณสาธยาย แผ่นดินได้
ไหวตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล. ต่อจากการยังคายนาอภิธรรมปิฎกนั้น
พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระบาลี คือ ชาดก นิทเทส
ปฏิสัมภิทามรรค อปทาน สุตตนิบาต ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน
อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา พระทีฆภาณ-
กาจารย์กล่าวว่า ประชุมคัมภีร์นี้ชื่อว่า ขุททกคันถะ และกล่าวว่า
พระธรรมสังคาหกเถระ ยกสังคายนาในอภิธรรมปิฎกเหมือนกัน. ส่วน
พระมัชฌิมภาณกาจารย์กล่าวว่า ขุททกคันถะทั้งหมดนี้กับจริยาปิฎกและ
พุทธวงศ์ นับเนื่องในสุตตันตปิฎก.
พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบว่ามี 1 คือ รส มี 2 คือ
ธรรมและวินัย มี 3 คือ ปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ และปัจฉิมพจน์ มี 3
ด้วยอำนาจแห่งปิฎก มี 5 ด้วยอำนาจแห่งนิกาย มี 9 ด้วยอำนาจแห่งองค์
มี 84,000 ด้วยอำนาจธรรมขันธ์ ด้วยประการฉะนี้.
พระพุทธพจน์ มี 1 คือ รส นับอย่างไร ? จริงอยู่ คำใดที่
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมแล้ว

ทรงสั่งสอนเทวดา มนุษย์ นาค และยักษ์เป็นต้นก็ดี ทรงพิจารณา
อยู่ก็ดี ตลอดเวลา 45 ปี ในระหว่างนี้จนตราบเท่าเสด็จปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตรัสไว้ คำทั้งหมดนั้นมีรสเดียว คือวิมุตติรส
นั่นแล พระพุทธพจน์ มี 1 คือ รส นับอย่างนี้.
พระพุทธพจน์ มี 2 คือธรรมและวินัย นับอย่างไร ? จริงอยู่
พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้ ย่อมนับว่าธรรมและวินัย ในธรรมและวินัยนั้น
วินัยปิฎก ชื่อว่าวินัย พระพุทธพจน์ที่เหลือ ชื่อว่าธรรม. เพราะ-
เหตุนั้นแล พระมหากัสสปะจึงกล่าวว่า อย่ากระนั้นเลย เราทั้งหลาย
พึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย และกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะถาม
วินัยกะพระอุบาลี จะถามธรรมกะพระอานนท์ พระพุทธพจน์มี 2 คือ
ธรรมและวินัย นับอย่างนี้.
พระพุทธพจน์มี 3 คือปฐมพจน์ มัชฌิมพจน์ และปัจฉิมพจน์
นับอย่างไร ? จริงอยู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้มี 3 ประเภท คือ
ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ ปัจฉิมพุทธพจน์. ใน 3 ประเภทนี้
ปฐมพุทธพจน์ได้แก่พุทธพจน์นี้ คือ
อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยว
ไปแล้ว สิ้นสงสารนับด้วยชาติมิใช่น้อย ความเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

ดูก่อนช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เราพบท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนคือ
อัตภาพของเราอีกไม่ได้ โครงบ้านของท่านทั้งหมด เราทำลายแล้ว
ยอดแห่งเรือนคืออวิชชา เรารื้อแล้ว จิตของเราถึงพระนิพพานแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว.

อาจารย์บางพวกกล่าวอุทานคาถาในคัมภีร์ขันธกะ มีคำว่า ยทา หเว
ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ ดังนี้ เป็นต้น
ว่าเป็นปฐมพุทธพจน์ ก็อุทานคาถานี้ พึงทราบว่า เป็นอุทานคาถาที่บังเกิด
แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงพิจารณาซึ่ง
ปัจจยาการ ด้วยพระญาณที่สำเร็จด้วยโสมนัสเวทนาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 6
ก็คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในเวลาใกล้เสด็จปรินิพพานว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม
ไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังสัมมาปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยความ
ไม่ประมาท
ดังนี้ เป็นปัจฉิมพุทธพจน์. คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
ระหว่างปฐมพจน์และปัจฉิมพจน์ ชื่อมัชฌิมพจน์. พุทธพจน์ 3 ประเภท
คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ และปัจฉิมพุทธพจน์ นับอย่างนี้
พุทธพจน์มี 3 ด้วยอำนาจแห่งปิฎก นับอย่างไร ? จริงอยู่ พระ
พุทธพจน์ทั้งหมดนี้มี 3 ประเภท คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรม-
ปิฎก. ใน 3 ปิฎกนั้น พระพุทธพจน์นี้ คือ ปาติโมกข์ทั้ง 2 วิภังค์
ขันธกะ 82 ปริวาร 16 ชื่อวินัยปิฎก เพราะรวมพระพุทธพจน์ทั้งหมด
ที่สังคายนาในครั้งปฐมสังคายนา และที่สังคายนาต่อมา. พระพุทธพจน์
ที่ชื่อว่าสุตตันตปิฎก ได้แก่พระพุทธพจน์ต่อไปนี้คือ ทีฆนิกาย มี
จำนวน 34 สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น มัชฌิมนิกาย มีจำนวน 152

สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น สังยุตตนิกาย มีจำนวน 7,762 สูตร
มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น อังคุตตรนิกาย มีจำนวน 9,550 สูตร มีจิตต-
ปริยาทานสูตรเป็นต้น ขุททกนิกายมี 15 ประเภท คือขุททกปาฐะ
ธรรมบท อุทาน อิติวุตตก สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ
เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน พุทธวงศ์

และจริยาปิฎก. พระพุทธพจน์ที่ชื่อว่าอภิธรรมปิฎก ได้แก่พระพุทธพจน์
ต่อไปนี้ คือ ธรรมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา บุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ
ยมก ปัฏฐาน.
ใน 3 ปิฎกนี้
( อรรถาธิบายคำว่าวินัย )
วินัยศัพท์นี้ บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งวินัยศัพท์
แปลความหมายว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ
เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะควบคุมกาย
และวาจา.

