เมนู

สัตตรสกัณฑ์


แม่เจ้าทั้งหลาย ก็ธรรมคือสังฆาทิเสส 17 สิกขาบทนี้แล มาสู่อุเทศ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 1


เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา


[31] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่ง
ถวายโรงเก็บของแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้วถึงอนิจกรรม เขามีบุตรอยู่ 2 คน ๆ หนึ่ง
เป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส อีกคนหนึ่งเป็นคนมีศรัทธา เลื่อมใส บุตร
ทั้งสองนั้นแบ่งสมบัติของบิดาแล้ว. ต่อมาบุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส
จึงได้พูดกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสว่า โรงเก็บของ ๆ เรายังมีอยู่ เรามา
แบ่งกันเถิด เมื่อเขาพูดอย่างนั้นแล้ว บุตรคนที่ศรัทธาเลื่อมใสพูดห้ามว่า เจ้า
อย่าได้พูดอย่างนี้ โรงเก็บของนั้น บิดาของเราได้ถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว .
แม้ครั้งที่สอง บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส ก็พูดว่า โรงเก็บของ ๆ
เรา เราจะแบ่งกัน บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็พูดห้ามว่า เจ้าอย่าได้พูดอย่าง
นี้ โรงเก็บของนั้น บิดาของเราได้ถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้ว .
แม้ครั้งที่สาม บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส ก็พูดว่า โรงเก็บของ ๆ
เรา เราจะแบ่งกัน บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงคิดว่า ถ้าโรงเก็บของนั้นจัก
เป็นของเรา เราก็จักถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์ แล้วกล่าวว่า เราจงแบ่งกันเถิด
บังเอิญโรงเก็บของที่เขาทั้งสองแบ่งกันนั้น ได้ตกแก่บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา ไม่
เลื่อมใส.

จึงบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย แล้ว
บอกว่า เชิญแม่เจ้าทั้งหลายออกไปเถิดเจ้าข้า เพราะโรงเก็บของเป็นของข้าพเจ้า.
เมื่อเขาบอกอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้พูดว่า นายอย่าพูด
อย่างนี้ บิดาของพวกนายได้ถวายแก่ภิกษุณีสงฆ์แล้ว.
ต่างเถียงกันอยู่ว่า ถวายแล้ว ไม่ได้ถวาย แล้วฟ้องมหาอำมาตย์ผู้
พิพากษา ๆ ถามว่า แม่เจ้า ใครเล่าจะทราบว่าได้ถวายแล้วแก่ภิกษุณีสงฆ์.
เมื่อเขาถามอย่างนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาย้อนถามว่า พวกท่านได้เห็น
หรือได้ยินไหมว่า ทานที่เขาถวายกันต้องตั้งพยานด้วย.
จึงมหาอำมาตย์เหล่านั้นพูดว่า แม่เจ้าพูดจริงแท้ แล้วได้ตัดสินโรง
เก็บของนั้นให้แก่ภิกษุณีสงฆ์.
ครั้นบุรุษนั้นแพ้คดีแล้ว จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุณี
โล้นเหล่านี้ไม่เป็นสมณะ เป็นหญิงฉ้อโกง ไฉนจึงได้ไห้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บ
ของ ๆ เราเสียเล่า.
ภิกษุณีถุลลนันทาได้แจ้งความเรื่องนั้นแก่มหาอำมาตย์ ๆ ได้ให้ปรับ
ไหมบุรุษนั้น.
ครั้นบุรุษนั้นถูกปรับไหมแล้ว ได้ให้สร้างที่พักอาชีวกไว้ใกล้ ๆ สำนัก
ภิกษุณี แล้วส่งพวกอาชีวกไปอยู่ด้วยสั่งว่า จงช่วยกันกล่าวล่วงเกินภิกษุณี
พวกนั้น.
ภิกษุณีถุลลนันทาได้แจ้งความนั้นแก่มหาอำมาตย์ ๆ ได้ให้จองจำเขา
แล้ว พวกชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ครั้งแรกพวกภิกษุณี
ได้ให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของ ครั้งที่สองให้ปรับไหม ครั้งที่สามให้จองจำ
คราวนี้เห็นที่จะให้ประหารชีวิต. พวกภิกษุณีได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ

ติเตียนโพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย. . .ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา
ว่าไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงได้ชอบเป็นคนกล่าวหาเรื่องเล่า แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่
ภิกษุทั้งหลาย ๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ทรงสอบถาม


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทาชอบกล่าวหาเรื่อง จริงหรือ.
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทา จึงได้ชอบกล่าวหาเรื่องเล่า การกระทำของนางนั่นไม่เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
อย่างนี้ว่าดังนี้ :-

พระบัญญัติ


9.1. อนึ่ง ภิกษุณีใด ชอบกล่าวหาเรื่องกับคหบดีก็ดี บุตร
คหบดีก็ดี ทาสก็ดี กรรมกรก็ดี โดยที่สุด แม้สมณะปริพาชก ภิกษุณี
นี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะ
แรกทำ.

เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์


[32] บทว่า อนึ่ง. . .ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด. . .
บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ . . .
นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ประสงค์ในอรรถนี้.