เมนู

ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า ภิกษุณีเหล่านั้นเป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่รู้
จักกรรมหรือโทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ เราเท่านั้นจึงจะรู้
จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ และกรรมสมบัติ เราจะพึงทำกรรมที่
เราไม่ได้ร่วมทำ หรือจะพึงยังกรรมที่เขาทำแล้วให้กำเริบ แล้วให้ประชุม
ภิกษุณีสงฆ์ด่วน เรียกภิกษุณีจัณฑกาลีให้เข้าหมู่.
บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย. . . ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ จึงได้เรียก
ภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์
แล้วให้เข้าหมู่เล่า . . . แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ทรงสอบถาม


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า ภิกษุณีถุลลนันทา ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ เรียก
ภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุ-
ศาสน์แล้วให้เข้าหมู่ จริงหรือ.
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทา ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ จึงได้เรียก
ภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย ตาม
สัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่เล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส. . .

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
อย่างนี้ว่าดังนี้ :-

พระบัญญัติ


12. 4. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้
ฉันทะของคณะ เรียกภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่
ตามธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่ ภิกษุณีแม้นี้
ก็ต้องธรรมคือ สังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะ
แรกทำ.

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์


[48] บทว่า อนึ่ง . . .ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด . . .
บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ. . .
นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้ .
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมา
เดียวกัน.
ที่ชื่อว่า ยกเสียจากหมู่ คือ ถูกยกเสียจากหมู่ เพราะไม่เห็นอาบัติ
หรือเพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละคืนทิฏฐิบาป.
บทว่า ตามธรรม ตามวินัย คือตามธรรมใด ตามวินัยใด.
บทว่า อันเป็นสัตถุศาสน์ ได้แก่ ธรรมนั้น วินัยนั้นเป็นคำสั่งสอน
ของพระชินเจ้า คือ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.