ก็ในวินัยปิฎกนี้ มีนัยต่างๆ คือ มีปาติโมกขุทเทส 5 อาบัติ 7 กอง
มีปาราชิกเป็นต้น มาติกาและวิภังค์เป็นต้นเป็นประเภท ส่วนนัยอนุบัญญัติ
เป็นนัยพิเศษ มีผลทำให้พระพุทธบัญญัติเดิมตึงขึ้น และหย่อนลง และ
วินัยนี้ ย่อมควบคุมกายและวาจา เพราะห้ามการประพฤติล่วงทางกาย
และทางวาจา เพราะฉะนั้น ท่านจึงแปลความหมายว่า วินัย เพราะมี
นัยต่าง ๆ เพราะมีนัยพิเศษและเพราะควบคุมกายและวาจา เพราะเหตุนั้น
เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในเนื้อความของคำของวินัยนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า

วินัยศัพท์นี้ บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งวินัยศัพท์
แปลความหมายว่า วินัย เพราะมีนัยต่าง ๆ
เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะควบคุมกาย
และวาจา.
( อรรถาธิบายคำว่าสูตร )
ส่วนสุตตศัพท์นอกนี้ ท่านแปลความหมาย
ว่าสูตร เพราะเปิดเผยซึ่งประโยชน์ทั้งหลาย
เพราะกล่าวประโยชน์ไว้เหมาะสม เพราะ
เผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์
เพราะป้องกันอย่างดี และเพราะมีส่วน
เสมอด้วยสายบรรทัด.

ก็พระสูตรนั้นย่อมส่องถึงประโยชน์ทั้งหลายอันต่างด้วยประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่นเป็นต้น. อนึ่ง ประโยชน์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสไว้ดีแล้ว ในปิฎกนี้ เพราะตรัสอนุโลมตามอัธยาศัยของเวไนย. อนึ่ง
สุตตันตปิฎกนี้ ย่อมเผล็ดประโยชน์ทั้งหลาย อธิบายว่า เผล็ดผลเหมือน
ข้าวกล้าเผล็ดผลฉะนั้น. พระสูตรนี้ย่อมหลั่งประโยชน์ทั้งหลาย อธิบายว่า
เหมือนโคนมหลั่งน้ำนมฉะนั้น. อนึ่ง พระสูตรนี้ ย่อมป้องกัน อธิบายว่า
ย่อมรักษาประโยชน์เหล่านั้นอย่างดี. อนึ่ง พระสูตรนี้มีส่วนเสมอด้วยสาย
บรรทัด เหมือนอย่างว่าสายบรรทัดเป็นเครื่องกำหนดของช่างไม้ทั้งหลาย
ฉันใด แม้พระสูตรนี้ก็เป็นเครื่องกำหนดของวิญญูชนทั้งหลายฉันนั้น
เหมือนอย่างว่าดอกไม้ทั้งหลายที่คุมไว้ด้วยด้าย ย่อมไม่เรี่ยราย ย่อมไม่

กระจัดกระจายด้วยลมฉันใด ประโยชน์ทั้งหลายที่รวบรวมไว้ด้วยพระสูตร
นี้ก็ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในเนื้อความแห่งคำ ของ
สูตรนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า
สุตตศัพท์นี้ ท่านแปลความหมายว่าสูตร
เพราะส่องถึงประโยชน์ทั้งหลาย เพราะ
กล่าวประโยชน์ไว้เหมาะสม เพราะเผล็ด
ประโยชน์ เพราะหลังประโยชน์ เพราะ
ป้องกันอย่างดี เพราะมีส่วนเสมอด้วยสาย
บรรทัด.
( อรรถาธิบายคำว่าอภิธรรม )
ก็ธรรมนอกนี้ ท่านเรียกอภิธรรม เพราะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอภิธรรมนี้ว่า
เป็นธรรมที่มีความเจริญ ที่กำหนดเป็น
มาตรฐาน ที่บุคคลบูชาแล้ว ที่ตัดขาด
และเป็นธรรมอันยิ่ง.

อภิศัพท์นี้ย่อมปรากฏในความว่าเจริญ ความว่าอันบัณฑิตกำหนด
เป็นมาตรฐาน ความว่าอันบุคคลบูชาแล้ว ความว่าตัดขาด และความว่า
เป็นธรรมอันยิ่ง มีประโยคตัวอย่างดังต่อไปนี้
อภิศัพท์มาในอรรถว่าเจริญ ในประโยคมีอาทิว่า พาฬฺหา เม
อาวุโส
ดูก่อนอาวุโส ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ย่อมเจริญ กำเริบแก่
ข้าพเจ้า ย่อมไม่ถอยลงเลย. อภิศัพท์มาในอรรถว่า อันบัณฑิตกำหนด

