เมนู

พระบัญญัติ


145. 4. ก. อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่า
เป็นทีมีรังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขา
ไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ เคี้ยวก็ดี ฉัน
ก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็น
ที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น.
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
เรื่องคนรับใช้ของเจ้าศากยะ จบ

เรื่องพระอาพาธ


[795] โดยสมัยต่อจากนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในเสนาสนะ
ป่า ชาวบ้านได้พากันนำขอเคี้ยวของฉันไปสู่เสนาสนะป่า ครั้นแล้วได้กล่าว
อาราธนาภิกษุนั้นว่า นิมนต์ฉันเถิด ขอรับ.
ภิกษุนั้นไม่รับ รังเกียจอยู่ว่าการรับของเคี้ยวหรือของฉันในเสนาสนะ
ป่า ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวฉัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามแล้ว ดังนี้
แล้วไม่สามารถไปเที่ยวบิณฑบาต ได้อดอาหารแล้ว เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระพุทธานุญาตพิเศษ


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็น
เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธรับของเคี้ยวหรือของฉัน ในเสนาสนะป่า
ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉันได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้
ว่าดังนี้:-

พระอนุบัญญัติ


145. 4. ข. อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่า
เป็นที่มีรังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อัน
เขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้
อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉัน
ต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืน
ธรรมนั้น.
เรื่องพระอาพาธ จบ

สิกขาบทวิภังค์


[796] คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มี
กำหนดเขต 500 ชั่วธนูเป็นอย่างต่ำ.
ที่ชื่อว่า เป็นที่มีรังเกียจ คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มี
สถานที่พวกโจรซ่องสุม บริโภค ยืน นั่ง นอน ปรากฎอยู่
ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม
มีร่องรอยที่ชาวบ้านถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่
บทว่า อนึ่ง. . .ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด...
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้
ขอ. . . นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
บทว่า ในเสนาสนะเห็นปานนั้น คือ ในเสนาสนะมีร่องรอยเช่น
นั้นปรากฏ.