เมนู

[วินิจฉัยในกัมมจตุกกะ]


วินิจฉัยในกัมมจตุกกะ พึงทราบดังนี้:-
ภิกษุต้องอาบัติเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก ด้วยกรรม, เมื่อแสดงเสีย
ชื่อว่าออกด้วยมิใช่กรรม.
ต้องอาบัติเพราะปล่อยสุกกะเป็นต้น ด้วยมิใช่กรรม, ย่อมออกด้วย
กรรม มีปริวาสเป็นอาทิ.
ต้องอาบัติเพราะสมนุภาสน์ ด้วยกรรมเท่านั้น ย่อมออกด้วยกรรม.
ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ ด้วยมิใช่กรรม ย่อมออกด้วยมิใช่กรรม.

[วินิจฉัยในปริกขารจตุกกะ]


วินิจฉัยในปริกขารจตุกกะ พึงทราบดังนี้:-
บริขารของตนเป็นที่ 1. บริขารของสงฆ์เป็นที่ 2. บริขารของเจดีย์
เป็นที่ 3. บริขารของคฤหัสถ์เป็นที่ 4. ก็ถ้าว่า บริขารของคฤหัสถ์นั้น เป็น
ของที่เขานำมา เพื่อประโยชน์แก่บาตร จีวร นวกรรมและเภสัช. ภิกษุจะให้
กุญแจ และให้บริขารนั้นอยู่ข้างในก็ควร.

[วินิจฉัยในสัมมุขจตุกกะ]


วินิจฉัยในสัมมุขจตุกกะ พึงทราบดังนี้:-
ภิกษุต้องอาบัติเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก ต่อหน้าสงฆ์แท้, แต่ใน
เวลาออกไม่มีกิจที่สงฆ์จะต้องทำ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าออกลับหลัง.
ต้องอาบัติ เพราะปล่อยสุกกะเป็นต้น ลับหลัง ย่อมออกต่อหน้าสงฆ์.

ต้องอาบัติสมนุภาสน์ต่อหน้าสงฆ์เท่านั้น ย่อมออกต่อหน้า.
ย่อมต้องอาบัติที่เหลือต่างโดยชนิด มีสัมปชานมุสาวาทเป็นต้นลับหลัง
และออกก็ลับหลัง.
อชานันตจตุกกะ เหมือนกับอจิตตกจตุกกะ.

[ว่าด้วยเพศกลับ]


บทว่า ลิงฺคปาตุภาเวน มีความว่า เมื่อเกิดเพศกลับแก่ภิกษุหรือ
ภิกษุณีผู้นอนแล้วเท่านั้น จึงเป็นอาบัติเพราะนอนร่วมเรือนกัน.
คำว่า ลิงฺคปาตุภาเวน นี้แล ท่านกล่าวเจาะจงอาบัติ เพราะนอน
ร่วมเรือนกันนั้น.
ก็อาบัติที่ไม่ทั่วไป แก่ภิกษุและภิกษุณีทั้ง 2 ฝ่าย ย่อมออกเพราะ
ความปรากฏแห่งเพศ.

[วินิจฉัยในสหปฏิลาภจตุกกะ]


วินิจฉัยในสหปฏิลาภจตุกกะ พึงทราบดังนี้:-
เพศของภิกษุใด ย่อมเปลี่ยนไป, ภิกษุนั้น พร้อมกับได้เพศ (ใหม่)
ย่อมละเพศบุรุษเดิมเสีย ด้วยอำนาจแห่งเพศที่เกิดขึ้นก่อน และด้วยความเป็น
เพศประเสริฐ ตั้งอยู่ในเพศสตรีอันเกิด ณ ภายหลัง. กายวิญญัตติและวจีวิญญัตติ
ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งจริตของบุรุษและอาการของบุรุษเป็นต้น ย่อมระงับไป
บัญญัติที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ภิกษุก็ดี บุรุษก็ดี ย่อมดับไป. ก็สิกขาบท 46
เหล่าใด อันไม่ทั่วไปด้วยภิกษุณีทั้งหลาย. ไม่เป็นอาบัติ เพราะสิกขาบท
เหล่านั้นเลย.