เป็นมาตรฐาน ในประโยคมีอาทิว่า ยา ตา รตฺติโย อภิญฺญาตา
อภิลกฺขิตา
ราตรีนั้นใด (วันจาตุททสี วันปัณณรสี วันอัฏฐมี) อัน
บัณฑิตกำหนดรู้แล้ว (ด้วยความเต็มดวงของดวงจันทร์ และด้วยความ
หมดดวงของดวงจันทร์) อันบัณฑิตกำหนดเป็นมาตรฐานไว้แล้ว (เพื่อ
สมาทานอุโบสถ เพื่อฟังธรรม และเพื่อทำสักการบูชาเป็นต้น). อภิศัพท์
มาในอรรถว่า อันบุคคลบูชาแล้ว ในประโยคมีอาทิว่า ราชาภิราชา
มนุชินฺโท
ขอพระองค์จงทรงเป็นพระราชาอันพระราชาบูชาแล้ว จงเป็น
จอมคน. อภิศัพท์มาในอรรถว่า ตัดขาด ในประโยคมีอาทิว่า ปฏิพโล
วิเนตุํ อภิธมฺเม อภิวินเย
เป็นผู้สามารถแนะนำในอภิธรรม ในอภิวินัย.
อธิบายว่า อญฺญฺมญฺญสงฺกรวิรหิเต ธมฺเม จ วินเย จ ในพระธรรม
และในพระวินัย ซึ่งเว้น จากการปะปนกันและกัน. อภิศัพท์มาในอรรถ
ว่า ยิ่ง ในประโยคมีอาทิว่า อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน มีผิวพรรณงามยิ่ง.
อนึ่ง แม้ธรรมทั้งหลายที่มีความเจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
พระอภิธรรมนี้ โดยนัยมีอาทิว่า รูปุปฺปตฺติยา มคฺคํ ภาเวติ เมตฺตา-
สหคเตน เจตสา เอกํ ทิสํ ผริตฺวา วิหรติ
ภิกษุเจริญมรรคเพื่อ
เข้าถึงรูปภพนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่. แม้ธรรม
ทั้งหลายที่บัณฑิตกำหนดเป็นมาตรฐาน เพราะความเป็นสภาพที่ควร
กำหนดด้วยอารมณ์เป็นต้น ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า รูปารมฺมณํ วา
สทฺทารมฺมณํ วา
มีรูปเป็นอารมณ์ มีเสียงเป็นอารมณ์. แม้ธรรมทั้งหลาย
อันท่านบูชาแล้ว ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เสกฺขา ธมฺมา อเสกฺขา
ธมฺมา โลกุตฺตรา ธมฺมา เสกขธรรม อเสกขธรรม โลกุตตรธรรม.

แม้ธรรมทั้งหลายที่ตัดขาดแล้ว เพราะความเป็นของที่ตัดขาดแล้วตาม

สภาวะ. ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า ผสฺโส โหติ เวทนา โหติ
ผัสสะมี เวทนามี
แม้ธรรมทั้งหลายอันยิ่ง ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า
มหคฺคตา ธมฺมา อปฺปมาณา ธมฺมา อนุตฺตรา ธมฺมา มหัคคตธรรม
อัปปมาณธรรม อนุตตรธรรม
เพราะเหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาด
ในเนื้อความของคำ ของอภิธรรมนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า
ก็ธรรมนอกนี้ท่านเรียกว่าอภิธรรม เพราะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอภิธรรมนี้ว่า
เป็นธรรมที่มีความเจริญ ที่กำหนดเป็น
มาตรฐาน ที่บุคคลบูชาแล้ว ที่ตัดขาด และ
เป็นธรรมยิ่ง.

ก็ในปิฎกทั้งหลายมีวินัยปิฎกเป็นต้นนี้ ปิฎกใดยังเหลืออยู่
ผู้รู้เนื้อความของปิฎกเรียกปิฎกนั้นว่า ปิฎก
โดยเนื้อความว่าปริยัติและภาชนะ พึงทราบ
ว่ามี 3 มีวินัยเป็นต้น เพราะรวมเข้ากับ
ปิฎกศัพท์นั้น

จริงอยู่ แม้ปริยัติท่านก็เรียกว่า ปิฎก ในประโยคมีอาทิว่า อย่าถือ
โดยอ้างปิฎก. แม้ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปิฎก ในประโยค
มีอาทิว่า ครั้งนั้น บุรุษพึงถือจอบและตะกร้าเดินมา. เพราะเหตุนั้น
บัณฑิตผู้รู้เนื้อความของปิฎกศัพท์ จึงเรียกปิฎกศัพท์ว่า ปิฎก โดยเนื้อ
ความว่าปริยัติและภาชนะ.

บัดนี้พึงทราบว่า มี 3 มีวินัยเป็นต้น เพราะรวมเข้ากับปิฎกศัพท์
นั้น พึงทราบว่ามี 3 มีวินัยเป็นต้นเหล่านี้อย่างนี้ว่า เพราะทำสมาสกับ
ปิฎกศัพท์ ซึ่งมีเนื้อความ 2 อย่างนั้น อย่างนี้ คือวินัยด้วย วินัยนั้นเป็น
ปิฎกด้วย เพราะเป็นปริยัติ และเพราะเป็นภาชนะแห่งเนื้อความนั้น ๆ
เพราะฉะนั้น จึงชื่อวินัยปิฎก โดยนัยตามที่กล่าวแล้ว พระสูตรด้วย พระสูตร
นั้นเป็นปิฎกด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสุตตันตปิฎก อภิธรรมด้วย อภิธรรม
นั้นเป็นปิฎกด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอภิธรรมปิฎก
ก็ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในประการต่าง ๆ ใน
ปิฎกทั้ง 3 เหล่านั้นอีกครั้ง
พึงแสดงประเภทของเทศนา ประเภทของ
ศาสนา ประเภทของกถา และลิกขา
ปหานะ คัมภีรภาพตามสมควรในปิฎก
เหล่านั้น ภิกษุย่อมถึงซึ่งประเภทแห่งการ
เล่าเรียนใด ซึงสมบัติใด แม้ซึ่งวิบัติใด
ในปิฎกใด ด้วยอาการใด พึงแสดงซึ่ง
ประเภทแห่งการเล่าเรียนทั้งหมดแม้นั้น
ด้วยอาการนั้น.

ในคาถาเหล่านั้น มีคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งและชัดเจน ดังต่อไปนี้
จริงอยู่ ปิฎก 3 เหล่านั้น ท่านเรียกตามลำดับว่า อาณาเทศนา โวหาร-
เทศนา ปรมัตถเทศนา ยถาปราธศาสนา ยถานุโลมศาสนา ยถาธรรม-
ศาสนา และสังวราสังวรกถา ทิฏฐิวินิเวฐนกถา นามรูปปริจเฉทกถา.

