เมนู

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร แล้วนั่งบ้าง นอนบ้าง
บนอาสนะ ไม่บอกกล่าวเจ้าของบ้านเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดง
อย่างนี้ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ


31. 6 อนึ่ง ภิกษุณีใด เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหาร
ไม่บอกกล่าวพวกเจ้าของบ้าน นั่งก็ดี นอนก็ดี บนอาสนะ เป็น
ปาจิตตีย์.

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์


[202] บทว่า อนึ่ง . . .ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด. . .
บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้
ขอ. . . นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
ที่ชื่อว่า เวลาหลังอาหาร ได้แก่ เวลาเที่ยงล่วงไปแล้ว ตราบเท่า
พระอาทิตย์อัสดงคต.
ที่ชื่อว่า สกุล ได้แก่ สกุล 4 คือ สกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์
สกุลแพศย์ สกุลศูทร.

บทว่า เข้าไป คือ ไปในสกุลนั้น.
คำว่า ไม่บอกกล่าวพวกเจ้าของบ้าน คือ ไม่บอกคนในสกุลนั้น
ซึ่งเป็นเจ้าของถวาย.
ที่ชื่อว่า อาสนะ ได้แก่ สถานที่เขาเรียกกันว่าแท่นหรือเตียงอันว่าง
บทว่า นั่ง คือ นั่งลงบนอาสนะนั้น ต้องอาบัติปาจิตตียะ.
บทว่า นอน คือ นอนลงบนอาสนะนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

บทภาชนีย์


ติกะปาจิตตีย์


[203] มิได้บอกกล่าว ภิกษุณีสำคัญว่ามิได้บอกกล่าว นั่งก็ดี นอน
ก็ดี บนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มิได้บอกกล่าว ภิกษุณีสงสัย นั่งก็ดี นอนก็ดี บนอาสนะ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
มิได้บอกกล่าว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกกล่าวแล้ว นั่งก็ดี นอนก็ดี
บนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ติกะทุกกฏ


นั่ง ณ สถานอันมิใช่แท่นหรือเตียง ต้องอาบัติทุกกฏ.
บอกกล่าวแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังมิได้บอกกล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ.
บอกกล่าวแล้ว ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่ต้องอาบัติ


บอกกล่าวแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกกล่าวแล้ว ไม่ต้องอาบัติ.