เมนู

[วิเคราะห์ปาราชิก]


พระอุบาลี ครั้นแก้ปัญหาทั้งปวงตามลำดับแห่งคำถามอย่างนี้แล้ว
บัดนี้ จะแสดงเพียงคำอธิบายเฉพาะอย่าง แห่งกองอาบัติที่ประมวลไว้ในคำว่า
อาปตฺติกฺขนฺธา จ ภวนฺติ สตฺต จึงกล่าวคำว่า ปาราชิกํ เป็นอาทิ.
บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาที่ 1 ว่า ปาราชิกํ เป็นต้น มีเนื้อความ
ดังต่อไปนี้:-
บรรดาบุคคลปาราชิก อาบัติปาราชิก และสิกขาบทปาราชิก ชื่ออาบัติ
ปาราชิกนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว, บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้น
ย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำ
ให้ห่างจากสัทธรรม. เมื่อบุคคลนั้นไม่ถูกขับออก (จากหมู่) ก็ไม่มีสังวาส
ต่างโดยอุโบสถและปวารณาเป็นต้นอีก. ด้วยเหตุนั้น ปาราชิกนั่น พระผู้มี
พระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น คือ เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น พระผู้มี
พระภาคเ จ้าจึงตรัสว่า ปาราชิก.
ก็ในบทว่า ปาราชิกํ นี้ มีความสังเขปดังนี้:-
บุคคลย่อมเป็นผู้พ่ายด้วยอาบัติปาราชิกนั้น เพราะเหตุนั้น อาบัติ
ปาราชิกนั่น ท่านจึงกล่าวว่า ปาราชิก.

[วิเคราะห์สังฆาทิเสส]


คำว่า สงฺโฆว เทติ ปริวาสํ เป็นอาทิ ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดง
แต่เนื้อความเท่านั้น ไม่เอื้อเฟื้อพยัญชนะ แม้ในคาถาที่ 2.
ก็ในบทว่า สงฺฆาทิเสโส เป็นอาทินี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้:-

การออกจากอาบัตินั้นใด ของภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้แล้วใคร่จะออก สงฆ์
อันภิกษุนั้นพึงปรารถนา ในกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัตินั้น เพื่อ
ประโยชน์แก่การให้ปริวาส และในกรรมที่เหลือจากกรรมเบื้องต้น คือใน
ท่ามกลาง เพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์
กับมูลายปฏิกัสสนะ และในที่สุดเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน. ก็ในกรรมทั้งหลาย
มีปริวาสกรรมเป็นต้นนี้ กรรมแม้อย่างหนึ่ง เว้นสงฆ์เสีย อันใคร ๆ ไม่อาจ
ทำได้ ฉะนี้แล.
สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่ง
กองอาบัตินั้น เหตุนั้น กองอาบัตินั้น ชื่อว่าสังฆาทิเสส.

[วิเคราะห์อนิยต]


เนื้อความแห่งคาถาที่ 3 พึงทราบดังนี้:-
สองบทว่า อนิยโต น นิยโต มีความว่า เพราะไม่แน่ กองอาบัตินี้
จึงได้ชื่อว่าอนิยต.
คำที่ว่า ไม่แน่ นี้มีอะไรเป็นเหตุ ? เพราะสิกขาบทนี้ ปรับอาบัติ
ไม่จำกัดส่วนอันเดียว. อธิบายว่า สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนอันเดียวไม่ได้.
สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนเดียวไม่ได้อย่างไร ? อย่างนี้
บรรดาฐานะ 3 ฐานะอันใดอันหนึ่ง อันพระวินัยธรพึงปรับ.
จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในอนิยตสิกขาบทนั้นว่า ภิกษุนั้น อันพระวินัยธร
พึงปรับด้วยธรรม 3 อย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะเหตุนั้น กองอาบัตินั้น ท่าน
จึงกล่าวว่า อนิยต คือ กล่าวว่า ไม่แน่.