ก็ในปิฎก 3 นี้ วินัยปิฎก ท่านเรียกว่า อาณาเทศนา การเทศนา
โดยอำนาจบังคับบัญชา เพราะเป็นปิฎกทีพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรออก
คำสั่ง ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยคำสั่ง. สุตตันตปิฎก
ท่านเรียกว่า โวหารเทศนา การเทศนาโดยบัญญัติ เพราะเป็นปิฎกที่
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงฉลาดในเชิงสอน ทรงแสดงแล้วโดยความเป็น
เทศนาที่มากไปด้วยคำสอน. อภิธรรมปิฎก ท่านเรียกว่า ปรมัตถเทศนา
การเทศนาโดยปรมัตถ์ เพราะเป็นปิฎกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดใน
ปรมัตถ์ ทรงแสดงแล้วโดยความเป็นเทศนาที่มากไปด้วยปรมัตถ์.
อนึ่ง ปิฎกที่ 1 (วินัยปิฎก ) ท่านเรียกว่า ยถาปราธศาสนา การ
สั่งสอนตามความผิด เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีความผิด
มากมายเหล่านั้นใด สัตว์เหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งตาม
ความผิดในปิฎกนี้. ปิฎกที่ 2 ( สุตตันตปิฎก) ที่ท่านเรียกว่า ยถานุโลม-
ศาสนา การสั่งสอนอนุโลมตามอัธยาศัย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยอนุสัยและจริยาวิมุตติ มิใช่น้อย อันพระผู้มีพระ
ภาคเจ้า
ทรงสั่งสอนแล้วในปิฎกนี้ตามอนุโลม. ปิฎกที่ 3 (อภิธรรมปิฎก)
ท่านเรียกว่า ยถาธรรมศาสนา การสั่งสอนตามปรมัตถธรรม เพราะ
อรรถวิเคราะห์ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญในสภาวะสักว่ากองแห่ง
ปรมัตถธรรมว่า นี่เรา นั่นของเรา ดังนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
สั่งสอนแล้ว ตานปรมัตถธรรมในปิฎกนี้.
อนึ่ง ปิฎกที่ 1 ท่านเรียกว่า สังวราสังวรกถา ด้วยอรรถว่า
สังวราสังวระอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการฝ่าฝืน อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
แล้วในปิฎกนี้. บทว่า สํวราสํวโร ได้แก่ สังวรเล็กและสังวรใหญ่

เหมือนกัมมากัมมะ การงานน้อยและการงานใหญ่ และเหมือนผลาผละ
ผลไม้น้อยและผลไม้ใหญ่. ปิฎกที่ 2 ท่านเรียกว่า ทิฏฐิวินิเวฐนกถา
คำบรรยายคลายทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า การคลายทิฏฐิอันเป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิ
62 อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในปิฎกนี้. ปิฎกที่ 3 ท่านเรียกว่า
นามรูปปริจเฉทกถา คำบรรยายการกำหนดนามและรูป ด้วยอรรถว่า
การกำหนดนามและรูปอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีราคะเป็นต้น อันพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสแล้วในปิฎกนี้.
อนึ่ง พึงทราบสิกขา 3 ปหานะ 3 และคัมภีรภาวะ 4 อย่าง ใน
ปิฎกทั้ง 3 เหล่านี้ ดังต่อไปนี้. จริงอย่างนั้น อธิสีลสิกขา พระผู้มี
พระภาคเจ้า
ตรัสไว้โดยเฉพาะในวินัยปิฎก อธิจิตตสิกขา ตรัสไว้โดย
เฉพาะในสุตตันตปิฎก อธิปัญญาสิกขา ตรัสไว้โดยเฉพาะในอภิธรรมปิฎก.
อนึ่ง การละกิเลสอย่างหยาบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในวินัย
ปิฎก เพราะศีลเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสอย่างหยาบ. การละกิเลสอย่างกลาง
ตรัสไว้ในสุตตันตปิฎก เพราะสมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสอย่างกลาง. การ
ละกิเลสอย่างละเอียด ตรัสไว้ในอภิธรรมปิฎก เพราะปัญญาเป็นปฏิปักษ์
ต่อกิเลสอย่างละเอียด. อนึ่ง การละกิเลสชั่วคราว ตรัสไว้ในปิฎกที่ 1
การละกิเลสด้วยข่มไว้ และการละกิเลสเด็ดขาด ตรัสไว้ในปิฎกทั้ง 2
นอกนี้. การละสังกิเลสคือทุจริต ตรัสไว้ในปิฎกที่ 1 การละสังกิเลสคือ
ตัณหา และทิฏฐิ ตรัสไว้ในปิฎกทั้ง 2 นอกนี้.
ในปิฎก 3 นี้ พึงทราบว่า แต่ละปิฎกมีคัมภีรภาวะ ทั้ง 4 คือ
ความลึกซึ้งโดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนา และโดยปฏิเวธ. ในคัมภีร์-
ภาวะทั้ง 4 นั้น ธรรมได้แก่บาลี อรรถได้แก่เนื้อความของบาลีนั้น แหละ

