เมนู

[ว่าด้วยโอกาสกรรม]


หลายบทว่า นาลํ โอกาสกมฺมํ กาตุํ มีความว่า ไม่ควรเพื่อ
กระทำ. อธิบายว่า อันภิกษุไม่พึงกระทำ.
ภิกษุผู้อันสงฆ์ยกวัตร และภิกษุผู้ถูกสงฆ์งดอุโบสถและปวารณา ชื่อ
ว่าภิกษุมิใช่ผู้ปกตัตต์ แม้ในโอกาสกรรมนี้.
บทว่า จาวนาธิปฺปาโย ได้แก่ ผู้ใคร่จะให้เคลื่อนจากศาสนา.

[ว่าด้วยถามปัญหา]


สองบทว่า มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา มีความว่า เพราะความเป็นผู้
โง่ เพราะความเป็นผู้งมงาย จึงไม่สามารถทั้งเพื่อจะแก้ ทั้งเพื่อจะรู้ จะ
ประกาศความที่ตนเป็นผู้งมงายอย่างเดียวเท่านั้น จึงถามคล้ายคนบ้า.
บทว่า ปาปิจฺโฉ ได้แก่ ถามด้วยความปรารถนาลามกว่า ชนจัก-
สรรเสริญเรา ด้วยอุบายอย่างนี้.
บทว่า ปริภวา ได้แก่ เป็นผู้ใคร่จะยกความดูหมิ่นจึงถาม. แม้ใน
อัญญพยากรณ์ ก็มีนัยเหมือนกัน.
คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.
ทิฏฐาวิกัมมวัคควัณณา จบ
คำใดที่จะพึงกล่าว ในอัตตาทานวัคค์และธุตังควัคค์, คำนั้นทั้งหมด
ได้กล่าวแล้วในหนหลังแล.

[ว่าด้วยมุสาวาท]


วินิจฉัยในมุสาวาทวัคค์ พึงทราบดังนี้:-
มุสาวาทที่จัดเป็นปาราชิกคามี เพราะอรรถว่า ถึงปาราชิก, อธิบายว่า
ถึงความเป็นอาบัติปาราชิก. แม้ในมุสาวาทนอกนี้ ก็มีนัยเหมือนกัน.
ในมุสาวาท 5 อย่างนั้น มุสาวาทที่เป็นไปโดยอวดอุตริมนุสธรรม
ที่ไม่มี (ในตน) เป็นปาราชิกคามี, มุสาวาทที่เป็นไปโดยตามกำจัด ด้วย
ปาราชิกไม่มีมูล เป็นสังฆาทิเสสคามี, มุสาวาทที่ภิกษุกล่าว (อวดอุตริมนุส-
ธรรมที่ไม่มี) โดยปริยายแก่บุคคลผู้เข้าใจความ เป็นต้นว่า ภิกษุใดอยู่ใน
วิหารของท่าน เป็นถุลลัจจัยคามี, มุสาวาทที่ภิกษุกล่าวโดยปริยายแก่บุคคลผู้
ไม่เข้าใจความ เป็นทุกกฏคามี, มุสาวาทที่มาว่า เป็นปาจิตตีย์ เพราะกล่าว
เท็จทั้งรู้ พึงทราบว่า เป็นปาจิตติยคามี.

[ว่าด้วยอาการเป็นเหตุต้องอาบัติ]


บทว่า อทสฺสเนน ได้แก่ ไม่เห็นพระวินัยธร. จริงอยู่ ภิกษุเมื่อ
เกิดความรังเกียจในของที่ควรและไม่ควรขึ้น ได้พบพระวินัยธรแล้ว สอบถาม
ถึงความที่เป็นของควรและไม่ควรแล้ว จะพึงละของที่ไม่ควรเสีย ทำแต่ที่ควร
แต่เมื่อไม่พบพระวินัยธรนั้นกระทำ แม้ซึ่งสิ่งที่ไม่ควร ด้วยสำคัญว่าควร ก็
ย่อมต้องอาบัติ. อาบัติที่จะพึงต้องด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุไม่ต้อง เพราะพบ
พระวินัยธร, ต้องเพราะไม่พบเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง
ตรัสว่า เพราะไม่เห็น.
บทว่า อสฺสวเนน มีความว่า อันภิกษุผู้อยู่แม้ในวิหารเดียวกันไป
สู่ที่บำรุงของพระวินัยธร ไม่ถามถึงสิ่งที่ควรและไม่ควร หรือไม่ฟังสิ่งที่ควร