เทศนาได้แก่การแสดงซึ่งบาลีนั้น อันกำหนดไว้อย่างดีด้วยใจ ปฏิเวธ
ได้แก่ความหยั่งรู้บาลี และเนื้อความของบาลีตามความเป็นจริง ก็เพราะ
ธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธเหล่านี้ ในปิฎกทั้ง 3 นี้ ผู้มีปัญญา
น้อยทั้งหลาย หยั่งรู้ได้ยาก และเป็นที่พึ่งไม่ได้ เหมือนมหาสมุทร สัตว์
เล็กทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้น พึ่งไม่ได้ฉะนั้น จึงเป็นของลึกซึ้ง.
ในปิฎก 3 นี้ พึงทราบคัมภีรภาวะทั้ง 4 อย่าง ในแต่ล่ะปิฎกด้วยประการ
ฉะนี้.
อีกนัยหนึ่ง ธรรมได้แก่เหตุ ข้อนี้สมด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า
ญาณในเหตุ ชื่อธรรมปฏิสัมภิทา. อรรถได้แก่ผลแห่งเหตุ ข้อนี้สมด้วย
พระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ญาณในผลแห่งเหตุ ชื่ออรรถปฏิสัมภิทา
เทศนาได้แก่บัญญัติ อธิบายว่า การแสดงธรรมตามสภาวธรรม อีกอย่าง
หนึ่ง การแสดงด้วยอำนาจอนุโลมและปฏิโลม สังเขปและพิสดารเป็นต้น
เรียกว่า เทศนา. ปฏิเวธได้แก่การตรัสรู้ และปฏิเวธนั้น เป็นได้ทั้ง
โลกิยะ ทั้งโลกุตตระ ได้แก่ความรู้จริงไม่เปลี่ยนแปลง ในเหตุทั้งหลาย
สมควรแก่ผล ในผลทั้งหลายสมควรแก่เหตุ ในบัญญัติทั้งหลายสมควร
แก่ทางแห่งบัญญัติ โดยอารมณ์ และโดยความไม่หลง สภาวะแห่งธรรม
ทั้งหลายนั้น ๆ ที่กล่าวแล้วในปิฎกนั้น ๆ ไม่วิปริต กล่าวคือบัณฑิตกำหนด
เป็นมาตรฐาน ควรแทงตลอด.
สภาวธรรมที่มีเหตุใด ๆ ก็ดี สภาวธรรมที่มีผลใด ๆ ก็ดี เนื้อความ
ที่ควรให้รู้ด้วยประการใด ๆ ย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งญาณของผู้ฟัง
ทั้งหลาย เทศนานี้ใด ที่ส่องเนื้อความนั้นให้กระจ่างด้วยประการนั้น ๆ
ก็ดี ปฏิเวธใดกล่าวคือความรู้จริงไม่วิปริตในปิฎก 3 นี้ อย่างหนึ่ง สภาวะ

แห่งธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ที่ไม่วิปริต กล่าวคือ ที่บัณฑิตกำหนดเป็น
มาตรฐาน ควรแทงตลอด คุณชาตนี้ทั้งหมด ผู้มีปัญญาทรามทั้ง
หลาย ซึ่งมิได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ หยั่งรู้ได้ยาก และพึ่งไม่ได้ เหมือน
มหาสมุทร สัตว์เล็กทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้น พึ่งไม่ได้ เพราะเหตุนั้น
สภาวธรรมที่มีเหตุหรือสภาวธรรมที่มีผลนั้น ๆ จึงลึกซึ้ง คัมภีรภาวะทั้ง 4
อย่าง ในปิฎก 3 นี้ แต่ละปิฎก ผู้ศึกษาพึงทราบในบัดนี้ แม้ด้วยประการ
ฉะนี้. ก็คาถานี้ว่า
พึงแสดงประเภทของเทศนา ประเภทของศาสนา
ประเภทของกถา และสิกขา ปหานะ คัมภีรภาพ
ตามสมควรในปิฎกเหล่านั้น ดังนี้

เป็นคาถามีเนื้อความอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
ส่วนประเภทแห่งการเล่าเรียน 3 อย่าง ในปิฎก 3 ในคาถานี้ว่า
ภิกษุย่อมถึงซึ่งประเภทแห่งปริยัติใด ซึ่งสมบัติใด
แม้ซึ่งวิบัติใด ในปิฎกใด ด้วยอาการใด พึงแสดง
ซึ่งประเภทแห่งปริยัติทั้งหมดแม้นั้น ด้วยอาการ
นั้น ดังนี้ พึงทราบต่อไป.

จริงอยู่ การเล่าเรียนมี 3 อย่าง คือ อลคัททูปมาปริยัติ การเล่าเรียน
เหมือนจับงูข้างหาง นิสสรณัตถปริยัติ การเล่าเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อ
ออกไป ภัณฑาคาริกปริยัติ การเล่าเรียนของพระอรหันต์เปรียบด้วยขุนคลัง.
ในปริยัติ 3 ประเภทนั้น ปริยัติใด ที่บุคคลเรียนผิดทาง คือเรียน
เพราะเหตุมีติเตียนผู้อื่นเป็นต้น ปริยัตินี้ ชื่อ อลคัททูปมา ซึ่งพระผู้มี

พระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการงู
แสวงหางู เที่ยวค้นหางู เขาพึงพบงูใหญ่ พึงจับขนด หรือจับทางงูนั่นนั้น
งูนั้นพึงเลี้ยวกลับมากัดมือหรือแขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ที่ใดที่หนึ่งของ
บุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือทุกข์ปางตาย เพราะการถูกงูกัดนั้นเป็นเหตุ
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นเพราะเขาจับงู
ผิดวิธี ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในศาสนานี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ ฯ ล ฯ เวทัลละ โมฆบุรุษ
เหล่านั้นครั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ไม่พิจารณาเนื้อความของธรรมเหล่า
นั้นด้วยปัญญา เมื่อโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่พิจารณาเนื้อความด้วยปัญญา ธรรม
เหล่านั้นย่อมไม่ทนต่อการเพ่งพินิจ โมฆบุรุษเหล่านั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ติเตียนผู้อื่น และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลื้องตนจากการกล่าวร้ายนั้น ๆ จึง
เล่าเรียนธรรม โมฆบุรุษเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์แห่ง
ธรรมใด ย่อมไม่ได้ประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น ที่โมฆบุรุษ
เหล่านั้นเรียนผิดทาง ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรายอันไม่เกื้อกูล เพื่อความ
ทุกข์ตลอดกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข้อนั้นเป็นเพราะธรรมทั้งหลายอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนผิดทาง ดังนี้.
ส่วนปริยัติใด ที่บุคคลเรียนถูกทาง คือหวังความบริบูรณ์แห่งคุณ
มีสีลขันธ์เป็นต้นเท่านั้น เรียนแล้ว มิได้เรียนเพราะเหตุมีการติเตียนผู้อื่น
เป็นต้น นี้ชื่อ นิสสรณัตถปริยัติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมาย
ตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านั้นที่บุคคลเหล่านั้นเรียนถูกทาง ย่อมเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมทั้งหลายบุคคลเหล่านั้นเรียนถูกทาง.

ส่วนพระอรหันต์ผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว มีกิเลสอันละได้แล้ว
มีมรรคอันอบรมแล้ว มีพระอรหัตตผลอันแทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันทำให้
แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใด เพื่อต้องการรักษาประเพณี เพื่อต้องการ
อนุรักษ์พุทธวงศ์โดยเฉพาะ นี้ชื่อ ภัณฑาคาริกปริยัติ.
อนึ่ง ภิกษุปฏิบัติดีในพระวินัย อาศัยสีลสัมปทา ย่อมบรรลุวิชชา 3
เพราะท่านกล่าวประเภทแห่งวิชชา 3 เหล่านั้น ไว้ในพระวินัยนั้น. ภิกษุ
ปฏิบัติดีในพระสูตร อาศัยสมาธิสัมปทา ย่อมบรรลุอภิญญา 6 เพราะ
ท่านกล่าวประเภทแห่งอภิญญา 6 เหล่านั้นไว้ในพระสูตรนั้น ภิกษุ
ปฏิบัติดีในพระอภิธรรม อาศัยปัญญาสัมปทา ย่อมบรรลุปฏิสัมภิทา 4
เพราะท่านกล่าวประเภทแห่งปฏิสัมภิทา 4 ไว้ในพระอภิธรรมนั้นเหมือน
กัน. ภิกษุปฏิบัติดีในปิฎก 3 เหล่านั้น ย่อมบรรลุสมบัติต่างด้วยวิชชา 3
อภิญญา 6 และปฏิสัมภิทา 4 เป็นต้นนี้ตามลำดับ ด้วยประการฉะนี้.
ส่วนภิกษุปฏิบัติชั่วในพระวินัย ย่อมมีความสำคัญว่า ไม่มีโทษใน
ผัสสะทั้งหลาย มีการถูกต้องสิ่งที่มีวิญญาณครองเป็นต้น ที่ต้องห้าม โดย
มีลักษณะคล้ายคลึงกับการถูกต้องวัตถุมีเครื่องปูลาดและผ้าห่ม อันมี
สัมผัสสบายที่ทรงอนุญาตไว้เป็นต้น. สมด้วยคำที่พระอริฏฐะกล่าวไว้ว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่าเป็นธรรมทำ
อันตราย แก่ธรรมเหล่านั้นไม่อาจเพื่อเป็นอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้เลย
ดังนี้. แต่นั้นภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ทุศีล.
ภิกษุปฏิบัติชั่วในพระสูตร ไม่รู้ความมุ่งหมายในพระบาลีมีอาทิว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 พวกเหล่านี้ มีอยู่ ปรากฏอยู่ ดังนี้ ย่อม
ถือเอาผิด ๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายตรัสไว้ว่า บุคคลย่อม

กล่าวตู่เราทั้งหลายด้วย ย่อมขุดซึ่งตนด้วย ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอัน
มากด้วย ด้วยการที่คนถือผิด ดังนี้. แต่นั้น ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็น
มิจฉาทิฏฐิ.
ภิกษุปฏิบัติชั่วในพระอภิธรรม เมื่อคิดธรรมฟุ้งเกินไป ย่อมคิด
แม้เรื่องที่ไม่ควรคิด แต่นั้นย่อมถึงจิตวิปลาส สมด้วยพุทธภาษิตที่ตรัส
ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคิดอยู่ซึ่งเรื่องไม่ควรคิดทั้งหลายเหล่าใด
พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เสียจริต เรื่องไม่ควรคิดทั้งหลายเหล่านี้
4 ประการ บุคคลไม่ควรคิดเลย ดังนี้.
ภิกษุปฏิบัติชั่วในปิฎก 3 เหล่านี้ ย่อมถึงความวิบัติต่างด้วยความ
เป็นผู้ทุศีล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และจิตวิปลาสนี้ตามลำดับ ด้วยประการ
ฉะนี้. คาถาแม้นี้ว่า
ภิกษุย่อมถึงซึ่งประเภทแห่งปริยัติใด ซึ่งสมบัติใด
แม้ซึ่งวิบัติใด ในปิฎกใด ด้วยอาการใด พึงแสดง
ซึ่งประเภทแห่งปริยัติทั้งหมดแม้นั้น ด้วยอาการนั้น
ดังนี้

เป็นคาถามีเนื้อความอัน ข้าพเจ้ากล่าวแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
ครั้นทราบปิฎกทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ แล้ว ผู้ศึกษาพึงทราบ
พระพุทธพจน์นี้ว่า มี 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปิฎกเหล่านั้น ด้วยประการ
ฉะนี้.
พระพุทธพจน์มี 5 ประเภท ด้วยอำนาจแห่งนิกาย นับอย่างไร ?
ความจริง พระพุทธพจน์ทั้งหมดเลยนั้น มี 5 ประเภท คือ ทีฆนิกาย
มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย. บรรดานิกาย 5

นั้น ทีฆนิกาย คืออะไร ? คือ นิกายที่มีสูตร 34 สูตร มีพรหมชาลสูตร
เป็นต้น จัดเป็น 3 วรรค.
นิกายใด มีสูตร 34 สูตร จัดเป็น 3 วรรค
นิกายที่ 1 นี้ ชื่อทีฆนิกาย มีชื่อว่าอนุโลม
ก็เพราะเหตุไร นิกายที่ 1 นี้ จึงเรียกว่า ทีฆนิกาย ? เพราะเป็น
ที่ประชุมและเป็นที่อยู่ของสูตรทั้งหลายที่มีขนาดยาว. จริงอยู่ หมู่และที่อยู่
ท่านเรียกว่า นิกาย. ก็ในข้อที่นิกายศัพท์หมายถึงหมู่ และที่อยู่นี้
มีอุทาหรณ์เป็นเครื่องสาธกทั้งทางศาสนาและทางโลก มีอาทิอย่างนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นหมู่อื่นแม้หมู่หนึ่ง ซึ่งผิดแผก
แตกต่างกันเหมือนหมู่สัตว์เดียรฉาน และเหมือนที่อยู่ของกษัตริย์โปณิกะ
ที่อยู่ของกษัตริย์จิกขัลลิกะเลย ดังนี้. เนื้อความของคำในความที่นิกาย
ทั้ง 4 ที่เหลือเรียกว่านิกาย บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วอย่างนี้.
มัชฌิมนิกาย คืออะไร ? คือ นิกายที่มีสูตร 152 สูตร มีมูลปริยาย-
สูตรเป็นต้น มีขนาดปานกลาง จัดเป็น 15 วรรค
ในนิกายใด มีสูตร 152 สูตร จัดเป็น 15 วรรค
นิกายนั้น ชื่อมัชฌิมนิกาย.
สังยุตตนิกาย คืออะไร ? คือ นิกายที่มีสูตร 7,762 สูตร มี
โอฆตรณสูตรเป็นต้น ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเทวดาสังยุต เป็นต้น
นิกายที่มีสูตร 7,762 สูตรนี้ จัดเป็นสังยุตตนิกาย
อังคุตตรนิกาย คืออะไร ? คือนิกายที่มีสูตร 9,557 สูตร มีจิตต-
ปริยาทานสูตร เป็นต้น ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการเพิ่มขึ้นส่วนละหนึ่ง ๆ
จำนวนสูตรในอังคุตตรนิกายมีดังนี้คือ 9,557 สูตร

ขุททกนิกาย คืออะไร ? คือวินัยปิฎกทั้งสิ้น อภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น
คัมภีร์ 15 ประเภทมีขุททกปาฐะเป็นต้น และพระพุทธพจน์ที่เหลือ เว้น
นิกาย 4.
ยกเว้นนี้กายทั้ง 4 มีทีฆนิกายเป็นต้นเหล่านี้เสีย
พระพุทธพจน์อื่นจากนั้น ท่านเรียกว่า ขุททกนิกาย
แล. พระพุทธพจน์มี 5 อย่าง ด้วยอำนาจแห่ง
นิกาย นับอย่างนี้แล. พระพุทธพจน์มี 9 อย่าง
ด้วยอำนาจแห่งองค์ นับอย่างไร ? จริงอยู่ พระพุทธ-
พจน์ทั้งหมดนี้ มี 9 ประเภท คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูต-
ธรรม เวทัลละ.

ในพระพุทธพจน์มีองค์ 9 นั้น อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ และ
บริวาร มงคลสูตร รตนสูตร นาลกสูตร ตุวัฏฏกสูตร ในสุตตนิบาต
และคำสอนของพระตถาคตที่มีชื่อว่าสูตรแม้อื่น พึงทราบว่าสุตตะ. สูตร
ที่มีคาถาทั้งหมด พึงทราบว่า เคยยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สคาถวรรค แม้
ทั้งสิ้นในสังยุตตนิกาย พึงทราบว่า เคยยะ. อภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตร
ที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์ แม้อื่นใด ที่ไม่ได้รวบรวมไว้ด้วยองค์ 8
พระพุทธพจน์นั้น พึงทราบว่า เวยยากรณะ. ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา
และคาถาล้วนที่ไม่มีชื่อว่า สูตร ในสุตตนิบาต พึงทราบว่า คาถา. สูตร
82 สูตร ที่ประกอบด้วยคาถาสำเร็จด้วยญาณ เกิดร่วมด้วยโสมนัสเวทนา
พึงทราบว่าอุทาน. สูตร 110 สูตร ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า วุตฺตํ เหตํ
ภควตา
พึงทราบว่า อิติวุตตกะ. ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก

เป็นต้น พึงทราบว่า ชาดก. พระสูตร อันประกอบด้วยเรื่องที่ไม่เคยมี
มามีขึ้น น่าอัศจรรย์ทั้งหมด ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ธรรมอันไม่เคยมีมามีขึ้น น่าอัศจรรย์ 4 อย่าง เหล่านี้ มีในพระอานนท์
ดังนี้ พึงทราบว่า อัพภูตธรรม. พระสูตรที่ถูกถาม ไค้ญาณและปีติ แม้
ทั้งหมด มีจูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญห-
สูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น พึงทราบว่า
เวทัลละ. พระพุทธพจน์มี 9 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งองค์ นับอย่างนี้แล
พระพุทธพจน์มี 84,000 ด้วยอำนาจแห่งธรรมขันธ์ นับอย่างไร ?
จริงอยู่ พระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้ มี 84,000 ประเภท ด้วยอำนาจแห่ง
ธรรมขันธ์ ที่ท่านพระอานนท์ แสดงไว้แล้วอย่างนี้ว่า
ธรรมเหล่าใด ที่ขึ้นปากขึ้นใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้า
เรียนธรรมเหล่านั้นจากพระพุทธเจ้า 82,000 พระ
ธรรมขันธ์ เรียนจากภิกษุ 2,000 พระธรรมขันธ์
รวม 84,000 พระธรรมขันธ์.

ในธรรมขันธ์ 84,000 นั้น พระสูตรที่มีหัวข้อเรื่องเดียวนับเป็น
ธรรมขันธ์ 1. พระสูตรใดมีหัวข้อเรื่องหลายเรื่องรวมกัน ในพระสูตรนั้น
นับธรรมขันธ์ตามจำนวนหัวข้อเรื่อง.
ในคาถาประพันธ์ คำถามปัญหาเรื่อง 1 นับเป็นธรรมขันธ์ 1
คำวิสัชนาปัญหาเรื่อง 1 นับเป็นธรรมขันธ์ 1. ในพระอภิธรรม การแจก
ติกะและทุกะแต่ละอย่าง ๆ และการแจกจิตตวาระแต่ละอย่าง ๆ นับเป็น
ธรรมขันธ์ 1 ๆ. ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ
มีอาบัติ มีอนาบัติ มีติกเฉทะ (การกำหนดอาบัติเป็น 3 ส่วน) ในวัตถุ

และมาติกาเป็นต้นเหล่านั้น ส่วนหนึ่ง ๆ พึงทราบว่า ธรรมขันธ์หนึ่ง ๆ.
พระพุทธพจน์มี 84,000 ด้วยอำนาจแห่งธรรมขันธ์ นับอย่างนี้แล.
พระพุทธพจน์นี้ โดยไม่แยกประเภท มีหนึ่ง คือรส โดยแยก
ประเภท มีประเภท 2 อย่าง เป็นต้น คือ เป็นพระธรรมอย่าง 1 เป็นวินัย
อย่าง 1 เป็นต้น อันคณะผู้เชี่ยวชาญ มี พระมหากัสสป เป็นประมุข
เมื่อจะสังคายนา ได้กำหนดประเภทนี้ก่อนแล้ว จึงสังคายนาว่า นี้เป็น
ธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นปฐมพุทธพจน์ นี้เป็นมัชฌิมพุทธพจน์ นี้เป็น
ปัจฉิมพุทธพจน์ นี้เป็นวินัยปิฎก นี้เป็นสุตตันตปิฎก นี้เป็นอภิธรรมปิฎก
นี้เป็นทีฆนิกาย นี้เป็นมัชฌิมนิกาย นี้เป็นสังยุตตนิกาย นี้เป็นอังคุตตร-
นิกาย นี้เป็นขุททกนิกาย นี้เป็นองค์ 9 มีสุตตะเป็นต้น นี้เป็นพระธรรม-
ขันธ์ 84,000 ด้วยประการฉะนี้. และใช่ว่า ท่านจะกำหนดประเภทนี้
เท่านั้นอย่างเดียว สังคายนาแล้วหาก็ไม่ แต่ท่านยังกำหนดประเภทแห่ง
สังคหะแม้อื่น ๆ ซึ่งมีประการมิใช่น้อย เป็นต้นว่า อุทานสังคหะ วัคคสังคหะ
เปยยาลสังคหะ และนิปาตสังคหะ มีเอกนิบาตและทุกนิบาตเป็นต้น สัง-
ยุตตสังคหะ และปัญญาสสังคหะเป็นต้น ที่ปรากฏอยู่ในปิฎก 3 สังคายนา
แล้ว ใช้เวลา 7 เดือน ด้วยประการฉะนี้.
ก็ในอวสานแห่งการสังคายนาพระพุทธพจน์นั้น แผ่นดินใหญ่นี้ได้
สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหว เป็นอเนกประการทั่วไปจนถึงน้ำรองแผ่นดิน
เป็นประหนึ่งว่าเกิดความปราโมทย์ให้สาธุการว่า ศาสนาของพระทศพล
นี้ พระมหากัสสปเถระ ได้ทำให้สามารถมีอายุยืนไปได้ตลอดกาล
ประมาณ 5,000 ปี และได้ปรากฏมหัศจรรย์ทั้งหลายมิใช่น้อย ด้วย
ประการฉะนี้. สังคายนาใดในโลกเรียกกันว่า ปัญจสตา เพราะพระอรหันต์

500 องค์ ได้ทำไว้ และเรียกกันว่า เถริกา เพราะพระสงฆ์ชั้นพระเถระ
ทั้งนั้นได้ทำไว้ สังคายนานี้ชื่อปฐมมหาสังคายนา ด้วยประการฉะนี้.

อรรถกถาพรหมชาลสูตร


เมื่อปฐมมหาสังคายนานี้กำลังดำเนินไปอยู่ เวลาสังคายนาพระวินัย
จบลง ท่าน พระมหากัสสป เมื่อถามพรหมชาลสูตร ซึ่งเป็นสูตรแรก
แห่งนิกายแรกในสุตตันตปิฎก ได้กล่าวคำอย่างนี้ว่า ท่านอานนท์
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสพรหมชาลสูตรที่ไหน ดังนี้เป็นต้นจบลง ท่าน
พระอานนท์ เมื่อจะประกาศสถานที่ทีพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพรหม-
ชาลสูตร และบุคคลที่พระองค์ตรัสปรารภให้เป็นเหตุนั้นให้ครบกระแส
ความจึงกล่าวคำว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้เป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว
ว่า แม้พรหมชาลสูตร ก็มีคำเป็นนิทานว่า เอวมฺเม สุตํ ที่ท่านพระอานนท์
กล่าวในคราวปฐมมหาสังคายนา เป็นเบื้องต้น ดังนี้.
ในคำเป็นนิทานแห่งพระสูตรนั้น พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.

แก้อรรถบท เอวํ


บทว่า เอวํ เป็นบทนิบาต. บทว่า เม เป็นต้น เป็นบทนาม ใน
คำว่า ปฏิปนฺโน โหติ นี้ บทว่า ปฏิ เป็นบทอุปสรรค. บทว่า โหติ
เป็นบทอาขยาต. พึงทราบการจำแนกบทโดยนัยเท่านี้ก่อน.
แต่โดยอรรถ เอวํ ศัพท์ แจกเนื้อความได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า
ความเปรียบเทียบ ความแนะนำ ความยกย่อง ความติเตียน ความรับคำ
อาการะ ความชี้แจง ความห้ามความอื่น.